ลองหวนกลับไปคิดเล่นๆ ว่าในบรรดาวิชาพื้นฐานที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็ก มีวิชาไหนที่สอนเกี่ยวกับเรื่องการเงินบ้าง
หลักสูตรการศึกษาของไทย เต็มไปด้วยวิชาพื้นฐาน อย่างเช่น ภาษา สังคม วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงพื้นฐานอาชีพต่างๆ แต่กลับไม่มีวิชาที่ครอบคลุมถึงเรื่อง ‘การเงินและการลงทุน’ โดยตรงเลย ใกล้เคียงสุดก็น่าจะเป็นคณิตศาสตร์ที่สอนเพียงเรื่องการคำนวณเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความจริงทุกวันนี้ เรื่องการเงิน คือปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต จะด้วยการบริหารค่าใช้จ่าย การเก็บออม การลงทุน การแก้หนี้ ไปจนถึงการตั้งเป้าหมายทางการเงิน ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝน mindset และประสบการณ์ไม่ต่างจากวิชาชีพอื่นๆ เลย การเริ่มต้นเมื่อถึงวัยทำงานแล้ว บางทีอาจจะสายเกินไปก็เป็นได้ สะท้อนได้จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนัก จากข้อมูลสินเชื่อในระบบเครดิตบูโร เมื่อปี 2565 คนไทยกว่า 25 ล้านคน มีหนี้ในระบบเฉลี่ยต่อคนมากถึง 527,000 บาท และ 1 ใน 5 กำลังกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งกับดักหนี้เหล่านี้ ถ้าไม่เร่งแก้ไข อาจส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ความเหลื่อมล้ำในสังคม ไปจนถึงเศรษฐกิจระดับประเทศได้
ลองไปหาคำตอบกันว่าทำไม วิชาการเงินและการลงทุน จึงควรเรียนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
เมื่อวิชาการเงินไม่มีสอนในโรงเรียน
ถ้าพูดถึงเรื่องของ Financial Literacy หรือ ความรู้ในเรื่องการเงิน คนส่วนใหญ่มักจะสั่งสมความรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือได้เรียนรู้มาจากสิ่งที่ขวนขวายมาด้วยตัวเอง น้อยคนนักที่จะได้เรียนรู้จากหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ยังเด็ก หรือถ้าได้ศึกษาก็อาจจะเป็นในระดับที่สูงอย่างมหาวิทยาลัยแล้วเท่านั้น แถมยังต้องเลือกคณะที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างบัญชีหรือเศรษฐศาสตร์อีกด้วย สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ อาจจะเป็นแค่การเก็บออม สะสมเหรียญเงินเพื่อยอดกระปุก แต่กลับไม่ได้ต่อยอดไปถึงเรื่องการลงทุนใดๆ ส่งผลให้ Money Mindset ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องเมื่อถึงคราวที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ อย่างเช่น เมื่อถึงคราวที่ถึงวัยทำงาน มีรายได้ประจำเข้ามา แต่ไม่ได้บริหารจัดการรายรับ รายจ่าย และการลงทุนอย่างถูกต้องตลอดเวลาที่ยังมีรายได้ ทำให้เวลาล่วงเลยไปถึงวัยเกษียณ แล้วประสบปัญหาทางการเงิน ก็ไม่อาจแก้ไขได้ทันเวลาแล้ว คุณภาพชีวิตในบั้นปลายก็อาจถึงขั้นวิกฤตได้
เพราะ mindset เรื่องการเงินที่ถูกต้อง ต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘วัยเด็ก’ คือช่วงวัยที่ดีที่สุดในการเรียนรู้เรื่องการเงิน เพราะทักษะด้านการเงินจำเป็นต้องอาศัยการปลูกฝัง เพื่อสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีตั้งแต่เนิ่นๆ โดยสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่อายุ 0-2 ขวบเลยทีเดียว โดยเริ่มได้ตั้งแต่การสอนให้รู้จักแหล่งที่มาของเงิน เปรียบเทียบเงินกับการขายของ เพื่อให้เด็กรับรู้ว่า เงินคือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแลกมา ก่อนจะสอนให้รู้จักการรอคอย เพื่อให้เงินผลิดอกออกผล
ก่อนที่ในสเต็ปต่อไป คือการสอนให้รู้จักการออมเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ อย่างมีเป้าหมาย ทั้งการเก็บไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน เผื่อฉุกเฉิน หรือเพื่อต่อยอด ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะสอนผิด เน้นแค่การเก็บออมอย่างไร้จุดหมาย ทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการออม เมื่อเด็กมีวุฒิภาวะมากขึ้นอีกหน่อย ก็สามารถสอนเรื่องวางแผนการเงิน รายรับ รายจ่าย และการลงทุน โดยอาจจะเสริมการสอนให้สนุกขึ้น ด้วยการสร้างเหตุการณ์สมมติ ใช้สื่อการสอน อย่างเช่น หนังสือ บอร์ดเกม หรือแอปพลิเคชัน แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือพฤติกรรมการใช้เงินของพ่อแม่เอง ที่จะเป็นตัวอย่างสำคัญให้เด็กๆ ได้ซึมซับเรื่องการเงินและการลงทุนอย่างถูกต้องที่สุด
รอให้โตเป็นผู้ใหญ่อาจสายเกินไป
“เหตุผลหลักที่ผู้คนส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางการเงิน ก็เพราะพวกเขาเสียเวลาหลายปีในโรงเรียน โดยไม่ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องการเงินเลย” โรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้เขียนหนังสือ ‘พ่อรวยสอนลูก’ กล่าวไว้ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด
แน่นอนว่าผลกระทบจากการประสบปัญหาทางการเงิน ตั้งแต่การหารายได้มา แต่กลับไม่ได้บริหารจัดการเงินอย่างถูกต้อง ไร้ซึ่งการเก็บออม ไม่มีการนำไปลงทุนต่อยอด ไม่ได้วางแผนเรื่องรายรับรายจ่าย หรือหนักเข้าอาจถึงขั้นจัดการหนี้ผิดพลาด จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อชีวิตในด้านอื่นๆ อย่างมาก ยาวไปจนถึงช่วงวัยเกษียณ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนยุคนี้กังวลมากที่สุด ถ้าหากขาดการวางแผนตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ก็ยิ่งยากมากที่จะใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างสุขสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยหรือมีฐานะยากจน พ่อแม่ต้องหาเช้ากินค่ำ พวกเขาจะไม่สามารถสอนลูกเกี่ยวกับการเงินได้อย่างถูกต้อง ทำให้ปัญหาการเงินและหนี้ต่างๆ เกิดวนซ้ำไปเรื่อยๆ โดยปัญหาทางการเงินไม่ได้สร้างผลกระทบในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงระดับสังคม ที่เชื่อมโยงไปถึงมิติต่างๆ ทั้งในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้เลยทีเดียว
เพราะฉะนั้นแล้ว ยูโอบี ประเทศไทย และโครงการร้อยพลังการศึกษา จึงตั้งใจร่วมสร้างอนาคตเด็กไทยด้วยทักษะการเงิน ผ่านหลักสูตรการเงินออนไลน์ ‘UOB Money 101 Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน’ ที่เน้นสร้าง Money Mindset ให้กับเด็กด้อยโอกาส และมาจากครอบครัวที่ยากจน ปลูกฝังนิสัยทางการเงินที่ดี เพื่อสะสมความรู้และทักษะการเงินที่ถูกต้อง ตั้งแต่ในวัยที่สามารถเก็บออมและหารายได้ได้ โดยหลักสูตรนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ UOB My Digital Space ซึ่งมีแผนดำเนินโครงการในระยะยาว เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาของเด็กที่ด้อยโอกาสทั่วทั้งภูมิภาค ให้เข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ผ่านช่องทางดิจิทัล เรียกว่าเป็นหลักสูตรออนไลน์นำร่องที่สังคมไทยกำลังต้องการในขณะนี้ก็ว่าได้
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่าทำไม วิชาการเงินและการลงทุน จึงควรเรียนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://raisingchildren.net.au/preschoolers/family-life/pocket-money/money-management-for-children
https://www.finnomena.com/getwealthsoon/money-x-cbs/
https://www.pier.or.th/blog/2023/0202/