สามทุ่มแล้วยังอยู่ที่หน้าคอมในออฟฟิศ กว่าจะทำงานที่ค้างเสร็จก็ดึกดื่น กลับบ้านแทนที่จะได้พักผ่อน แต่จิตใจก็กระวนกระวาย ขอเปิดงานพรุ่งนี้มาเช็คให้เรียบร้อยเพื่อความสบายใจ ทำไปทำมาเรื่อยๆ อ้าว รู้ตัวอีกทีก็เลยตีสองไปแล้ว
เอาเข้าจริง ชีวิตที่ต้องอดนอน โหมงานหนัก พักผ่อนน้อย ส่งผลต่อร่างกายและสภาพจิตใจของเราไม่ทางในก็ทางหนึ่ง หลายคนโหมงานมากเข้า ร่างกายก็ดูเหมือนจะโรยรายก่อนวัยอันควร
ที่ผ่านมา ในแวดวงการแพทย์มีการหันมาสนใจศึกษาเรื่องไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายกันอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางงานวิจัยเหล่านั้น มีเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างน่าสนใจ มันคือศัพท์ไม่คุ้นหูคนทั่วไปที่เรียกกันว่า ‘เทโลเมียร์’ ตัวละครลับในร่างกาย แถมยังมีอำนาจวิเศษประหนึ่งว่าสามารถชะลอ ‘ความแก่ชรา’ ของคนเราได้
หมอผิง—พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์วุฒิบัตรเวชศาสตร์ชะลอวัย (สหรัฐอเมริกา) เป็นอีกหนึ่งคนที่สงสัยในเรื่องเทโลเมียร์ เธอศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้มานานหลายปี เก็บรวบรวมงานวิจัยจากต่างประเทศ ก่อนที่จะหยิบหาแง่มุมที่น่าสนใจ แต่งแต้มด้วยเกร็ดเบื้องหลังวิทยาศาสตร์สนุกๆ มาอธิบายผ่านหนังสือเล่มใหม่ ‘เทโลเมียร์ ยาวแล้ว young’
ด้วยความสงสัยว่า ตกลงแล้วเทโลเมียร์คืออะไร แล้วมันซ่อนความลับอะไรไว้เกี่ยวกับร่างกาย เชื่อว่าบทสนทนาหลังจากนี้น่าจะช่วยให้คำตอบได้
อยากรู้ว่าเทโลเมียร์คืออะไร ทำไมเราถึงต้องสนใจเรื่องเทโลเมียร์
เราต้องเข้าใจก่อนว่า รหัสพันธุกรรมของคนเรามันเป็นรหัสที่ต่อกันเป็นสายยาวๆ เหมือนเชือกเส้นหนึ่ง ถูกม้วนกันอยู่กลายเป็นก้อนเล็กๆ อยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ในตัวพวกเราทุกคน ซึ่งรหัสพันธุกรรมที่เหมือนเชือกนี้ ตรงส่วนปลายจะเป็นเทโลเมียร์ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนกันเชือกรองเท้าของเราที่ตรงปลายจะมีพลาสติกหุ้มอยู่
ฟังก์ชั่นของเทโลเมียร์คือการป้องกันไม่ให้สายดีเอ็นเอของเราสั้นลง เพราะว่าทุกวันที่เรามีชีวิตอยู่ เซลล์จะมีการตาย แบ่งตัว และเกิดใหม่ ในการแบ่งตัวของเซลล์นั้น เราพบว่าสายดีเอ็นเอของเซลล์มันจะสั้นลง ทีนี้ ถ้าเรามีส่วนเทโลเมียร์ที่ปลาย ส่วนที่สั้นลงจะเป็นเทโลเมียร์ ถ้าเราไม่มีเทโลเมียร์ที่ปลายสายดีเอ็นเอ ส่วนที่สั้นลงจะเป็นส่วนที่กำหนดรหัสพันธุกรรม ดังนั้น ถ้าส่วนที่หายไปมีฟังก์ชั่นหรือมีหน้าที่แบบนี้ เซลล์เราก็จะผิดปกติ
แต่ถ้าส่วนที่หายไปเป็นเทโลเมียร์ซึ่งมันไม่ได้มีหน้าที่อะไรเป็นพิเศษ คือมีหน้าที่เสียสละตัวเองให้สั้นลงไปเรื่อยๆ ก็เลยทำให้เซลล์เราดำรงอยู่ได้ มันน่าสนใจตรงที่ว่า ถ้าอย่างนั้น เวลาเราอายุมากขึ้น ตรงเทโลเมียร์ของเราก็สั้นลงไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ไม่เหลืออะไรเลยไหม ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างนั้นจริงๆ คือเวลาเราอายุแก่ตัวไป เทโลเมียร์ก็จะหดไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดที่เทโลเมียร์หดลงเหลือสั้นมากๆ เซลล์ก็จะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าเซลล์แก่ ซึ่งแน่นอนว่า มันก็จะทำงานได้ไม่ดีเหมือนกับเซลล์ที่วัยรุ่นกว่า
ที่น่าสนใจคือ ในแต่ละคนหดสั้นเร็วช้าไม่เท่ากันด้วย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตั้งแต่เราอยู่ในท้องแม่ โดยมีการพบความแตกต่างว่า เด็กที่อยู่ในท้องแม่ที่เป็นแม่ที่มีความสุขในตอนตั้งครรภ์ กับ แม่ที่ค่อนข้างเครียดหรือสุขภาพไม่ดี เด็กสองคนนี้ก็จะมีเทโลเมียร์ไม่เท่ากัน หรือถ้าหากเด็กโตมาแล้วมีแต่ความเครียดมากๆ เทโลเมียร์ของเขาก็จะหดสั้นลงได้เร็ว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้เทโลเมียร์สั้นลงกว่าปกติ เช่น การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
ปัจจัยเช่นเรื่องไลฟ์สไตล์ หรือ ภาวะจิตใจมีส่วนเกี่ยวข้องไหม
การนอน การเครียดมากๆ บุคลิกของเราก็เกี่ยว คนที่ชอบกังวลกับอดีต อนาคต อยู่กับปัจจุบันไม่เป็น มีแนวโน้มที่จะโทษตัวเองบ่อยๆ ก็มีแนวโน้มที่เทโลเมียร์จะหดสั้นลง ที่มันเป็นเช่นนี้เพราะเมื่อเราเครียด ร่างกายเราก็จะเกิดอนุมูลอิสระ และอนุมูลอิสระก็จะเข้าไปส่งผลกระทบกับเทโลเมียร์
ถ้าเราเปรียบเทียบกันง่ายๆ เทโลเมียร์ในร่างกายเราคงเป็นเหมือนกับพระเอก ส่วนตัวร้ายในเรื่องก็คงเป็นอนุมูลอิสระที่เข้ามาคุกคามให้เทโลเมียร์หดสั้นลง การอักเสบที่เกิดจากการกินอาหารที่ทำให้เราอ้วนลงพุง เช่น น้ำตาล แป้งขัดขาว ของทอด ก็เป็นตัวร้ายอีกตัวที่ทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงเร็ว ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมดเลย
เราเขียนกับเรื่องชะลอวัยมาหลายเล่มแล้ว ที่ผ่านมาเราก็เขียนถึงตัวละครในร่างกายที่ต่างกัน พอมาถึงเล่มนี้มันคือการเชื่อมโยงทุกอย่างมาไว้ด้วยกันหมดเลย เทโลเมียร์ในเล่มนี้เลยเป็นเหมือนตัวละครตัวสำคัญที่เพิ่งเปิดเผยตัวออกมา
คิดว่าสภาพแวดล้อมมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหน กับการที่เทโลเมียร์เราสั้นลง
อย่างเราอยู่กรุงเทพฯ ที่มีปัญหาสภาพแวดล้อมทางอากาศ ก็นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เทโลเมียร์เราหดสั้นลงเร็วขึ้น
ส่วนว่าจะส่งผลต่อคนต่างกันมากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องดูกันเป็นกรณีๆ ไป เพราะแต่ละคนมีสิ่งป้องกันในตัวที่ต่างกัน คนสองคนที่แม้จะออกไปยืนกลางสี่แยกที่มีมลพิษพร้อมๆ กัน แต่อนุมูลอิสระหรือของเสียที่เกิดขึ้นในร่างกายก็อาจจะไม่เท่ากันก็ได้ แล้วระบบของร่างกายอย่างสารต้านอนุมูลอิสระในการต่อต้านขยะในร่างกายก็ไม่เท่ากัน เมื่อเป็นแบบนี้ คนที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระเยอะ สารพวกนี้ก็จะส่งผลต่อการหดตัวลงของเทโลเมียร์ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ความเร็วของการหดตัวของเทโลเมียร์ของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน เนื่องจากมันมีปัจจัยประกอบค่อนข้างเยอะ
แล้วไลฟ์สไตล์ที่เราเสพติดโซเชียลมีเดีย มันส่งผลถึงเทโลเมียร์ได้เลยไหม
เปเปอร์ที่พูดถึงเทโลเมียร์ได้โดยตรงยังไม่มี แต่ที่ผ่านมาก็มีการศึกษาเรื่องความเครียดที่เกิดขึ้นจากการเสพติดของเหล่านี้ รวมไปถึง การออกไปสังสรรค์กับคนน้อยลง หรือมีความเหงาเกิดขึ้นในจิตใจ ก็น่าจะมีส่วนให้เทโลเมียร์สั้นลง แต่สุดท้ายแล้ว มันก็แล้วแต่คนอยู่ดี เพราะเราเชื่อว่า แม้บางคนอาจจะไม่ได้มี Social connection กับคนเยอะ แต่อยู่คนเดียวแล้วมีความสุข ไม่เหงา ก็เป็นไปได้แค่ไหน
ในทางกลับกัน แล้วมีปัจจัยอะไรทำให้เทโลเมียร์มันยาวขึ้นได้บ้าง
ง่ายๆ เลยคือการออกกำลังกาย ตอนนี้มันมีการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่พบว่าช่วยให้เทโลเมียร์ยาวขึ้นได้ มันคือ High-Intensity Interval Training หรือว่การวิ่งเร็วสลับเดิน ส่วนเรื่องอาหารคือพวกอาหารที่กินแบบ Mediterranean diet เช่น อาหารทะเล น้ำมันมะกอก ถั่ว เป็นต้น และควรยกเว้นพวกน้ำอัดลม
ถ้าเกิดใครอยากดูเทโลเมียร์ของตัวเอง จะสามารถไปขอข้อมูลได้จากที่ไหนบ้าง
โรงพยาบาลหลายแห่งก็รับตรวจเรื่องนี้เหมือนกันนะ โดยเขาจะเจาะเลือดของเรา แล้วเอาเซลล์เม็ดเลือดขาวไปปั่นดูความยาว ใช้เวลาประมาณสองสามสัปดาห์เหมือนกันถึงจะรู้ผล ทางแพทย์ก็จะมีเกณฑ์บอกเลยว่า เทโลเมียร์ของเราตกเกณฑ์หรือสูงกว่าเกณฑ์ทั่วไปรึเปล่า ที่น่าสนใจคือ คนไข้หลายคนก็ไม่ค่อยแปลกใจนะ เพราะเขาก็มักจะรู้ตัวเช่น เผชิญความเครียดมาตลอดชีวิต
ถึงแม้จะมีคนตกเกณฑ์ แต่เราก็จะบอกเสมอว่า ไม่ต้องเครียดนะ ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่ต้องโทษตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงมันอาจไม่ได้เห็นผลในทันที แต่มันอาจจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป มันต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ในเปเปอร์ที่เราเคยเห็นนั้น สั้นที่สุดก็คือใช้เวลาประมาณสามเดือน
ก่อนลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้ คุณหมอสนใจเรื่องเทโลเมียร์มานานแค่ไหน
เราสนใจเรื่องชะลอวัยมานานแล้วเหมือนกันนะสัก 10 กว่าปีนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องเทโลเมียร์จริงๆ ก็มาสนใจเมื่อไม่กี่ปีหลังมานี้ หลังจากที่เทโลเมียร์เริ่มดังจริงๆ ตอนปี 2009 ที่นักวิจัยชื่อ Elizabeth Blackburn ได้รับรางวัลจากเรื่องนี้ หลังจากนี้ในแวดวงการแพทย์ก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับเทโลเมียร์ตามออกมาเยอะมากเลย เราก็เริ่มเข้าไปสนใจศึกษาตอนราวๆ ปี 2012 ได้ อ่านได้เยอะๆ ก็คิดอยากจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนี้บ้าง
ในเล่มแรกที่เราเขียนคือ สูตรลับชะลอวัย เราจะแนะนำเรื่องการกินอย่างไรให้ดี ชวนให้คนอ่านรู้จักเรื่องอนุมูลอิสระ รวมถึงการอักเสบในร่างกาย พอเล่มต่อมา เราก็มีโฟกัสไปที่เรื่องของกลไกในร่างกายให้คนเข้าใจมากขึ้น รวมไปถึงแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่ส่งผลต่อร่างกายของเรา จนมาเล่มนี้ซึ่งเป็นเล่มที่ 15 เราเลยอยากหยิบเทโลเมียร์มาให้ทุกคนรู้จัก มันเป็นตัวละครที่ไม่เคยพูดถึงในเล่มอื่นมาก่อนเลย เล่มนี้มันเลยเป็นการนำจิ๊กซอว์ที่หยิบจากเล่มต่างๆ มารวมกัน ถ้าใครเคยอ่านเล่มอื่นมาก่อนก็น่าจะเข้าใจได้เร็ว
แล้วเพราะอะไรถึงอยากเขียนถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษ
เราอ่านเรื่องนี้แล้วเราสนุกนะ เราเลยอยากเขียน รู้สึกว่ามันมีความเป็นรูปธรรมมากเลยนะ มันวัดได้ มันอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงแก่แล้ว แต่แก่ไม่เท่ากัน บางคนดูแก่เร็วกว่าคนอื่น มันเป็นสิ่งที่เราเห็นภาพได้จริงๆ จากเทโลเมียร์ ประเด็นคือ ความยาวของเทโลเมียร์ มันไม่ได้แค่วัดได้แค่ในแลปหรูๆ แล้ว เพราะแลปในเมืองไทยก็วัดได้นะ มันเลยเป็นเหมือนการเอาเรื่องนามธรรมอย่างความชะลอวัยมารวมเป็นสิ่งที่รูปธรรมมากขึ้น
เรายังหยิบเรื่องนี้ไปเป็นประโยชน์กับคนไข้ได้อีกด้วย เพราะเมื่อวัดเทโลเมียร์ของคนไข้แล้วได้ผลออกมา เราก็จะสามารถแนะนำให้คนไข้ปรับไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่อาจเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดความชะลอวัยได้อีกด้วย เราสามารถวัดความสั้นยาวของเทโลเมียร์เพื่อดูได้ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในตัวคนไข้ ศาสตร์เรื่องชะลอวัยมันเลยถูกทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
อีกอย่างนึงคือ เรายังไม่ค่อยเห็นหนังสือไทยเล่มไหนที่เล่าเรื่องเทโลเมียร์อย่างจริงจังเป็นตัวเอก แต่เราคิดว่าเรื่องนี้มันน่าเล่านะ การค้นพบเกี่ยวกับเทโลเมียร์ในวงการแพทย์มันน่าจะสนุก เพราะมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เป็นผู้จุดประกายให้เราได้เข้าใกล้ และทำความรู้จักเทโลเมียร์กันมาเรื่อยๆ อย่างตอนที่ Elizabeth Blackburn ได้รับรางวัลจากเรื่องเทโลเมียร์ เธอเองก็ได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง The means to the ends ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่มีทั้งวิทยาศาสตร์และปรัชญาผสมกันอยู่ด้วย เรื่องแบบนี้มันเลยน่าสนใจมากๆ ที่เราอยากหยิบมาเล่าให้คนอ่านได้สนุกไปด้วยกัน
เมื่อสักครู่ คุณหมอพูดถึงเรื่องความเป็นปรัชญาในเทโลเมียร์ อยากให้ช่วยขยายความอีกนิดหน่อย เพราะเวลาเราพูดเรื่องการแพทย์แล้ว ก็มักจะนึกถึงกันในเชิงวิทยาศาสตร์กันอย่างเดียว
เราคิดว่าเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์มันมีแง่มุมทางปรัชญาหรือแง่มุมชีวิตให้เราได้เรียนรู้เสมอ เรื่องเทโลเมียร์ก็เหมือนกัน มันสอนเราว่าชีวิตเรามันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด และมีแต่ความไม่แน่ไม่นอน ซึ่งหลายอย่างมันไม่ได้เห็นได้ด้วยตา แต่อยู่ลึกเข้าไปในระดับเซลล์เลย
มันยังบอกด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายของเรามันบอกเล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ทุกอย่างมันบอกเล่าเกี่ยวกับเทโลเมียร์ได้หมดเลย
พอมันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ มีวิธีเล่าอย่างไรให้มันไม่เครียดเกินไป
เราพยายามเล่าถึงประวัติศาสตร์การค้นพบ หรือเล่าถึงคาแรคเตอร์ของนักวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงดราม่าในวงการโนเบล บางตอนก็หยิบบางส่วนจากนิยายของ ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ มาเล่า บางตอนก็เล่าถึงเรื่องเด็กที่ป่วยด้วยโรคบางอย่างที่เกี่ยวกับเทโลเมียร์ พูดให้ถึงที่สุดคือ เราเอาเรื่องที่คนหมู่มากสามารถอินไปด้วย หรือเรื่องที่มันเอนเตอร์เทน เรื่องใกล้ตัว อ่านแล้วเพลินๆ ได้เข้ามาสลับเล่ากับเรื่องวิทยาศาสตร์
เราเก็บข้อมูลรวบรวมเยอะมาก บางครั้งสองประโยคที่เอามาใส่ในเล่มก็มาจากเปเปอร์วิชาการหลายหน้ามากเลยนะ แต่เราหยิบมาแค่บางส่วนเพราะรู้ว่า ถ้ายกมาทั้งหมดคงเครียดมากเกินไป
ถ้าให้เดาใจคนอ่าน คุณหมอคิดว่าเขาน่าจะอยากรู้อะไรมากที่สุดจากหนังสือเล่มนี้
คงอยากได้ความรู้ว่าเราต้องทำอย่างไรถึงจะชะลอวัยได้ หรือต้องกินอาหารแบบไหนให้ถูกต้องเพื่อที่จะช่วยให้เทโลเมียร์ยาวขึ้น แต่ในการที่จะบอกเรื่องเหล่านี้ เราก็อยากให้ผู้อ่านได้เข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละสิ่งด้วยเหมือนกัน ซึ่งเราก็เชื่อว่า ก็มีคนอ่านที่อยากรู้ข้อมูลเบื้องหลังที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบนี้ด้วย
เราคิดว่าคนอ่านอาจจะไม่ใช่แค่คนที่ชอบสุขภาพ แต่น่าจะมีกลุ่มที่ชอบ Pop science ที่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์แบบสนุกๆ ง่ายๆ เหมือนกัน เท่าที่เราเคยเจอกลุ่มคนที่ตามอ่านหนังสือของเรามา ก็มีหลายคนที่ชอบ Pop science มากขึ้นเรื่อยๆ บางคนก็มาบอกว่าอ่านหนังสือของเราแล้วกลับไปอ่านหนังสือเรียนสนุกยิ่งขึ้น
แล้วคิดว่าปัจจัยอะไรที่ปิดกั้นคนออกจากหนังสือแนววิทยาศาสตร์
คนอ่านหนังสือน้อยลงอยู่แล้วด้วย เพราะคนหันมาสนใจเรื่องโซเชียลมีเดียมากขึ้น จากโควต้าที่เราอ่านได้เดือนละเล่ม เราอาจเหลือเป็นสองสามเดือนได้หนึ่งเล่ม พอโควต้ามันน้อย เราก็มักจะเลือกที่จะอ่านหนังสือที่มันเห็นผลอะไรบางอย่างได้ในทันที เช่น อ่านแล้วรวยเลยโดยไม่ต้องทำงาน แต่พอมันเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์มันเป็นอีกแบบหนึ่ง สำหรับเรา ต้นทุนชีวิตที่สำคัญสุดคือสุขภาพของเรา ถ้าเรามีทุกอย่างแต่สุขภาพเราไม่อำนวย เราก็ทำอะไรแทบไม่ได้เลยนะ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีสุขภาพที่ดีเป็นพื้นฐานก่อนแล้ว มันจึงจะเป็นตัวเชื่อมไปสู่ความฝันของเราได้
อยากให้หนังสือเล่มนี้เข้าไปถึงคนกลุ่มไหนบ้าง
คิดว่าคนกลุ่มเดิมที่เคยอ่านเรื่อง ‘อ่านแล้ว Young’ หรือหนังสือเล่มก่อนๆ ของเรามาอ่านเล่มนี้ เขาก็น่าจะชอบเรื่องเทโลเมียร์ได้ไม่ยาก ก็น่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วเราก็อยากให้มันไปถึงคนกลุ่มใหม่ๆ ด้วย เพราะประเด็นที่เราส่งออกไปผ่านตัวหนังสือ คืออยากให้คนอ่านรู้วิธีดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อห่างไกลจากโลก เนื่องการดูแลเทโลเมียร์มันไม่ได้ช่วยเพียงแค่ทำให้เซลล์เราไม่แก่ แต่ยังช่วยให้เซลล์ไม่ป่วย ก็คือห่างไกลจากโรคเช่นมะเร็ง หรือโรคอัลไซเมอร์ เพราะว่าโรคเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เซลล์ของเราแก่
อยากให้คุณหมอเล่าถึงกระบวนการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เขียนจริงๆ สามเดือนแต่ใช้เวลารวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ อยู่หลายเดือน แล้วพอเราตีพิมพ์เรื่องนี้เอง เราก็จะซีเรียสน้อยลงแล้วว่าจะต้องเอาจุดขายอะไรไปขายกับสำนักพิมพ์ คือเราสามารถกำหนดตามใจได้มากขึ้นนิดหน่อย คือถ้ามันขาดทุนก็เป็นทุนของเราเอง (หัวเราะ)
จริงๆ ตอนเขียนเสร็จออกมาดีกว่าที่คิด แถมยังโชคดีมากที่ได้กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ที่ชอบวาดงานแนววิทยาศาสตร์มาช่วยทำปก รวมถึงภาพต่างๆ ในหนังสือด้วย พอมีภาพมาช่วยเล่าแล้ว เราอ่านแล้วก็มีพื้นที่ให้สมองได้จินตนาการที่ตกผลึกกับตัวเองได้
อ่านหนังสือจบแล้ว อยากให้คนอ่านจะได้แรงผลักดันอะไรในชีวิต
เราก็อยากสร้างให้เกิดประสบการณ์อะไรบางอย่าง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของคนอ่านได้ ซึ่งมันคือความสุขของนักเขียนเลยนะ ที่เราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทั้งร่างกายและจิตใจของคน คือทำให้เขาน้ำหนักลด สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น มันก็คือเป้าหมายสำคัญของเราเลย
ต่อจากเทโลเมียร์อยากเขียนเรื่องอะไรต่อ
ยอมรับว่าช่วงหลังเขียนตามใจตัวเองมาก พอคุยกับคนในทวิตเตอร์เยอะๆ ก็เห็นคนที่เข้ามาปรึกษาเรื่องสุขภาพต่างๆ เยอะมาก เราเลยคิดได้ว่าหรือเล่มต่อไปเราคงต้องกลับมาสนใจและเอาผู้อ่านเป็นหลักแล้ว เช่นเรื่องใกล้ตัวและแมสมากขึ้น