ลองคิดเล่นๆ ว่าอะไรคือความโชคดีของการได้เกิดเป็นทายาทในตระกูลมีชื่อเสียงหากจะคิดถึงเรื่องฐานะก็นับว่าโชคดีแบบสุดๆ หากแต่ในความโชคดีนั้นยังประกอบไปด้วยความกดดันที่ส่วนมากมักต้องสืบทอดธุรกิจของครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งเป็นธุรกิจบันเทิงที่มีอายุกว่าหกสิบปีอย่าง ‘กันตนา’ ด้วย ดูทรงแล้วไม่น่าจะมีอะไรง่าย
ชื่อของ เต็นท์ – กัลป์ กัลย์จาฤกเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับเรื่อง ห้องหุ่น ที่นำบทประพันธ์เก่ามาตีความใหม่ แม้จะได้เสียงตอบรับค่อนไปทางลบ แต่ก็ทำให้วงการหนังไทยได้เห็นความกล้าที่จะใช้วิธีการใหม่ๆ ในการเล่าเรื่อง ก่อนจะมานั่งแท่นโปรดิวเซอร์ให้กับ อวสานโลกสวย ที่ได้รับเสียงชื่นชมไปพอประมาณ และล่าสุดได้ก้าวเข้ามาสู่การทำรายการโทรทัศน์ ประเดิมด้วยการซื้อลิขสิทธิ์รายเรียลลิตี้พ่อลูกชื่อดังของเกาหลีอย่าง The Return of Superman มาทำเป็นเวอร์ชันไทย ซึ่งเขาบอกว่าเป็นงานที่ต้องทำหาเลี้ยงบริษัท ถึงจะยังรักในการทำหนังอยู่ก็ตาม
ในความเป็นธุรกิจครอบครัวเพื่อส่งไม้ผลัดไปยัง gen 3 ของกันตนา เต็นท์ต้องรับตำแหน่งเป็นหนึ่งในที
The MATTER: การเริ่มต้นเปลี่ยนสายการทำงานจากหนังมาทำรายการทีวี ต้องปรับวิธีการทำงานเยอะไหม
เต็นท์: โดยพื้นฐานผมคลุกคลีอยู่กับวงการนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว ถามว่าต้องปรับตัวไหม ผมมองว่ามันเป็นคนละศาสตร์กัน หนังก็คือหนัง รายการทีวีก็คือรายการทีวี จุดแข็งของหนังคือการเล่าเรื่องและความเป็นธรรมชาติ ผมเลยเอามาใส่ในรายการทีวีเพื่อให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งรายการทีวีการเล่าเรื่องก็สำคัญเหมือนกัน ในแต่ละตอนจะบอกว่าตอนนี้ต้องการพูดถึงอะไร เหมือนเป็นการครอบไว้บางๆ แต่พอเข้าไปในตอนถ่ายจริงๆ มันเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องมาเรียบเรียงอีกที
The MATTER: จริงๆ แล้วชอบศาสตร์ไหนมากกว่า
เต็นท์: ผมชอบหนังมากที่สุด จริงๆ ก็ยังอยากทำหนังอยู่ เหมือนเป็น passion แต่ทีวีเป็นชีวิตที่ต้องทำ คนอื่นอาจจะทำหนังเป็นอาชีพได้ สำหรับผมยังเป็นอาชีพไม่ได้ แต่ทีวีทำเป็นอาชีพได้ ผมมีลูกสองคนก็ต้องเปลี่ยนความคิดบ้างในบางเรื่อง พี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) เขาก็ต้องทำโฆษณาเพื่อกลับมาทำหนัง ผมก็ต้องไปทำรายการทีวีเพื่อกลับมาทำหนังเหมือนกัน เพราะวงการหนังอยู่ยากจริงๆ
The MATTER: ทำไมถึงตัดสินใจซื้อ The Return of Superman มา
เต็นท์: ผมชอบความเป็นเรียลลิตี้ ชอบถ่ายชีวิตคน ซึ่งผมเป็นคนโปรดักชันอยู่แล้ว รู้สึกว่าวิธีการแบบนี้มันแปลกใหม่ในบ้านเรา มันไม่ใช่รายการที่มีอยู่อย่างรายการร้องเพลง ผมอยากลองทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างวิธีการถ่ายทำวิธีการเซ็ตอัพใหม่ๆ และรู้สึกว่ามันเป็นรายการเรียลลิตี้จริงๆ แบบที่ไม่ปรุงแต่งเยอะ ให้พลังบวกล้วนๆ ซึ่งประสบความสำเร็จมากในเกาหลี ผมเองก็มีลูก เลยรู้สึกว่ารายการนี้น่าจะเข้ากับเรา
อีกอย่างคือไทยกับเกาหลี เรื่องความเป็นพ่อแม่มีพื้นฐานใกล้เคียงกัน แต่วัฒนธรรมอาจจะแตกต่างกัน ผู้หญิงเกาหลีต้องเป็น full time mom ส่วนผู้ชายก็ออกไปทำงานอย่างเดียว ซึ่งผมว่าในไทยก็ไม่แตกต่างกันมาก ถึงปัจจุบันจะมีเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย แต่ส่วนมากผู้ชายก็ยังเป็นช้างเท้าหลังในด้านการเลี้ยงลูกอยู่ดี
The MATTER: อะไรคือความยากของการทำรายการเรียลลิตี้และยิ่งเป็นรายการเด็กด้วย
เต็นท์: เด็กไม่สามารถคอนโทรลได้ แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะไปบังคับอะไรได้เลย บทที่เขาไม่เอาเขาก็จะไม่เอาเลย เราก็บังคับไม่ได้ ต้องรอเขาปรับอารมณ์ หรือถ้าเขาป่วยก็ต้องเลิกถ่ายไปก่อน จึงเกิดสถานการณ์ที่เซอร์ไพรซ์ตลอดเวลา ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ของรายการนี้ ไม่เหมือนรายการของผู้ใหญ่ที่สามารถเก็บอารมณ์หรือแอ็กติ้งได้ แต่นี่คือเพียวทั้งหมด ก็สนุกไปอีกแบบ
48 ชั่วโมงที่ถ่าย ผมต้องถ่ายกับทีมงานจริงๆ นั่งดูกันว่ามีตรงไหนใช้ได้บ้าง จากวันแรกที่ลูกไม่สามารถอยู่กับพ่อแบบลำพังได้ วันที่สองพัฒนาการก็เพิ่มขึ้นทันที เขาจะเข้าใจมากขึ้น และวีคต่อๆ ไปเขาก็มีความสัมพันธ์กับพ่อมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทั้งแขกรับเชิญในรายการและคนดูทางบ้าน ว่าการที่เรามีเวลาอยู่กับลูก แม้จะเวลาแค่ไม่กี่วัน จะเห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกแน่นอน
The MATTER: ส่วนตัวประทับใจพ่อคนไหนในรายการมากที่สุด
เต็นท์: ชอบพี่กอล์ฟ ฟักกลิ้ง เขาเหมือนเป็นคุณพ่อที่ไม่รู้เรื่องการเลี้ยงลูกเลย เพราะเป็นพ่อที่ทำงานอย่างเดียว แล้วคุณแม่เลี้ยงดูลูกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้านั้นเขาก็คิดว่าพอได้ แต่พอวันแรกเขาลังเลว่าจะถอนตัวดีไหม เพราะเริ่มรู้สึกยาก แต่พออยู่ๆ ไปเขากลับโอเคด้วยสัญชาตญาณและความผูกพันกับลูก แค่เขาไม่คุ้นชินเฉยๆ เพราะผู้ชายส่วนใหญ่จะแค่ทำหน้าที่เล่น ไม่ได้เปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนนม พาลูกนอน แม่กับลูกจึงสนิทกันมากกว่า แต่พอพ่อได้ลองทำจริงๆ เขาถึงจะรู้ ส่วนแม่จะห่วงว่ารอดไหม แม่บางคนร้องไห้เลย เพราะไม่เคยอยู่ห่างลูก ซึ่งตอนถ่ายแม่จะออกไปจากตรงนั้นจริงๆ จะไม่ได้คอยแอบดูอยู่ เพราะเด็กจะมีเซนส์ว่าแม่เขาอยู่และจะร้องหา
The MATTER: มองว่าการเป็นพ่อสอนกันได้ไหม
เต็นท์: ผมว่าเป็นสัญชาตญาณมากกว่า โดยที่ยังต้องมีแม่คอยไกด์อยู่ แม่บางคนจะเขียนลิสต์ให้ทำแบบนี้ๆ เลย สุดท้ายยังไงก็ทำได้ ผมเองก็เรียนรู้ไปพร้อมกับเขา เห็นอะไรก็เอามาปรับใช้ เพราะแต่ละบ้านจะเลี้ยงลูกไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่ได้แปลว่าดีหรือไม่ดี แต่เป้าหมายเดียวกันคืออยากให้ลูกเป็นคนดีและมีความสุขอย่างน้อยพ่อที่ดูรายการต้องกลับมาดูว่า เขาได้ใช้เวลากับครอบครัวมากน้อยแค่ไหน
คนเป็นผู้ชายไม่จำเป็นต้องถึงขั้นเป็น full time dad แค่ใช้เวลากับลูกและแม่ จะได้รู้พัฒนาการของลูก โดยที่ไม่ต้องฟังมาจากใคร แล้วความสัมพันธ์จะใกล้ชิดกันมากขึ้น พ่อส่วนใหญ่จะมองว่าการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของแม่ ถึงจะให้นมลูกไม่ได้ แต่ก็ยังมีวิธีอื่นอีกที่จะคอยช่วยแม่ได้ เพราะฉะนั้นพ่อและแม่สำคัญกับลูกทั้งคู่ เพราะลูกคือสิ่งที่สะท้อนตัวของพ่อแม่เอง ถ้าได้อยู่ด้วยกันน้อยความเป็นพ่อแม่ของเราก็จะสะท้อนออกมาน้อย
The MATTER: ตอนที่รายการออนแอร์ห่วงฟีดแบ็กไหม เพราะเรื่องเด็กเป็นสิ่งที่เซนส์ซิทีฟพอสมควร
เต็นท์: ส่วนใหญ่คนดูจะชอบ เพราะเป็นรายการที่มองในแง่บวกมาก ดูทั้งครอบครัวก็จะแฮปปี้ ไม่มีพิษภัย เป็นรายการตลกแบบอบอุ่น คอมเมนต์แต่ละคอมเมนต์ก็จะไม่รุนแรง เหมือนเราดูคลิปเด็ก ยังไงก็อมยิ้ม มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ได้เห็นมุมต่างๆ ของเด็กๆ เราวาง position รายการว่าต้องแง่บวกทั้งหมด ไม่มีดราม่า เรามีการคุยกับครอบครัวอย่างใกล้ชิด ตัดต่อเสร็จแล้วก็เอาให้เขาดูก่อนว่าโอเคไหม ตั้งแต่ออนแอร์มายังไม่มีดราม่าเลย
The MATTER: จำได้ไหมว่า ตอนเด็กๆ มองตัวเองในอนาคตอย่างไร
เต็นท์: ด้วยความที่พ่อ(จาฤก กัลย์จาฤก) จับผมไปอยู่ทุกที่ในบริษัท ทำให้เห็นการทำงานทั้งหมด แต่ด้วยความเป็นเด็กเลยไม่ได้มี passion อยากจะทำอะไร แล้วมีวันหนึ่งผมได้ไปฝึกงานที่กองหนังเมืองนอก ซึ่งการที่เราอยู่ในบริษัทตัวเองแบบคลุกคลีมามากทำให้ไม่รู้สึกว่ามันเจ๋ง ตื่นมาก็มานั่งรอถ่าย เห็นทุกวันจนเบื่อ แต่พอไปอยู่ที่อื่นกลับรู้สึกว่ามันเจ๋งว่ะ กลายเป็นรู้โปรเซสของหนัง หลังจากนั้นก็ตัดสินใจไปเรียนฟิล์มเลย
The MATTER: หลังจากเรียนจบกลับมาทำหนังเรื่องแรก ได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง
เต็นท์: การเล่าเรื่องและความพอดีเป็นสิ่งสำคัญ บางทีไม่มั่นใจก็อย่าเพิ่ง เพราะตอนนั้นมีการตัดสินใจผิดพลาดเยอะมาก แล้วมีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ ถ้าเลือกกลับไปทำได้คงจะไม่ทำแบบนั้น พอผ่านมาได้ พ่อก็ให้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ ทำให้เราระวังมากขึ้น รู้หลักเกณฑ์อะไรมากขึ้น
The MATTER: ได้วิธีคิดอะไรจากพ่อมาบ้าง
เต็นท์: ผมว่าเป็นเรื่องการอยากทำอะไรก็ทำ แต่ต้องทำให้สำเร็จ เขาจะไม่มีกรอบให้ผม ไม่บอกว่าต้องทำอะไร จะบอกว่าถ้าอยากทำก็ลองทำดู แต่ทำให้ได้ละกัน สำคัญคือต้องไม่ทิ้งงาน ต้องมุ่งมั่น ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็รู้เอง เขาจะให้ลองผิดลองถูกตลอด แล้วจะคอยไกด์อยู่ข้างหลัง ผมอยู่กับพ่อมาตั้งแต่เด็ก การเรียนรู้ทุกอย่างก็มาจากเขา
จากวันแรกที่บอกอยากทำหนัง เขาก็ไม่ยุ่งเลย ทำหนังเสร็จแล้วยังไงต่อกับชีวิต ก็ต้องทำงานอย่างอื่น ด้วยตัวผมเองจะไม่ค่อยขึ้นกับคนอื่น ผมอยากจะอยู่ของผมโดยที่ไม่มีใครมาครอบอยู่ เขาบอกว่าถ้าอยากเปิดบริษัทเองก็เปิด แต่ต้องอยู่ให้ได้นะ ก็ต้องหารายการทีวีมาทำ เขาก็คอยให้คำปรึกษาอยู่เรื่อยๆ คำสอนของพ่อที่ชอบที่สุดคือ ง่ายๆ อย่าไปทำ ทำที่มันยาก คือมันท้าทายกว่า ง่ายๆ ใครก็ทำได้ ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ คู่แข่งก็น้อยลง
The MATTER: ขณะที่เชื่อสิ่งที่พ่อบอก มีสิ่งไหนที่รู้สึกเห็นแย้งบ้างไหม
เต็นท์: จริงๆ พ่อผมเป็นคนวัยรุ่นมาก เปิดกว้างมาก แต่เรื่องที่ผมยังติดอยู่คือการประณีประนอม เขาชอบให้ใจเย็นๆ บางเรื่องปล่อยผ่านไปบ้างก็ได้ เขาก็บอกว่าให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แล้วผลลัพธ์ก็จะออกมาเอง ไม่จำเป็นต้องไปบี้เขา แล้วเราก็จะเป็นทุกข์เอง ซึ่งผมแกะเรื่องนี้ไม่ได้ เป็นเรื่องของอารมณ์ บางเรื่องอาจจะยืดหยุ่นได้ แต่บางเรื่องก็ไม่ได้ ต้องลุย ไม่ถูกต้องทำไมไม่จัดการไปเลย เพราะมันไม่แฟร์กับเรา ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเราไม่รู้ว่าอะไรถูกหรือผิด
The MATTER: การรับช่วงบริหารงานต่อ มองว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญที่สุด
เต็นท์: ผมว่าคือความคลาสสิก เราพยายามก้าวผ่านความคลาสสิกให้ได้อยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่มีภาพจำบางอย่างที่กันตนาต้องเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นก็ได้เพราะคนไทยเห็นกันตนาเป็นแค่ละคร แต่จริงๆ เราทำเยอะมาก เพียงแต่เราไม่ได้พีอาร์หรือพูดออกไป อย่างเช่นเรื่องงาน post production หนัง สมัยก่อนมีแค่กันตนากับอีกเจ้าคือ เทคนิคคัลเลอร์ ซึ่งกันตนาได้ทำ post หนังของหว่องกาไว ก็ไม่มีใครรู้ ด้วยความที่ละครดังมาก เลยทำให้กลบทุกอย่างที่กันตนาทำ
คนรุ่นผมลงมาก็จะรู้สึกว่ากันตนาเก่านะ เชยนะ ไม่ได้เป็นบริษัทใหม่ ซึ่งเชยไม่เชยไม่รู้ แต่เรตติ้งสูงก็ต้องทำ คนดูก็ยังชอบในสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่เราก็อยากเพิ่มทางเลือกให้คนรุ่นใหม่บ้าง ยิ่งมีช่องทีวีตอนนี้เยอะมาก มันกระจายกันหมด ถ้าทำอยู่อย่างเดียวก็ไม่รอดหรือเปล่า เราก็ต้องทำหลายๆ อย่าง เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราจึงพยายามที่จะทำให้สิ่งเก่ายังมีอยู่ แต่สิ่งใหม่ก็ต้องทำด้วย เราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดแบรนด์ใหม่ เรายังต้องเป็นกันตนาเหมือนเดิม
The MATTER: ทางเลือกใหม่ที่ว่า จะออกมาในรูปแบบไหน ในเมื่อละครยังเป็นจุดขายของกันตนาอยู่
เต็นท์: ตอนที่ทำ ห้องหุ่น ผมไม่อยากจะทิ้งของเก่า เลยทำสิ่งใหม่เพื่อเข้าไปอยู่ในของเก่าให้ได้ ซึ่งการทำแบบนั้นไม่ใช่แค่ติดชื่อกันตนา แต่ติดชื่อเรื่องด้วย เวลาเราเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ ฝรั่งเขาอาจจะโอเค แต่คนไทยคาดหวังที่จะได้ดูสิ่งเดิม ละครเรื่องนี้ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น แต่ในมุมมองคนสร้างก็คิดว่าต้องเป็นแบบใหม่หรือเปล่า
ทางออกคือใช้แบรนด์เดิม แต่ทำเรื่องใหม่น่าจะดีกว่า จนเกิดเป็น The Return of Superman Thailand หรือ อวสานโลกสวย ขึ้นมา ซึ่งการทำใหม่สำหรับคนไทยยังไม่ถึงเวลา อาจจะต้องอีกสักห้าปีสิบปี ผมอาจจะเอา เพลิงพระนาง มาทำในเวอร์ชันซีรีส์ใหญ่แบบ Game of Thrones ก็ได้ไม่แน่ ซึ่งการทำสิ่งใหม่เป็นสิ่งที่ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องยึดภาพลักษณ์เดิมมาก
The MATTER: กันตนาวางแผนปรับตัวในยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอย่างไร
เต็นท์: เราพยายามเป็นผู้นำในทุกๆ ด้านอยู่แล้ว แต่ดิจิทัลค่อนข้างยาก เพราะเป็นสื่อใหม่ ตอนนี้เราพยายามรวมระหว่างทีวีกับดิจิทัลให้ได้ อย่างเช่น The Face ของพี่เต้ social media ก็แข็งแรงมาก เป้าหมายของเราจึงไม่ใช่ดิจิทัลกับทีวี แต่เป้าหมายของเราคือ คอนเทนต์ ซึ่งเป็น king ของทุกอย่าง ในอนาคตคนอาจจะวิ่งหาคอนเทนต์ ไม่ได้วิ่งหาช่องทางปล่อย เพราะอินเทอร์เน็ตมันฟรีหมดแล้ว เราจึงพยายามทำรายการใหม่ๆ ขึ้นมา
The MATTER: แบ่งหน้าที่ในการบริหารงานกับพี่เต้อย่างไร เพราะด้วยบุคลิกแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย
เต็นท์: พี่เต้กับผมเป็นพี่น้องแบบคนละขั้ว เหมือนหยินหยาง เขาก็จะมีวิธีการของเขา แต่มีหลักการเดียวกันคือต้องการให้กันตนาเป็นแบรนด์ที่ Top ตลอดเวลา คือกันตนาเป็นบริษัทครอบครัว ถูกปลูกฝังมาจากย่าที่พูดทุกวันว่าฝากกันตนาด้วยนะ เราสองคนก็จะรู้ว่านี่คือสิ่งที่ย่าและครอบครัวรักที่สุด เราต้องช่วยกันทำให้มันดี กับพี่เต้ผมก็เข้าไปช่วยเขาบ้างในบางพาร์ทที่เขาอยากใช้โปรดักชัน ผมจะเป็นสายโปรดักชันที่ลงมือทำ ส่วนพี่เต้จะเป็นสายจัดการส่วนใหญ่ ปกติมีปัญหาก็จะคุยกันตรงๆ ถ้าเขาบอกให้ทำแบบนี้ แล้วผมทำไม่ได้ก็บอกทำไม่ได้ เพราะการทำงานต้องมี passion ไม่มีก็จบ พี่น้องจะพูดกันตรงๆ อยู่แล้ว ต่างคนจะต่างรู้ว่าใครไม่ชอบอะไร
ครอบครัวเราจะช่วยเหลือด้วยการแบ่งกันทำงาน ผมก็จะสายหนึ่ง พี่เต้ก็อีกสายหนึ่ง เราจะไม่เข้าไปยุ่งหน้าที่ของแต่ละคนมาก เพราะงานศิลปะมันบอกไม่ได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี มันวัดไม่ได้ว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ทั้งประเทศอาจจะบอกว่าดี เราจึงต้องเปิดไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน แนะนำช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้าไม่ช่วย อย่าบอกว่าอะไรดีไม่ดี
The MATTER: ดูเหมือนว่าการบริหารงานแบบครอบครัวคือจุดแข็งของกันตนา มีสิ่งไหนที่เป็นจุดอ่อนไหม
เต็นท์: เขาว่ากันว่า ธุรกิจครอบครัว รุ่นที่ยากที่สุดในการทำให้อยู่คือรุ่นที่สาม นั่นคือรุ่นผม คือรุ่นที่หนึ่งจะอยู่แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ รุ่นที่สองจะห้าสิบห้าสิบ มีทั้งเจ๊งและไปต่อ รุ่นที่สามจะเหลือแค่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ที่ไปต่อได้ แล้วส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาภายใน คือการทะเลาะกันจากการเข้ามามีบทบาทของแต่ละคนในครอบครัว