ก่อนหน้านี้ ใครที่อยากทำสินค้าส่งออกก็มักจะต้องพิจารณาความเสี่ยง ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือ ‘ความเสี่ยงสูง’ ในการดำเนินธุรกิจ เพราะยังขาดความรู้ ประสบการณ์ ที่ปรึกษา หรือเครื่องมือในการช่วยซัพพอร์ต
ทาง EXIM Bank ได้พัฒนาเครื่องมือใหม่ขึ้นมา ภายใต้ชื่อว่า ‘TERAK’ โดยย่อมาจาก Thailand Export Readiness Assessment & Knowledge Management หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ที่รัก’ by EXIM เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มต้นธุรกิจส่งออก
และจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (สสว.) ระบุว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (GDP MSME) มีมูลค่า 1,445,258 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศเท่ากับ 32.9 % และมีการจ้างงานถึง 80% ของการจ้างงานทั้งประเทศ แปลว่า SMEs นั้นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก
คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการ SMEs มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลพยายามออกแคมเปญช่วยเหลือทางด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง และก็เกิดปัญหาตลอดเวลาเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ SMEs มักจะบอกว่าสถาบันการเงินไม่ให้เงินสินเชื่อ
“การพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้และความเข้าใจในการทำธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการช่วยเหลือด้านการเงิน เพราะหากไม่มีความรู้เพียงพอในการบริหาร เมื่อได้เงินสินเชื่อไป แต่บริหารงานไม่เป็น ออกไปค้าขายต่างประเทศสุดท้ายก็ไปไม่รอดและกลายเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงิน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีความรู้คู่สินเชื่อ”
คุณพิศิษฐ์มองว่า จุดนี้เป็นช่องโหว่ของผู้ประกอบการ SMEs ที่จะต้องหาทางแก้ไข ซึ่งทาง EXIM ได้เล็งเห็นตั้งแต่ช่วงที่ได้มีนโยบายจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) ขึ้น เพื่อให้เป็น One Stop Service ให้บริการครบวงจรกับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกหน้าใหม่และรายกลาง
EXAC ให้บริการตั้งแต่เป็นที่ปรึกษา จัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้เฉพาะด้าน จนถึงการให้สินเชื่อ สิ่งที่คิดไว้คือ น่าจะมีเครื่องมือที่มาช่วยใช้วัดขีดความสามารถของผู้ประกอบการว่า เขามีจุดแข็งอะไร จุดอ่อนอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือให้เราเสริมให้เขาแข็งแกร่งขึ้น
“ตอนนั้นเรายังไม่มีความชำนาญที่จะพัฒนาแบบทดสอบขึ้นมา จนคุณนพพร เทพสิทธา อดีตประธานกรรมการบริหาร EXIM BANK บอกว่า น่าจะพัฒนาโมเดลขึ้นมาได้เอง โดยให้ไปดูเปรียบเทียบว่าในต่างประเทศเขามีโปรแกรมอะไร ซึ่งก็พบว่าบางประเทศมันมีคล้ายๆ อย่างนี้ โดยให้มีการ Self Assessment คือผู้ประกอบการกรอกข้อมูลลงมา แล้วก็บอกว่าตัวเองขาดอะไร คิดว่าตัวเองรู้ระดับไหน แล้วเราก็จะเอามาเทียบกับโปรแกรมของเราอีกทีว่าน่าจะใช่หรือไม่ใช่ ภายหลังเขากรอกมาเสร็จ เราก็จะเอามาประมวลผลแล้วมันก็จะเป็น Question เช็กไปเช็กมาแล้วก็จะต้องทดสอบเข้าไป สุดท้ายผลจะออกมาว่าผู้ประกอบรายนี้มีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไร ต้องเสริมความรู้ด้านไหนเพิ่มเติม”
จากแนวคิดข้างต้น จึงได้เกิดระบบประเมินความพร้อมการส่งออกไทยที่เรียกว่า ‘TERAK’
TERAK คือ เครื่องมือสำหรับใช้วิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งธุรกิจของตนเองแบบเชิงลึก และยังให้แนวทางในการปรับปรุงธุรกิจอย่างมีขั้นตอน รวมทั้งเชื่อมโยงโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการส่งออกจากหลายหน่วยงานไว้ในที่เดียว
แล้ว TERAK จะมาช่วยประเมินในเรื่องไหนบ้าง เพื่อให้เรารู้ว่าเราพร้อมแล้วหรือยังกับการทำธุรกิจส่งออก
1. ด้านกลยุทธ์บริหารการส่งออก
2. ด้านการผลิตและการกระจายสินค้า
3. ด้านผลิตภัณฑ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์
4. ด้านการตลาด
5. ด้านแผนการเงินและการจัดการความเสี่ยงในธุรกิจ
โดยผู้ประกอบการจะต้องกรอกข้อมูลของตัวเองให้ครบถ้วน ซึ่งข้อดีของโปรแกรม TERAK นี้ จะช่วยให้เรารู้ตัวอย่างรวดเร็วว่า ‘เรากำลังขาดอะไรอยู่’ ‘เราควรเสริมเรื่องไหนให้แข็งแกร่งขึ้น’
หากผลประเมินนั้นออกมาว่า เราขาดอะไรและต้องเสริมในเรื่องไหน ภายในระบบจะมีการแนะนำคอร์สเรียนที่เหมาะสมกับเรา เพื่อให้เรามีความรู้ในการอุดรอยรั่วได้ทันเวลา ทาง EXIM Bank นั้นมีหลักสูตรของ EXAC และพาร์ทเนอร์ ยิ่งถ้าเป็นคอร์สของ EXIM Bank เอง ผู้ประกอบการก็สามารถเข้าไปเรียนได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
และอีกข้อสำคัญนอกจากจะทำให้เรารู้ตัวได้เร็วก็คือ เมื่อธนาคารมีข้อมูลของผู้ประกอบการมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้สามารถออกสินเชื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการดำเนินธุรกิจส่งออกได้เหมาะสม ระบบนี้จึงไม่ใช่แค่ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ตรงจุด แต่ยังลดการเกิดหนี้เสียอีกด้วย
“ถามว่า แบงก์ได้อะไรจากโครงการนี้ สิ่งที่ธนาคารจะได้คือ Database ยิ่งคนเข้ามากรอกมาใช้โปรแกรมนี้เยอะ โปรแกรมจะมีความแม่นยำมากขึ้น มี Data Analytics มาวิเคราะห์ผล ผมหวังว่าเราจะสามารถพัฒนาลูกค้าของเรา หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไปให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น มียอดขายสูงขึ้น จะพัฒนาต่อจนได้สินเชื่อ ออกไปค้าขายต่างประเทศแล้วไม่ล้มเหลว หรือล้มเหลวน้อยลง ต้องมีความรู้มีปัญญาไม่เช่นนั้นได้สินเชื่อไปก็บริหารไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย จะมีสถาบันการเงินไหนกล้าให้กู้” คุณพิศิษฐ์ กล่าว ลูกค้าของธนาคารอื่นๆ เองก็สามารถใช้บริการระบบ TERAK ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นลูกค้าของ EXIM Bank เท่านั้น
“โปรแกรมนี้อาจจะเริ่มมีหน่วยงานอื่นพัฒนาและใช้กันบ้าง ซึ่งผมว่าดีที่มีคนทำ ยิ่งมีมากผู้ประกอบการก็จะมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เรื่องอย่างนี้ต้องช่วยกันทำคนละไม้ละมือแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น”
ใครที่อยากเตรียมความรู้ให้แน่น และมีเครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงเรื่องการส่งออกธุรกิจให้พร้อม TERAK จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://exac.exim.go.th/