ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่มองว่าสาเหตุเกิดมาจากครอบครัวที่ไม่เข้มแข็ง
แต่หากลองมองให้กว้างกว่านั้น สาเหตุกลับไม่ใช่มีแค่ครอบครัว แต่ยังมีเรื่องของสภาพสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลกระทบต่อๆ กันมา
การแก้ปัญหาก็ไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะสามารถทำได้สำเร็จ จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน หนึ่งในนั้นคือส่วนร่วมของ ‘เด็กชายขอบ’ หรือกลุ่มเยาวชนที่สังคมมักจะมองไม่เห็น แต่กลับเป็นพลังสำคัญเล็กๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
The MATTER ชวนไปทำความรู้จักเด็กชายขอบกับ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่พยายามผลักดันให้กลุ่มเด็กชายขอบเหล่านี้ได้ปล่อยแสง เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนด้วยกัน รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้เมื่อพวกเขาเติบโตและก้าวพ้นปัญหาของตัวเอง
มองภาพรวมของปัญหาเด็กและเยาวชนทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ภาพรวมของสถานการณ์หลักๆ ถ้าเป็นเด็กเล็ก อย่างช่วงปฐมวัยจะเป็นเรื่องพัฒนาการ เรื่องโภชนาการ เรื่องการศึกษา เด็กโตหน่อยก็จะมีเรื่องปัญหาพฤติกรรมเข้ามา แต่ศักยภาพเขาก็เริ่มเพิ่มขึ้นด้วย แล้วพอเป็นวัยรุ่นตอนปลาย เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เราจะพบปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ตอนนี้ในกลุ่มผู้ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตพบว่าเป็นวัยรุ่นเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น การเป็นนักดื่มหน้าใหม่ นักสูบหน้าใหม่ สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็เกิดกับวัยรุ่นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ เป็นปัญหาสุขภาวะหลายๆ ด้านปะปนกันไป ปัญหาเหล่านี้จะรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อมีสถานการณ์ในเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้ามาร่วมด้วย คือถ้าเขาเป็นเด็กกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี จะได้รับการดูแลปกป้องที่มากกว่ากลุ่มที่ยากจน
แสดงว่าปัญหาของเด็กและเยาวชนครอบคลุมช่วงอายุที่ค่อนข้างกว้าง
คือพอเราใช้คำว่าเด็กและเยาวชน เรากำลังหมายถึงกลุ่มอายุที่ค่อนข้างกว้างมาก คืออย่างกฎหมายคุ้มครองเด็กบ้านเราจะบอกว่า เด็กคือคนที่อายุ 18 ปีลงไป ส่วนคนที่อายุเกิน 18 ปีแต่ไม่เกิน 25 ปี เรียกว่าเยาวชน แต่กฎหมายบ้านเราก็ยังมีความไม่สอดคล้องกัน เช่น กฎหมายเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น บอกว่าหมายถึงวัยรุ่นอายุ 10 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปี และถ้าไปดูนานาชาติก็ยิ่งมีหลายคำนิยามอีก เราจึงต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าคำนิยามมันดิ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังจะหยิบคนกลุ่มนี้ไปพูดในบริบทอะไร อย่างเฉพาะที่ สสส. ทำงาน ถ้าบอกว่าเป็นกลุ่มเด็กก็จะโฟกัสที่เด็กเล็กและเด็กวัยเรียน จะเน้นเรื่องการคุ้มครองเขา เพื่อให้เขาได้รับการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิในด้านสุขภาพ สิทธิในการได้รับการศึกษา ไม่ถูกล่วงละเมิด พอเด็กโตหน่อย หรือจะเรียกรวมว่าเยาวชน สักอายุ 15 ปีขึ้นไป แนวทางการส่งเสริมเขาจะเป็นเรื่องการส่งเสริมพัฒนา การให้โอกาสในการพัฒนาตัวเอง และโอกาสในการเรียนรู้จากการลงมือทำมากกว่า
คิดว่าสาเหตุของปัญหาทั้งหมด อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
ปัจจัยทุกอย่างเลย คือในยุคที่ทุกอย่างถูก disrupt กันไปมาแบบนี้ ไม่สามารถชี้นิ้วบอกได้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากครอบครัว แล้วไปแก้ที่ครอบครัว เสร็จแล้วโรงเรียนก็บอกว่าฉันไม่ต้องทำอะไร รัฐบาลบอกว่าฉันไม่ต้องทำอะไร ครอบครัวรับผิดชอบหมด ซึ่งมันไม่ใช่ ถ้าบอกว่าเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ดูแลลูก คลอดเสร็จก็ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง พอลองเอ็กซ์เรย์ซูมเข้าไปก็พบว่าครอบครัวนี้ แม่คลอดแล้วต้องรีบกลับไปทำงาน ก็เพราะนายจ้างให้เขาลาหยุดได้แค่เท่านี้ ลามากกว่านี้เดี๋ยวโดนไล่ออก หรือไม่ได้รับค่าจ้างเต็มเดือน แล้วทำไมนายจ้างถึงทำแบบนี้ ก็เพราะเรามีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดเท่านี้ใช่ไหม ถ้าเรายังพูดเรื่องนี้เป็นวาทกรรมซ้ำๆ ว่าครอบครัวไม่เข้มแข็ง เด็กจึงเป็นแบบนี้ เราก็จะออกจากสถานการณ์นี้ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้มองให้รอบด้านว่า มีหลายสาเหตุปัจจัยซึ่งมันกระทบกันไปมา ไม่สามารถแก้ที่จุดๆ เดียวได้
แล้วทางออก ต้องแก้ภาพรวมเลยหรือเปล่า
เบื้องต้นมันต้องเห็นป่าทั้งป่าก่อน ด้วยการมองให้เห็นเหตุปัจจัยที่มีอยู่รอบด้านเลย ระบบเศรษฐกิจที่เป็นระบบใหญ่ขับเคลื่อนชีวิตคน เป็นระบบที่เอื้อไหมกับการที่คนจะทำมาหากินไปพร้อมกับการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง ถ้ามันยังไม่ได้ จะต้องแก้ตรงจุดไหน อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษกำลังขึ้นกันหลายจุด ได้คิดเรื่องพวกนี้ควบคู่กันไปด้วยหรือเปล่า รวมทั้งมิติทางสังคม มิติทางครอบครัวของคนที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนั้นคือระบบการศึกษา ห้องเรียนแบบไหนที่ทำให้เด็กสนุก โรงเรียนที่ทำให้เด็กๆ อยากมาเรียนได้ทุกวันมีแล้วหรือยัง เรื่องของระบบสื่อที่เข้าถึงตัวเด็กๆ สร้างการรู้เท่าทัน การกลั่นกรองเนื้อหา อายุเท่านี้ควรจะเข้าถึงสื่อได้แค่ไหน แล้วยังมีเรื่องชุมชนอีก คือต้องมองทุกด้านแล้วค่อยมาดูว่าใครต้องทำอะไรบ้าง ไม่มีหน่วยงานใดที่จะสามารถทำเรื่องพวกนี้ได้สำเร็จเพียงหน่วยงานเดียว งานพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นงานที่ต้องร่วมมือกัน และต้องทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง จนสามารถเปลี่ยนได้หนึ่ง generation หรือหนึ่งรุ่นที่ใช้เวลา 20 – 25 ปี เพราะถ้าเราไม่ทำนานพอก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง คือหนึ่งสังคมต้องมาตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ได้ สองกำหนดบทบาทของฝ่ายต่างๆ ว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้น ใครต้องทำอะไรอย่างไร สามก็ plan do check act ตามขั้นตอนของการพัฒนา ทำแล้วก็ติดตาม ประเมินผล สรุปบทเรียน ทำซ้ำ ทำใหม่ ปรับปรุงต่อเนื่อง ต้องเป็นการกำหนดหน้าที่ภายใต้เป้าหมายเดียวกันว่าเราอยากเห็นคน generation ต่อไป เป็นคนแบบไหน ถ้าถามว่ามีนโยบายตัวไหนที่กำหนดระยะยาวขนาดนี้ก็มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาคน
ถ้ามองการแก้ไขเป็นทีละปัญหา ทีละประเด็น จะสามารถแก้ไขได้ง่ายกว่าหรือเปล่า
ค่อนข้างพูดยาก เพราะเด็กคนหนึ่งเริ่มมีปัญหาที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง มักจะพาเขาไปสู่เรื่องอื่นๆ เสมอ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าเราแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด แล้วเรื่องอื่นจะไม่เกิดขึ้น บางทีมันอาจไปเริ่มจากเรื่องอื่นก่อน เช่น เรื่องความรัก จากใสใสมีความรัก แล้วบังเอิญคนรักอยู่ในแวดวงนี้ กลายเป็นว่าต้องช่วยคนรักในเรื่องการส่งยา ก็พาเขาไปสู่เรื่องการใช้ยาเสพติด คือมันมาได้หลายทางมากเลย เพราะฉะนั้นการวิ่งไล่แก้ปัญหาทีละเรื่อง จึงไม่จบไม่สิ้น แต่ถ้าเราดึงกลับมาว่าอะไรที่เป็นแกนของคนๆ หนึ่ง ของเด็กคนหนึ่ง ของเยาวชนคนหนึ่ง จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า อย่างในเวทีเสวนาที่ สสส. จัด คุณหมอเจี๊ยบ ลลนา อดีตนางสาวไทย พูดว่าช่วงวัยหนึ่งเขาไม่มีเป้าหมายในการเรียนเลย เรียนแย่ทุกวิชา แล้วพอวันหนึ่งที่เขาตั้งเป้าได้ว่า อยากเป็นหมอ เพราะคิดแบบเด็กๆ ว่าเป็นหมอน่าจะมีรายได้ดี เพราะว่าไปถอนฟันแป๊บเดียว พ่อแม่ต้องจ่ายตั้ง 600 บาท จากแค่แรงบันดาลใจตรงนี้ ก็เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเด็กเรียนดีได้แต่เขามีระบบสนับสนุนจากครอบครัวและสังคมรอบตัวด้วยนะ
ดูเหมือนว่าปัญหาใหญ่ คือเรื่องของการค้นหาตัวเอง
สิ่งที่เป็นแกนหลักของชีวิตวัยรุ่น คือการหาความฝันของตัวเองให้เจอ สร้างเป้าหมายของตัวเองให้ได้ แล้วพอบวกกับได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง คนที่บ้านหรือเพื่อน เด็กคนหนึ่งจึงจะมุ่งมั่นกับความฝันตัวเองไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการสนับสนุนสำคัญมาก แต่ก็มีเด็กหลายกลุ่มที่แม้กระทั่งความฝันก็หาไม่เจอ ถามว่ามีเป้าหมายชีวิตยังไง อีก 3 ปีข้างหน้ามองเห็นชีวิตตัวเองเป็นยังไง ก็ตอบไม่ได้ ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะอยู่ในสภาวะยากลำบาก เช่น เกิดมาก็รู้ว่าตัวเองมีเชื้อ HIV อยู่ในร่างกาย เราเรียกเด็กเหล่านี้ว่า เด็กชายขอบ แต่ไม่ได้จะตีตราหรือผลักไสเขา เราใช้คำว่าชายขอบในความหมายที่ว่า จุดศูนย์กลางของสังคมนี้ไม่มีเขาอยู่ เขามักจะถูกลืมและถูกละเลย หรืออย่างเช่น มีน้องที่พิการด้านใดด้านหนึ่ง แต่การออกแบบอาคารสถานที่ การออกแบบห้องเรียน การออกแบบหลักสูตร ไม่ได้มีเขาเป็นเป้าหมายในการคิดหลักสูตรหรือเป็นเป้าหมาย ทุกอย่างก็เลยไม่เหมาะสมสำหรับเด็กพิการอย่างเขา แทนที่จะเป็น inclusive education ก็จำต้องแยกเขาออกไป
สภาพแวดล้อมคืออุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้เด็กค้นหาตัวเองไม่เจอใช่ไหม
คือตัวเขามีศักยภาพโดยกำเนิด แต่ว่าข้อจำกัดในการใช้ชีวิตและการเติบโต ตรงนี้ที่ทำให้ศักยภาพพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ไม่ต้องดูห่างไกล ชุมชนใกล้ๆ สสส. แถวพระราม 4 ก็ยังมีเด็กที่มีข้อจำกัดอยู่เยอะ หรือเราอาจจะนึกไม่ถึงว่าสุดขอบของประเทศ ถ้าเดินทางไปเห็น ชีวิตของคนที่นั่นจะเป็นอีกแบบโดยสิ้นเชิง ในเชิงปริมาณ เด็กกลุ่มนี้อาจจะมีปริมาณมากกว่ากลุ่มที่เป็นชนชั้นกลางค่อนข้างสูง น่าจะเป็นกลุ่มฐานรากของสังคมไทยด้วยซ้ำไป มีน้องคนหนึ่งที่เราไปเจอที่ชายแดน เป็นแกนนำเยาวชน ท่าทางหน่วยก้านดีมากเลย ถามว่าจบ ม.6 แล้วจะทำอะไรต่อ เขาบอกว่ายังไม่รู้เลยครับ อาจจะรับจ้างอยู่แถวๆ นี้ คุยไปคุยมา คือน้องอยู่คนเดียว พ่อแม่ไปทำงานส่งแต่เงินมา แล้วต่อมาก็เริ่มหายไป ที่ยกตัวอย่างคือไม่ใช่ว่าเขาไม่มีความฝันนะ แต่ว่าข้อจำกัดชีวิตมันมากเหลือเกิน จนเขาไม่รู้ว่าจะไปถึงฝันได้ยังไง สู้ไม่ฝันดีกว่า เอาแค่ว่าพรุ่งนี้จะมีกินไหม เลิกเรียนวันนี้จะไปรับจ้างที่ไหนให้ได้เงินมาใช้ในวันรุ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเด็กกลุ่มเหล่านี้ที่ สสส. มองเห็น ต้องให้ความสำคัญ และต้องให้เวทีสำหรับเขา
อยากให้เล่าถึงงาน ThaiHealth Youth Solutions ว่ามีเป้าหมายในการจัดอย่างไร
ต้องบอกว่าเป็นงาน ที่เพิ่งลองทำเป็นปีแรก คอนเซปต์คือการดึงพลังและศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่อยู่ชายขอบของสังคมมาโชว์ให้สังคมเห็น เพื่อช่วยกันสนับสนุนกลุ่มเยาวชนชายขอบกันให้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักยภาพคนรุ่นใหม่ สิ่งที่เรามองเห็นคือ เยาวชนเหล่านี้มีทั้ง passion มีทั้งความสามารถ มีพลังงานล้นเหลือ ยิ่งถ้าเขาเป็นกลุ่มที่กำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่ เขาเองก็มีศักยภาพที่จะลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหานั้น เพื่อให้ตัวเขาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ก็นำมาสู่การสร้างพื้นที่หรือแพลตฟอร์มให้น้องๆ เหล่านี้มานำเสนอสิ่งที่พวกเขาได้ลงมือทำ ให้สังคมได้ประจักษ์ว่าทำได้สำเร็จแล้ว และก็ยังคงทำอยู่ ในขณะเดียวกันก็มาเจอกับเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะไม่เคยเจอกันมาก่อน น่าจะทำให้เกิดเครือข่ายหรือเกิดแรงบันดาลใจซึ่งกันและกันได้ ในครั้งแรกนี้ก็ได้เชิญมา 6 กลุ่ม โดยแนวคิดคือ สสส. แค่ทำตัวเหมือนเป็นเจ้าบ้านก็พอ แล้วให้น้องๆ เข้ามาช่วยกันจัด ช่วยกันคิด ว่าเขาอยากจะนำเสนอประเด็นอะไรกับสังคมบ้าง และเนื่องจากวันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เราจึงจัดงานนี้ในเดือนกันยายน
มีกลุ่มเยาวชนกลุ่มไหนที่มีผลงานน่าสนใจบ้าง
ที่จังหวัดแพร่ ในตัวเมืองจะมีบริเวณหนึ่งที่เป็นแหล่งรวมวัยรุ่นสายดาร์ค ทีนี้ก็มีผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งเห็นว่าพื้นที่นี้น่าเป็นห่วง จึงพยายามเข้าถึงน้องๆ เข้าไปเรียนรู้กับน้องๆ จนเกิดความไว้วางใจ ใช้แนวทางที่เรียกว่าเป็นการพัฒนาเยาวชนเชิงบวก กระทั่งค้นหาความต้องการของน้องๆ ได้ คือจริงๆ แล้ว น้องๆ เหล่านี้อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์ แต่เหมือนเขาโดนตราหน้าว่าเป็นเด็กแว๊น แต่พอมีพี่ๆให้โอกาส ถามว่าเขาอยากทำอะไรให้สังคม เขาก็เลยคิดว่าการที่เขามีรถมอเตอร์ไซค์ เขาสามารถระดมพลตระเวนไปหาวัดที่อยู่ห่างไกลที่ต้องการความช่วยเหลือได้ เกิดเป็นกิจกรรมแว๊น 9 วัด ถ้าวัดอยากจะปรับภูมิทัศน์ เปลี่ยนหลอดไฟ ซ่อมห้องน้ำ ซ่อมโบสถ์เก่า ปลูกต้นไม้ พวกเขาก็พร้อมไปช่วยแบบไม่เอาอะไร หลวงพ่อแค่เตรียมน้ำเตรียมขนมเท่าที่มีให้เขา ทำเสร็จก็มีการสรุปบทเรียน อะไรทำได้ดี อะไรทำได้ไม่ดี ครั้งหน้าจะทำอย่างไร จนเกิดกระบวนการสะสมความรู้อย่างสม่ำเสมอ ตอนนี้พวกเขาเรียกตัวเองว่า กลุ่มพลังโจ๋ ทำกิจกรรมมา 4 – 5 ปีต่อเนื่อง เติบโตจนมีหลายรุ่นแล้ว ความภาคภูมิใจที่เกิดจากการลงมือทำเพื่อคนอื่น มันค่อยๆ สะสมในตัวเขา ภาพลักษณ์โหดๆ ที่คนเคยหวาดกลัวพวกเขาก็เปลี่ยนไป แล้วก็การที่พวกเขาเกาะกลุ่มกันเป็น community ก็เป็นการซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน เหมือนเป็นครอบครัวใหม่ แม้ว่าครอบครัวเดิมเขาอาจจะไม่อยู่แล้วก็ตาม ความภาคภูมิใจในตัวเองและเป้าหมายชีวิตมันเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งมันจะเดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ
การที่กลุ่มเด็กชายขอบเหล่านี้ ลงมือทำแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ดีกว่าการที่ผู้ใหญ่ลงไปช่วยเหลืออย่างไร
เห็นชัดๆ เลยว่า นี่คือการสอนทางอ้อมว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะคิดและตัดสินใจเรื่องของตัวเอง เป็นการสอนโดยไม่ต้องใช้คำพูดเลย แค่ให้เขาได้ลองลงมือทำสิ่งที่เขาอยากทำ เขาจะเรียนรู้เองว่าชีวิตฉัน ฉันต้องตั้งเป้าหมาย ฉันต้องรักษาความฝันของฉัน ถ้าฉันเลี้ยวออกนอกทาง เดี๋ยวฉันจะไปไม่ถึงความฝัน โดยที่พี่เลี้ยงหรือผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงจริงๆ คือปล่อยให้ทำไป ถ้าทำไม่ได้หรือติดตรงไหน ก็ช่วยซัพพอร์ตเล็กๆ น้อยๆ ก็พอ จริงๆ การทำงานเยาวชนเชิงบวกมันง่ายมาก คือเราไม่เหนื่อยเลย เราแค่ตั้งคำถามที่ดี ไว้วางใจ ฟังให้เป็นว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากทำอะไร แล้วก็ให้โอกาส ผิดก็ไม่เป็นไร มาสรุปบทเรียนทีหลัง ให้ผิดเป็นครู เป็นการเรียนรู้ ให้เขาเติบโตไป ดีกว่าการที่เราไปทำทุกอย่างให้ จนกลายเป็นว่าเขาคิดเองไม่เป็น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถ้าเราให้เขาลงมือทำเองบ่อยๆ เข้า มันจะกลายเป็นทักษะชีวิตโดยไม่ต้องมานั่งสอนเลย
มองว่าอนาคตอันใกล้ ถ้ามีกลุ่มน้องๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ปัญหาเด็กและเยาวชนจะคลี่คลายลงไหม
ยกตัวอย่างแค่กลุ่มเดียว คือกลุ่มพลังโจ๋ ก็ช่วยได้มากแล้ว เพราะการที่ สสส. เป็นเวทีให้เขาได้ฉายแสง ให้เขาได้บอกสังคมว่าที่จังหวัดแพร่เกิดอะไรขึ้น พวกเขารวมตัวกันทำแบบนี้ได้อย่างไร แล้วเขาใช้วิธีอะไร เขาถึงทำได้อย่างต่อเนื่อง แล้วทำไมแต่ละปีมีเพื่อนๆ ที่กลับเข้าสู่เส้นทางที่พัฒนาตัวเองได้ ไม่หลุด ไม่แหกโค้ง เขาใช้วิธียังไง ถ้าเรื่องของเขาจะสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มอื่นๆ ได้ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่ดีแล้ว ถ้าหน่วยงานทุกวันนี้ที่สนับสนุนกลุ่มเยาวชนอยู่แล้ว ได้เห็นวิธีการทำงานใหม่ๆ เหล่านี้ เขาอาจจะมีการสนับสนุนทุนหรืองบประมาณแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ เราจึงต้องสร้างแรงบันดาลใจขึ้นมาก่อน เพราะว่า สสส. ไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปสั่งคนอื่นได้ ฉะนั้นวิธีการทำงานรอบนี้ก็จะเป็นเหมือนกับว่าเปิดพื้นที่ให้ของดีๆ ได้แสดงออกมา แล้วก็ใช้พลังที่เราพอจะมีอยู่ในมือ เช่น การทำงานกับสื่อต่างๆ ช่วยกันขยายให้สังคมเห็น แล้วเกิดการสร้างแรงบันดาลใจแบบไม่รู้จบ ถ้าทำต่อเนื่องได้ ก็น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
สุดท้ายแล้ว ทำไมทุกคนถึงต้องสนใจปัญหาเด็กและเยาวชน
เพราะว่าวันหนึ่งเราจะแก่ เราจะลุกแทบไม่ไหว ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้ เราต้องการคนรุ่นใหม่นี่แหละที่จะทำมาหากิน สร้างสรรค์ ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสังคม เสียภาษี เป็นปากเป็นเสียง แล้วทำให้ชีวิตคนทั้งสังคมมีสิทธิพื้นฐาน มีสวัสดิการที่เพียงพอ มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ถ้าเราไม่สนใจก็เปรียบเสมือนเราสร้างบ้าน อยู่ในบ้านของเราอย่างมีความสุข สร้างกำแพงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่สนใจว่าข้างนอกนั้นจะเละเทะอย่างไร ซึ่งไม่มีใครอยู่แบบนั้นได้ ทุกคนต้องการอยู่ในชุมชนที่สงบสุขและปลอดภัย สังคมจำเป็นต้องมีคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพมารับช่วงต่อ แล้วก็พาสังคมให้มีความสงบสุขมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจำเป็นที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน จำเป็นต้องลงทุนกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ไม่ใช่แค่ลงทุนเงิน แต่ต้องลงทุนความสนใจด้วย