“ไม่ใส่ได้ไหม ไปแค่นี้เอง” “ใกล้นิดเดียว ไม่เป็นไรหรอก” ไหนใครเคยพูดประโยคนี้ ตอนจะขี่หรือซ้อนมอเตอร์ไซค์บ้าง?
แค่ปากซอยบ้าน แค่ร้านอาหารแถวนี้ แต่ความเป็นจริงคือเจ็บกันมานักต่อนักแล้ว กับระยะที่บอกว่า ‘ใกล้ๆ’ นี่แหละ
ชวนดูสถิติที่ชี้ให้เห็นกันชัดๆ ว่า ไม่มีระยะปลอดภัยสำหรับคนไม่สวมหมวกกันน็อก พร้อมไขข้อสงสัยว่าหมวกหนึ่งใบ จะมีความสามารถปกป้องชีวิตเราได้แค่ไหนกัน
รู้ไหมว่า 5 กม. ใกล้บ้านคือระยะอันตรายที่เจ็บและตายมากที่สุด
ชี้ชัดๆ กันตรงนี้ ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ เกิดขึ้นภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากที่พัก!
แล้วทำไมไม่ใส่หมวกกันน็อกกันนะ? ผลสำรวจจากศูนย์ความร่วมมือด้านการป้องกันอุบัติเหตุ องค์การอนามัยโลก คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) และมูลนิธิไทยโรดส์[1] พบสาเหตุว่าทำไมคนเราถึงไม่ชอบสวมหมวกกันน็อก ดังนี้
64% คิดว่า เดินทางระยะใกล้ไม่ใส่ดีกว่า
37% คิดว่า ก็ไม่ได้ขับออกถนนใหญ่
29% คิดว่า รีบ สวมหมวกกันน็อกแล้วเสียเวลา
21% คิดว่า สวมหมวกกันน็อกแล้วร้อน อึดอัด ไม่สบายหัว หมวกสกปรก
13% คิดว่า กลัวผมเสียทรง
10% คิดว่า หมวกกันน็อกแพง ไม่มีที่เก็บ พกลำบาก กลัวหาย
8% คิดว่า ตำรวจไม่จับหรอก
7% บอกว่า ไม่มีหมวกกันน็อก
6% คิดว่า โอกาสเกิดอุบัติเหตุมีน้อย
4% คิดว่า ก็คนที่นั่งมาด้วยไม่ใส่ ก็เลยไม่ใส่บ้าง
เหตุผลที่ว่ามาทั้งหมดน่าจะเป็นเรื่องที่เราๆ ท่านๆ เคยกังวลกันมาบ้าง แต่อยากขอย้ำก้นอีกครั้งว่า อุบัติเหตุของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในรัศมีใกล้ๆ กับจุดสตาร์ทภายในรัศมี 5 กิโลเมตรทั้งนั้น
[1] https://www.thaihealth.or.th/Infographic/detail/27729/ทำไมต้องสวมหมวกกันน็อก
รู้ไหมว่า ไม่สวมหมวกกันน็อก โอกาสบาดเจ็บทางศีรษะ 65%
สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ ส่วนใหญ่มักจะเกิดการบาดเจ็บทางศีรษะมากถึง 65%[2] โดยตำแหน่งที่บาดเจ็บมักจะเกิดที่หน้าผาก ศีรษะด้านบน รองลงมาคือศีรษะด้านข้าง และด้านหลังท้ายทอย การบาดเจ็บเหล่านี้ ล้วนเกิดจากปัจจัยที่เราป้องกันได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ อย่างการสวมหมวกกันน็อก
ลองนึกภาพตามง่ายๆ หากเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่ได้สวมหมวกกันน็อก เมื่อรถเสียและแรงเหวี่ยงทำให้ศีรษะของเราไปกระทบกับพื้นหรือวัตถุที่แข็ง จะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่สามารถแบ่งได้ 2 แบบคือ
1. แบบแผลเปิด – มีวัตถุมากระทบที่ศีรษะ และมีเลือดออก เช่น หัวแตก กะโหลกร้าว
2. แบบไม่มีแผล – ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอันตรายที่เราไม่เห็นแต่ส่งผลมหาศาล นั่นเพราะกลไกที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บแบบนี้ คือ การที่สมองลอยอยู่ในน้ำไขสันหลังที่มีเยื่อหุ้มอยู่ หากศีรษะพุ่งไปข้างหน้าและกระทบเข้ากับวัตถุแข็ง เช่น พื้นถนน เสาไฟ ต้นไม้ ทำให้ศีรษะจะถูกแรงเหวี่ยงไปข้างหน้าจนชนกับวัตถุ และเหวี่ยงกลับมาข้างหลัง โดยในเวลาเดียวกันนั้น สมองที่ลอยอยู่ในน้ำไขสันหลังก็จะเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา จนสุดท้ายแล้วมากระแทกกับกะโหลกศีรษะด้านหลังนั่นเอง
ซึ่งการกระทบอย่างรุนแรงต่อก้อนสมองที่เปราะบางของเรานี่แหละ ที่จะทำให้เกิดอาการสมองฟกซ้ำ การตกเลือดในศีรษะหรือบริเวณต่างๆ ของสมอง การบาดเจ็บที่แกนประสาทหรือระบบเส้นเลือด ไปจนถึงการเป็นอัมพาต หรือเนื้องอกในสมอง!
[2] https://www.thairath.co.th/content/504188
สถิติผู้เสียชีวิต เพราะไม่สวมหมวกกันน็อก
คิดกันแบบนี้ สถิติผู้เสียชีวิตเพราะไม่สวกหมวกกันน็อกเลยครองอันดับหนึ่งในช่วง 7 วันอันตรายของสงกรานต์ในปีที่ผ่านมา (11-17 เมษายน 2561) เพราะแค่เพียง 7 วัน มีผู้เสียชีวิตเพราะไม่สวกหมวกกันน็อกถึง 185 คน (คิดเป็น 44.26% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด) แถมยังมีผู้บาดเจ็บอีก 2,049 คน (คิดเป็น 53%) ที่มีเหตุมาจากการไม่สวมหมวกกันน็อก!
นอกจากนั้น ในการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทั่วโลกในการรับมือและแก้ปัญหา เจ็บ-ตาย จากอุบัติเหตุทางถนน ยังพบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกและมีแนวโน้มขึ้นเป็นอันดับ 1 ในปีต่อๆ ไปอีกด้วย!
ส่วนสาเหตุก็เพราะ ความไม่เข้มงวดในการปฏิบัติตามและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก ที่ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนทางศีรษะ และนำไปสู่อาการบาดเจ็บรุนแรงต่างๆ ในที่สุด
รู้ไหมว่า สวมหมวกกันน็อก ขับ 50 กม/ชม. ลดบาดเจ็บศีรษะได้ถึง 43%
แล้วหมวกกันน็อก ช่วยชีวิตเราได้จริงเหรอ?[3]
หมวกกันน็อกถูกออกแบบมาให้รับแรงกระแทกและลดความรุนแรงของผลที่เกิดขึ้นจากการกระแทกนั้น แทนที่จะเอาหัวเราไปชนวัตถุแข็งๆ โดยตรง ก็กลายเป็นว่าชนกับเนื้อโฟมของหมวกกันน็อกแทน
โฟมในหมวกกันน็อกซึ่งมีคุณสมบัติยืดหดได้ จะช่วยยืดเวลาก่อนที่ศีรษะจะหยุดการเคลื่อนไหวออกไปประมาณ ‘6 มิลลิวินาที’ เวลาสั้นๆ แค่นี้แต่มีค่า เพราะสามารถช่วยกระจายแรงกระแทกไปยังพื้นที่ที่กว้างขึ้น ทำให้แรงกระแทกไม่ไปรวมอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งของกะโหลกเท่านั้น ส่งผลให้แรงกระแทกต่อเนื้อสมองลดลง
การสวมหมวกกันน็อกจึงช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บศีรษะของผู้ขับขี่ได้ประมาณ 43% ลดการบาดเจ็บทางศีรษะของผู้ซ้อนท้ายได้ประมาณ 58% รวมถึงลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ 39%[4]
อย่างไรก็ตาม สวมหมวกกันน็อกแล้วก็ใช่ว่าจะซิ่งได้ตามใจชอบ เพราะความเร็วเกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็เป็นการยากที่จะควบคุมให้เกิดความปลอดภัยหากเกิดเหตุอุบัติเหตุกะทันหัน และเพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บได้อยู่ดี
ความเร็วที่ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) แนะนำจึงอยู่ที่ 40-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือว่าไม่เร็วเกินไป และเมื่อเกิดอะไรขึ้น หมวกกันน็อกก็จะช่วยปกป้องเราได้อย่างเต็มที่ที่สุด
เพราะจะว่าไปแล้ว หมวกกันน็อกที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัย (มอก.) ก็ออกแบบให้ทนแรงกระทบต่อศีรษะที่ความเร็วเพียง 30 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น[5]
[3] https://www.thaihealth.or.th/Content/20765-‘หมวกกันน็อก’%20เพื่อนแท้ร่วมทาง.html
[4] http://resource.thaihealth.or.th/library/hot/13847
[5] มอก.369-2557
หมวกกันน็อกเต็มใบ สีสว่าง มีสายรัดคางและเปลี่ยนทุก 3 ปี
นพ. ธนะพงษ์ จินวงษ์[6] ผูัจัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน แนะนำว่า หมวกกันน็อกเต็มใบนั้นจะปกป้องเราได้ดีที่สุด เพราะสามารถโอบอุ้มศีรษะของเราได้ทุกด้าน และจะช่วยลดโอกาสบาดเจ็บในส่วนใดส่วนหนึ่งของศีรษะได้
นอกจากนั้น ควรเลือกหมวกกันน็อกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 369-2539) เลือกให้กระชับพอดีกับศีรษะ ซื้อหมวกกันน็อกที่มีสีสว่าง มีสายรัดคาง และควรเปลี่ยนหมวกกันน็อกทุก 3 ปี เพราะโฟมและพลาสติกที่เป็นอุปกรณ์สำหรับในการป้องกันการกระแทกอาจเสื่อมสภาพได้
ที่สำคัญที่สุดคือ หากเคยทำหมวกกันน็อกกระแทกหรือตกพื้นแล้ว ต้องเปลี่ยนหมวกกันน็อกใหม่ทันที! เพราะแรงกระแทกเหล่านี้มีผลต่อประสิทธิภาพของโฟมภายในนั่นเอง
ไม่ใช่แค่นั้น เลือกหมวกกันน็อกทั้งทีต้องดูให้ละเอียด เช่น น้ำหนักของหมวกกันน็อกไม่ควรเกิน 2 กิโลกรัม มีรูระบายอากาศ มีช่องฟังเสียง และบังลมควรเป็นวัตถุที่โปร่งแสงเพื่อความสะดวกของการมองท้องถนน
และสุดท้าย กฎหมายยังระบุไว้ว่า หากผู้ขับขี่ไม่สวมหมวกกันน็อกจะต้องถูกปรับ 500 บาท และหากมีผู้ซ้อนที่ไม่สวมหมวกกันน็อกด้วยก็จะต้องเสียค่าปรับเพิ่มในอัตาไม่เกิน 1,000 บาท
[6] https://www.thairath.co.th/content/504188
ประมาทเพียงนิด ชีวิตอาจดับ
กางข้อมูลให้ดูกันแบบนี้แล้ว อย่าหาข้ออ้างในการไม่ใส่หมวกกันน็อกกันอีกเลย เพราะไม่ว่าจะใกล้จะไกล ก็ไม่เคยมีระยะปลอดภัยสำหรับคนไม่สวมหมวกกันน็อก
เจ็บกันมานักต่อนักแล้ว กับคำว่า ‘ใกล้นิดเดียว.. ไม่เป็นไรหรอก’ (อย่าเจ็บซ้ำกันอีกเลยนะ)