เราจึงได้เห็นภาพของการให้ที่ใกล้ตัวอย่างเด็กนักเรียนที่ให้เพื่อนยืมยางลบ อาสาสมัครช่วยเหลือคนพิการ ไปจนถึงการช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งการให้คือสิ่งดีๆ ที่แสดงให้เห็นว่าโลกนี้น่าอยู่ขึ้นมากขนาดไหน
ถ้ามองกลับกัน คำกล่าวนี้คือสิ่งที่ยืนยันว่า ‘ผู้ให้’ เองก็ได้รับเช่นกัน ซึ่งทุกคนรับรู้เหมือนกันว่าการให้จะทำให้ได้บุญ แต่จะเป็นบุญกลับมาในรูปแบบไหนก็ยังไม่เห็นชัดเจนจับต้องได้สักเท่าไร แค่รู้สึกดีต่อใจก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ขณะเดียวกัน ทำไมบางคนถึงยอมเหนื่อยยอมลำบากเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ จนบางครั้งอาจเกินหน้าที่ของตนเองไปด้วยซ้ำ อย่างพ่อแม่ที่ต้องลำบากกับการเลี้ยงลูกมากๆ ครูที่พร่ำสอนลูกศิษย์จนตนเองต้องเหนื่อยเกินกำลัง แล้วเพราะอะไรคนเราถึงยังอยากให้กันอยู่ ลองไปดูกันว่าจะมีเหตุผลไหนที่สามารถอธิบายได้ว่า ยิ่งให้ ยิ่งได้อะไร
ยิ่งให้ ยิ่งทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “เมื่อใดที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า จงออกไปช่วยเหลือผู้อื่น” ซึ่งคำกล่าวนี้ไม่ใช่คำปลอบใจที่ทำให้รู้สึกดีเท่านั้น แต่ยังมีผลยืนยันจากงานวิจัยว่าการช่วยเหลือผู้อื่นทำให้การเห็นคุณค่าในตัวเองสูงขึ้นได้จริงๆ ซึ่งคนที่ทำงานอาสาสมัครจะมี self-esteem ที่สูงกว่าคนทั่วไป มีสุขภาพจิตที่ดี และที่สำคัญคือมีความสุข ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นบ่อยๆ ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พลังบวกจึงเกิดขึ้นจากการได้ลงมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งบางทีสิ่งตอบแทนที่คาดหวังก็อาจเป็นเพียงรอยยิ้มเล็กๆ ที่ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจก็เพียงพอแล้ว
ยิ่งได้รับก็ยิ่งอยากให้บ้าง
เคยสงสัยไหม ว่าทำไมเวลาที่เราเห็นภาพของการทำบุญหรือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเห็นจากคนใกล้ตัวหรือได้เห็นจากในข่าวต่างๆ ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้เติมเต็มบางอย่างในจิตใจ ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้ลงมือช่วยเหลือเองด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะ น้ำใจเป็นโรคติดต่ออย่างหนึ่ง เมื่อเราได้เห็นการช่วยเหลือ จะทำให้รู้สึกอยากจะทำเช่นนั้นบ้าง แถมยังเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนมีเหมือนกันอีกด้วย
เมื่อการให้กลายเป็นโรคติดต่อ พอเราได้รับโอกาสหรือการสิ่งดีๆ มา ก็ยิ่งทำให้เราอยากจะส่งต่อให้กับผู้รับคนอื่นบ้าง สถานะของผู้รับก็เปลี่ยนเป็นผู้ให้ อย่างเช่นเรื่องราวของ ธีรเมธ สัมพันธสิทธิ์ และ อรรถพล ชนะมาร สองหนุ่มนักศึกษาชั้นปวส. ปีที่ 1 ที่ได้รับทุนการศึกษาจากซีพีออลล์ สาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีก วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ที่สามารถคิดค้น ‘เมนูเครื่องดื่มอักษรเบรลล์’ เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตาที่มาใช้บริการในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาที่ทั้งสองกำลังฝึกงานอยู่ ซึ่งไอเดียเกิดขึ้นจากการเห็นความลำบากในการซื้อของของผู้พิการทางสายตาที่ต้องอาศัยการถามพนักงาน จึงทดลองหาวิธีเพื่อให้พวกเขามีสิทธิเท่าเทียมกับคนปกติ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
ผลงานเล็กๆ ชิ้นนี้สะท้อนถึงการให้ที่เกิดจากการได้รับมาก่อนจากซีพีออลล์ที่สนับสนุนการศึกษาให้กับเยาวชนตลอดมา ทำให้ทั้งสองคนอยากจะส่งต่อโอกาสและสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่นบ้าง เกิดเป็นวงจรของการให้ที่สานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
ยิ่งให้ ยิ่งได้มิตรภาพที่ไม่มีวันเลือน
มิตรภาพบนโลกใบนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการช่วยเหลือกัน เพราะสิ่งเดียวที่พิสูจน์ความจริงใจของคนเราได้คือการกระทำ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าในขณะที่เรากำลังลำบาก แล้วมีคนยื่นมือมาช่วยเหลือ เราจะรู้สึกประทับใจกับการช่วยเหลือนั้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่พิสูจน์ได้ถึงความจริงใจ และทำให้เราจดจำช่วงเวลาเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี แม้ว่าผู้ให้ต้องเสียสละอะไรบางอย่างของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเวลา ทรัพย์สิน หรือกำลังกาย แต่ในแง่ของความรู้สึกของผู้ให้ยังได้รับพลังบวกย้อนคืนกลับมาเช่นกัน ซึ่งจะพัฒนากลายเป็นมิตรภาพที่เกิดขึ้นตามมาได้ หรือถ้าความสัมพันธ์เดิมนั้นอยู่ในสถานะที่ไม่สู้ดีนัก การช่วยเหลือกันจะช่วยให้ความรู้สึกดีๆ กลับมาคงเดิมได้
อ้างอิง
https://www.huffingtonpost.com/2016/12/12/international-day-of-happiness-helping-_n_6905446.html
https://projecthelping.org/helpers-high/
https://helix.northwestern.edu/article/kindness-contagious-new-study-finds