หากพูดกันตามตรง สถานะของวงการหนังไทยในตอนนี้ ไม่ต่างอะไรกับกราฟตลาดคริปโตฯ ที่ขึ้นสุดลงสุด มีอะไรให้หวาดเสียวอยู่ตลอดเวลา และอยู่ในจุดที่เป็นงานยากของคนทำหนังไทยไม่น้อย
แต่ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ การเตรียมเข้าฉายของ ‘The Up Rank อาชญาเกม’ ในวันที่ 1 กันยายนนี้ เป็นสิ่งที่น่าจับตาสุดๆ เพราะไม่เพียงแต่เป็นหนังแนวดราม่าทริลเลอร์ที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ แต่ยังพูดถึงด้านสีเทาของวงการเกม ซึ่งมีความเฉพาะกลุ่มมากๆ และยังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เว็บ Streaming ทำให้คนดูเข้าโรงหนังกันน้อยลงอีกด้วย
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ เต็นท์ – กัลป์ กัลย์จาฤก และ โอ๊ต – วทัญญู อิงควิวัฒน์ สองผู้กำกับ ถึงเบื้องหลังงานสร้างของหนังตีแผ่วงการเกมที่ยังไม่มีเรื่องไหนเข้าไปถึง รวมถึงความตั้งใจในการ Up Rank ให้วงการหนังไทยไปสู่ขอบเขตใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น
มองวงการ E-Sports หรือวงการเกมในบ้านเราตอนนี้ยังไงบ้าง
เต็นท์: ด้วยตัวของเราเอง เราอยู่ในวงการ E-Sports มาประมาณ 7 ปีได้ ทำทีมมาตั้งแต่ยุคแรก และทำรายการทีวีที่เกี่ยวกับ E-Sports เป็นคนแรกของประเทศ เราก็เลยมี Know How แล้วก็มีเบื้องลึกเบื้องหลัง ค่อนข้างเข้าใจลักษณะของ E-Sports ที่เติบโตค่อนข้างสูงมากในประเทศ โดยเฉพาะใน Southeast Asia จริงๆ ตอนนี้ความใฝ่ฝันของเด็กยุคใหม่ ก็ไม่พ้นการอยากเป็นเกมเมอร์หรือเป็นยูทูบเบอร์ เราก็เลยอินกับตรงนี้ เพราะว่าตัวผมเอง หรือแม้กระทั่งโอ๊ตเองก็เล่นเกมกันมาตั้งแต่เด็กๆ
จากจุดเริ่มต้นตรงนั้น พัฒนามาเป็นไอเดียหนังได้อย่างไร
โอ๊ต: ต้องพูดว่าพื้นฐานของกันตนาเอง เราเป็นคนทำคอนเทนต์ อย่างเรื่อง E-Sports ที่อยากทำ เพราะว่าเราเจอช่องว่างที่มันน่าสนใจ คือการอัพเลเวล แล้วมันเหมือนกับชีวิตคน ที่มีการปั๊ม Ranking ยศของมนุษย์ แต่เป็นคนละวงการ ทำให้เกิดคอนเซปต์นี้ขึ้นมา ซึ่งการ Up Rank ในเกมจะพูดว่าเป็นด้านเทาแล้วกัน ถามว่ามันผิดกฎหมายขนาดนั้นไหม มันก็ไม่ได้ผิดหรอก แต่มันผิดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณมากกว่า แล้วมันก็สะท้อนความเป็นมนุษย์ของคน ว่าจริงๆ แล้วเกมมันไม่ได้ผิดนะ แต่คนที่เล่นผิด คุณต้องรู้จักการควบคุมตัวเอง ทุกเรื่องมี 2 ด้าน อยู่ที่ตัวคุณเอง ว่าจะเลือกแบบไหน
เต็นท์: เราอยากจะเล่าด้านมืดของวงการเกม ซึ่งประเทศอื่นๆ การ Up Rank คือผิดกฎหมายเลยด้วยซ้ำ โดนจับ โดนปรับ โดนแบนตลอดชีวิตการเล่นเกมนี้ แต่แบบของประเทศไทย ก็แอบสะท้อนนิดหนึ่งว่า จริงๆ เรื่องเกมกับเด็กมันสำคัญมาก พอเกมมัน Toxic กลายเป็นเหมือนเป็นโจรอยู่ในเกม แต่ก็ยังไม่มีการจัดการสิ่งนี้หรือไม่ได้รับความสำคัญอะไรทั้งนั้น
แง่หนึ่งคือตั้งใจให้คนที่เป็นรุ่นพ่อแม่ เข้าใจด้วยใช่ไหม ว่าวัยรุ่นยุคนี้กำลังเจออะไรอยู่
โอ๊ต: ใช่ แน่นอนว่า Target ของหนังเป็นวัยรุ่น แต่สุดท้ายแล้ว ลูกพาพ่อแม่มาดู เขาก็จะได้รู้ว่าโลกมาถึงตรงนี้แล้วนะ ไม่ได้เหมือนสมัยก่อนแล้ว ที่เป็นเครื่องคอนโซลที่เล่นแล้วเห็นกันชัดๆ ในทีวีที่บ้าน แต่ตอนนี้มันเชื่อมต่อกับคน โดยที่ไม่รู้ว่าคนคนนี้เป็นมิจฉาชีพหรือเป็นคนดีรึเปล่า อย่าลืมว่าในอนาคต เรื่องดิจิทัลจะเข้ามาเยอะขึ้น เราต้องตระหนักและรู้เท่าทัน ผู้ใหญ่เองก็ต้องตามให้ทัน เพราะการ Up Rank เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
ตอนออกแบบคาแรกเตอร์ ทำไมถึงออกมาเป็น 4 คนนี้ เป็นตัวแทนของเด็กแต่ละกลุ่มเลยใช่ไหม
เต็นท์: คือเริ่มจากตัวพระเอก ยู (กิต – กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์) มองว่าเป็นเด็กทั่วไปเลย เป็นเด็กที่ชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็ก เล่นไปเรื่อยๆ จนฝีมือก็แบบโอเค แต่ไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไร ซึ่งทุกคนก็อาจจะเป็นอย่างนั้นได้เหมือนกัน
โอ๊ต: ยูมันเป็น Introvert เพื่อนก็ไม่ได้เยอะ มีพ่อที่มี Generation Gap ทำงานถ่ายเอกสาร ซึ่งในยุคนี้จริงๆ เขาใช้ไฟล์กันหมดแล้ว เป็น Symbolic ที่เราพยายามบาลานซ์ให้เข้าหากัน
เต็นท์: อย่างตัวละคร พีท (แจ็ค – กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา) ก็คือคนอีกประเภทหนึ่งที่เราก็เห็นได้บ่อยๆ เหมือนกัน เป็นคนตรง โผงผาง พร้อมจะชน พร้อมจะสู้ คือกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มที่มีอยู่ในทุกสังคม
โอ๊ต: พีทคือนักกีฬา E-Sports ที่คิดว่าตัวเองเก่งโคตรๆ แต่พอมาเล่นกับทีมแล้วเล่นไม่ได้ เหมือนฟุตบอล คุณเก่งอยู่คนเดียวในทีมแล้วยังไง นี่คือความแตกต่างระหว่าง Pro Player กับ Player ซึ่งมันลึกกว่า ไม่ใช่เด็กเล่นเกมแล้ว มันคืออาชีพ
เต็นท์: อย่างตัวละคร โฮม (เอม – ภูมิภัทร ถาวรศิริ) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในสังคม เป็นคนที่คิดอยู่ตลอด วางแผนอยู่เบื้องหลังทุกอย่าง มีวิธีการในการพูดคุย มีวิธีการในการเข้าหาคนนี้ยังไง เพื่อประโยชน์ของตัวเอง
โอ๊ต: ถือว่าเป็น Master Mind ของเรื่อง แล้วก็มีความพยายามที่อยากจะไต่ไปให้สูงที่สุด หลอกใช้คนเพื่อให้ได้เงิน ให้ได้อำนาจตามที่เขาต้องการ
เต็นท์: ส่วนอีกตัวละครคือ ทอย (มีน – สุดารัตน์ ผุงศิริ) ในเรื่องเป็น Streamer ที่ชอบหนีปัญหา หนีทุกอย่าง พยายามสร้างตัวตนใหม่เพื่อกลบเกลื่อนอดีต ในสังคมเราจริงๆ ก็มีคนแบบนี้ที่ดูแรงๆ แต่เขาอาจจะปิดกั้นตัวเอง เพราะไม่อยากให้คนเข้าหา
โอ๊ต: ทั้งหมดนี้่ึคือคาแรกเตอร์ของกลุ่มคนจริงๆ เพราะสิ่งที่เราเลือกเล่าคือเรื่องมนุษย์ เราต้องทำหนังเกมที่คนทุกคนดูแล้วรู้เรื่อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเล่นเกม
พูดถึงสถานะการเป็นหนังไทย คนดูอาจมองว่า พอต้องพูดถึงเรื่องสีเทาๆ อาจจะแตะไปได้ไม่ลึกเท่ากับหนังต่างประเทศ มองตรงนี้ยังไงบ้าง
โอ๊ต: ถ้าพูดเรื่องความยากของการที่เอาเรื่องเทาๆ ของเกมมาเล่น เราว่ามันยังไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าประเทศเราไม่ได้มีกฎหมายนี้ คือผิดแค่กฎเกม
เต็นท์: ยกตัวอย่างเช่นเทรดคริปโตฯ การปั๊มให้คนไล่ตามหรือ Pump and Dump ถามว่าผิดกฎหมายไหม ก็ไม่ผิดกฎหมาย คือมึงโลภ มึงซื้อกันเอง คือมีความการพนันนิดๆ แต่ในตลาดหุ้นอาจจะผิดกฎหมาย หรืออย่างการบูลลี่คน ถ้าคนที่โดนบูลลี่ลุกขึ้นมาต่อยก็ผิด ส่วนคนด่าคนที่บูลลี่ไม่มีใครมาจัดการ ซึ่งคนพวกนี้ Toxic กว่าคนที่ชกต่อยนะ มันสร้างปัญหาให้สังคมจริงๆ
อะไรคือความยากของการหยิบประเด็นที่เจาะจงอยู่แค่ในวงการเกมให้คนทั่วไปเข้าใจได้
โอ๊ต: ด้วย Genre ของหนัง ถือว่ายากกว่า อาจจะไม่มีบ่อยในประเทศเรา แต่จากประสบการณ์คิดว่าคนชอบ ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ กับผู้ชมได้ คือออกจากโรงแล้วยังไป Discuss กับเพื่อนได้ว่า มันคืออะไร Related กับอะไรบ้าง มีอะไรที่ใกล้เคียงเรา ดีหรือไม่ดี ไม่ใช่หนังที่ดูจบออกมาแล้วแฮปปี้ แต่สามารถไปคุยกันต่อได้
เต็นท์: มันก็คือการโปรโมตแหละ เราเชื่อว่าทุกคนเคยผ่านจุดเล่นเกม หรืออาจจะ Related กับตัวละครได้จริง คือมันไม่ใช่หนัง คนเล่นเกมเท่านั้นที่ดูได้ ใครๆ ดูก็ได้ คือเราพยายามบาลานซ์ทั้งสองฝั่งให้อยู่ด้วยกันได้ เป็นหนังที่ตั้งใจทำเพื่อให้คนเข้าไปดูแล้วต้องได้อะไรกลับมา จึงไม่ใช่หนังประเภทที่ต้องใช้ดาราเบอร์ใหญ่มาเล่น อยากให้คนเข้ามาดูคอนเทนต์มากกว่า เราทำรอบพรีเมียร์ให้กับเกมเมอร์ประมาณพันคน ก็ได้ผลตอบรับที่ดีในกลุ่มของเขา มันเสี่ยงมากนะ ถ้าเราไม่มั่นใจในหนังของเราเอง เพราะค่อนข้าง Specific ประมาณหนึ่ง แต่วันนี้เราเชื่อว่าถ้าในกลุ่มนี้ได้ กลุ่มอื่นๆ ก็จะได้ตามด้วย
ยิ่งในยุคที่หนังส่วนใหญ่ไปอยู่ในเว็บ Streaming ทำให้คนเข้าไปดูในโรงหนังน้อยลง ในฐานะคนทำหนังมองตรงนี้ยังไงบ้าง
เต็นท์: ภาพยนตร์คือมหรสพ คือ Culture ยังไงคนก็ดูหนัง แต่ความยากของเราคือ หนังประเภทไหนที่คนจะยอมเข้าไปดูในโรงหนัง น่าจะเป็น Challenge หนึ่ง แต่คำว่า หนัง ต่อให้อยู่ในไหนมันก็คือหนัง ซึ่งโรงภาพยนตร์คือแพลตฟอร์มหนึ่ง ที่ต้องไปรับความช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งเรื่อง Marketing เรื่องโรงภาพยนตร์ หรือการบอกต่อ แต่มันคือศิลปะศาสตร์หนึ่งที่เราก็อยากจะให้มันคงอยู่ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ไปไหน แค่ลดลงเท่านั้นเอง
โอ๊ต: ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้คนเชื่อว่ามันดี เข้าไปดูเถอะขอร้อง เรามีความศรัทธาในหนังของเราเอง คือไม่อยากต้องมานั่งอวยกันเอง อยากให้หนังมันทำงาน ให้คนอื่นได้มาดูมากกว่า
เต็นท์: มันจบ Part ของเราไปแล้ว เหมือนเราเลี้ยงลูกคนหนึ่งมา สุดท้ายลูกคนนี้ต้องไปต่อแล้ว จะไปต่อถึงที่ไหน เมืองนอก หรือจะอยู่แถวบ้านก็ตาม แต่เราก็ปั้นฟูมฟักมาเต็มที่แล้ว
สุดท้ายอยากให้หนังเรื่องนี้ไป Up Rank ให้กับวงการหนังไทยด้านไหนบ้าง
โอ๊ต: ในแง่ของหนัง เรามองว่าเราอยากทำหนังที่แตกต่างจากหลายๆ เจ้า เราก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ว่าอย่างนี้แล้วกัน คิดว่าหนังประเภทนี้ควรจะมีที่ยืนในวงการ คาดว่าจะได้รับการยอมรับจากคนดู แล้วก็เปิดกว้างมากขึ้น ไม่ใช่ว่าต้องดูแต่หนังฝรั่ง หนังไทยก็มีแนวนี้ เพราะคอนเซปต์จริงๆ มันเป็นคอนเซปต์ของโลกนะ ทุกประเทศก็มีสิ่งนี้
เต็นท์: อย่างที่ตอนแรกบอกไปว่าประเทศไทยไม่ค่อยมี Genre นี้ เมืองนอกเขามองว่า หนังไทยไม่เป็นหนังผี หนังโบราณ ก็ต้องตลกไปเลย ทำให้เรื่องของงานสร้างเราค่อนข้างคราฟต์ และจริงจังกับทุกๆ ดีเทลของมันมาก
โอ๊ต: แม้กระทั่งเฟรมภาพในหนัง ต่อให้กว้างแค่ไหน มันก็ยังอยู่ในความแน่น มันเป็นการดีไซน์ที่พูดคุยกันแล้วว่าความรู้สึกต้องออกมาแบบนี้ หรือเพลงประกอบก็ดีไซน์มาประมาณหนึ่งแล้วว่าให้เข้ากับตัวหนังจริงๆ อยากให้คนดูอย่าเพิ่งถอดใจกับหนังไทย
เต็นท์: ลองชิมรสชาติใหม่ๆ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เราเชื่อว่าคนไทย ไม่ต้องพวกเราหรอก ทุกคนมีความเก่งของตัวเอง แต่แค่บางทีมันก็แล้วแต่โอกาสด้วย
ถ้าสนับสนุนคนไทยด้วยกัน อุตสาหกรรมก็เดินหน้าได้