เคยสังเกตไหม ว่าอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งท่ามกลางวิกฤต
สิ่งนั้นคือ ‘น้ำใจและการช่วยเหลือ’ ที่ทำให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ทุกครั้ง แต่ด้วยวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ รุนแรงและส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่มทั่วโลก ทำให้ไม่ว่าใครต่างก็ต้องพยายามเอาตัวรอดมากกว่าครั้งไหนๆ และปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้เกิดการเอาเปรียบและฉวยโอกาสเกิดขึ้นตามไปด้วย
เกิดเป็นคำถามว่า ท่ามกลางวิกฤตแบบนี้ เราต้องคิดเยอะเพื่อสังคมส่วนรวมแค่ไหนกัน
ช่วยเหลือตัวเองเท่ากับช่วยผู้อื่น
ด้วยรูปแบบของโรคระบาดโควิด-19 ที่เป็นการติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายผ่านสารคัดหลั่ง ทำให้เกิดคำใหม่ขึ้นมา นั่นคือ Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า นี่คือวิธีการเดียวที่จะช่วยลดการติดเชื้อได้ดีที่สุด ก่อนจะเกิดการรณรงค์ให้อยู่บ้านตามมา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดปริมาณลงอย่างเห็นได้ชัด เพียงแค่ในประเทศไทยเอง จากหลักร้อยลดลงมาเหลือเพียงหลักสิบ ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงเดือน สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ข้อมูลวันที่ 21 เมษายน 2563) เรียกว่าเป็นกราฟที่ทำให้ทุกคนเกิดรอยยิ้มท่ามกลางวิกฤตได้
ถ้าดูจากวิธีการแล้ว อาจเหมือนเป็นการช่วยเหลือตัวเองเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ เพียงแค่อยู่ห่างจากคนอื่นให้มากที่สุดหรือพยายามไม่ออกเป็นไหน แต่การที่ผู้ป่วยลดน้อยลง บุคลากรทางการแพทย์ก็ทำงานหนักน้อยลงตามไปด้วย และที่สำคัญคือเป็นการช่วยให้สังคมเรากลับมาสู่สภาพเดิมได้เร็วที่สุด นั่นหมายความว่าการช่วยเหลือตัวเองเท่ากับการช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน
ใส่ใจรายละเอียดเพียงเล็กน้อย
ในสถานการณ์แบบนี้ หน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างหนัก เพราะเป็นอุปกรณ์เพียงไม่กี่อย่างที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งปริมาณการใช้ที่มากขึ้นก็ทำให้ปริมาณขยะมากขึ้นตามไปด้วย ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร มีปริมาณขยะมูลฝอยประเภทหน้ากากอนามัยและวัสดุปนเปื้อนต่างๆ ถึงประมาณ 1.4 ตันต่อวันเลยทีเดียว แน่นอนว่าทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดการขยะ เพราะหน้ากากอนามัยมีส่วนผสมของพลาสติกและถือเป็นขยะติดเชื้อที่อันตราย หากใช้แล้วทิ้งอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่เพียงแค่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำให้พนักงานเก็บขยะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อสูงมากอีกด้วย
การช่วยเหลือ เพียงแค่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะทิ้ง ด้วยการม้วนและพับเก็บใส่ถุงที่ปิดสนิท แล้วแยกทิ้งหรือทิ้งในถังขยะสีแดงที่จัดเตรียมไว้ตามโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุข หรือการใช้หน้ากากผ้าที่มีคุณภาพทดแทนการใช้หน้ากากอนามัย ก็ถือเป็นการช่วยเหลือทางหนึ่งแล้ว
คิดเผื่อเพื่อคนอื่น
จากการที่รัฐบาลประกาศมาตรการเคอร์ฟิว ปิดทั้งห้างร้านต่างๆ รวมไปถึงการห้ามออกจากบ้านในช่วงเวลาหลังสี่ทุ่ม ทำให้หลายคนตื่นตระหนกว่าของอุปโภคบริโภคจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต จนเกิดการกักตุนสินค้า และพ่อค้าแม่ค้าบางรายก็ฉวยโอกาสโก่งราคาเกินจริง ส่งผลกระทบไปยังกลุ่มคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำที่ไม่มีกำลังซื้อสินค้ามากักตุน หรือกลุ่มผู้สูงอายุเองที่ไม่พร้อมจะออกไปแย่งซื้อของกับคนกลุ่มอื่นในช่วงเวลาปกติ ตัวอย่างเคสแก้ปัญหาที่น่ายกย่อง คือซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในออสเตรเลียได้เปิดชั่วโมงสูงวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เข้ามาจับจ่ายซื้อของก่อนเวลาเปิดปกติ จนทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยบางแห่งมีการใช้นโยบายนี้เช่นกัน
การยับยั้งชั่งใจและคิดถึงคนอื่นก่อนจะซื้อของเพื่อกักตุน เผื่อให้คนอื่นได้ใช้บ้าง จึงเป็นการช่วยเหลือที่ง่ายและแทบไม่ต้องลงมืออะไรด้วยซ้ำ
จะเห็นได้ว่า ยามที่ทุกคนอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากด้วยกันทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องลงแรงหรือลงเงินบริจาคมากมาย เพียงแค่ #คิดสักนิดเพื่อสังคมที่ดีขึ้น ก็สามารถช่วยให้เราทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกันได้แล้ว