ผ่านปีใหม่มาได้เพียงแค่ 2 เดือน หลายคนอาจยังสงสัยว่า เศรษฐกิจในบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไร
เพราะถึงแม้ว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้งแน่นอน ทำให้หลายอย่างในประเทศดูชัดเจนขึ้น เพราะนับตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ดัชนีหุ้น SET ของไทยเรามีแนวโน้มเติบโตขึ้น สะท้อนถึงความมั่นใจในด้านธุรกิจที่เป็นผลมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าหากมองแบบภาพกว้างๆ เศรษฐกิจของโลกภายในปี 2019 นี้ กลับชะลอตัวอย่างน่าใจหาย ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ด้านยุโรป ประเด็นเรื่อง Brexit ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และอีกหลายๆ ปัจจัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก
นอกเหนือไปจากปัจจัยจากเศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศที่ไม่แน่นอน TMB จึงได้แนะนำนักธุรกิจไทยถึงโอกาสทองสำคัญ นั่นคือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เพราะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมศักยภาพแห่งอนาคต และสามารถค้ำจุนเศรษฐกิจโดยรวมของไทยได้ในระยะยาว
ลองไปทำความรู้จัก พร้อมหาเหตุผลว่าทำไม EEC จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม
เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน
หลายสื่อทั่วโลกมองเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดให้เศรษฐกิจโลกในปี 2019 ชะลอตัวและผันผวนตลอดเวลา คือมหาอำนาจอย่างอเมริกาและจีน ตั้งแต่การผลักดันให้ค่าเงินดอลลาห์อ่อนค่าลง การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่ทำให้นักลงทุนหวั่นวิตก รวมถึงการจุดชนวนไปสู่สงครามการค้ากับจีน ที่โดนัลด์ ทรัมป์พยายามกดดันจีนด้วยการดึงฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลับมาที่อเมริกา ตามนโยบายเรียกคะแนนนิยม ทำให้ต้องขาดดุลการค้ากับจีนอย่างหนัก
ทางด้านจีนเองก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ โดยชะลอความร้อนแรงลง เพื่อส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวมากขึ้น รวมถึงเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ราคาหุ้นที่ตกลงทำให้ส่งผลต่อความมั่งคั่งของชาวจีน นอกจากนั้นคือโซนยุโรปที่ยังมีปัญหายืดเยื้อกับกรณี Brexit ของอังกฤษที่พยายามถอนตัวจาก EU ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป โดย TMB ได้วิเคราะห์ว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงปลายของการขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Late Economic Cycle) ซึ่งเป็นปลายทางที่ส่งสัญญาณไม่ดีนัก และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้
อย่างที่ทราบกันว่าก่อนหน้านี้ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเมือง จึงส่งผลให้ภาพลักษณ์การลงทุนก็ไม่ชัดเจนตามไปด้วย แต่ทันทีที่มีการประกาศเลือกตั้ง ก็ทำให้ทุกอย่างดูดีขึ้นมาทันที ธนาคารแห่งประเทศไทยได้วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ขยับตัวขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น แม้ว่า GDP จะลดลง 3.8% จาก 4.0% ในปีก่อน แต่มีปัจจัยสนับสนุนหลักคือการบริโภคภาคเอกชนที่สูงขึ้น รวมถึงการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย ซึ่งเป็นพวงมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกานั่นเอง
ด้านการท่องเที่ยว แม้ว่าปีก่อนจะได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวจีนลดลง แต่ปีนี้ก็ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มาจากอาเซียน เอเชียตะวันออก และอเมริกา ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวจีนน่าจะกลับมาอีกครั้ง แต่จะกลับมาในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ แต่เป็นกลุ่ม FIT (Free and Independent Traveler) หรือนักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางเป็นกลุ่มอย่างอิสระด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากขึ้นในระดับกลางถึงบน ส่วนด้านการส่งออกก็ยังมีตลาดรองรับอยู่ ร่วมถึงด้านระบบการเงิน TMB ก็คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจึงยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับทั่วโลก
โอกาสสำคัญคือ EEC ที่ไม่ควรมองข้าม
ถึงเศรษฐกิจภาพรวมของไทยจะยังไปต่อได้ แต่ทาง TMB ก็แนะนำเหล่านักธุรกิจไทยว่าไม่ควรมองข้ามโอกาสที่เข้ามา นั่นคือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ โครงการไทยแลนด์ 4.0 มีข้อได้เปรียบสำคัญคือมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐและการช่วยเหลือด้านภาษีอย่างเต็มที่ ด้วยการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่ง ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง เรียกว่าช่วยลดความเสี่ยงระยะสั้น แต่สามารถสร้างรายในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง
รูปแบบการลงทุนของ EEC แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไล่มาตั้งแต่ การก่อสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรม การก่อสร้างโรงงาน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบิน 3 แห่ง เมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 และท่าเรือมาบตะพุด เฟสที่ 3 มูลค่ารวมกว่า 988 พันล้านบาท
ส่วนด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ครอบคลุมถึง 10 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ทั้ง อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ถึง 1 ล้านล้านบาท และนอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพอีก อย่างเช่น อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่คาดว่าจะมีรายได้ถึง 2.83 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
คุณนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB กล่าวถึง EEC ว่า “สำหรับเศรษฐกิจไทยโดยรวม โครงการ EEC จะมีส่วนอย่างยิ่งในการยกระดับการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 จากข้อมูลการลงทุน เราจะเห็นได้ว่าโครงการ EEC ยังสามารถรองรับผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เพิ่มอีกจำนวนมาก จากตัวเลขรายรับที่ผู้ลงทุนพึงได้เก็บเกี่ยวจากการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ดิจิทัล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเจ้าของธุรกิจไทยมีศักยภาพสูง ประกอบกับช่องทางการรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นอันจะยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โอกาสทองที่พร้อมให้ผลตอบแทนในระยะยาวแก่นักธุรกิจไทยก็อยู่ไม่ไกล”
ข้อมูลทั้งหมดนี้ เป็นการต่อยอดจากในงาน TMB The Economic Insight 2019 ‘เจาะลึกเศรษฐกิจไทยพร้อมตั้งรับ EEC ในยุคดิจิทัล’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
เพื่อให้บริการด้านข้อมูลเชิงเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้าธุรกิจของ TMB ที่เป็นมากกว่าธนาคาร แต่คือพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านการเงิน ช่วยส่งเสริมศักยภาพให้ธุรกิจไทยแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป