ต๊อด – ปิติ ภิรมย์ภักดี คือนักธุรกิจทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลภิรมย์ภักดี เจ้าของบริษัทบุญรอดบริเวอรี่ ด้วยบุคลิกอันมุ่งมั่นของนักธุรกิจเต็มตัว จึงกลายเป็นภาพคุ้นเคยที่ปรากฏอยู่ในสื่ออยู่เสมอ
แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวการแข่งขันรถยนต์ ‘ทีม TP12’ คว้าอันดับ 2 โอเวอร์ออล จาก 5 สนามใน 5 ประเทศ ประเดิมซีซั่นแรก ณ บล็องค์แปงจีทีซีรีส์ ปรากฏชื่อของต๊อด ในฐานะนักขับชาวไทย พร้อมด้วย คาร์โล แวน แดม เพื่อนร่วมทีมชาวเนเธอร์แลนด์ นับเป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบรายการใหญ่ในยุโรปที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม แม้ลงจะแข่งขันเป็นครั้งแรก
ข่าวนี้คงเป็นข่าวที่ไม่ได้น่าสนใจนัก หากนักขับชาวไทยคนนั้นไม่ใช่ ต๊อด – ปิติ ภิรมย์ภักดี ที่กำลังอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน รับผิดชอบการบริหารบริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอรี่พร้อมกันถึง 3 บริษัท สะท้อนถึงชีวิตอีกมุมหนึ่งของทายาทนักธุรกิจที่ไม่ค่อยมีใครได้เห็นมากนัก ซึ่งจริงๆ แล้ว การแข่งรถอยู่ในชีวิตของเขามาตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี ตั้งแต่การแข่งขันโกคาร์ทสำหรับเด็ก ยกระดับไปจนถึงการคว้ารางวัลการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบในยุโรป
The MATTER พูดคุยกับต๊อดในฐานะนักแข่งรถที่เป็นอีกพาร์ทหนึ่งของชีวิต ผ่านการแพ้ชนะในสนามแข่งขันมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ความฝันในการเป็นนักขับรถอาชีพ จนถึงวันที่ความพยายามนั้นหายไป สิ่งสำคัญที่สะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์นี้ คือแนวคิดเรื่องการจัดการกับความผิดหวังที่หล่อหลอมให้เขาเป็นอย่างทุกวันนี้
การแข่งรถเริ่มต้นเข้ามาในชีวิตคุณได้ยังไง
ผมเริ่มต้นสนใจเรื่องรถตั้งแต่ตอนอายุ 12 ปี มันมาจากถ้วยรางวัลต่างๆ ที่ได้มาของคุณพ่อ ซึ่งเก็บอยู่ในห้องเก็บอุปกรณ์กีฬาและมีรถที่พ่อเขาสะสมไว้ ผมก็ไปเห็นถ้วยรางวัลอันหนึ่งเป็นรูปรถ เด็กๆ ก็ไม่รู้เรื่อง ถามว่ารถคันไหนเอาไปประกวดชนะมา เขาก็บอกว่าเป็นการแข่งขัน เราก็สงสัยว่าแข่งรถเป็นกีฬาด้วยเหรอ เพราะส่วนใหญ่จะเห็นแต่ในหนัง ไม่คิดว่าจะมีจริงๆ จนติดใจเรื่องรถตั้งแต่วันนั้น จนไปซื้อหนังสือมาอ่านเกี่ยวกับการแข่งรถมาศึกษาเอง ผ่านไป 5 เดือน พ่อก็เห็นว่าเราคุยเรื่องนี้ไม่ยอมหยุด เขาก็ถามว่าสนใจอยากเป็นนักแข่งเหรอ จนได้ลองขับรถโกคาร์ทจริงๆ
จำวันที่ขับรถโกคาร์ทครั้งแรกได้มั้ย ความรู้สึกเป็นอย่างไร
วันที่ขับวันแรก พ่อพาไปที่เชียงราย รถที่ขับเป็นรถที่ผลิตในไทย เป็นรถของอู่วิกรมที่ผลิตรถโกคาร์ท มันคือรถของผู้ใหญ่ที่พ่อเอามาดัดแปลงให้เป็นรถสำหรับเด็ก ที่นั่งที่เล็กกว่าปกติ คันเหยียบต่างๆ ก็เลื่อนเข้ามาทั้งหมด เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับโกคาร์ท สิ่งที่เกิดขึ้นตอนที่ได้ขับครั้งแรกก็คือ คันเร่งค้าง เราก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง รถมันจะวิ่งชนกำแพงอยู่แล้ว สุดท้ายก็พยายามใช้ทักษะส่วนตัวในการเอาตัวรอด ก็เลยหักเอาด้านข้างเข้า เราก็ตกใจมาก ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะขับครั้งแรกก็เจออุบัติเหตุแล้ว พ่อก็วิ่งมาดู ถามว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็ตกใจบอกคันเร่งค้าง เขาก็บอกว่าถ้าเจอคันเร่งค้างอีกให้เอามืออุดคาบูเรเตอร์ เพื่อให้อากาศไม่เข้าแล้วเครื่องจะดับโดยอัตโนมัติ เขาก็บอกแค่นี้แล้วก็ให้ไปขับต่อ ผมก็งงว่าให้ขับต่อเลยเหรอ แม่ก็ยืนร้องไห้อยู่ เท่าที่จำได้หลังจากนั้นขับไปร้องไห้ไป ทำไมไม่เห็นสนุกอย่างที่คิด ทำไมเจออุบัติเหตุแล้วไม่เลิก กลายเป็นว่าต้องมาขับต่อ สุดท้ายคันเร่งก็ค้างอีก ก็ทำตามที่พ่อบอก เครื่องก็ดับ แล้วพ่อก็มาเข็นให้สตาร์ทขับใหม่ ครึ่งวันนั้นก็ขับอยู่ในสนามไม่ไปไหนเลย
วันนั้นรู้สึกว่าอะไรที่สวยงามและเป็นสิ่งที่ต้องการ บางครั้งก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แต่ความท้าทายตรงนั้นก็สร้างแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นมา จากเด็กที่ชอบขี่ม้ากับเตะบอลอย่างเดียว รู้จักที่จะเอาชนะ ได้ทำความเข้าใจกับตัวเอง อะไรหลายอย่างที่ได้เรียนรู้ในวันนั้นยังจำได้ถึงทุกวันนี้ชัดเจนมาก
จากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้มุมมองต่อการแข่งรถเปลี่ยนไปอย่างไร
เด็กทุกคนอยากได้ของเล่น พอได้ของเล่นมาก็ตื่นเต้น แต่พอได้สัมผัสจริงๆ แล้วมันไม่เหมือนกับที่เราคิดไว้ เพราะมันไม่ใช่ของเล่น ถ้าวันนั้นพ่อบอกให้ผมหยุด หรือผมตัดสินใจลุกขึ้นจากเบาะแล้วบอกว่าไม่เอาแล้ว ก็คงเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กทั่วๆ ไป แต่ก็คงไม่มีผมในวันนี้ และความไม่ยอมแพ้ของผมก็คงไม่อยู่ในนิสัย ผมอาจกลายเป็นคนที่เจออุปสรรคแล้วหันหลังให้มัน แล้วก็บอกว่าไม่เอาแล้ว วันนั้นทำให้เห็นว่าทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามคาด การเจออุปสรรคเป็นเรื่องปกติ แล้วการก้าวผ่านก็เป็นเรื่องปกติของทุกเรื่องเช่นกัน
หลังจากวันนั้น พ่อเห็นว่าพื้นฐานดี ก็ซ้อมทั้งหมดประมาณ 3 เดือนก่อนทำการแข่งขันครั้งแรก มีพ่อเป็นทั้งคนสอน เป็นทั้งคู่แข่ง เป็นทั้งคนซ้อม เพราะการแข่งรถต้องมีคนอยู่ข้างหลังเสมอ ไปแข่งขันครั้งแรกที่พัทยาก็ได้ที่ 3 ทั้งบ้านไปช่วยกันเชียร์หมด และวันนั้นเป็นครั้งแรกที่มีหนังสือมาสัมภาษณ์ผม เป็นครั้งแรกที่ลงหนังสือด้วยการเป็นนักกีฬา หลังจากนั้นก็แข่งอีกประมาณปีกว่าๆ ก็ได้ตำแหน่งทุกสนาม
ถ้าวันนั้นพ่อบอกให้ผมหยุด หรือผมตัดสินใจลุกขึ้นจากเบาะแล้วบอกว่าไม่เอาแล้ว
คงไม่มีผมในวันนี้ และความไม่ยอมแพ้ของผมก็คงไม่อยู่ในนิสัย
ดูเหมือนว่าพ่อคือแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากขับรถ มีคำสอนไหนของพ่อที่ยึดไว้ตลอด
พ่ออยู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตมาตลอด ทำให้ได้วงเวียนอยู่วงการนี้ ถึงจะไม่ได้แข่งเองก็ได้ไปดู คืออยู่ในสายเลือด ซึ่งหลังจากที่มาแข่งรถจริงจัง การเตะฟุตบอลอยู่กับเพื่อนเป็นสิ่งที่หายไปทันที จะซ้อมรถแต่กับพ่อ ทำให้ผมกับพ่อสนิทกันมาก ซึ่งเขาสอนทุกอย่าง ไม่ใช่เรื่องการแข่งรถอย่างเดียว จำได้ว่าครั้งหนึ่งผมแข่งสตาร์ทที่ 1 จบที่ 2 เราก็ดีใจมาก แต่โดนพ่อว่า ในความรู้สึกเราตอนนั้นคือผิดตรงไหน พ่อบอกว่า ถ้าไม่อยากชนะก็อย่าแข่ง ที่ 1 มีอยู่ที่เดียว การสตาร์ทที่ 1 แล้วจบที่ 1 คือความมุ่งมั่น ถ้าเราบอกว่าจบที่ 2 ที่ 3 ก็ยังได้ถ้วยอยู่ดี ความตั้งใจก็จะหายไป กลายเป็นความมุ่งมั่นที่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากวันนั้นเขาก็บอกว่า ถ้าวันไหนไม่พร้อม วันไหนคิดว่าจะไม่ชนะ ไม่ต้องลงแข่ง มันเลยเป็นที่มาว่า ทุกครั้งที่ผมลงแข่ง จะมีโอกาสหรือไม่มี ต้องคิดอยู่เสมอว่า เราต้องไปให้เร็วที่สุดและเป็นคนเข้าเส้นชัยคนแรกให้ได้
จากการแข่งโกคาร์ท พัฒนาไปสู่การแข่งรถยนต์ทางเรียบได้ยังไง
ตอนที่เลิกแข่งโกคาร์ทแล้วสนใจไปแข่งรถยนต์เป็นช่วงที่ไปแข่งกับรุ่นใหญ่ชิงแชมป์ประเทศไทย แล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร เกิดข้อผิดพลาดเยอะ สองสามสนามสุดท้ายก่อนที่จะเลิกเป็นสนามที่ไม่ประสบความสำเร็จเลย เหตุผลที่เราเปลี่ยนไปขับรถยนต์ก็กลายเป็นข้อครหามาตลอด คือพอมาเจอรุ่นใหญ่ๆ กระดูกแข็งๆ ก็ทานไม่ไหว ก็ย้ายไปขับรถยนต์แทนรึเปล่า แต่จริงๆ เป็นแพลนที่อยากทำอยู่แล้ว
สมัยก่อนการแข่งรถยนต์ต้องใช้ใบขับขี่รถยนต์ในการแข่งขัน แล้วเราต้องไปทำ license พิเศษ ต้องทำเทสต่างๆ เพื่อให้ได้ใบอนุญาตขับขี่ในการแข่งขัน เพราะอายุเรายังไม่ถึงเกณฑ์ หลังจากที่ได้ใบขับขี่มา การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบตอนแรกๆ ก็กลับมาคล้ายๆ เดิมเลย เพราะรถยนต์กับโกคาร์ทมันต่างกันอยู่แล้ว รูปแบบการแข่งขันเหมือนเดิม แต่วิธีการมันแตกต่างกันออกไป ความถนัดต่างๆ ที่มีในโกคาร์ทคือเป็นเบสิกที่ดี แต่ไม่ได้เป็นทุกอย่าง สนามแรกสตาร์ทเป็นที่ 2 แต่ก็โดนชนจนแข่งขันไม่จบ ด้วยวัยแค่ 14 ปีตอนนั้นทำให้เราท้อๆ ได้ในระดับหนึ่งเลย ซึ่งรุ่นที่ผมแข่งก็เป็นรุ่นใหญ่ระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะมาหวังว่าประสบความสำเร็จแบบโกคาร์ทก็ยาก
ช่วงที่ท้อๆ อยู่ก็มีคนชวนไปแข่งรถ rally course คือรถทางฝุ่น แต่วิ่งอยู่ในเซอร์กิตปกติ ซึ่งสมัยก่อนคนที่ขับ rally ก็ขับ rally ขับ racing ก็ขับ racing มันเป็นสองทักษะที่แยกกัน แต่ทักษะที่ผมเอาจาก racing มาใช้ทำให้ได้เปรียบ อีกปีหนึ่งหลังจากนั้นมีสนามไหนก็แข่งหมด ก็ได้ถ้วยเกือบทุกรายการที่แข่ง ทำให้มีแรงผลักดันกลับมาขับรถทางเรียบอีกครั้ง
หลังจากที่ได้ลงแข่งอย่างต่อเนื่อง อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากขับรถแข่งเป็นอาชีพ
ตอนนั้นอายุ 17 ปีมีโอกาสที่เรียกได้ว่าใหญ่พอสมควร คือคุณเกรียงไกร ลิ้มนันทรักษ์ ตำนานของนักแข่งรถที่ทำทีมอยู่ เขามีรถอยู่สองคัน พอดีขับอยู่แค่คันเดียว เขาก็เลยชวนผมไปแข่งขันนอกประเทศครั้งแรก ปีนั้นไปแข่งที่มาเลเซียกับอินโดฯ แข่งปีแรกก็ทำได้ดี แต่ก็ยังอยู่แค่ที่ 5 ที่ 6 ยังไม่ได้ถ้วย แต่มีทีม Penske ติดต่อมาว่าอยากดูแลเด็กคนนี้ เพื่อจะผลักดันให้เป็นเด็กเอเชียคนแรกที่ได้ไปถึงฟอร์มูล่าวัน ซึ่งเขาให้ไปอยู่กับเขา ไม่ต้องเรียนหนังสือ คือแข่งรถอย่างเดียวเป็นอาชีพเลย ด้วยความที่เราโตมากับทางนี้ตลอด แล้วการได้เข้าไปอยู่ในทีมอาชีพแบบนี้ถือว่าเป็นอะไรที่สุดยอดที่สุดในชีวิตแล้ว พอกลับมาเล่าให้พ่อฟัง พ่อก็บอกว่า ถ้าคิดจะไปแข่งรถเป็นอาชีพก็บ้าแล้ว ผมก็สงสัยว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เทรนผมมาตลอดชีวิตเพื่อจะมาเป็นนักแข่งรถอาชีพหรอกเหรอ เพราะนี่คือโอกาสที่ดีที่สุดแล้ว คุณเกรียงไกรบอกว่าเสียดายนะ แต่ก็เข้าใจพ่อ ผมก็งงว่าเข้าใจยังไง ให้ผมขับรถผลักดันมาตลอด นี่คือความหวังที่ดีที่สุดในการเจริญรอยตามพ่อแล้ว
ปีต่อมามีแข่ง South East Asia Touring Car ตอนนั้นผมเรียนอยู่อเมริกาก็กลับมาแข่งเมื่อมีโอกาส พอดีมีทีมญี่ปุ่นเข้ามาทำเป็นทีมเซอร์วิส เขาก็เอาโปรไฟล์ผมไปเสนอ HKS เป็นทีมแข่งของญี่ปุ่นที่ถือว่าดังมากๆ เขาเสนอให้ไปอยู่ที่โรงเรียนข้างๆ สนามแข่ง ทุกเย็นหลังเรียนเสร็จให้ไปซ้อม ผมก็ไม่ลังเลตอบไปเลยว่า ไม่ไป คงไม่เสียเวลาไปถามพ่อหรอก เพราะพ่อส่งไปเรียนถึงอเมริกาคงไม่ได้ให้อยากไปเป็นนักแข่งรถแล้ว การขับรถคงเป็นแค่งานอดิเรก พอไปเล่าให้พ่อฟังก็บอกว่าดีแล้ว ไม่ต้องมาถามให้เสียเวลา หลังจากนั้นก็มองว่าการแข่งขันรถเป็นงานอดิเรกมาตลอด วันนั้นเป็นวันที่ดีใจและเสียใจพร้อมกัน ดีใจที่คนยังเห็นความสามารถของเราอยู่ และเสียใจที่ไม่ได้เป็นอาชีพของเราแล้ว บวกกับตอนนั้นเป็นช่วงที่ให้ความสำคัญกับการเรียนที่อเมริกาพอสมควรด้วย
จากความฝันที่จะแข่งรถเป็นอาชีพกลายเป็นแค่งานอดิเรก จัดการกับความผิดหวังนั้นอย่างไร
อย่างที่บอกคือทั้งดีใจและเสียใจ เพราะเราเป็นคนตัดสินใจเอง และเป็นการตัดสินใจโดยที่ไม่ได้กลับไปถามพ่อด้วยซ้ำ การแข่งรถคงเป็นได้แค่งานอดิเรก แต่เป็นงานอดิเรกที่เราไม่ได้ไม่ใส่ใจ เพราะต้องมีการเตรียมพร้อม ทุกครั้งลงแข่งก็ยังหวังได้ที่ 1 อยู่เสมอ มีอยู่สนามหนึ่งผมจำได้ว่าบินกลับมาไทยวันศุกร์เช้า เสาร์ซ้อม อาทิตย์แข่ง จันทร์ก็กลับ ตอนนั้นได้ถ้วยพระราชทานทีมประเทศไทย ซึ่งพ่อไม่ได้สปอยให้อยากบินกลับมาแข่ง เพราะถ้าไม่ได้คะแนนนำเขาคงไม่ให้กลับมา
การได้แชมป์วันนั้นสอนเราหลายๆ อย่าง ว่าการที่มีเวลาที่จำกัด พักผ่อนน้อย มีผลต่อการแข่งขันอยู่พอสมควร ตอนนั้นก็โชคดีที่เอาชนะได้ แต่นั่นเป็นการแข่งในประเทศ แต่ถ้าเป็นต่างประเทศครั้งไหนที่ไม่พร้อม หรือไฟลท์บินไหนที่มันตึงเกินไป ผมก็จะไม่ลงแข่ง ต้องหาไฟลท์ที่ผมเวลาได้พักหนึ่งวันเต็มๆ เพราะเรื่องน้ำในหู สมอง หรือแรงกดดันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นเครื่องบิน พอไปอยู่ในรถมันเกิดแรงเหวี่ยง ของเหลวในหัวถ้าไม่สมดุลแล้วจะทำให้เกิดการเวียนหัวได้ง่ายมาก ทุกอย่างกลายเป็นประสบการณ์ที่เอามาใช้ได้
การแข่งรถคงเป็นได้แค่งานอดิเรก แต่เป็นงานอดิเรกที่เราไม่ได้ไม่ใส่ใจ
เพราะต้องมีการเตรียมพร้อม ทุกครั้งลงแข่งก็ยังหวังได้ที่ 1 อยู่เสมอ
อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้หายจากการแข่งรถไปถึง 3 ปี
ผมแข่งมาตลอด จนถึงวันที่ท้อกับการแข่งขันรถในเมืองไทยมาก เพราะกติกาและการแข่งขันที่ไม่มีความเป็นมาตรฐาน รู้สึกว่าการแข่งขันมันไม่สนุกแล้ว เลยลองไปแข่งที่มาเก๊าดู เป็นครั้งที่ 2 ที่ไปแข่งต่างประเทศ แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริ่มทำงาน เริ่มมีครอบครัว แล้วมาเก๊าเป็นสนามที่ยากอันดับต้นๆ ของโลกที่อันตรายมากๆ ปีแรกก็ไม่สำเร็จ ปีที่สองก็พยายามเหมือนเดิม
จนในที่สุดก็มีความรู้สึกว่า สงสัยการแข่งขันอาชีพเริ่มไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับเราแล้ว เพราะเริ่มมีความรู้สึกกลัว มีความไม่มั่นใจในตัวเอง เนื่องจากรถที่เราใช้แข่งเป็นรถบ้าน แล้วไปเจอรถแข่ง ศักยภาพมันต่างกัน เลยเกิดความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง แล้วสนามนั้นมีคนตายทุกปี เราคงเป็นนักแข่งที่ดีไม่ได้ ก็ตัดสินใจเลิกแข่งไป 3 ปี ค่อนข้างผิดหวังกับตัวเองอยู่พอสมควร มันไม่ใช่หมดความมั่นใจ แต่หมด passion ในการแข่งไปเลย จนไม่คิดจะกลับมาแข่งอีกแล้ว สิ่งที่ตัวเองทำมายี่สิบกว่าปีเป็นสิ่งที่ตัวเองคิดผิดมาตลอด ไม่ได้ดี ไม่ได้เก่งจริงๆ หรอก สุดท้ายก็โทษตัวเองทุกอย่าง เลยไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่สนใจตัวเองเลย
แล้วให้กำลังใจตัวเองจนกลับมาแข่งอีกครั้งได้อย่างไร
กลับมาแข่งอีกทีด้วยคำพูดของคุณพ่อเหมือนเดิม เขาถามว่าทำไมไม่ออกกำลังกาย ผมก็บอกว่าออกกำลังไปทำไม รถก็ไม่ได้แข่ง ทำแต่งาน ก็บ่นน้อยใจ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อายุสามสิบต้นๆ ที่มีภาระรับผิดชอบหนักอยู่พอสมควร เป็นช่วงก่อนที่ผมได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ดูแลเรื่องการตลาดและโฆษณาทั้งหมด รู้สึกว่าถ้าอายุมากกว่านี้ยังทำงานแบบนี้ก็คงหนักตลอดชีวิตแล้วแหละ บวกกับมีครอบครัวด้วย ครึ่งหนึ่งก็งานครึ่งหนึ่งก็ครอบครัว เลยอยากจะจัดการตรงนั้นให้ดีก่อน
แต่ช่วงหลังทุกอย่างเริ่มลงตัวมากขึ้น ทำให้เริ่มมีเวลา แต่ไม่อยากกลับมาขับรถอีกแล้ว เพราะคิดว่าคงทำได้ไม่ดี เพราะถ้าเป็นนักแข่งแล้วกลัวตาย นี่จบเลย ถ้าใจบอกให้ไป แต่สมองสั่งให้ยกคันเร่ง จะไปชนะได้ยังไง คือสนามอื่นไม่เป็น เป็นแค่ที่สนามมาเก๊า กลัวฉิบหายเลย พ่อก็บอกว่ากลัวอยู่สนามเดียวก็ไม่ต้องไปแข่งที่นั่นก็จบ ก็คิดว่า เออ..ทำไมต้องไปแข่งที่นั่น เลยตัดสินใจกลับมาแข่งที่เซปัง เซอร์กิต ที่มาเลเซีย สนามนั้นความปลอดภัยมันสูงมาก ก็ไม่เห็นจะกลัวเลย เป็นการเริ่มต้นกลับมาสู่ยุคที่แข่งขันแบบจริงจัง มีชนะที่ญี่ปุ่นด้วยกันถึง 2 ปี จนได้ฉายา King of Fuji (ชื่อสนามแข่ง Fuji Speedway)
อยากให้เล่าถึงการตัดสินใจออกไปแข่งขันในยุโรป
การได้ไปแข่งในยุโรปครั้งหนึ่งเป็นความฝันของผม ที่ผ่านมาผมซื้อรถ จ้างทีมมาทำ จะซ้อมก็ซ้อม จะแข่งก็แข่ง เราเป็นคนกำหนด เพราะเราเป็นเจ้าของทีมและเจ้าของของรถ วันที่ผมตัดสินใจไปแข่งที่ยุโรป ค่าใช้จ่ายมันสูงมาก สิ่งที่ผมทำได้คือเช่ารถของทีมอื่นเพื่อลงแข่ง ทีมหนึ่งมีรถทั้งหมด 4 คัน แต่การที่เขาจะปล่อยรถให้ผมมาแข่งได้ เขาก็ต้องมั่นใจว่าเราจะทำผลงานได้ดี เพราะก็เหมือนนำทีมเขาไปสู่ชัยชนะด้วย การที่เขาจะปล่อยรถเช่ากับคนอื่นๆ ก็เป็นไปได้สูง ผมก็งงว่า ตังค์เราจ่าย แต่เขาต้องเป็นคนอนุญาต
จนวันที่ไปซ้อมวันแรก ปกติผมจะซ้อมวันหนึ่งไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในแต่ละวีคไม่เกิน 2 ชั่วโมง วันแรกที่ไปอยู่ภายใต้ทีมของเขา 2 วันแรกรวมกันผมขับไป 6 ชั่วโมง เท่ากับที่ผมแข่งรถประมาณปีหนึ่ง จนรู้สึกว่าจริงจังกับการแข่งไปรึเปล่า คือกินน้ำยังไม่ทันพักเลย ปรับเซ็ตอัพอีกก็กลับไปขับใหม่แล้ว เพราะทีมงานเป็นของเขาหมดเลย เรามีหน้าที่ทำตามที่เขาสั่ง มีวันหนึ่งที่ซ้อมเปลี่ยนตัว ซึ่งการแข่งขันต้องมี 2 คนในทีม คนหนึ่งขับเข้ามา อีกคนต้องไปขับแทน ทีมต้องจัดการเปลี่ยนยางให้เร็วที่สุด วันนั้นผมทำอะไรพลาดจำไม่ได้ ทำให้การเปลี่ยนตัวช้ากว่าทีมเปลี่ยนยาง ช่างก็เตะยางใส่ด้วยความโมโห เพราะเราไปเหมือนขับเล่นๆ เราไปอยู่ท่ามกลางอาชีพของเขา เขามองทุกอย่างเป็นการแข่งขันเป็นอาชีพหมด
พอได้เข้าไปอยู่ในบรรยากาศแข่งขันที่ทุกอย่างเป็นอาชีพจริงๆ รู้สึกเป็นสิ่งที่ต้องการมาตลอดไหม
หลังจากวันนั้นผมถูกกดดันไม่ว่าจะเป็นการขับรถหรือการฟิตร่างกาย ขับๆ อยู่ก็วอมาแล้วว่าให้ขับเร็วกว่านี้ โค้งนี้ช้าไปต้องเร็วกว่านี้ เร่งกันทุกโค้งทุกแล็บ นี่มันมากกว่าการแข่งขันเพื่อเอาสนุกแล้ว สนามที่ 1 ที่ 2 ยังงงๆ อยู่ เพราะเพื่อนไปเยอะ แข่งเสร็จยังไปเที่ยวกันต่อ พอสนามที่ 3 ที่ 4 ไปกับทีมงาน 4 คน ไปประชุมทีม ดูสนาม กลับมาซ้อม นี่มันเหมือนนักกีฬาอาชีพเข้าไปทุกทีแล้ว พอจบตรงนั้นยังอารมณ์ดีอยู่ แต่พอสนามที่ 5 ที่ 6 รู้สึกว่านี่มันไม่ใช่งานอดิเรก แต่มันคือหน้าที่แล้ว ต้องทำตามแผนทุกอย่าง ทีมส่งคลิปมาให้ ถามทุกวันว่าได้ดูรึยัง พร้อมกับกระดาษสิบแผ่นที่เป็นเรคคอร์ดของสนามที่ต้องมานั่งอ่านว่าแต่ละโค้งเป็นยังไง เขาพยายามให้ข้อมูลมากที่สุดแล้วแน่ใจว่าเราจำได้ทั้งหมด จนรู้สึกว่ามันหนักไปรึเปล่า เหมือนไปเจอหน้าที่เพิ่ม ไม่ได้รีแลกซ์แล้ว แต่พอผ่านไปถึงสนามที่ 7 ที่ 8 กลายเป็นความรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราตามมาทั้งชีวิต นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเป็นไม่ใช่เหรอ ถ้าเป็นอาชีพจริงๆ เราต้องสนุกกับมัน สนามสุดท้าย 2 สนาม มีคนจัดอันดับว่าผมน่าจะเป็น Top 5 ของนักขับระดับกึ่งอาชีพในยุโรป ถ้ารักษาระดับนี้ไว้ได้คงได้รับปรับเกรดเป็นนักแข่งอาชีพ
วันนี้ที่เรามีงานมีหน้าที่ มันไม่ได้ง่ายเหมือนตอนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ การเป็นนักแข่งตัวแทนของเอเชียกลับมาอยู่ในมือเราโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะไปถึงตรงนั้นด้วยซ้ำ ผมถามตัวเองนี่คือสิ่งที่เราพยายามมาตลอด คือสิ่งที่เรามีความสุขกับมันไม่ใช่เหรอ ทำไมเรามีความรู้สึกว่าท้อ รู้สึกว่ามันหนักเหลือเกิน สนามสุดท้ายผมไปแข่งด้วยความอยากได้ที่ 1 จริงๆ ถึงจะจบที่ 2 แต่ก็มีความรู้สึกเราทำหน้าที่ของเราได้ดีที่สุดแล้ว
การแข่งขันที่มีแพ้มีชนะได้สอนอะไรคุณบ้าง
แพ้ชนะ มีโอกาสดีใจหรือเสียใจได้แค่วันเดียว ไม่มีใครบอกว่าถ้าได้แชมป์สนามที่แล้ว มาสนามนี้จะได้แชมป์อีก หรือแพ้สนามที่แล้ว สนามนี้ไม่มีโอกาสชนะ ทุกอย่างคือเริ่มต้นใหม่ ถ้ายังไปยึดติดกับความรู้สึกเดิมๆ ผลงานจะออกมาไม่ดี การที่คิดว่าตัวเองชนะแล้วคิดว่าคนอื่นไม่เก่ง วันนั้นคือคุณแพ้แล้ว คำว่าแพ้ชนะของผมมันจบที่สนามนั้นๆ
แพ้ชนะ มีโอกาสดีใจหรือเสียใจได้แค่วันเดียว ไม่มีใครบอกว่าถ้าได้แชมป์สนามที่แล้ว มาสนามนี้จะได้แชมป์อีก หรือแพ้สนามที่แล้ว สนามนี้ไม่มีโอกาสชนะ ทุกอย่างคือเริ่มต้นใหม่
ตลาดเวลา 28 ปีที่แข่งรถมา มองว่าอะไรหัวใจของการแข่งรถ
หลายๆ อย่างของผมมันถูกพัฒนาผ่านการแข่งขันมาโดยตลอด ความคิดอ่านมันเปลี่ยนแปลงโดยตลอด แต่ถ้าถามว่าวันนี้อะไรที่ทำให้ผมยืนหยัดได้ถึงทุกวันนี้หรืออะไรที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จต่อจากนี้ไป คำเดียวเลยคือ วินัย ถ้าไม่มีวินัยซื่อสัตย์กับสิ่งที่ทำ คุณไม่มีทางประสบความสำเร็จ
ตอนที่ไปแข่งยุโรป มีสื่อมาสัมภาษณ์ผม เพราะเป็นคนเอเชียคนเดียวที่เขาสนใจสัมภาษณ์ ซึ่งจริงๆ แล้วมีคนเอเชียหลายคนมีความสามารถ แต่ไม่กล้าที่จะออกมาจากมุมของตัวเอง เขาก็พยายามยกตัวอย่างว่าผมเป็นเคสหนึ่งที่เห็นว่า คนเอเชียไม่ได้ด้อยกว่า เพียงแต่ต้องกล้าที่จะก้าวออกจากมุมที่ตัวเองถนัด ในขณะเดียวกันถ้าคุณมีผลงานที่ดีและโดดเด่น เขาก็พร้อมจะสนับสนุนคุณ ซึ่งนำมาสู่สปอนเซอร์และอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ตามมา
มีเคล็ดลับในการบริหารงานด้านธุรกิจและการแข่งรถอย่างไรให้สมดุลกัน
สองอย่างนี้มันอยู่คู่ขนานผมมาทั้งชีวิต เหมือนตอนเรียนหนังสือผมก็พยายามไม่ให้ด้อยไปกว่าการแข่งขันรถ การทำงานในบุญรอดมาตลอด 15 ปี ผมไม่ได้เริ่มมาจากลูกหลานเจ้าของอย่างเดียว ผมก็เริ่มทำงานเหมือนพนักงานทั่วไป สมัยแรกที่ทำแผนกโฆษณาและการตลาดมีประมาณ 20 คน ผ่านมาตอนนี้มีทีมงาน 800 กว่าคนแล้ว สิ่งที่สำคัญคือทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน เราจะแบ่งเวลายังให้เป็นประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด
ถามว่าทุกวันนี้ที่ยังแบ่งเวลาไปแข่งรถได้ยังไง มันเป็นข้อดีที่โลกสมัยนี้ทำให้การทำงานไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ออฟฟิศ อยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถทำงานได้ ต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่ทำให้ 24 ชั่วโมงของเรายาวขึ้น เวลาเท่าเดิม แต่เวลาที่จะออกไปทำอะไรมันมีมากขึ้น ขึ้นอยู่กับตัวเองว่าเราจะเอาเวลานั้นไปทำอะไรได้มากน้อยขนาดไหน สำคัญคือการที่คุณจะประสบความสำเร็จในการทำงาน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นที่รักของทุกคน ไม่จำเป็นต้องเก่งในทุกอย่าง คำตอบคำเดียวคือต้องมีวินัยและซื่อสัตย์กับงานในวิชาชีพของคุณ
มองอนาคตเรื่องการแข่งรถไว้อย่างไร
ผมว่าคงไม่เกินสองสามปีนี้ คงจะอยู่ในช่วงที่ดีที่สุดของผมแล้ว หลังจากนั้นถ้าผมยังไม่หยุดแข่งก็หมายถึงว่าเป็นงานอดิเรกแล้ว คงไม่มาแบกรับภาระในการแข่งขันหนักเท่านี้ เพราะตอนนี้ผมเริ่มทำงานด้านซัพพลายเชนกับดิจิทัล มันสอดคล้องด้วยความบังเอิญที่สองสามปีนี้เหมือนกับเราเดาไม่ออกว่าอะไรมันเกิดขึ้นในโลกดิจิทัล อยู่ในยุคที่ดิจิทัลจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ฉะนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนตัวเองให้พร้อมที่สุด เพื่อวันที่โลกเปลี่ยนแปลงเราจะได้ตามทัน ซึ่งมันอยู่ในช่วงเวลาที่ผมไฟแรงที่สุดในตอนนี้ เป็นช่วงที่ผมยอมเหนื่อยและยอมหนัก ทั้งเรื่องงานและเรื่องแข่งรถ หวังว่าเรื่องดิจิทัลจะไปสู่เป้าหมายตามมาตราฐานสากลที่วางไว้ และการแข่งรถที่จบด้วยแชมป์
ถึงการแข่งรถจะจบด้วยตรงนี้ แต่ด้วยความรักในกีฬามอเตอร์สปอร์ตคงจะเป็นคนผลักดันวงการในเมืองไทยให้มีโรลโมเดลสำหรับคนที่จะไปแข่งเมืองนอก อนาคตคาดหวังว่าวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยคงเป็นที่นิยมของเอเชีย ประสบการณ์ที่ผมผ่านมาทั้งหมด สิ่งที่เป็นตัวอย่างให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้คือความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค