ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการศิลปะไทย ทั้งในแง่ผู้คนทั่วไปที่ผนวกรวมศิลปะจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทั้งศิลปินไทยที่ได้รับการยอมรับ จนเป็นศิลปินที่น่าจับตามองในวงการศิลปะโลก
ทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ด้วย “ความฝัน – ตัวตน – โอกาส” ของศิลปินซึ่งไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และกล้าสร้างผลงานที่ฉีกตัวเองออกจากกรอบพร้อมกับการก้าวให้ทันโลก
วันนี้ เราจึงพาคุณมานั่งคุยกับ 2 แชมป์จากงานประกวดจิตรกรรมยูโอบี (UOB Painting of the Year) ได้แก่ คุณอุ้ม – ปานพรรณ ยอดมณี จากการประกวดครั้งที่ 1 ในปี 2553 และคุณแบงค์ – ชัยชนะ ลือตระกูล จากการประกวดครั้งล่าสุดในปี 2562 ตัวแทนจากต่างจุดเริ่มต้นของเวลา หากแต่มีปลายทางข้างหน้าที่เหมือนกันคือ ความฝันที่ต้องไปให้ถึง
ความฝัน
จากจุดเริ่มต้นของการฝันอยากจะเป็นศิลปินจนถึงวันนี้ มีอุปสรรคหรือความท้าทายอย่างไรบ้าง?
อุ้ม: ความท้าทายเริ่มตั้งแต่ความฝันที่อยากเป็นศิลปิน ซึ่งสังคมรอบตัวมองว่าอาชีพศิลปิน เป็นไปไม่ได้ และเส้นทางศิลปินในประเทศไทยมันค่อนข้างยาก เราต้องพิสูจน์ตัวเอง เลยส่งงานประกวด เพราะเหมือนเป็นเวทีที่แม้จะไม่ถึงกับการันตี แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนรอบตัวเห็นว่า เส้นทางศิลปินมันเป็นไปได้นะ มันทำให้เรามีชีวิตอยู่ และมีความสุขกับเส้นทางที่ฝัน
ตอนเริ่มคิดว่าจะส่งงานประกวดครั้งแรก เรียนอยู่ปี 2 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะเราได้ยินข่าวว่าธนาคารยูโอบีจัดงานประกวดศิลปะที่สิงคโปร์และมีชื่อเสียงมาก ชื่อ “UOB Painting of the Year” ซึ่งจะมาจัดครั้งแรกที่เมืองไทย เราก็ตื่นเต้น ตอนนั้นก็คิดว่ามันก็ไม่ได้เสียหายอะไรกับเด็กคนหนึ่งที่มีความฝันอยากเป็นศิลปินเอางานเรียนมาส่ง และไม่คิดว่าตัวเองจะได้รางวัล
พอได้รางวัล ก็มีโอกาสได้ไปแสดงงานที่สิงคโปร์ ทำให้ได้ไปดูงานที่ Singapore Art Museum ตอนนั้นมี Singapore Biennale พอดี ซึ่งเป็นจุดที่เปิดโลกมากทำให้เห็นงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงของเอเชีย แล้วฝันต่อไปว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นแบบนั้นบ้าง จะต้องมาที่ Singapore Biennale ให้ได้ มันเป็นก้าวแรกที่ทำให้เรามั่นใจกับสิ่งที่ฝัน แล้วจากนั้นก็เหมือนมันพุ่งไปข้างหน้าเลย แล้ววันนี้เราก็ทำได้จริงๆ เราก็กลับไปแสดงที่ Singapore Biennale ถ้าไม่ได้เวทีหรือไม่ได้ส่งงานประกวดในครั้งนั้น เราจะไม่รู้เลยว่า โลกศิลปะที่เราเดินทางอยู่ถ้าเปิดออกมาแล้วกว้างขนาดนี้ แล้วก็เส้นทางของเราหลังจากนั้นมันก็ชัดเจนมากขึ้น
จริงๆ เส้นทางนี้ค่อนข้างยากมากนะ ยากมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ก็ยังยากอยู่ ยิ่งมองอนาคตไปว่าการที่เราเข้าไปอยู่ในวงการศิลปะระดับเอเชีย ระดับโลกแล้ว ก็จะยิ่งยากยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก ด้วยความที่เราเป็นคนเอเชียคนหนึ่งที่ทำงานจิตรกรรมไทย เราต้องทำงานผสมผสานความเก่าและใหม่ให้ออกมาอย่างไรให้คนทั้งโลกเข้าใจได้
แบงค์: ตอนที่ผมสร้างสรรค์งานสมัยเรียน ในขณะที่หลายๆ คนพยายามสร้างงานที่ขายได้ แต่ผมไม่ได้มองตรงนั้นเลย เพราะผมรู้ว่างานผมขายไม่ได้อยู่แล้ว ผมพยายามสร้างงานออกมาให้ดีที่สุด ตรงตามที่ใจเราตั้งไว้ ฝันไว้ ให้มากที่สุด ทำงานให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ สุดท้ายแล้วพอได้มาประกวด ก็เป็นการเปิดโอกาสให้มีคนรู้จักงานเรามากขึ้นจากงานที่คิดว่าขายไม่ได้ ก็ขายได้ อยู่ที่ว่าเราทำงานออกมาให้เต็มศักยภาพของเราให้ได้มากที่สุด ผมก็ยังเชื่อว่า สุดท้ายมันก็ต้องมีคนเห็นค่าในงานของเรา
ในอนาคต ผมอยากได้แสดงงานที่ต่างประเทศ เป็นศิลปินอาชีพจริงๆ แต่ก็ต้องพัฒนาต่ออีกเยอะ ทั้งแนวทางและเวลาในการสร้างผลงาน เพราะระยะเวลาในการสร้างงานของผมค่อนข้างใช้เวลานาน ต้องใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่ได้รับ มาปรับตัว หาทางพัฒนาผลงานต่อไป
ตัวตน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวตนของคุณอุ้ม จากวันที่ฝันจะเข้าสู่วงการศิลปะจนถึงวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไรบ้าง
อุ้ม: แนวความคิดของเราอาจจะกว้างขึ้นหรือแคบลงไปตามความเปลี่ยนแปลงรอบๆ ตัว สิ่งที่โลกกำลังเผชิญอยู่ บางทีมันก็ไปสะกิดอะไรบางอย่าง ทำให้ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน เรียกว่ามีผลซึ่งกันและกัน
ศิลปะที่ทำออกมาในโลกปัจจุบันนี้มันไม่มีผิดถูกแล้ว และก็สังคมก็เปิดรับมากยิ่งขึ้น งานของอุ้มก็พูดถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งเมื่อก่อน สังคมค่อนข้างไม่เปิดรับและตั้งคำถาม เราในฐานะคนสร้างผลงานก็พยายามเรียนรู้ว่า จะทำอย่างไรให้คำถามที่เขาตีกลับมาเนี่ย มีคำตอบคืนกลับไปให้สังคมได้ คือทำให้เราได้เรียนรู้ไปด้วย และสังคมหรือผู้คนเองก็ได้เรียนรู้จากงานเราไปด้วย ซึ่งตรงนี้มันสำคัญมากที่ศิลปะจะทำให้โลกใบนี้เป็นอย่างไรได้บ้าง ทำให้เราเองและคนดูได้สนุกไปกับการดูงานที่มันแตกต่างหรือเราไม่ชิน ศิลปินเองก็ต้องเรียนรู้แง่มุมของสิ่งรอบตัวให้สมดุล ไม่ใช่อยู่แต่กับหน้างานศิลปะหรือทำงานของตัวเราอย่างเดียว
อยากให้เล่าถึงตัวตน และสิ่งที่คุณแบงค์ต้องการสื่อสารผ่านงานศิลปะ
แบงค์: ผมจับประเด็นสังคม และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสื่อออกมาผ่านงานศิลปะ ผมโฟกัสที่การจัดการในขั้นตอนสุดท้ายของผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ว่ามันยังจัดการได้ไม่ดีเพียงพอ จนกลายเป็นปัญหา งานของผมก็เลยจินตนาการไปถึงวันที่สิ่งที่ถูกผลิตด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกส่งออกไปนอกโลก มันเกิดปิดกั้นชั้นบรรยากาศกับโลก ปกคลุมท้องฟ้าจนทึบแน่น ไม่มีสเปซว่างเลย โดยคาดหวังว่างานชิ้นนี้จะทำให้คนดูตระหนักได้ว่าการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีสามารถก่อให้เกิดขยะที่ไม่สามารถทำลายได้ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้
โอกาส
อะไรประตูที่เปิดโลกสู่โอกาสของคุณ
อุ้ม: สำหรับอุ้ม การประกวดเป็นประตูที่ช่วยให้โลกของเราเปิดกว้างขึ้น ได้โอกาสแสดงผลงาน ได้คอนเน็กชัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนศิลปินด้วยกัน เราก็ส่งงานมาเรื่อยๆ ในเทศกาลศิลปะทั่วเอเชีย ทั้ง Art Stage และ Singapore Biennale ที่สิงคโปร์ Art Central และ Art Basel ที่ฮ่องกง Triennial ของออสเตรเลีย และล่าสุดที่ Lyon Biennale ที่ฝรั่งเศส กำลังแสดงอยู่ถึงมกราคมนี้ มีโอกาสได้เห็นไอดอลของเราที่เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงกำลังแสดงงานอยู่ ก็ทำให้เรามีกำลังใจ มีความกล้า มีแรงผลักดันในชีวิตมากขึ้น
แบงค์: ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ผมได้ไปสิงคโปร์ 2 ครั้ง ก็มีคอนเน็กชัน เจอเพื่อนศิลปินจากหลากหลายประเทศ ได้พบปะพูดคุยทั้งแกลเลอรี อาร์ตคอลเล็กเตอร์ ไม่เฉพาะแค่ในเอเชีย ในระดับยุโรปก็มา ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี และเป็นการขยายโอกาสให้กับงานของเรามากยิ่งขึ้น ได้เผยแพร่ไม่เฉพาะในประเทศ แต่ให้คนทั่วโลกได้มองเห็นงานของเรา
มองอย่างไรกับการประกวดงานศิลปะในโลกของศิลปิน
อุ้ม: งานประกวดเป็นกำลังใจ ช่วยซัปพอร์ตชีวิต ทำให้ศิลปินรุ่นใหม่มีกำลังใจในการสานฝันของเขาต่อไป อย่างเวทีของ UOB Painting of the Year ก็เป็นเวทีหนึ่งที่เปิดประตูแห่งโอกาสและสร้างศิลปินให้ไปสู่วงการนานาชาติได้มากขึ้น
ที่สำคัญคือ เราต้องไม่หลงไปกับความสำเร็จของการประกวด บางคนคิดว่าเราเก่งแล้ว เราจะหยุดพัฒนาก็ได้ แต่จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญคือ เราจะคงระดับหรือรักษาคุณภาพของเราไว้ได้อย่างไร หลังจากได้รับรางวัล เราจะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้มันควรค่าแก่รางวัลนั้น อันนี้มันสำคัญมากกว่า
แบงค์: เวทีประกวดมีส่วนช่วยในการสนับสนุนวงการศิลปะไทยให้ก้าวไปในระดับสากล เวทีประกวดจิตรกรรมยูโอบีไม่ได้จบแค่ในประเทศไทย แต่ผู้ชนะได้ไปต่อในระดับภูมิภาค และก็เป็นเวทีที่ให้เกียรติกับศิลปิน งานทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวดก็จะได้ถูกตีพิมพ์ลงในสูจิบัตร ถึงบางคนจะไม่ได้รับรางวัลก็ยังได้รับการเผยแพร่ผลงาน ถึงจะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่มีส่วนช่วยในเรื่องกำลังใจของศิลปิน ช่วยสร้างความภาคภูมิใจที่ได้แสดงผลงานของตัวเอง
โอกาสที่ส่งต่อให้ชุมชนศิลปะไทย
อุ้ม: การเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับให้ศิลปินรุ่นน้องหรือผู้ที่สนใจฟัง เช่น ที่งานยูโอบีอาร์ตเวิร์กชอป ก็เหมือนเป็นโอกาสที่เราได้ส่งต่อหรือจุดประกายทางความคิดอะไรบางอย่างให้กับเขา บางคนเขาก็อยากรู้ลึกถึงการทำงานเกี่ยวกับวัดว่าเป็นอย่างไร การทำงานที่ Lyon ที่เก็บซากท่อมาจากขยะเหลือใช้ ไปเก็บมาอย่างไร หรือมันเป็นอย่างไรในเมื่อศิลปะถูกย่อยสลาย มันเป็นการตั้งคำถามที่น้องๆ เองไม่เคยรู้มาก่อนว่า ในสังคมข้างนอกเขาเอาขยะมาทำงานได้นะ หรือในการทำงาน Biennale เอง ต้องทำงานร่วมกับชุมชนและชาวบ้าน เราต้องสื่อสารพูดคุยเกี่ยวกับพื้นที่ในการทำงาน เราก็สามารถเอาไปบอกต่อน้องๆ ได้ว่า ศิลปะมีหลายด้าน ไม่เพียงแต่มีด้านที่สวยงาม แต่ยังช่วยโลกใบนี้ได้ด้วย
แบงค์: ปีที่แล้ว กลับจากสิงคโปร์ก็มายูโอบีอาร์ตโรดโชว์ ได้ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุยกับน้องๆ ในหลายๆ มหาวิทยาลัยเหมือนกับพี่อุ้ม อย่างผมก็ได้ไปเจอศิลปินที่เป็นครูในแต่ละที่ที่ไปโรดโชว์ ได้คุยกับคนที่หลากหลายมากขึ้น ไปเจอกับศิลปินรุ่นพี่ UOB Painting of the Year มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด นอกจากไปเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้รุ่นน้องได้ฟัง แต่ยังเห็นศิลปินรุ่นพี่ที่อยู่สูงกว่าเรา ได้เห็นว่าเขาทำงานหรือใช้ชีวิตแบบนี้ มันเหมือนเราจุดไฟให้กับตัวเอง มีแรงบันดาลใจกลับมาสร้างงานของเราเองเหมือนกัน