เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘ศิลปะ’ ในฝั่งของผู้เสพ อาจหมายถึงผลงานสักชิ้นที่ช่วยจรรโลงใจหรือให้สุนทรียะยามที่ได้สัมผัส ในขณะที่ฝั่งของผู้สร้างสรรค์ผลงาน นิยามของศิลปะอาจไปไกลกว่านั้น
เพราะเบื้องหลังกว่าจะเป็นผลงานสักชิ้น ล้วนเต็มไปด้วยแนวคิดหรือเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ แรงบันดาลใจ ไปจนถึงความฝันที่สะท้อนออกมาผ่านผลงาน ไม่เพียงแต่ศิลปะสามารถเป็นได้มากกว่าความสวยงาม แต่เป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงผู้คน เป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนในสังคม หันมาสนใจสร้างความเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ที่เปี่ยมไปด้วยความฝันหรือแพสชัน แต่หลายครั้ง ความฝันดังกล่าวไม่ได้เติบโตไปตามอายุ เพราะเพียงแค่เด็กๆ เหล่านั้นขาดโอกาส พื้นที่แสดงผลงาน หรือแรงสนับสนุนในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อาจทำให้ผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยแนวคิดดีๆ อาจสื่อสารไปไม่ถึงวงกว้างอย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญอาจทำให้เด็กคนนั้น ต้องละทิ้งความฝัน ไม่สามารถเติบโตไปในเส้นทางที่ตนเองรัก ขาดโอกาสในการสร้างรายได้ในอาชีพ และส่งผลต่อภาพรวมของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ในฐานะที่มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนวงการศิลปะและศิลปินไทยให้เติบโตทั้งในประเทศและเส้นทางระดับอาเซียนมาเป็นปีที่ 15 ได้เห็นความสำคัญของการสร้างความยั่งยืนในฝั่งของผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ จึงเกิดเป็นกิจกรรม UOB Art Roadshow ที่ประกอบไปด้วยศิลปินผู้มีชื่อเสียง ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงศิลปะ รวมถึงศิลปินรางวัลชนะเลิศจากการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ได้ร่วมใจผนึกกำลัง เดินทางไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเปิดพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ได้จุดประกายความฝันในเส้นทางศิลปะให้แข็งแกร่ง
ทำไมเส้นทางศิลปะต้องได้รับการสนับสนุน
ลองจินตนาการว่า กว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตไปยังเส้นทางอาชีพสายต่างๆ ได้ เด็กคนนั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคอะไรบ้าง โดยเฉพาะในด้านศิลปะ ทั้งความมั่นคงในเรื่องการหารายได้ แนวทางในการสร้างสรรค์ กระทั่งเอกลักษณ์หรือตัวตนในผลงาน แม้ว่าเรื่องของพรสวรรค์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้เหนือกว่า แต่ถ้าหากพรสวรรค์นั้นขาดการสนับสนุนหรือผลักดันให้ไปจนสุดทาง พรสวรรค์นั้นอาจไร้ความหมายก็เป็นได้ ยิ่งเด็กๆ ที่ไม่มีพรสวรรค์ แต่มีพรแสวง ก็ยิ่งจำเป็นต้องได้รับการผลักดันอย่างหนักเป็นพิเศษ
การผลักดันที่ว่าจึงจำเป็นต้องเกิดการจุดประกายจาก ‘ต้นแบบ’ ของศิลปินรุ่นพี่ ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมไปถึงการแบ่งปันประสบการณ์ตรง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ไปถึงฝั่งฝัน นอกจากนั้นคือการเปิดพื้นที่แสดงผลงาน ซึ่งการแข่งขันหรือการประกวดต่างๆ ก็เปรียบเสมือนสนามทดลอง ก่อนที่ศิลปินหน้าใหม่จะกระโดดออกไปสู่โลกแห่งความจริง
UOB Art Roadshow จุดประกายความฝันให้กับเด็กและเยาวชน
ในประเทศไทยเอง ถือได้ว่ามีสถาบันที่มีหลักสูตรหรือคณะวิชาที่สอนด้านศิลปะอยู่ไม่น้อย แต่การที่เด็กได้เข้าศึกษาในสถาบันศิลปะโดยตรง ก็ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางอาชีพของเขาจะสวยงามราบรื่นเสมอไป การจุดประกายและสนับสนุนยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อส่งเสริมและนำทางความฝันของเด็กๆ
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรม UOB Art Roadshow ที่ออกเดินทางไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะทั่วประเทศต่อเนื่องทุกปี แม้แต่ปีที่มีโควิด-19 ก็ยังคงจัดแบบออนไลน์ (Virtual) เพื่อมอบพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความรู้ทักษะด้านศิลปะที่เป็นประโยชน์ ที่สำคัญคือช่วยสร้างแรงบันดาลใจเด็กนักเรียน นักศึกษา รวมถึงกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อย่างผู้พิการทางการได้ยิน ความน่าสนใจคือรูปแบบของกิจกรรมที่มีการเชิญศิลปินอาชีพที่ได้รับการยอมรับในเวทีศิลปะนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญในวงการศิลปะ และที่สำคัญศิลปินอาชีพรุ่นพี่ที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบีเข้าไปแบ่งปันประสบการณ์บนเส้นทางศิลปะของตัวเอง พร้อมทั้งถ่ายทอดทักษะศิลปะที่เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ แบบใกล้ชิด และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการเวิร์กช็อปศิลปะ เปิดโอกาสให้ได้ทดลองสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน รวมถึงให้ได้รู้จักนำเสนอผลงาน เรียกว่าเป็นการเปิดโลกศิลปะในมุมใหม่ๆ ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองที่เหนือกว่าก็เป็นได้
สู่การผลักดันให้ศิลปะเป็นมากกว่าความสวยงาม
หากพูดถึง ‘ศิลปะ’ คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงภาพความสวยงาม ให้ความเพลิดเพลินเจริญตาเจริญใจแก่ผู้ชม แต่เชื่อว่า ‘ศิลปะ’ สามารถเป็นได้มากกว่าความสวยงาม เพราะสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อเชื่อมโยงผู้คน เปิดมุมมองใหม่ๆ และยังเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนในสังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไปจนถึงความเท่าเทียมได้
นอกจากนั้นศิลปะยังอยู่เหนือข้อจำกัดทางด้านภาษา และการบกพร่องทางร่างกาย อย่างเช่นกิจกรรม UOB Art Roadshow ครั้งล่าสุด ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีทั้งนักศึกษาไทย นักศึกษาต่างชาติ รวมถึงผู้พิการทางการได้ยิน มาเข้าร่วมเวิร์กช้อปไปพร้อมๆ กัน สะท้อนถึงความเป็นสากลของศิลปะได้เป็นอย่างดี โดยได้ ผึ้ง – ปรัชญา เจริญสุข ศิลปินรางวัลชนะเลิศ การประกวดจิตรกรรมยูโอบี (ประเทศไทย) และรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค UOB Southeast Asian Painting of the Year ประจำปี 2566 มาถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานจากขยะไมโครพลาสติกขนาด 5 x 5 มม. ที่เก็บได้จากชายหาด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นผลกระทบจากฝีมือมนุษย์ที่ขาดการบริหารจัดการ ส่งผลให้ขยะพลาสติกแทรกซึมลงในระบบนิเวศ ส่งกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์
โดยศิลปินยังเปิดโอกาสให้น้องๆ ที่เข้าร่วมได้ทดลองสร้างผลงานจากไมโครพลาสติกเป็นของตัวเองอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ได้ลองสำรวจความถนัด ไปจนถึงการสร้างตัวตนในผลงาน และสามารถสื่อสารประเด็นทางสังคมที่มองเห็น เพื่อผลักดันให้ตนเองไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จ
การสนับสนุนตัวศิลปินตั้งแต่ยังเป็นเด็ก การเปิดโอกาสและสร้างพื้นที่ให้ได้ทดลองสร้างสรรค์ผลงาน สถาบันต่างๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง คอมมูนิตี้ของศิลปินรุ่นพี่ที่คอยให้คำปรึกษา
และที่สำคัญคือผู้เสพศิลปะอย่างเราๆ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวงการศิลปะของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน