โรงเรียนก็เหมือนกับเป็นบ้านหลังที่สองของเด็ก โดยมีคุณครูเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องของวิชาความรู้และสังคมการใช้ชีวิต
แต่พอกลับมามองภาพจริงของโรงเรียนในปัจจุบัน หลายโรงเรียนที่มีข้อจำกัด อย่างโรงเรียนที่อยู่แสนไกล ครูยังต้องพบกับปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงทางการเรียนการสอนที่ยังไม่เต็มที่เท่าที่ควร ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันไปตามแต่ละโรงเรียน จนถึงเรื่องราวของสังคมอย่างทักษะชีวิต และโภชนาการ ที่เหมือนยิ่งโรงเรียนอยู่ห่างไกล เรื่องราวเหล่านี้ก็อยู่ไกลตัวเด็กมากขึ้น
มีสำนวนที่บอกว่า “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” จากสังคมในโรงเรียน ขยายสู่สังคมของชุมชนรายรอบที่เด็กอาศัยอยู่จริงในทุกวัน ยิ่งเป็นเรื่องดีถ้าเด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในชุมชนที่เขาอยู่เอง ได้ทำประโยชน์และภาคภูมิใจในการเป็นหนึ่งในคนสำคัญที่ทำให้ชุมชนขับเคลื่อน ซึ่งกลไกที่จะพาให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงและเกิดขึ้นได้จริงคือ ‘ผู้ใหญ่’
ผู้ใหญ่ย่อมต้องเป็นผู้ให้ทั้งการสนับสนุนทั้งทางกายภาพและโอกาสเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ แม้จะมีภาครัฐเป็นกลไกทางด้านนโยบายในการสนับสนุนขั้นพื้นฐานแล้ว แต่บทบาทของผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงผู้ใหญ่ในภาคเอกชนก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการสร้างการศึกษาที่มั่นคงและยั่งยืน ยิ่งในยุคเทคโนโลยีแบบนี้ที่แค่กะพริบตาโลกก็เปลี่ยน เราจะเห็นเลยว่า บทบาทของภาคเอกชนที่เคลื่อนตัวได้เร็วคือจิ๊กซอว์ที่ทำให้กลไกสำหรับการเรียนรู้ครบสมบูรณ์
การทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมจึงไม่ได้เป็นแค่คำเท่ๆ แต่เป็นคำสำคัญที่สร้างอนาคตได้จริง เช่นเดียวกับโครงการ UOB My Digital Space (UOB MDS) ในความร่วมมือโดยธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และโครงการร้อยพลังการศึกษา ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการร่วมลดช่องว่างทางการศึกษาและสร้างอนาคตเด็กไทย
ต่อจากนี้ไปคือกลไกของแต่ละภาคส่วนในสังคมซึ่งกำลังช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาของเด็กไทยให้ยั่งยืน
คุณครู ผู้ปกครองในบ้านหลังที่สองที่เรียกว่าโรงเรียน
คุณครูคือผู้ที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเด็กในทุกมิติ ทั้งการเรียนการสอนและการเป็นที่ปรึกษาด้านการใช้ชีวิต กิจวัตรในแต่ละวันของครู นอกจากการเตรียมการเรียนการสอน สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้สำหรับเด็กแล้ว ยังใส่ใจถึงเด็กรายบุคคลทั้งในเรื่องการเรียน ตามทันหรือขาดตกตรงไหน ไปจนถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับชีวิตเหมือนกับเป็นผู้ปกครองในบ้านหลังที่เรียกว่า โรงเรียน แห่งนี้
หากแต่ครูหลายๆ คนยังต้องเผชิญกับเรื่องราวมากมายในแต่ละวันที่ต้องตามแก้ไข ทั้งเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ หรือแม้แต่ในเชิงแนวคิด ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับการทำงานของครูมีความหลากหลายและเฉพาะตัวสูง หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หรือเป็นเรื่องในระดับใหญ่อย่างสภาพแวดล้อม จนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และยังไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ไข จนเกิดเป็นแฮชแทก #ทำไมครูไทยอยากลาออก ที่บ่งบอกถึงปัญหาของระบบครูในประเทศไทย และเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วนเพราะส่งผลถึงคุณภาพของนักเรียนเป็นลูกโซ่
สังคมที่สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนักเรียนและครู
จากผลวิจัยของ OECD พบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น จำนวนการกลั่นแกล้งในโรงเรียนลดลง นักเรียนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ทักษะทางด้านอารมณ์และสังคมดีขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นสอดประสานไปด้วยกันในรั้วโรงเรียน และเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับนักเรียนในแนวทางของการสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ความสำคัญของการสร้างสังคมคุณภาพในโรงเรียนจึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการทำงานกับการศึกษา ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิด พัฒนา หรือสื่อสารความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ พร้อมกันกับสร้างเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ให้กับครูผ่านสถานการณ์ต่างๆ ให้ได้ลองปรับเปลี่ยนแนวคิดและติดอาวุธทางด้าน Soft Skill อย่างทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ดีขึ้นสำหรับคุณครู
InsKru เครื่องมือออนไลน์ที่สร้างพลังและแรงบันดาลใจให้ครู สู่สัมพันธ์ที่ดีในห้องเรียน
ยูโอบี มองเห็นทางแก้ปัญหาในด้านเครื่องมือและนวัตกรรม จึงก้าวเข้ามาสนับสนุน ‘InsKru’ เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยสร้างพลังและแรงบันดาลใจผ่านการแชร์ไอเดียจากครูทั่วประเทศ เปิดพื้นที่สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ให้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพครู เพิ่มความมั่นใจในการสอน จุดไฟในการทำงาน และเกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในห้องเรียน
ผลลัพธ์แสดงให้เห็นผ่านตัวเลขการใช้งานของ ครูที่เป็นสมาชิกบนเว็บไซต์ inskru.com กว่า 50,000 ครั้ง มียอดแอคทีฟ 1,500 คนต่อวัน และเข้าถึงนักเรียนได้กว่า 2.9 ล้านคน นับว่าการสร้างสังคมของครูที่มีคุณภาพ ก็สะท้อนกลับไปถึงการเรียนการสอนที่มีศักยภาพสูงสุดทั้งกับผู้สอนและผู้เรียน
จากมุมมองของครูผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม InsKru ด้วยตัวเอง พบเห็นผลลัพธ์ที่ดีมากมายหลังจากได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมครูคุณภาพ ตั้งต้นที่ตัวผู้สอนเองมีสุขภาพจิตที่ดี กลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีเพื่อน ไม่ได้เผชิญปัญหาใดๆ เพียงลำพัง จนกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลง
พลังเหล่านี้ส่งผลมาถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมของการเรียนการสอน ทำให้ประสิทธิภาพในการสอนของคุณครูดีขึ้นผ่านไอเดียวิธีการสอนใหม่ๆ ที่เติมไฟในการทำงาน และการเรียนของนักเรียนดีขึ้นแสดงผ่านผลการเรียน กระตุ้นความสัมพันธ์และลดช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียน เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีและการสนิทสนมซึ่งนำไปสู่การเป็นที่ปรึกษา ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตให้กับนักเรียน ต่างจากอดีตที่เด็กหลายคนอาจถูกทิ้งให้เดียวดายไม่มีที่ปรึกษาเนื่องจากช่วงห่างระหว่างความสัมพันธ์
แนวทางการทำงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม
นอกจากหน้าที่การบ่มเพาะเด็กๆ จะเป็นของคุณครูแล้ว ชุมชนก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน จึงเกิดเป็นแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่มองว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดส่วนร่วม เพื่อสานต่อโครงการ UOB My Digital Space ที่เป็นผู้สนับสนุนห้องเรียนแห่งการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ที่ตอบกับทั้งสองฟากฝั่ง ได้แก่ ผู้สอนนั่นก็คือคุณครู และนักเรียนซึ่งเป็นผู้เรียน
ในปีนี้ ทางยูโอบี และร้อยพลังการศึกษา มีแนวทางในการทำงานแบบมีส่วนร่วมจากภาคีหลายภาคส่วนในหน่วยของสังคมที่เรียกว่าชุมชน ตั้งแต่ผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ปกครอง คุณครู จนถึงนักเรียน ที่แต่ละคนจะสามารถดึงเอาศักยภาพของตัวเองมาสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก ผ่านการทำงานร่วมกัน ตั้งเป้าหมายอย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อให้โครงการนี้ดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แล้วกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมคืออะไร?
เราเริ่มต้นด้วยการร่วมกันกำหนดเป้าหมาย บทบาทของแต่ละภาคส่วนที่จะเข้ามามีส่วนร่วม และวิธีวัดผล ก่อนที่จะลงมือทำงานจริง โดยมีการดำเนินงานตามแผนการร่วมกับภาคีเครือข่าย และมีการติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกับมีการทบทวนและปรับปรุงแบบแผนเพื่อให้ดำเนินการไปได้ด้วยดี
โรงเรียนศรีวินิตวิทยาคม จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโรงเรียนแรกในเครือข่ายที่ริเริ่มกระบวนการพูดคุยและทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา โดยตั้งเป้าหมายหลักคือ ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เพิ่มคะแนนสอบ O-NET และสร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันเด็กนักเรียนไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ “ผู้ปกครองและชุมชน” ที่มีบทบาทสำคัญในส่งเสริมการเรียนรู้ของบุตรหลานผ่านการติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด และช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
เพราะ “คุณภาพการศึกษา” ไม่ได้เกิดจากโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นพลังความร่วมมือของทุกคนในสังคม
ความสำเร็จของโครงการจากความร่วมใจของทุกฟากฝั่ง
ผลสำเร็จจากโครงการขั้นแรกสุดที่ทุกคนเห็นอย่างชัดเจนคือ ทัศนคติในการเรียนและผลการศึกษาของเด็กๆ ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เด็กๆ มีความสนใจ และสนุกสนานในการเรียนในวิชาพื้นฐานที่มีความยากสำหรับพวกเขา
กลไกเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่วงที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุดอย่าง ผู้ปกครอง วัด ผู้ใหญ่บ้าน และชุมชนในพื้นที่ ขยายออกถึงวงใหญ่ในภาคนโยบายทั้งภาคองค์กรและภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกันเพื่อดึงเอาจุดแข็งของแต่ละภาคส่วนออกมาบริหารจัดการ เพื่อเสริมกำลังให้การศึกษาไทยแข็งแรง และงอกเงยเป็นผลต่อเนื่องไปถึงเด็กๆ ยุคใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ระบบการศึกษาในอนาคต
ในส่วนบทบาทการทำงานขององค์กรภาคเอกชน ย่อมต้องอาศัยพลังแห่งความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานทุกระดับและทุกฝ่าย รวมไปถึงพันธมิตรคู่ค้า บนความตั้งใจที่อยากให้การศึกษาไทยมีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งเราบอกเล่าความสำเร็จของโครงการได้ผ่านผลลัพธ์จากการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน สังคม และโรงเรียน โดยเกิดจากความร่วมมือใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่มาจากการระดมทุนจาก UOB Heartbeat Run กิจกรรมประจำปีที่ร่วมระดมเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ UOB MDS ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในพื้นที่ห่างไกล และส่วนที่มาจากความร่วมมือของชุมชนที่จะทำให้โครงการนี้ยั่งยืน
การที่จะทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมในทุกส่วนเข้มแข็งมากขึ้น ย่อมต้องเกิดจากความต้องการและความพร้อมของผู้รับ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งต่อความรักความปรารถนาดีผ่านการศึกษา และการสร้างสังคมที่ดีในการศึกษาให้ทั่วถึง พร้อมกับการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด พร้อมกันกับผลลัพธ์ของชุมชนที่เข้มแข็งและเติบโต