ประเด็นความยั่งยืน คือสิ่งที่ทุกองค์กรต่างกำลังให้ความสำคัญ ควบคู่ไปกับการปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation นับเป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องเอาชนะให้ได้ ในสภาวะของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ SMEs คือเรื่องของการปรับตัวเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มาใช้เพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย
‘ห่านคู่’ คือหนึ่งในแบรนด์เก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานจากรุ่นสู่รุ่น กว่า 70 ปีในตลาด ผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจมาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลในมิติของความยั่งยืน โดยไม่ทิ้งจุดยืนเรื่องความสบายขณะสวมใส่ที่สืบทอดมายาวนาน จุดเปลี่ยนสำคัญ คือการที่ห่านคู่ได้ตัดสินใจปรับตัวเองไปสู่ดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ด้วยการเข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation (SBTP) และ GreenTech Accelerator (GTA) โดย UOB Finlab ที่สนับสนุนให้ SMEs ไม่เพียงแต่นำเทคโนโลยีเข้าไปปรับธุรกิจทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน แต่ยังเป็นพาร์ทเนอร์คู่คิดช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนองค์ความรู้โซลูชันด้านการเงิน รวมไปถึงการทำ Business Matching เพื่อร่วมกันต่อยอดธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง
มาลองสำรวจและถอดบทเรียนกับ คุณากร ธนสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด ผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของห่านคู่ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ เพื่อให้แบรนด์ห่านคู่สามารถปรับตัวในยุคดิจิทัลและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
การเปลี่ยนผ่านจากอดีต มาสู่ห่านคู่ในรุ่นปัจจุบัน อะไรคือประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา
ก่อนหน้านี้ต้องบอกว่า ห่านคู่มีวิธีการจัดการและบริหารงานต่างๆ แบบดั้งเดิมมาตลอด แต่พอไปสำรวจรายละเอียดทุกอย่าง ก็พบว่าต้องรีบปรับตัว เพราะทั้งตลาดและรูปแบบการขายเริ่มเปลี่ยนไป เรื่องดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลมากๆ ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงที่ปรับเข้าสู่อีกเฟสหนึ่งของธุรกิจและเป็นช่วงที่เข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซ สิ่งสำคัญที่ต้องปรับปรุง คือระบบการเงินและบัญชี ต้องพยายามทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราได้ทำงานร่วมกับ UOB ในการนำ ERP (Enterprise Resource Planning) มาใช้ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทาน ทั้งการผลิต การบริการ การเงิน และกระบวนการต่างๆ ขององค์กร ทําให้รู้ว่าตอนนี้สถานะกระแสเงินสดเป็นอย่างไร สินค้าคงคลังต่างๆ อยู่ในสถานะไหน เรียกว่าช่วยให้สามารถทำข้อมูลและระบบได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
มาเข้าร่วมโครงการ SBTP และ GTA กับทาง UOB ได้อย่างไร
เป็นช่วงปี 2021-2022 ตอนนั้นห่านคู่กําลังหาโซลูชันเกี่ยวกับการทำ ERP อยู่ คือบริษัทมาถึงช่วงที่ระบบบัญชีถึงจุดอิ่มตัว เพราะเป็นระบบปิด ไม่สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้โดยตรง เรียกว่าเป็นการทำงานแบบอ้อมๆ ใช้วิธีการดึงฐานข้อมูลออกมาแล้วมาเขียนรายงานเอง รวมไปถึงการจัดการออเดอร์ออนไลน์ ก็ต้องใช้วิธี Manual กรอกข้อมูลเข้าไปในระบบบัญชี จึงจำเป็นต้องหา Business operating system ที่ช่วยให้สามารถคุยกับระบบได้ เราจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ แล้วช่วงนั้นเองทาง UOB ได้ร่วมกับ ITAP (Innovation and technology assistance program) หรือโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อที่จะหาเงินทุน รวมไปถึง Supplier ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ SMEs ในการปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล
สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการและการนำไปต่อยอดมีอะไรบ้าง
ทางโครงการช่วยดำเนินการเรื่อง Business matching กับ Vendor ที่ดูน่าจะเหมาะกับห่านคู่ โดยให้นำเสนอความต้องการต่างๆ เป้าหมายที่อยากได้จริงๆ คือระบบบัญชีที่เป็นระบบเปิด รวมไปถึงเรื่องของเงินทุน และโซลูชันทางการเงินใหม่ๆ ที่ช่วยลดงาน Manual ลดงาน Re-key คำสั่งซื้อ และลดความผิดพลาดในการโอนถ่ายข้อมูลจากต่างแพลตฟอร์ม สำคัญที่สุดคือการพัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี Automation ซึ่งผมมองว่าด้วยประเด็นแรงงานในปัจจุบัน ประเทศเราตอนนี้ได้เข้าสู่สังคมสูงวัย แรงงานคนก็อาจจะมีน้อยลง ถ้าอยากจะให้คนทํางานยาวขึ้น ก็จำเป็นต้องใช้ Automation เข้ามาช่วยทดแทน ซึ่งหมายความว่าจะช่วยให้แรงงานเหล่านี้สามารถทํางานอื่นๆ ที่มีค่ามากขึ้นได้ เพราะความยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะสิ่งแวดล้อม แต่ต้องรวมถึงคนที่ทํางานด้วย
เรียกว่านำระบบดิจิทัลต่างๆ ที่ทาง UOB แนะนำมาปรับใช้แบบเต็มตัว
ผมมองว่าถ้าไม่มีระบบดิจิทัล จะทำให้การขยายธุรกิจสะดุดได้ เป็นจุดสำคัญที่ทําให้ธุรกิจมีแก่นในการบริหารหรือมี Business operating system ที่ดีขึ้น เพื่อให้รู้ว่าควรขยายธุรกิจไปทางไหนได้บ้าง ทําให้เราเปลี่ยนแนวคิดในการบริหาร จากทํางานมาเป็นสร้างผลงานแทน โดยมอบหมายให้ทีมงานเปลี่ยนจากการทำทีละงาน มาดูว่างานไหนที่ต้องทําซ้ำไปซ้ำมา หรือมีงานไหนที่ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป เป็นช่วงที่ได้เห็นว่าอะไรที่เคยคิดว่าทําไม่ได้ มันสามารถทําได้ นอกจากนั้นยังได้เริ่มนำระบบ Automation มาลดขั้นตอน อย่างเช่น สายพานการผลิตที่ช่วยลดกระบวนการขนย้าย ระบบการตัดเย็บที่แม่นยํามากขึ้น และยังสามารถควบคุมเรื่องของเสียได้ดีขึ้นอีกด้วย
ช่วงที่ต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงานครั้งใหญ่ของห่านคู่ อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด
ต้องบอกว่าโควิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา อย่างการเจาะตลาดออนไลน์ ห่านคู่ได้เริ่มมาสักพักแล้ว ตั้งแต่ช่วงตลาดดอทคอมบูมแรกๆ ทั้งการจดโดเมนและทําเว็บไซต์ แต่ปัจจัยตอนนั้นไม่ครบ เช่น การชําระเงินยังต้องไปโอนที่ตู้ การขนส่งก็มีทางเลือกเดียวคือไปรษณีย์ไทย พอมาถึงช่วงโควิดก็เริ่มมี Lazada มี Shopee มี Line เข้ามา ประกอบกับปัจจัยที่คนเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้ บังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ จากเดิมอาจจะยังเดินช้าๆ ก็กลายเป็นต้องเร่งเครื่องแล้ว ต้องกลับไปดูใหม่ว่า อยากจะทําเยอะแต่ได้น้อย หรืออยากจะทําน้อยแต่ได้เยอะ เพื่อมาโฟกัสว่าอะไรที่จะไม่ทํา สรุปว่าห่านคู่เลือกที่จะทําน้อยแต่ได้ผลเยอะ แล้วตอบโจทย์ลูกค้าดีกว่า
การทำน้อยแต่ได้ผลเยอะที่ว่าเป็นอย่างไร
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาห่านคู่ได้ทยอยเปิดร้าน Double Goose ทั้งสามย่านมิตรทาวน์ สยามสแควร์วัน เดอะมอลล์ และเซ็นทรัล ถือเป็นประตูให้ได้เจอลูกค้า ให้ได้นำสินค้าใหม่ๆ ออกไปให้เขาได้ลองใช้ดู ทั้งกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ นอกจากนั้นยังมีการ Collab กับแบรนด์อื่นด้วย อย่างล่าสุดห่านคู่ก็เพิ่ง Collab กับคุณวู้ดดี้ ทําโปรดักต์ใหม่ภายใต้แบรนด์ Woody x Easy Goose ที่เป็นเสื้อ Loungewear ใส่อยู่บ้านก็ได้ ใส่นอนก็ได้ ใส่ออกกําลังกายก็ได้ ใส่ได้ทั้งวัน เป็นเสื้อ Multi purpose ที่ใช้วัตถุดิบเป็นไมโครไฟเบอร์ มีคุณสมบัตินุ่มและระบายอากาศได้ดี เพราะเป้าหมายที่แท้จริง คือการสร้างอะไรที่แปลกใหม่ออกสู่ตลาดบ้าง
พอเริ่มขยายกลุ่มเป้าหมายจากรุ่นไปสู่อีกรุ่น อะไรคือความยากที่สุดในการเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่
ความยากเป็นเรื่องการทําความเข้าใจลูกค้า เพราะว่าคนในแต่ละเจนแต่ละยุคมันต่างกัน มีความหลากหลายมากขึ้น วิถีการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไป แต่ผมก็ยังเชื่อในสิ่งที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเจนนี้จะดีกว่าอีกเจนหนึ่ง เพราะแต่ละเจนก็มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง มีความเชื่อไม่เหมือนกัน อย่างคนเจนก่อนบอกว่าอย่างนี้ฉันใส่สบายแล้ว แต่เจนถัดมาบอกว่าฉันไม่ได้ต้องการแค่ใส่สบาย แต่อยากจะใส่แล้วดูดีด้วย ส่วนเจนหลังๆ บอกว่าอยากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายในการเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ เป็นเหตุผลที่ทำให้ห่านคู่เริ่มขยายแบรนด์ ขยายคอลเลกชัน และขยายสินค้าที่สามารถตอบโจทย์แต่ละเจนได้ครบ
อะไรเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของห่านคู่ ที่ทำให้หันมาสนใจเรื่องความยั่งยืน
ผมคิดว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเจนใดเจนหนึ่ง เพราะสิ่งที่ทําวันนี้ผลลัพธ์จะส่งต่อไปยังอีกรุ่นหนึ่งด้วย แล้วช่วงโควิดก็เห็นแล้วว่า ถ้าไม่เริ่มเปลี่ยนแปลง เราเองจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไปด้วย ฉะนั้นจึงมีแนวคิดว่าต้องทำอะไรที่ช่วยสิ่งแวดล้อมได้ โดยที่โรงงานมีวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตหรือ Post production waste เวลาตัดเสื้อ ตัดแขน ตัดคอ จะเหลือชิ้นส่วนเป็นเศษผ้า บางอันก็วงใหญ่ บางอันก็เป็นวงเล็กๆ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ต้องทิ้ง ซึ่งการขายเศษวัตถุดิบเหล่านี้ออกไป เขาก็เอาไปใช้เช็ดทําความสะอาดเครื่องจักรบ้าง เอาไปเช็ดทําความสะอาดอุปกรณ์อื่นๆ บ้าง จึงคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะนำเอาเศษผ้าที่เหลือจากการผลิตเหล่านี้กลับมาใช้
ความเป็นไปได้ของโจทย์ความยั่งยืน ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้คืออะไร
ตอนนั้นห่านคู่มีการร่วมมือกับหลายฝ่ายในการศึกษา ทําให้เห็นภาพกว้างขึ้นว่า จริงๆ ทุกอย่างต้องคิดเป็น Ecosystem เพราะเราเป็นแค่หนึ่งในห่วงโซ่เล็กๆ ของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ถ้าจะมองไปให้ถึงต้นน้ำ ก็ต้องไปดูว่าเส้นใยที่ใช้ผลิตกรีนหรือเปล่า ออร์แกนิกไหม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้ห่านคู่ต้องกลับมาดูเรื่องใกล้ตัว เช่น มาร์คเกอร์ในการตัดผ้า จะปรับยังไงให้มีการสูญเสียน้อยลง แต่ได้วัตถุดิบกลับมามากขึ้น มีการร่วมมือกับผู้ผลิตอื่นๆ เพื่อนําเส้นใยกลับไปรีไซเคิลให้เป็นผ้าผืน จนออกมาเป็นคอลเลกชัน Misfit ที่นำเศษผ้าที่ยังเป็นชิ้นอยู่ กลับมาทําเป็นคอลเลกชันเสื้อมาขายใหม่ได้ เรียกว่าเป็นคอนเซปต์ที่ดีมากในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ข้อด้อยคือคุณภาพของผ้าที่สาก สวมใส่ไม่สบาย ซึ่งก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว นอกจากเรื่องของวัตถุดิบ บริษัทยังมองไปถึงเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน ตอนนี้โรงงานที่สมุทรสาครติด Solar energy system ขนาด 500 กิโลวัตต์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าไปครึ่งหนึ่ง รวมถึงยังมีการคุยกับ Supplier ว่ามีสีประเภทไหนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
อะไรคือความยากในการทำให้ Supplier ร่วมพัฒนาไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
การพัฒนาสินค้าใหม่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา เราจึงใส่ใจเรื่องของแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ข้อได้เปรียบที่มีอยู่คือเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกย้อมของไทยในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาถือว่าผ่านมาตรฐานยุโรปมาแล้ว แต่ความยากคือการร่วมกันพัฒนาวัตถุดิบร่วมกับ Supplier ให้ได้ในราคาที่เหมาะสม หมายถึงต้องผลิตในจำนวนที่มากขึ้น เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง เป็นเรื่องของ Economy of scale ที่ต้องพยายามทำให้สำเร็จ
วิสัยทัศน์สำคัญของแบรนด์ห่านคู่ ที่ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงคืออะไร
สิ่งที่ทำให้ตัวตนของแบรนด์ชัดขึ้น คือในช่วงปี 2022 ห่านคู่ได้ทําแคมเปญ ‘เสื้อยืดธรรมดาที่ทำมาดี’ ซึ่งทำให้ค้นพบว่าความสบายเป็นแก่นของห่านคู่ สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในมุมที่ว่า นอกจากสบายกายแล้วก็ยังสบายใจด้วย เป็นการส่งต่อความสบายจากรุ่นสู่รุ่น สร้างภาพจําให้กับคนรุ่นก่อนมาจนถึงปัจจุบัน
มองว่าการเติบโตของห่านคู่จะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งในเรื่องของดิจิทัลและความยั่งยืน
ห่านคู่ยังคงมุ่งมั่นที่ในการทําโปรดักต์เสื้อผ้าต่อไป โดยเน้นเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก สามารถนําเสนอความสบายในหลากหลายมิติได้กับคนทุกยุค ฉะนั้นจึงไม่จํากัดว่าต้องทำเฉพาะเสื้อ แต่ยังสามารถออกโปรดักต์เสื้อผ้าท่อนบนและท่อนล่างอื่นๆ ได้ด้วย โดยมีหัวใจเบื้องหลังคือต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำ Business operating system ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งทรัพยากรคน วัตถุดิบ และลดของเหลือจากการผลิตให้ได้มากที่สุด ส่วนด้านความยั่งยืน เราอยากทำให้สินค้าของห่านคู่กรีนขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต รวมไปถึงการใช้พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้มาทําเป็นแพคเกจจิ้ง เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ห่านคู่ได้เริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว