การ recycle คือการนำเอาวัตถุสิ่งของมาผ่านกระบวนการแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง และกระบวนการ upcycling คือการนำผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าที่ผ่านการ recycle มาใส่ดีไซน์ให้มีความสวยงาม
สามารถสร้างให้เกิดมูลค่าสูงขึ้นให้กับชิ้นงาน หรือผลิตภัณฑ์ โดยทั้ง 2 เรื่องนี้ ถือเป็นเสียงสะท้อนจากการดำเนินการที่มีต้นกำเนิดมาจากการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนที่เห็นและตระหนักในความสำคัญ หากแต่ในการใช้งานจริงแล้ว เกิดเป็นข้อสงสัยว่า การนำกลับมาใช้นั้นตอบโจทย์ฟังก์ชันได้จริงแท้ขนาดไหน หรือเป็นเพียงการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมไปตามกระแสเท่านั้น
ในขณะเดียวกันแบรนด์สินค้าที่นำวัสดุเหลือใช้กลับมาดีไซน์ใหม่กลับสร้างยอดขายได้เป็นเทน้ำเทท่า แถมบางทีราคาก็สูงเกินกว่าสินค้าที่ทำมาจากวัสดุปกติเสียอีก เรียกว่าเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทองตามมูลค่าของเงินได้จริงๆ เกิดเป็นคำถามเช่นกันว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ผู้คนต่างสนใจสินค้าเหล่านี้ เป็นเพราะจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเป็นเพราะดีไซน์ที่สวยถูกใจกันแน่
The MATTER ได้พูดคุยกับ จารุพัชร อาชวะสมิต ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Ausara Surface และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เชี่ยวชาญในการนำวัสดุเหลือใช้อย่างเส้นใยโลหะมาทักทอทดแทนเส้นใยผ้า และเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ชาวไทยที่มีผลงานจัดแสดงในนิทรรศการ ‘Pure Gold – Upcycled! Upgraded! เปลี่ยนขยะเป็นทอง’ ที่ TCDC ถึงประเด็นเรื่องการออกแบบวัสดุเหลือใช้อย่างไรให้กลายเป็นทองที่ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชันและดีไซน์
อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจการทอผ้า
เริ่มต้นจากคุณแม่เป็นนักวิชาการโรคพืชที่ต้องส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูกิ่งไม้ใบไม้ว่ามีโรคอะไรบ้าง ตอนกลับจากโรงเรียนคุณแม่ก็รับมาห้องแล็บที่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อรอให้ทำงานให้เสร็จ ด้วยความเป็นเด็กการรอนานๆ ทำให้เบื่อมาก ไม่มีอะไรทำ พอดีไปเห็นทั้งแล็บมีแต่กล้องจุลทรรศน์เรียงกันสิบกว่าตัว เราก็หยิบผ้าเช็ดหน้าฮัลโหลคิตตี้ขึ้นมาส่องดู พอมองเข้าไปที่กล้องเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งเลย ผ้าเช็ดหน้าที่เราใช้พอมันขยาย 500 เท่า จะเห็นเกลียวของทุกๆ เส้นด้ายที่ชัดเจนมาก เห็นถึงโครงสร้างลายทอของผ้า เห็นถึงเส้นใยฝ้าย เห็นว่าสีที่เป็นลายฮัลโหลคิตตี้ที่พิมพ์ลงไป มันเกาะอยู่แค่ผิวของวัสดุไม่ได้ซึมลงไป ความมหัศจรรย์ของวัสดุมันน่าตื่นเต้นมาก เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราสนใจโครงสร้างลายทอ
หลังจากที่เริ่มสนใจโครงสร้างของลายทอแล้ว มีการต่อยอดจากความสนใจตรงนั้นอย่างไร
นอกจากคุณแม่แล้วก็มีคุณยายที่ทำงานให้กับซิงเกอร์ตั้งแต่ยุคแรกเลย ตั้งแต่เด็กเลยเห็นคุณยายเย็บผ้า ด้วยความที่ซนเราก็ชอบไปเล่นจนทำเข็มของคุณยายหัก ยายก็บอกให้มาเรียนเย็บผ้าจะได้ไม่ทำเข็มหักอีก ตอนนั้นขายังไม่ถึงที่วางเท้าของจักรเย็บผ้าเลย คุณยายก็สอนถักโครเชต์ ถักนิตติ้ง แต่สิ่งหนึ่งที่คุณยายไม่ได้สอนคือการทอผ้า เพราะที่บ้านไม่มีกี่ทอผ้า ตอนเข้ามหา’ลัยก็เลือกคณะที่มีสอนทอผ้า คือคณะสถาปัตย์ที่ลาดกระบัง สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม สาขาย่อยการออกแบบสิ่งทอ ได้ไปเรียนเบื้องต้นนิดหน่อย พอได้ทุนไปเรียนต่อที่อเมริกาและอังกฤษก็เลยเลือกที่จะเรียนเกี่ยวกับการทอผ้าโดยเฉพาะ พยายามศึกษาหาข้อมูล หาหนังสืออ่าน จนได้เจอครูท่านหนึ่งชื่อว่า Sherri Smith แกเป็นศิลปินตั้งแต่ยุค 70 แล้ว ช่วงที่เราเรียนเป็นช่วงปลายยุค 90 เห็นครูคนนี้สอนอยู่ที่ University of Michigan ตั้งใจว่าต้องเรียนไปกับแกให้ได้ เพราะงานของแกอลังการมาก เป็นสิ่งทอสูงใหญ่ มีโครงสร้างที่ซับซ้อน พอสมัครไปก็ได้เรียนปริญญาโทเป็นนักเรียนคนเดียวของครูคนนี้ ที่เรียนมีสถานที่ค่อนข้างดี มีกี่ทอผ้าที่ใหญ่มาก มี 30 กว่าตะกอ อย่างที่ไทยมีอยู่แค่ 8 ตะกอ ทำให้ออกแบบลายได้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ได้เก็บเกี่ยวอะไรมาจากการเรียนกับครูท่านนี้บ้าง
มีประโยคความลับหนึ่งที่ครูพูดขึ้นมา แล้วทำให้เราเข้าใจสิ่งทอในลักษณะของวัสดุ เขาบอกว่า รู้ไหมว่าเส้นด้ายมีความลับอย่างหนึ่ง คือมันจะไม่ชอบถูกบังคับ ถ้าล็อกโครงสร้างไว้มันก็จะยอมเป็นเส้นตรง แต่ตรงไหนที่ไม่ได้ล็อกไว้ คือไม่มีเส้นยืนมาบังคับเส้นพุ่ง มันก็จะไปตามธรรมชาติของมัน ประโยคนั้นทำให้เราเข้าใจวัสดุ คือจะมีธรรมชาติที่มันชอบและไม่ชอบ ตรงไหนเราบังคับได้ ตรงไหนบังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เวลาสอนนักศึกษา จะบอกว่าไม่ว่าจะใช้วัสดุอะไรในการทำงาน เราต้องเข้าใจมันจริงๆ ต้องลองจับ ลองเผา เอาไปผสมกับวัสดุอื่น พ่นสี แช่น้ำ ตากแดด เอารถมาทับ คือต้องทำทุกอย่างกับมัน แล้วดูว่ามันเอาไปทำอะไรได้บ้าง จึงจะเจอความลับที่ซ่อนอยู่ในวัสดุ
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นนำวัสดุแปลกๆ อย่างโลหะมาทอเป็นผ้า
ปกติเราทอผ้าทอไหมและเส้นใยธรรมชาติมานานแล้ว แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เริ่มคิดถึงวัสดุอื่นๆ คือทุกๆ ปีจะไปปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่ แล้วทุกๆ เย็นหลวงลุงจะเทศน์ให้ฟังเรื่องการเสื่อมและการเกิดดับ เราอาจคิดว่าบางสิ่งบางอย่างมันไม่เกิดดับ แม้กระทั่งสิ่งที่เราคิดว่าอยู่ยงคงกระพัน อย่างเช่น กระจกที่อยู่ได้เป็นร้อยๆ ปี แต่จริงๆ ในโมเลกุลของมันก็มีการเสื่อมอยู่แต่เราไม่เห็น ประโยคนั้นทำให้เราคิดว่า ทำไมเราไม่ศึกษาวัสดุตัวอื่นๆ บ้าง ถ้าทุกอย่างมันคือธาตุ คือพันธะโมเลกุลเหมือนกัน ทำไมเราไม่นำสิ่งอื่นๆ มาทอเป็นผ้าดูบ้าง จากจุดนั้นทำให้เริ่มมองวัสดุที่ไม่มีใครคิดมาก่อน จะเป็นตระกูลพวกเหล็ก ก็เริ่มต้นจากทองแดง เพราะมันใกล้ตัวและหาง่าย มีความนิ่ม สามารถเอามาเรียงเป็นเส้นได้ง่าย ต่อมายากขึ้นคือสแตนเลส ซึ่งการนำโลหะมาทอเป็นผ้าก็ใช้กี่ทอผ้าธรรมดาไม่ได้แล้ว เพราะจะมีความแข็งแรงที่ไม่เท่ากัน ต้องทำงานกับวิศวกรปรับตัวกี่ทอผ้าให้สามารถรองรับเส้นใยโลหะได้
มีการพัฒนาต่อยอดไปถึงขั้นไหน ถึงได้เกิดเป็นแบรนด์ Ausara Surface ขึ้นมา
พอทำชิ้นงานสำเร็จชุดแรก เราก็ได้คุยกับบิสซิเนส พาร์ทเนอร์ คุณโชษณ ธาตวากร ว่าเรามาตั้งบริษัทกันเถอะ คือแบรนด์ Ausara Surface เราพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า vertical textile คือปกติสิ่งทอจะเป็นลักษณะแนวนอน ทั้งผ้าปูที่นอน เบาะ แต่เราอยากทำในแนวตั้งที่มีความแข็งแรงพอที่เราจะแขวนได้อย่างวอลเปเปอร์ ใช้เวลา 1 ปีในการทำ R&D เพื่อที่จะผลิตวัสดุที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนและมีความหรูหรา พอสำเร็จออกมา interior designer ก็ตอบรับอย่างดีมาก จนได้ทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ อย่างคอนโดโครงการ Ashton สีลม ที่ใช้วัสดุของเราหลายร้อยตารางเมตร โชคดีที่พอเริ่มต้นแล้วมีคนตอบรับนำวัสดุของเราไปใช้ทันที จากโลหะก็มาทำวัสดุที่แปลกออกไปอีก เพราะเรามีความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่งแล้ว เราก็ไปจับวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทาน เช่น คาร์บอนไฟเบอร์ เคฟล่า บะซอลต์ จุดเด่นของงานเราคือจะไม่ย้อมสีวัสดุเลย เราแสดงให้เห็นถึงสัจธรรมของวัสดุเลยว่า วัสดุนี้มีสีแบบนี้ ซึ่งอธิบายยากว่าเป็นสีอะไร เพราะมันเป็นสีของวัสดุ และโชคดีที่ปัจจุบันนี้อยู่ในยุคของนาโนเทคโนโลยี ทำให้สามารถเคลือบผิวให้ไม่เป็นสนิมได้ ซึ่งก็ดีต่อสิ่งแวดล้อมและเรื่องของการรีไซเคิล เนื่องจากมันมีค่าเลยไม่มีคนทิ้ง สามารถนำหลอมใหม่ได้หมด
คิดว่าผู้ใช้มองเห็นคุณค่าอะไรในสินค้าเหล่านี้จึงเลือกใช้ เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมรึเปล่า
เราว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ยัดเยียดไม่ได้ ถึงจะรักสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ถ้าของไม่สวยไม่ดี ก็ไม่น่าจะดึงความสนใจได้ ความดีงามทั้งหลายต้องมีความดีงามในเชิงวัสดุและการออกแบบด้วย ผลงานการออกแบบของเรามีปรัชญาคือคำว่า Profound Grace เป็นความสง่างามที่ลึกซึ้ง เหมือนเราพาให้คนที่เห็นไปโลกอีกโลกหนึ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน เหมือนที่เราเห็นผ้าเช็ดหน้าฮัลโหลคิตตี้ตอนนั้น เป็นความไม่คาดคิดว่าวัสดุเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้ได้
อยากให้เล่าถึงชิ้นงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ Pure Gold ทำไมถึงเลือกชิ้นนี้มา
ต้องย้อนไปเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นิทรรศการ Pure Gold จัดขึ้นครั้งแรกที่ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน โชคดีที่ตอนนั้นไปสอนหนังสือที่นั่นพอดี เราก็ไปชมในฐานะคนเข้าชมปกติ ทำให้เห็นว่าทั่วโลกมีการ recycle และ upcycling ที่แตกต่างกัน เพราะวัสดุในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน วิถีชีวิตก็ไม่เหมือนกัน สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองก็ไม่เหมือนกัน พอกลับมาทำงานก็มีข่าวจากเกอเธ่ว่านิทรรศการนี้จะมาประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 เขาก็เชิญเรานำผลงานมาจัดแสดงด้วย ก็คิดถึงผลงานชิ้นนี้ที่มีชื่อว่า Horse Hair เนื่องจากเราเป็นคนชอบไปดูงานต่างๆ ชอบไป วงษ์พาณิชย์ เป็นที่ที่วงการอุตสาหกรรมเขาจะเอาขยะมาขาย แล้วคนทั่วไปก็สามารถไปซื้อได้ เราก็ไปช้อปปิ้งแล้วพบว่ามีเข็มขัดนิรภัยที่ไม่ผ่านมาตรฐานเรื่องสีหรือมาตรฐานยานยนต์ แต่ในการนำมาทำวัสดุผ่านหมด เพราะมีคุณภาพสูงมาก แล้วเราทอผ้าอยู่แล้ว เรารู้ว่าโครงสร้างของเข็มขัดนิรภัยเป็นอย่างไร มีบอดี้ที่แน่นและมีขนที่ฟูออกมา พอเอามาใช้ทำให้เห็นว่ามันมีมูลค่าสูงพอกับผ้าที่ทอจากหางม้าเลย จึงตั้งชื่อคอลเลคชันนี้ว่า Horse Hair และตั้งชื่อรุ่นต่างๆ ให้เป็นพันธุ์ม้าแข่งชื่อดัง เราก็นำเสนอกับทาง curator แล้วเขาก็ชอบมาก จริงๆ เราทำคอลเลกชั่นนี้มาตั้งแต่ปี 2017 มีคอนโดและโรงแรมสั่งไปใช้จริงเพื่อเอาไปทำเป็นวอลเปเปอร์บุผนังแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ของที่ทำมาเพื่อโชว์ แต่มันใช้ได้จริงๆ
เท่าที่สัมผัสผลงาน recycle มามากมาย มองว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างดีไซเนอร์ไทยกับต่างชาติ
ดีไซเนอร์ไทยมีข้อดีคือเก่งในเรื่องงานหัตถกรรม งานคราฟต์ เรามีมือที่เล็กละเอียด สามารถสร้างความประณีตขึ้นมาได้ สังเกตว่างานของไทยส่วนหนึ่งจะเป็นลักษณะยูนิตเล็กๆ มาเรียงกัน มันเป็นรากเหง้าที่มาจากวัฒนธรรมของเราในเรื่องของหัตถกรรม อย่างเรื่องการทอผ้าและปักผ้า แม้กระทั่งเรื่องของอาหาร การแกะสลัก การเรียงกระเบื้อง ภาพเขียนฝาผนัง ทุกอย่างมีความละเอียดและละเมียดละไม เพราะฉะนั้นมันจึงสะท้อนมายังผลงานของเราในการหยิบวัสดุเหลือใช้มาดีไซน์ใหม่
วัฒนธรรมการใช้ซ้ำเกิดขึ้นมานานแล้ว หรือเป็นผลมาจากวิกฤตขยะที่เกิดขึ้น
เราอยู่ในเจนของคนที่ไม่ชอบทิ้งของ ตั้งแต่ตอนที่เราเด็กๆ หน้าบ้านจะมีรถซาเล้งมารับซื้อกระดาษ ขวดน้ำ เศษเหล็กเก่าๆ มันอยู่ในรากเหง้าของเรา เพราะฉะนั้นเราจะชินอยู่กับสิ่งเหล่านี้ มันคือการรีไซเคิลที่ไม่ได้เป็นการบังคับใคร ซาเล้งเต็มใจมารับซื้อของเก่า คนตามบ้านก็เต็มใจที่จะเอาของไปขาย ไม่ใช่การรณรงค์ว่ามารีไซเคิลกันเถอะ แยกขยะกันเถอะ เพราะทุกคนได้ผลประโยชน์ วินวินกันทั้งคู่ เราจึงไม่คิดว่ามีอะไรที่ควรจะทิ้งเลย โตขึ้นมาอีกหน่อยคนไทยจะจำได้คือ ศาลา โฟร์โมสต์ แม่ต้องพาไปกินบานานาสปลิท ที่เก๋คือถ้วยหนาๆ สีส้ม ที่รูปทรงคล้ายกล้วย เป็นพลาสติกอย่างดี เด็กทุกคนกินเสร็จแล้วก็จะเอากลับบ้านไปล้างแล้วเอาไอติมของเรามาใส่ นี่คือวัฒนธรรมในการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยที่ไม่ต้องบังคับเลย แล้ววันหนึ่งก็มีร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดมาเปิดใกล้บ้าน มีช้อนส้อมพลาสติกบางๆ แบบใช้แล้วทิ้ง เป็นความคัลเจอร์ช็อค อย่างมาก เพราะอเมริกามีวัฒนธรรมที่ใช้ทุกอย่างแล้วทิ้ง ใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีวันหมด นั่นคือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมความฟุ่มเฟือย หรืออย่างเมื่อก่อนกินขนมครก ยังใช้กระดาษเก่าหรือสมุดหน้าเหลืองมารองด้วยใบตอง นั่นคือวัฒนธรรมของหาบเร่แผงลอย แล้ววันหนึ่งกล่องโฟมเข้ามา กระดาษแบบเดิมก็ดูแย่ ดูไม่ทันสมัย แม่ค้าก็หันมาใช้กล่องโฟม เพราะของกินดูน่าอร่อย ดูแพงขึ้น ทุกคนก็เปลี่ยนหมด แล้วคนไทยและทั้งโลกก็อยู่ในสภาวะที่ไม่รู้ จนสิบปีที่แล้ว ขยะก็ล้นโลก พอทนไม่ไหวทุกคนก็หันมารักษ์โลกกัน เกิดคำว่า recycle upcycling reuse ต่างๆ นานา มนุษยชาติมีสิทธิ์ที่จะเข้าใจผิดและก้าวผิดได้ เมื่อเห็นว่าสิ่งเดิมไม่ใช่ก็ถอยกลับมา
ถ้าเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นศิลปินหรือดีไซเนอร์ จะมองขยะให้เป็นทองได้อย่างไร
สิ่งเหล่านี้มันต้องเกิดจากข้างใน ไม่ว่าเราจะพยายามพูดจากข้างนอกมากแค่ไหน มันก็ไม่ซื้อใจเท่ากับสิ่งที่ผุดออกมาจากข้างในที่เป็นความเชื่อของเขาจริงๆ ซึ่งเราก็ต้องแสดงให้เห็นว่ามันเป็นปรัชญาและเป็นแกนในชีวิต เส้นผมที่ร่วงลงไปมีค่า ผิวหนังที่หลุดร่อนลงไปมีค่า กระดาษที่เขียนแล้วมีค่า กล่องโฟมถุงพลาสติกมีค่า ทุกสิ่งมีค่า อย่างปัญหาสิ่งแวดล้อมตอนนี้ที่เป็นปัญหามากๆ คือขยะในทะเล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากขยะบนพื้นดินจากคนที่ทิ้งอย่างไม่คิด พัดลงทะเล ขยะที่อยู่บนพื้นดินจะมีการกระจายตัวไม่มากเท่าขยะที่อยู่ในทะเล เพราะทะเลมีคลื่นน้ำทำให้ขยะไปได้ทั่ว ซึ่งมันทำร้ายสัตว์ทะเลอย่างมาก เราเห็นเต่าที่ถูกพลาสติกหุ้มกระป๋องรัดตัวมันอยู่ ทาง PTTGC จึงเชิญไปพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้ ว่าจะนำขยะในทะเลมาสร้างให้มีมูลค่าได้ยังไง คือในการทำไม่ใช่ช่วยแค่สิ่งแวดล้อม แต่มันมีอิทธิพลกับจิตใจของคนด้วย เมื่อคนเห็นว่าขวดพลาสติกขยะที่อยู่ตามชายหาดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ได้สวยเก๋ แล้วทำไมไม่อยากเก็บมาล่ะ เราอยากให้กระแทกใจคนตรงนี้ จึงทำการทดลองนำขยะพวกนี้มาล้างทำความสะอาด บดแล้วทำให้เป็นแผ่นใหม่ มีการทำงานร่วมกับหน่วยวิจัยและพัฒนาของ PTTGC ทดลองในหลายรูปแบบ ก่อนจะออกแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์ เป็นกระเป๋า สินค้าแฟชั่น สิ่งทอได้หมดเลย เป็นโปรเจกต์นี้กำลังจะเปิดตัวปลายปีนี้
แท้จริงแล้ว การ recycle และ upcycling เป็นหน้าที่ของใคร
จริงๆ มันเป็นหน้าที่ของทุกคน สมมติว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับด้านดีไซน์ อาจมองภาพไม่ออกว่า ขยะเน่าๆ จะกลายมาเป็นกระเป๋าสวยๆ ได้ยังไง เพราะฉะนั้นดีไซเนอร์ต้องช่วยคือทำหน้าที่ตีความออกแบบ ทำงานร่วมกับทีมวิจัยและพัฒนา เพื่อแปลงขยะให้เป็นวัสดุ recycle และนำมาเป็นวัตถุดิบในการออกแบบผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นก็ต้องทำงานร่วมกับการตลาด ทุกคนต้องช่วยกัน แล้วผู้บริโภคก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุด
เรื่องราวที่มาพร้อมกับวัสดุ ทำให้คนรู้สึกตระหนักถึงปัญหาขยะและอยากจะใช้สิ่งของที่ผ่านการ upcycling มากขึ้นไหม
ในฐานะที่เป็นนักออกแบบ first impression สำคัญที่สุด เพราะถึงเรื่องราวจะดีแค่ไหน แต่ดีไซน์ไม่สวย ใช้แล้วไม่ดี ไม่เข้ากับบุคลิก คนก็ไม่ใช้ เขาต้องชอบที่ตัวมันก่อน การที่เรานำขยะมาใช้ใหม่ เราอย่าไปหวังว่าคุณต้องรักษ์โลกสิ ต้องเป็นคนดี ต้องใช้สิ มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นของต้องสวยน่าใช้ก่อน แล้วถึงค่อยขายด้วยเรื่องราว เราไม่ได้ทำการกุศล ต้องทำให้เขาซื้อเพราะเขาอยากได้จริงๆ จะดีที่สุดถ้าดีไซน์ออกมาแล้วไม่เหมือนขยะเลย และจะดีใจที่สุดถ้าเขาไม่รู้ คือแปลงร่างมันไปเลย รู้ทีหลังมันปังกว่า แบรนด์ของเราจึงไม่เคยโฆษณาว่าใช้ของรีไซเคิล เพราะมันต้องนำกลับมาใช้ใหม่อยู่แล้ว เราจะไม่บังคับให้เขาใช้เพียงเพราะการรักษ์โลก แต่อยากให้เขาใช้จริงๆ
สมมติถ้ามีแร่ไวเบรเนี่ยมอย่างในหนัง อยากจะนำไปทำอะไร
ตอนนี้สนใจโลกอนาคตมากว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังก้าวกระโดด เป็นยุคที่มนุษย์สามารถทำจินตนาการให้เป็นจริงได้ สังเกตว่าคนที่สร้างภาพยนตร์จะมีวิสัยทัศน์มองเห็นอนาคตได้ เหมือนกับไวเบรเนี่ยมในหนัง เป็นแร่โลหะที่เลือกได้เองว่าจะไปผสมกับอะไร เป็นโลหะที่มีชีวิตจิตใจ อนาคตเราเลยอยากสร้างวัสดุที่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง เป็นโลหะที่สามารถผสมเข้ากับพืชได้ เปลี่ยนพืชให้กลายเป็นพืชพิเศษ จะกลายพันธุ์ไปอย่างไรก็ได้ พืชนี้อาจกลายเป็นยาก็ได้ หรือจะปลูกเป็นบ้านก็ได้ คือสร้างพื้นที่ไว้แล้วก็ขึ้นมาเป็นผนังบ้านเองเลย มีคุณสมบัติแข็งแรงและโตโดยเซลล์ของมันเอง เพราะการโตโดยธรรมชาติก็เป็นการประหยัดพลังงาน ทำให้ลดกระบวนการผลิตได้
ถ้าขยะเป็นทอง แล้วอะไรที่เป็นขยะจริงๆ
ไม่มีอะไรที่เป็นขยะ แม้แต่นาฬิกาที่ตายยังบอกเวลาถูกสองครั้งในหนึ่งวันเลย เพราะทุกอย่างคือธาตุที่กลับไปยังโลก แล้วจากโลกก็กลับขึ้นมาใหม่ ทุกอย่างนำกลับมาใช้ใหม่ได้หมด นับตั้งแต่วันนี้ ถ้าเราไม่เริ่มสร้างวัฒนธรรมการนำกลับมาใช้ใหม่
ในอนาคตดีไซเนอร์ทุกคนจะเป็นนักออกแบบขยะ เป็น garbage designer เพราะไม่มีวัสดุใหม่หรือ virgin material ให้ใช้อีกแล้ว
“ขยะจะกลายเป็นทองได้อย่างไร” คุยกับ จารุพัชร อาชวะสมิต
การ recycle คือการนำเอาวัตถุสิ่งของมาผ่านกระบวนการแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง และ กระบวนการ upcycling คือการนำผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าที่ผ่านการ recycle มาใส่ดีไซน์ให้มีความสวยงาม ทำให้สามารถสร้างให้เกิดมูลค่าสูงขึ้น แต่เกิดเป็นข้อสงสัยว่า การนำกลับมาใช้นั้นตอบโจทย์ฟังก์ชันได้ขนาดไหน หรือเป็นเพียงการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมไปตามกระแสเท่านั้น .ในขณะเดียวกันแบรนด์สินค้าที่นำวัสดุเหลือใช้กลับมาดีไซน์ใหม่กลับสร้างยอดขายได้เป็นเทน้ำเทท่า เกิดเป็นคำถามเช่นกันว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ผู้คนต่างสนใจสินค้าเหล่านี้ เป็นเพราะจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเป็นเพราะดีไซน์ที่สวยถูกใจกันแน่ .The MATTER ได้พูดคุยกับ จารุพัชร อาชวะสมิต ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Ausara Surface และเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ชาวไทยที่มีผลงานจัดแสดงในนิทรรศการ ‘Pure Gold – Upcycled! Upgraded! เปลี่ยนขยะเป็นทอง’ ที่ TCDC ถึงประเด็นเรื่องการออกแบบวัสดุเหลือใช้อย่างไรให้กลายเป็นทองที่ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชันและดีไซน์.อ่านต่อได้ที่ : https://thematter.co/sponsor/upcycling-ptt/52771.#TheMATTERxPTTGC #PureGold #upcycling #UpcyclingPlasticWaste #PTTGCUpcycling #ChemistryForBetterLiving #Advertorial
Posted by The MATTER on Tuesday, June 26, 2018
Content by Wichapol Polpitakchai
Illustration by Waragorn Keeranan