‘พลาสติก’ ออกแบบมาให้ใช้ซ้ำได้ยาวนาน แต่มีหลายผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพียงไม่กี่ครั้งก็ทิ้งให้กลายเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย แต่จริงๆ แล้ว คุณสมบัติของพลาสติกมีอายุการใช้งานที่มากกว่านั้น และยังทนทาน ชนิดที่วัสดุชนิดอื่นๆ ไม่สามารถทดแทนได้
โครงการ Upcycling Upstyling โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC นำพลาสติกที่ถูกทิ้งแล้ว กลับเข้าสู่ระบบเพื่อออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามและใช้งานได้จริง ล่าสุดได้ดำเนินมาถึงปีที่ 2 แล้ว โดยมาภายใต้แนวคิด Home and Living ความพิเศษคือการที่ GC ได้จับคู่แบรนด์เจ้าของวัสดุ บริษัทแปรรูปพลาสติก และดีไซเนอร์มาเจอกัน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานของตกแต่งบ้านดีไซน์เก๋ ที่ใช้งานจริงได้
ชวนไปสำรวจเบื้องหลังงานออกแบบทั้ง 7 ชิ้นต่อไปนี้ ที่เปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วให้มีค่าอีกครั้ง
Field Bed & Stool Chair
Ichitan x Feltech x Stu/D/O
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาผู้ป่วย และแน่นอนว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างเตียงสนาม ก็มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นตามมา ทำให้ อิชิตัน กรุ๊ป มองเห็นถึงโอกาสในการนำขวดเครื่องดื่มพลาสติกประเภท PET ที่มีจำนวนมากมาเข้าสู่กระบวนการ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการ Upcycling Upstyling โดย GC ในการ Upcycle ให้เกิดเป็นเก้าอี้และเตียงสนาม
โดยกระบวนการ Upcycling เป็นหน้าที่ของ Feltech ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า Nonwoven ที่นำขวดพลาสติกใช้แล้ว มาผ่านกระบวนการ คัดแยก บด ฉีดเส้นใย และอัดแผ่นด้วยเทคนิค จนออกมาเป็น เฟลท์ (Felt) วัสดุแผ่นผ้าที่มีลักษณะพิเศษ นิ่มแต่แข็งแรงทนทาน ก่อนที่ดีไซเนอร์จาก Stu/D/O จะนำไปออกแบบเป็นเก้าอี้และเตียงสนาม ได้แรงบันดาลใจมาจากการพับกระดาษโอริกามิแบบญี่ปุ่น ที่ทั้งแข็งแรงและสวยงามแปลกตา จนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผลงานที่มาจากขวดพลาสติกเลยทีเดียว
“อิชิตัน เราเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ดังนั้นเราจึงมีขยะที่เป็นขวดพลาสติก PET จำนวนมาก ซึ่งพลาสติกจริงๆ ไม่ใช่ผู้ร้าย จะเห็นว่าในช่วงสถานการณ์โควิดเอง พลาสติกก็ช่วยทำให้เราไม่ต้องไปสัมผัสกับเชื้อไวรัส มันอยู่ที่การใช้งานและการจัดการมากกว่า อยากฝากให้ทุกคนช่วยกันนำพลาสติกเหล่านี้กลับมาใช้ เพื่อให้เกิด Ecosystem ใหม่ๆ ทำให้เกิดการรีไซเคิลหรือ Upcycling มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วปลายทางสุดท้าย จะทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น”
– พฤทธิพงศ์ ลิมาภรณ์วณิชย์ จาก บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
SHARE to CHAIR
P.S.D x Thainam x Arrow
จากโจทย์เริ่มต้นของแบรนด์ Arrow แบรนด์เสื้อผ้าที่มีพลาสติกใช้แล้วที่เป็นห่อบรรจุภัณฑ์จำนวนมากถึง 40 ตันต่อปี ซึ่งปกติต้องทำลายไปอย่างไร้ประโยชน์ คงจะดีไม่น้อยหากจะนำพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง จึงเกิดเป็นคอนเซปต์ Innowaste Style Revival ที่นำพลาสติกที่ใช้ห่อบรรจุภัณฑ์มาหลอมใหม่ ให้กลายเป็นเส้นใยพลาสติก โดยบริษัท Thainam ก่อนจะนำมาขึ้นรูปเป็นแกนของเก้าอี้
ความพิเศษคือดีไซเนอร์จาก P.S.D. ได้ออกแบบให้โครงใช้ร่วมกับแถบผ้าที่ผลิตจากเส้นใยรีไซเคิล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน จนออกมาเป็นเก้าอี้ดีไซน์สุดเก๋ ที่สามารถปรับเปลี่ยนการพันผ้าให้เป็นลวดลายใหม่ได้ถึง 7 แบบ มีความแข็งแรง ใช้งานได้จริง นอกจากนั้นยังสามารถนำโครงมาดีไซน์ให้เป็นชั้นวางของได้อีกฟังก์ชัน ซึ่ง Arrow เองก็มีแผนในการนำเก้าอี้และชั้นวางของที่ทำจากพลาสติก Upcycling เหล่านี้ไปวางใช้งานจริงที่ช้อปของแบรนด์ในห้างสรรพสินค้าอีกด้วย
“ถุงพลาสติกจากแพ็คเกจจิ้งที่ไม่ได้ใช้แล้ว เหลือจากโรงงานของเราค่อนข้างมาก แทนที่จะส่งไปกำจัด แม้จะเป็นไปตามกรรมวิธีที่ถูกต้อง แต่เรามองว่าพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้ น่าจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น จึงเกิดไอเดียในการแปรรูปและขึ้นรูปใหม่ ให้เป็น เก้าอี้เฟอร์นิเจอร์โชว์ หรือตกแต่งร้านได้ และยังสามารถที่จะใช้ตรงนี้ต่อยอดในการทำ Collection เสื้อผ้าได้อีกด้วย เพราะว่า Arrow เราเป็นแบรนด์เสื้อผ้า ที่อยากจะชักชวนให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน และได้ทำอะไรดีๆ ร่วมกัน”
– วิริทธิ์พล ชัยถาวรเสถียร จาก บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน)
WonLoop Furniture Set
JIRD x TPBI & 4F Agro x WON
ถ้าเอ่ยถึง ‘โครงการวน’ หลายคนน่าจะรู้จักกันดี เพราะเป็นหนึ่งในโครงการที่รวบรวมถุงพลาสติกใช้แล้ว มีคุณสมบัติยืดได้ มารีไซเคิลใหม่ ซึ่งบริษัท TPBI ได้ริเริ่มและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนได้มาร่วมมือกับ GC ผู้ริเริ่มโครงการ Upcycling Upstyling ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติกใช้แล้ว และสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในวงกว้าง จึงได้ชวน บริษัท โฟร์เอฟ อะโกร และ บริษัท โทเทิลเอเลเมนท์ ร่วมกับดีไซเนอร์อย่าง Jird Design Gallery เพื่อนำถุงพลาสติกสะอาดยืดได้ มารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก และนำไปออกแบบต่อยอดผลิตภัณฑ์กลุ่มเฟอร์นิเจอร์
WonLoop Furniture Set คือการนำพลาสติกเศษถุง HDPE และเศษถุงลามิเนตอะลูมิเนียมฟอยด์ มาผสมผงไม้และสารเติมแต่ง แล้วขึ้นรูปเป็นแท่งไม้พลาสติก ที่มีลวดลายสวยงามเหมือนไม้จริง แต่แข็งแรงกว่าไม้จริง จุดเด่นคือการดีไซน์หน้าตัดของไม้ให้เป็นวงรีและเลข 8 ภายใต้คอนเซปต์ Infinity หรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้ไม่รู้จบ ก่อนจะนำมาประกอบเป็น ม้านั่ง, ราวแขวนเสื้อ+ชั้นวางของ, ราวพาดผ้าเช็ดตัว ได้อย่างหลากหลายไม่รู้จบสมชื่อจริงๆ
“TPBI เอง รับเศษพลาสติกใช้งานแล้วไปรีไซเคิล เราเองก็เป็นลูกค้าเม็ดพลาสติกกับ GC ก็เลยมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ และได้ทำงานร่วมกับทางนักออกแบบ คอนเซปต์คือเรื่องของการ Upcycling ยังไงให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับตัวเศษวัสดุ จึงออกมาเป็นไอเดียในลักษณะที่เป็นไม้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ ถ้าเทียบกับไม้จริง ก็มีโอกาสที่จะแข็งแรงกว่าด้วย ซึ่งจะช่วยให้เกิดความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมกลับมาอีกครั้ง โครงการแบบนี้ควรต้องมีอยู่เรื่อยๆ เพราะว่ามันเป็นวิถีใหม่ ไม่ใช่ความคุ้นเคยของคนทั่วไป ความสม่ำเสมอจะช่วยให้ทุกคนใส่ใจกับเรื่องนี้มากขึ้น”
– กมล บริสุทธนะกุล จาก บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)
สายสัมพันธ์ หมายเลข 2
Korakot x SiamRecycle x KKF
GC ผู้ริเริ่มโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand จับมือร่วมกับบริษัท ขอนแก่นแหอวน ที่แชร์ข้อมูลว่า ปริมาณขยะทางทะเล กว่า 40-50% มาจากเศษอวนจับปลาพลาสติกที่ถูกทิ้งไว้ตามทะเลโดยชาวประมง ขอนแก่นแหอวน ในฐานะเจ้าของแบรนด์ที่ผลิตแหอวน จึงอยากจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดยร่วมมือกับเทศบาลระยอง เก็บรวบรวมแหอวนเก่า บริเวณชายทะเล เพื่อส่งต่อไปให้ Siam Recycle นำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และนำไปขึ้นรูปเป็นเส้นใยหลากสี โดยขอนแก่นแหอวนอีกครั้ง
ขั้นตอนต่อมาเป็นการนำเส้นใยมาถัก โดยชาวบ้านจาก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ที่ทำอาชีพเย็บอวนและทำประมงพื้นบ้านอยู่แล้ว จึงมีความชำนาญในการทำงานหัตถกรรม และยังมีดีไซเนอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการถักทออย่าง Korakot มาออกแบบให้เป็น เก้าอี้ แผงกั้น และงานตกแต่งผนัง มีลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ทั้งดอกไม้ทะเล พระอาทิตย์ และเกลียวคลื่น สร้างคุณค่าให้กับสิ่งที่เคยเป็นขยะไร้ค่าและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล ให้กลับมามีมูลค่าได้อย่างน่าทึ่ง
“ขยะที่อยู่ตามท้องทะเล เป็นปัญหาในระดับประเทศ ส่วนใหญ่มาจากขยะเศษอวนที่ถูกทิ้งไว้ตามทะเล ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งของ Value Chain ในการสร้างขยะทางทะเลนั้นด้วย เราก็เลยเกิดความคิดว่าถึงมันจะใช้จับปลาไม่ได้แล้ว ก็สามารถเอามาแปรรูปหรือ Upcycling เอากลับมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ และคาดหวังว่าถ้าผู้บริโภคเห็นด้วยผ่านการอุดหนุน โดยการเข้าใจว่าสินค้าเหล่านี้เป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ จะช่วยสร้าง Emotional Impact ให้เกิดขึ้น ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Value Chain ที่จะทำให้โลกดีขึ้นได้”
– บดินทร์ เสรีโยธิน จาก บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด
Every Day
Prompt x Advanced Mat x Lion
Lion ทราบข้อมูลโครงการ Upcycling Upstyling และด้วยปริมาณหลอดยาสีฟันที่ใช้แล้ว ในแต่ละปีมีมากเกือบ 90 ล้านหลอด ซึ่งเป็นพลาสติกใช้แล้วที่นำไปรีไซเคิลได้ยาก เพราะมีส่วนผสมของอลูมิเนียมอยู่ วิธีการจัดการจึงต้องเผาทำลายทิ้งเท่านั้น Lion ตั้งใจอยากนำพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้มา Upcycling ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้ จึงได้ร่วมกับ Advanced Mat และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำพลาสติกจากหลอดยาสีฟันมาหลอมและขึ้นรูปใหม่ โดยมี Prompt Design มาร่วมออกแบบให้กลายเป็นที่บีบหลอดยาสีฟันหน้าตาน่ารัก
เบื้องหลังเรื่องราวการออกแบบ ไม่เพียงแต่ให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้แล้ว ยังแต่งเติมเรื่องราวให้ที่บีบหลอดยาสีฟันมีคาแรกเตอร์น่ารักๆ ทั้งคุณพระอาทิตย์ คุณพระจันทร์ คุณก้อนเมฆ และคุณสายรุ้ง ส่งเสริมให้เด็กๆ ที่ใช้รู้สึกสนุกกับการแปรงฟันมากขึ้นในทุกๆ วันอีกด้วย เรียกว่าเปลี่ยนขยะพลาสติก ให้สามารถสร้างประโยชน์ได้หลายต่อ
“ความท้าทาย คือขยะที่ Lion ผลิตคือหลอดยาสีฟัน ซึ่งในกระบวนการผลิต เราจะต้องตัดเศษพลาสติกปลายหลอดทิ้ง ต่อวันมีจำนวนเยอะมาก และต้องเอาขยะพวกนี้ไปเผาทำลายทิ้ง เพราะกระบวนการรีไซเคิลทำได้ยาก ก็เลยเกิดเป็นไอเดียบีบหลอดยาสีฟัน เพราะอยากปลูกฝังให้เด็กๆ มองเห็นถึงคุณค่าของการใช้ประโยชน์จากพลาสติกใช้แล้ว ในอนาคตเราวางแผนว่าจะนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Lion ด้วย เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันที่ดี ที่จะให้แบรนด์อื่นๆ อยากจะทำอะไรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน”
– รัชกฤช กาญจนาประดิษฐ จาก บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด
Beyond Basin
Qualy x Kasem Plastic x Kao
ถุงบรรจุภัณฑ์น้ำยาซักผ้าแบบรีฟิล แม้จะเป็นถุงเติมที่ช่วยลดปริมาณการใช้ขวดพลาสติก แต่ถุงประเภทนี้กลับเป็นหนึ่งในประเภทพลาสติกใช้แล้วที่่นำไปรีไซเคิลได้ยาก เพราะประกอบด้วยพลาสติกหลายชนิดและมีลามิเนตเคลือบอยู่ข้างใน ซึ่งแบรนด์เจ้าของผลิตภัณฑ์อย่าง Kao บอกว่ามีถุงชนิดนี้ผลิตมากกว่า 14 ล้านถุงต่อปีที่นำไปรีไซเคิลไม่ได้ แบรนด์จึงมีโอกาสได้ร่วมกับเกษมพลาสติก ผ่านโครงการ Upcycling Upstyling ของ GC โดยนำไปหลอมและฉีดขึ้นรูปใหม่
ก่อนที่ดีไซเนอร์อย่าง Qualy จะมาช่วยเพิ่มมูลค่า ด้วยการออกแบบให้เป็นกะละมัง ที่เป็นมากกว่าแค่ภาชนะเพื่อการซักล้างแบบธรรมดา เพราะออกแบบให้คล้ายกับถังซักผ้าไม้สไตล์วินเทจ มีลอนคลื่นที่ก้นไว้สำหรับขยี้ผ้า หรือจะประยุกต์ใช้เป็นกระจกติดผนังก็ยิ่งสวยหรู ตกแต่งบ้านได้อีกหนึ่งฟังก์ชัน
“เรามี Pain Point ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ของเราที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เลยมีโอกาสได้พูดคุยกับทาง GC เขาก็เลยแนะนำให้เข้าร่วมโครงการนี้ จนได้พบกับหลายๆ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งในส่วนของดีไซเนอร์และ Converter จนออกมาเป็นกะละมังที่ใช้งานจริงได้ ซึ่งในอนาคตเราจะมีการแจกเป็นของแถมในการขายด้วย สอดคล้องกับเป้าหมายเรื่องการลดขยะพลาสติกของเรา อยากให้ทุกคนเริ่มต้นจากตัวเองก่อน ต้องคิดทั้งก่อนเลือกใช้ และคิดก่อนทิ้ง เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันแล้ว จะเกิดความยั่งยืนแน่นอน”
– สุเสวี อ่อนคำ จาก บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด
Recycle Styling Terrazzo
PIA x Best Polymer x Café Amazon
ร้าน Café Amazon ที่กระจายเพิ่มความสดชื่นให้กับคอกาแฟกว่า 3,500 สาขาทั่วประเทศ มีคอนเซปต์ร้าน Go Green ที่ไม่ใช่แค่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เท่านั้น แต่ยังใส่ใจไปถึงการระบบจัดการขยะอย่างมากอีกด้วย โดยร่วมกับ Best Polymer ในการนำขยะขวดแกลอนนม PE และถุงฟอยด์บรรจุกาแฟ จากทุกๆ สาขามาผ่านกระบวนการ Upcycling มาตัด บด และ อัดแผ่นด้วยเทคนิคพิเศษเฉพาะตัว
ก่อนที่ดีไซเนอร์ PIA ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก Terrazzo หรือ หินขัด ที่ใช้ในการตกแต่ง จึงนำเอาจุดเด่นของเศษฟอยด์จากถุงกาแฟที่สะท้อนแสง มาใช้เป็นเลเยอร์ด้านนอกสุด พร้อมกับไล่เฉดสี เมื่อนำแต่ละแผ่นไปประกอบรวมกัน แล้วติดตั้งบนกำแพงในร้าน Café Amazon เมื่อสะท้อนกับแสงจะเกิดมิติสวยงาม เป็นอีกหนึ่งกิมมิกที่สะท้อนถึงความใส่ใจสิ่งแวดล้อมในทุกอณูอย่างแท้จริง
“Café Amazon เป็นแบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เรามองเห็นปัญหาเรื่องขยะที่เกิดในกระบวนการผลิตหรือบริการต่างๆ ของร้าน เราจึงพยายามเก็บขยะเหล่านี้มา Upcycling เป็นอะไรใหม่ๆ ตามแนวทาง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ทาง PIA ที่เป็นดีไซเนอร์ก็แนะนำให้นำขวดแกลอนนม PE กับถุงฟอยด์บรรจุกาแฟ มาหลอมรวมกันและขึ้นรูป จนได้เป็นแผ่นหินขัดที่มีความวิบวับสวยงาม ดูไม่ออกว่าเป็นขยะมาก่อน ทางสถาปนิกก็นำไปตกแต่งบริเวณหลังเคาน์เตอร์ร้าน ด้วยสตอรี่เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าแบรนด์ไหนมีความรักษ์โลก รับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้เกิดการบอกต่อจนเกิดความยั่งยืนได้”
– อัญชลี เทียนศิริ จาก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)