“ขายของออนไลน์ยังไงให้รวย”
คำถามที่เหล่าคนอยากรวยในยุคนี้สงสัยกันมากที่สุด อาจจะด้วยตัวอย่างของเคสของเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการขายของออนไลน์ที่ทำเงินได้หลักแสนต่อเดือน โพสต์หราโชว์ความสำเร็จกันเต็มโซเชียลไปหมด พร้อมกันนั้น ตัวเลขของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า ตลาดค้าปลีกออนไลน์หรือ E-commerce ปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 20% และมีมูลค่า 140,000 ล้านบาท! โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SME เกี่ยวกับเครื่องสำอางและอาหารเสริมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ใครๆ ก็ขายครีม ใครๆ ก็ขายสบู่ ยั่วยวนให้ใครๆ อีกหลายคนอยากจะรวยแบบนั้นบ้าง
ถ้าทุกอย่างมันง่ายอย่างนั้นก็คงดี คงไม่มีกระทู้พันทิปที่ตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้กันนับไม่ถ้วน แผงหนังสือที่เต็มไปด้วยคู่มือขายของออนไลน์ หรือคอร์สอบรมที่จัดกันแทบทุกอาทิตย์ ก็เพราะยังมีคนที่กระโจนลงไปสู่ Red Ocean นี้กันแบบไม่ทันยั้งคิด จนบาดเจ็บล้มตายจากธุรกิจประเภทนี้กันอยู่ทุกวัน
ลองเปรียบเทียบกันง่ายๆ อย่างเวลาเราป่วย การไปหาหมอก็ชัวร์กว่าซื้อยามากินเอง หรือจะไปออกรบทั้งที ถ้ามีที่ปรึกษาอย่างขงเบ้งไว้ยังไงก็อุ่นใจกว่าออกไปลุยโดยที่ไม่รู้อะไรเลย นั่นจึงทำให้เกิดบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจขึ้นมามากมาย และหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจที่มาแรงที่สุดในตลาดความงาม ณ ตอนนี้ คงหนีไม่พ้น Vcommerce ที่ปรึกษาธุรกิจออนไลน์ให้กับ SME เครื่องสำอางและความงาม ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ไทยมาแล้วมากมาย
The MATTER ชวนคุยกับ วี – สืบศักดิ์ ลิ่วลักษณ์ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงวัย 31 ผู้ปลุกปั้น Vcommerce ถึงแนวคิดแรกเริ่มในการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ การบริหารจัดการจนกลายเป็นบริษัทแรกๆ ที่หลายแบรนด์เลือกใช้บริการ และที่สำคัญคือเหตุผลว่าทำไมการทำธุรกิจออนไลน์ต้องมีที่ปรึกษาทางธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เรื่องธุรกิจเข้ามาในชีวิตได้อย่างไร
เรื่องตัวเลข เรื่องธุรกิจ เรียกว่าอยู่ในสายเลือดมากกว่า สิ่งที่อยู่ในหัวมีแต่เรื่องดนตรี เพราะพ่อแม่ผมเป็นพ่อค้าแม่ค้าอยู่ที่นราธิวาส อย่างเวลาเซลมาขายของให้พ่อ เราก็อยู่ที่โต๊ะกินข้าวด้วย เลยคุ้นชินกับการต่อรองทางธุรกิจตั้งแต่เด็ก แต่ตอนนั้นที่บ้านเป็นร้านถ่ายรูป แต่ผมไม่ได้อยากถ่ายรูป อยากเป็นแบบวงบอดี้สแลม แต่สุดท้ายที่บ้านก็มีหนี้ พ่อแม่หาเงินได้มาไม่พอใช้ จึงตั้งใจอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเขาหาเงินมาจัดการตรงนั้น แล้วตอนนั้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เริ่มอันตราย บ้านผมอยู่สไหงโกลก อยากให้เขาย้ายออกมา เป็นสิ่งที่แรกที่ทำให้รู้สึกว่า จะไปทำตามฝันก่อนไม่ได้ ต้องทำตามความถูกต้องในการดูแลพ่อแม่ก่อน แล้วผมเป็นลูกคนสุดท้องที่เป็นความหวังสุดท้ายของพ่อแม่ จะผลักภาระไปที่อื่นก็ไม่ได้
อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจด้าน E-commerce
ตอนนั้นเรียนอยู่ประมาณปี 4 ได้จับพลัดจับผลูไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ท่านหนึ่งที่ทำงานด้าน E-commerce โดยตรงเลย นั่นคือจุดเริ่มต้น ได้เริ่มเข้าไปช่วยโปรเจกต์ของหน่วยงานต่างๆ ที่อาจารย์เขาดูแลอยู่ ซึ่งเขาเป็นที่ปรึกษาของภาครัฐและพรรคการเมืองเลยมีงานในมือเยอะ ก็ได้เป็นหนึ่งในทีมงานหลังบ้านจนกระทั่งได้ออกหน้าไปพรีเซนต์งานลูกค้า ทำให้เราเสพติดการได้รับการชื่นชมจากคนที่เหนือกว่าเยอะๆ เพราะเราเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่ชอบงานเรา หน้าที่หลักๆ ตอนนั้นคือดูแลงานวิจัยทั้งหมด เช่นอาจารย์โยนโจทย์มาให้ ก็ได้วิชาในการรีเสิร์ช การทำพรีเซนต์ ไป pitch งาน แต่พอหลังๆ งานอาจารย์เริ่มล้นมือ เขาก็มอบหมายให้เราทำตั้งแต่ต้นจนปิดโปรเจกต์เลย
แล้วตลาดของ E-commerce ในช่วงนั้นเป็นอย่างไร
เริ่มมาบ้างแล้ว ยุคนั้นจะมี tarad.com คนที่จะเข้าวงการนี้ต้องไปเรียน netdesign ไปเรียนทำเว็บไซต์ แต่ยังไม่ได้มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนมากนัก เริ่มมีคนหิ้วของพรีออเดอร์เข้ามา หรือทำบล็อกแล้วให้คลิกลิงก์ขายของ เฟซบุ๊กยังไม่มา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผมถูกจ้างให้ทำตอนแรกๆ คือรับทำเว็บ รับปั่นอันดับในกูเกิล มันมาจากเป็นวิชาที่ผมใช้สอบไฟนอลด้วย พอเราทำได้ดีเพื่อนก็อยากให้เราทำก็ได้ตังค์ อยากให้คนอื่นจ้างเพิ่ม ก็มีวิ่งไปขายงานบ้าง
ช่วงนั้นเริ่มมีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาเข้ามาหรือยัง
ตอนนั้นทำได้แล้วเริ่มมีรายได้เข้ามา รู้สึกว่าทำได้ดีและชอบ แต่พ่อแม่อยากให้เราไปทำอย่างอื่นที่ดูมั่นคงกว่า อย่างบริษัทใหญ่ๆ ที่คนมีการศึกษาเขาไปสมัครกัน ก็ได้งานมาบริษัทหนึ่งที่ขายระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้กับธนาคารหรือหน่วยงานภาครัฐ หน้าที่ของผมคือไปวิเคราะห์ระบบไอทีของบริษัทเหล่านั้น เพื่อเสนอทางออกให้กับเขา ซึ่งไม่เกี่ยวกับ E-commerce เลย เป็นการใช้สกิลของเซลล้วนๆ ซึ่งยากมาก ไม่เวิร์กเลย ขายก็ไม่ดี ถามตัวเองทุกว่านี่คือสิ่งที่จะทำตลอดชีวิตเหรอ อยู่ได้แค่หกเจ็ดเดือนก็ลาออกมา แต่โชคดีที่เจ้านายของผมเป็นท็อปเซลของประเทศในตอนนั้น ผมเลยได้วิชาจากเขามาเต็มๆ
อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้อยากออกมาตั้งบริษัทเอง
หลังจากที่เป็นเซลสักพัก ก็เริ่มรับงานในลักษณะฟรีแลนซ์มากขึ้น จุดเปลี่ยนคือหลายบริษัทจ้างผมแบบให้เงินเดือนเหมือนพนักงาน แต่ให้อิสระตรงที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศก็ได้ เราก็มองว่าสมมติเพื่อนได้เงินเดือนแสนหนึ่ง แต่เรารับบริษัทหนึ่งได้สองหมื่น เราก็รับ 5 ที่ก็ได้ เพราะแต่ละที่ให้ประชุมแค่ชั่วโมงเดียวต่อสัปดาห์ จนทำให้ผมเสพติดการทำงานหลายที่ เป็นสกิล multitasking ที่ได้มา ซึ่งผมไม่รู้ว่าบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจมีเยอะแค่ไหน แต่น่าจะยังไม่มาก จะมีบริษัทประมาณเอเจนซี่โฆษณาอยู่ ซึ่งไปรู้เบื้องหลังว่าเขาก็ใช้ outsource อย่างผมไปทำงานด้านออนไลน์เหมือนกัน ตอนนั้นรับงานฟรีแลนซ์เยอะมาก จนบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่งซื้อตัวไปเป็นที่ปรึกษา มีบริษัทในเครือเขาทำโปรเจกต์หนึ่งที่ขายอุปกรณ์สำนักงาน พอเริ่มทำก็ต้องเริ่มสร้างทีมที่แข็งแรง ซึ่งพอทีมเราทำถึงเป้า แต่หัวหน้าก็เพิ่มเป้าอีก ผมก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์เท่าไร เพราะคิดว่าทีมเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น ทำให้เห็นโอกาสที่จะเปิดบริษัทเอง
การเปิดบริษัทช่วงแรก สร้างเครดิตของการเป็นที่ปรึกษาอย่างไร
โชคดีที่ผมสั่งสมมาประมาณหนึ่งตลอดตั้งแต่เรียนจบ ลูกค้าแต่ละเจ้าผมเก็บข้อมูลไว้ตลอด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปัญหา ลูกค้าก็อาศัยบอกต่อกัน ช่วงนั้น E-commerce เฟื่องฟูมากแล้ว มีคนทำรายได้จากเฟซบุ๊กเป็นกอบเป็นกำ คนขายของใน ebay ก็รวยแล้ว เป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดก่อนที่ต่างประเทศจะเข้ามาทำให้ตลาดใหญ่กว่าเดิม
ทำไมการทำธุรกิจถึงต้องมีที่ปรึกษา
ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าต้องจ้างที่ปรึกษา แต่อย่างแค่การทำโฆษณา บางทีความเชี่ยวชาญของเจ้าของธุรกิจอาจไม่ได้รู้ทางหนีทีไล่มากพอ ถามว่าเวลาเราป่วยเราซื้อยากินเองได้ไหม ก็ได้ แต่ทำไมบางคนต้องไปหาหมอ เพราะยิ่งหมอที่เชี่ยวชาญจะหาลู่ทางรักษาได้ดีกว่า ผมมองว่าการจ้างที่ปรึกษาทำให้ร่นระยะเวลาสำเร็จของเขาได้มากขึ้น เขาไม่ต้องมาลองผิดลองถูกเอง ผมมองว่าเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุดเลยด้วยซ้ำ เพราะกว่าจะรู้จนถึงปลายทาง สิ่งที่เราทำมาอาจเป็นการจ่ายเปล่าไปเลย แต่การมีที่ปรึกษาเหมือนการซื้อแผนที่ หรืออย่างทำไมเราเกิดมาเดินได้วิ่งได้ แต่ยังต้องจ้างเทรนเนอร์ฟิตเนส ซึ่งปัญหาใหญ่ของ SME ไทยคือขาดความรู้ ขาดเวลา และขาดทักษะในการบริหารจัดการ บางคนขยันแต่มีไม่มีเวลาในการจัดการเรื่องไอที เราก็ไปเอื้อตรงนั้น
แต่เจ้าของธุรกิจทั่วไปที่ยังมีต้นทุนไม่มาก กลับเลือกที่จะเรียนรู้และลงมือทำด้วยตัวเอง
นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมทำหนังสือออกมา เป้าหมายเราคืออยากช่วยให้ SME ชีวิตดีขึ้น เพราะเรามองว่าเป็นปัญหาระดับชาติ อย่างถ้าเขาขาดทุน ไม่มีเงินหมุนก็เครียด อาจไล่ลูกน้องออก พอลูกน้องไม่มีเงิน ลูกเขาก็อาจไม่ได้เรียนต่อ เด็กก็ไม่มีการศึกษา มันเป็นปัญหาระยะยาว เราเป็นบริษัทแรกๆ ที่โฟกัสลูกค้า SME ไม่ใช่บริษัทจากเมืองนอก ผมเลยมีการสอนออนไลน์ฟรี ทำหนังสือราคาถูกที่สามารถหยิบจับเนื้อหาไปใช้ได้เลย
ทำไมถึงโฟกัสที่ตลาดออนไลน์เป็นหลัก
ผมมองว่าธุรกิจเข้ามาทำไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือสังเวียนบนนี้ ผมเลยอยากเชี่ยวชาญในออนไลน์นี้เป็นหลัก อาจเป็นเพราะเจนผมที่เกิดด้วย ผมคงไม่ได้เก่งเรื่องออฟไลน์ ไม่ได้โตมากับการขายแบบ retail เข้าห้าง ผมจึงโฟกัสที่ออนไลน์อย่างเดียว อย่างที่เคยเป็นที่ปรึกษาหลายแบรนด์ เราจะรู้ว่า task งานไหนที่เราถนัด เราก็พยายามทำตรงนี้ให้ดีที่สุด เป็นส่วนกลางให้คนอื่นมาจ้างเราดีกว่า ซึ่งไปตรงกับทฤษฎีที่ Peter Drucker บอกว่า Do what you do the best and outsource the rest. เป็นเทรนด์ต่อไปของโลกข้างหน้า บริษัทจะเหลือเจ้าของแค่คนเดียว ที่เหลือเป็น outsource หมดเลย ผมอาจจะโตมากับยุคที่คนอ่านหนังสือ The 4-Hour Workweek ก็ได้ ถามว่าทุกคนอยากทำงานไหม ก็ไม่อยากทำงานหรอก แต่ทุกคนอยากรวย ซึ่งผมคิดว่าหน้าที่ตรงนี้ให้เราทำงานให้ละกัน
อะไรคือจุดแข็งของ Vcommerce ที่แตกต่างจากบริษัทอื่น
การมีส่วนร่วมใน task งานที่มากกว่า เราคงวัดความสามารถในการครีเอทีฟไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็วัดกันที่ผลลัพธ์ ซึ่งงานเราไม่ได้ขายไอเดียแต่เพียงอย่างเดียว เราทำให้ ประเมินผลให้ แก้ปัญหาให้ คือเราทำทั้งหมดเลย ตั้งแต่หาของยังไง ตอบแชทยังไง จะมี task งานที่มากกว่าแค่ทำการตลาดให้ดัง เราถึงขั้นมี warehouse เก็บของ ส่งของให้ เรามองว่ายังมีหลายส่วนของที่ลูกค้าต้องจ้างอยู่แล้ว เพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินต่อไปได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องจ้างคนเอง เพราะถ้ามีคนลาออกก็ต้องเริ่มใหม่ นี่คือสิ่งที่เรามองเห็น
อยากให้เล่าถึงเคสลูกค้าที่ Vcommerce เข้าไปช่วยเหลือแล้วประสบความสำเร็จ
มีเจ้าหนึ่งเขาทำ sleeping balm จุดเริ่มต้นคือมีทุนไม่เยอะมาก เขาอยากจะเจาะตลาดจีน โดยส่งออกไปจีนหรือขายคนจีนที่มาเที่ยว เพราะเขามองว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ เรามองตั้งแต่คอนเซปต์ของโปรดักต์ว่าคืออะไร เรานิยามว่ามันเป็น sleeping balm ซึ่งจริงๆ ก็คือยาหม่อง แต่กลิ่นไม่แสบจมูก เพราะคงไม่ทำยาหม่องมาแข่งกับตราเสือดาวแน่ๆ เราก็มองว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงที่อยู่ในเมือง มีฐานะ ก็ค้นพบว่ามีปัญหาหนึ่งคือผู้หญิงจะไม่มั่นใจในตัวเอง ทำงานหนัก ความเครียดสูง เราก็บอกว่าเป็น sleeping balm ทาแล้วทำให้คนนอนหลับลึกขึ้น ทำให้ตื่นเช้ามาแล้วมั่นใจมากขึ้น หรือสำคัญคือมีเวลาแต่งหน้ามากขึ้น ผมคิดถึงเวลาตอนที่แต่งหน้า จะเห็นผู้หญิงตื่นสายแล้วแต่งหน้าบนรถไฟฟ้า บนแท็กซี่ หรือขับรถไปแต่งหน้าไป แต่ถ้าคุณนอนเต็มอิ่ม ไม่ต้องแต่งหน้าก็สวย เรียกว่าเป็น sleeping balm ที่ขายกลุ่มลูกค้าบิวตี้ ซึ่งโปรดักต์เราสามารถไปแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดเครื่องสำอางที่ดังสุดในไทยแบรนด์หนึ่งได้ โดยที่เราวางแผนตั้งแต่แรก แม่ค้าขายแบรนด์เราจะได้กำไรมากกว่าขายแบรนด์ดังประมาณ 3 เท่า เพราะเราไม่สามารถสู้ยอดขายที่เขาทำมานานได้ แต่เราสู้ได้ตรงที่อยากให้แม่ค้านำโปรดักต์เราไปขายได้มากกว่า เพราะได้กำไรต่อชิ้นมากกว่า เหมือนเล่นคนละเกม นี่คื่อความภาคภูมิใจที่ลูกค้าเจ้านี้ไม่ได้มีเงินเยอะมาก เราคิดตั้งแต่โปรดักต์ ช่องทาง การตลาด เรียกว่าปั้น rookie ให้เป็น star ได้
ทำไมถึงเลือกเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าบิ้วตี้เป็นหลัก มีวิธีการเข้าใจ insight ผู้หญิงอย่างไร
เกิดจากตอนที่ทำเป็นฟรีแลนซ์ แล้วลูกค้าที่เป็นหมวดบิวตี้จะมีเยอะ พอศึกษาจนรู้เยอะก็เสียดายความรู้ถ้าไม่ได้นำมาต่อยอด เลยต้องจ้างคนที่ถนัดด้านนี้เข้ามาอีก เหมือนตลาดบีบให้เรามาสายนี้ตั้งแต่แรก การหา insight จะใช้การสัมภาษณ์พูดคุย คือจ้างคนที่ถนัดเรื่องนี้มาทำงานให้ ทีมงานเราจึงมีสาวๆ เยอะ หรือเกือบสาวบ้าง แล้วเรามีทุนให้พนักงานได้ไปช็อปปิ้งเพื่อรีเสิร์ชตลาด พาไปเกาหลีมีหมดเลย
แต่ตลาดบิ้วตี้มีการแข่งขันที่สูงมาก มีเคล็ดลับในการช่วยเหลือแบรนด์อย่างไร
ยิ่งแข่งกันเยอะก็ยิ่งยาก พอยิ่งยากก็เลยต้องการใครสักคนมาช่วย ซึ่งคนนั้นก็คือเรา ผมจึงทำงานยากเพื่อให้สำเร็จ ดีกว่าทำงานง่ายแล้วให้ใครมาลอกก็ได้ เคล็ดลับคือต้องอัพเดตตลาดตลอด กล้าคิดกล้าทำ ต้องนำเทรนด์ อย่างขายลิปสติก คนอื่นขายหลักร้อย เราขายหมื่นหนึ่ง โดยใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในโปรดักต์
ทำไมถึงมีการนิยามที่ปรึกษาธุรกิจเป็นนักแก้ปัญหา
เวลาที่เราไปหาหมอหลักๆ มีเหตุผลสองอย่างคือตอนป่วยกับตอนเกิด ลูกค้าไม่รู้จะขายอะไรดีก็ต้องมาจ้างเราเพื่อวิจัยโปรดักต์ แล้ววางแผนต่อเพื่อให้ขายได้ หรืออีกแบบคือยอดขายตกแล้วค่อยมาหาเรา เราก็ช่วยแก้ปัญหาให้
การเป็นที่ปรึกษา จำเป็นไหมว่าต้องสร้างแบรนด์ของบริษัทด้วยคาแรกเตอร์ที่น่าเชื่อถือ
บริษัทบิ๊กโฟร์ด้านที่ปรึกษาด้านบัญชีระดับโลก เรายังไม่รู้เลยว่าเจ้าของเป็นใคร หรือด้านการศึกษามหา’ลัยดังๆ เราก็ไม่รู้ว่าเจ้าของเป็นใคร แม้แต่เอเจนซี่ดังๆ อย่าง Ogilvy หรือ Dentsu เราก็ไม่รู้จักเจ้าของ เพราะสุดท้ายการซื้อน้ำลายของคนมันไม่เท่ากับซื้อระบบ บริษัทของผมนิยามไว้ว่าเป็น consult and outsourcing คือไม่ได้ขายน้ำลายอย่างเดียว เราขายแผนกลยุทธ์ การลงมือ และการแก้ปัญหา หลังจากที่วางระบบของบริษัทเต็มตัวแล้ว ผมจะไม่ออกไปขายงานเลย จะบริหารทีมอย่างเดียว ลูกค้าจึงไม่ติดตัวผม แต่ติดที่แบรนด์มากกว่า ผมจึงโฟกัสที่การสร้างแบรนด์บริษัท ผมก็ไม่เก่งพอจะทำให้ลูกค้าสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียวอยู่แล้ว ผมจึงจ้างคนที่เก่งกว่ามาทำงานแทน
การทำธุรกิจทุกวันนี้ถูก disrupt ด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่ก็ยังมีลูกค้าที่ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ อยู่ มีวิธีการช่วยเหลืออย่างไร
ผมว่าทุกวันนี้ลูกค้าตระหนักแล้วว่ามันถูก disrupt แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไง เช่นลูกค้าเจ้าหนึ่งขายในห้างโมเดิร์นเทรดทุกยี่ห้อ ยอดขายเยอะ แต่เขาไม่ทำออนไลน์ วิธีการของผมคือตั้ง objective เป็นไซด์โปรเจกต์เล็กๆ เพื่อพิสูจน์ว่ามันมี demand ในออนไลน์ไหม คือให้ลูกค้าทำแบบเล็กๆ ลองดูก่อน
เป็นที่ปรึกษาแบรนด์มามากมาย ทำให้อยากมีโปรดักต์เป็นของตัวเองบ้างไหม
เราไม่เคยคิดจะทำแบรนด์ของตัวเองเลย เพราะเป้าหมายของผมคืออยากช่วยเหลือ SMEs ไทยมากกว่า ถ้าพวกเค้าเติบโตได้ เราก็เติบโตไปด้วย เหมือนครอบครัวที่โตไปด้วยกัน
ทุกวันนี้อะไรคืออุปสรรคของการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ
อุปสรรคคือการบริหารคน แบ่งเป็นสองส่วนคือ organization management บริหารคนให้ทำงานได้ตามต้องการ กับ knowledge management การบริหารความรู้ของคนให้เขาเก่งที่สุด สมมติมีคนที่คิดแทนผมได้ร้อยคนก็สบาย สองอย่างนี้คือสิ่งที่เราผลักดัน เรามีการ outing บ่อยมาก เพื่ออัพเดตความรู้ของทุกคน เหมือนโค้ชฟุตบอลที่ต้องทำให้ลูกทีมแข็งแกร่ง และเราเป็นงานบริการ มันเกี่ยวเนื่องกันเป็นทีมหมด
วางแผนอนาคตของ Vcommerce ไว้อย่างไร
อยากจะช่วย SME ไทยให้มากขึ้น อยากจะให้ลูกค้าเข้าถึงองค์ความรู้ดีๆ เติบโตจนช่วยคนทั้งประเทศได้ ยิ่งผมช่วยคนเยอะเท่าไร เงินมันจะกลับมาหาผมเอง นี่คือเป้าหมายของเรา จะช่วยยังไงก็ได้ขอให้ช่วยให้มากที่สุด อย่างน้อยถ้าวันหนึ่งผมถูกโกงล้มละลาย แล้วไปเจอลูกค้าที่ผมเคยช่วยไว้ เขาก็คงอยากเลี้ยงข้าวผมสักมื้อ การช่วยเหลือคนจึงสำคัญมากกว่าการหาเงิน