หลายคนอาจรู้จัก ‘เวสป้า’ ในฐานะของสกู๊ตเตอร์ที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ด้วยดีไซน์สุดคลาสสิกของตัวถังเหล็กที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ตั้งแต่ Vintage Vespa จนถึงโมเดลปัจจุบันที่เราต่างคุ้นหน้าตากันเป็นอย่างดี
แต่ภายใต้เวลาที่ยาวนานนั้น ยังมีเรื่องราวในอีกหลายแง่มุมจากเจ้าของรถที่เกี่ยวข้องในมิติต่างๆ ของชีวิต ด้วยความรู้สึกที่มีต่อเวสป้า ซึ่งเป็นมากกว่าแค่สกู๊ตเตอร์หรือยานพาหนะ
ในโอกาสที่ เวสป้า ประเทศไทย ได้ฉลองครบรอบ 10 ปีเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงได้รวบรวมเรื่องราวจากนักสร้างสรรค์ในหลากหลายสาขาที่ชัดเจนในเส้นทางของตัวเอง ทั้งหมด 10 คน ซึ่ง The MATTER ได้หยิบเรื่องราวออกมาทั้งหมด 5 คน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเวสป้าตัวจริง นักสะสม ไปจนถึงผู้ที่ไม่เคยได้ใช้ แต่กลับมีดีเอ็นเอของเวสป้าอยู่เต็มเปี่ยม กับความเป็นเวสป้าที่พาพวกเขาเดินทางมาได้ไกล และสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างไม่รู้จบ
พลอย กาสม ศิลปินนักวาดภาพประกอบ เจ้าของแบรนด์ Kasploy
กับความผูกพันที่มีต่อเวสป้า จนเหมือนเนื้อคู่ที่เดินทางมาด้วยกันกว่า 20 ปี
เวลา 20 ปี คือระยะเวลาที่ยาวนานพอจะวัดความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจน หากเปรียบเป็นคู่รักก็คงเป็นคู่รักที่ผูกพันกันมานาน จนเรียกได้ว่าเป็น ‘เนื้อคู่’ ก็คงไม่ผิด นั่นคือนิยามที่ พลอย กาสม เจ้าของแบรนด์ Kasploy ศิลปินนักวาดภาพประกอบ และนักออกแบบจากเชียงใหม่ ที่เคยจัดแสดงผลงานที่พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก ได้ให้ไว้กับ เวสป้าคลาสสิก 90cc ที่เธอใช้มาตลอด 20 ปี
“เวสป้าอยู่กับพลอยตั้งแต่ตอนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนอะไร จนเราเข้ามหาวิทยาลัย เป็นศิลปิน แล้วตอนนี้มีครอบครัว มีลูกแล้ว ก็ยังอยู่เหมือนเดิมเลย”
พลอยเล่าว่า เวสป้าคันนี้คุณพ่อเป็นคนซื้อให้ จากที่เคยรู้สึกเฉยๆ แต่เมื่อผ่านการใช้งานทุกวัน ตั้งแต่ขี่ไปโรงเรียน ไปมหา’ลัย ใช้บรรทุกของ จนกระทั่งกลายเป็นศิลปินเต็มตัวก็ยังใช้เวสป้าคันนี้แบกอุปกรณ์ศิลปะข้ามจังหวัด จนกลายเป็นความผูกพันที่มากกว่าการเป็นแค่ยานพาหนะ ด้วยฟังก์ชันในการขนของที่มากกว่า และด้วยรูปทรงที่มีขนาดเล็กทำให้มีข้อจำกัดเรื่องความเร็วในการขี่ ทำให้ศิลปินสาวรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เวสป้าได้ช่วยในการทำงานศิลปะเลยทีเดียว เพราะการขี่ช้าๆ นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังทำให้เธอได้มีโอกาสมองเห็นทิวทัศน์ของธรรมชาติสองข้างทางของเชียงใหม่ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ค้นหาสไตล์ผลงานของตัวเองจนเจอในที่สุด
“มันผูกพันกับเราถึงขนาดที่ว่า เมื่อก่อนมักจะมีคนมาถามซื้อ เราจะปฏิเสธเขาไปด้วยเหตุว่า นี่เป็นรถที่พ่อซื้อให้จะขายได้ยังไง แต่เดี๋ยวนี้เราจะปฏิเสธเขาด้วยเหตุผลว่า รถคันนี้เป็นเหมือนคนคนหนึ่ง เพื่อนที่ผ่านทุกข์ผ่านสุขกับเรามาเนิ่นนาน…ใครจะขายเนื้อคู่ตัวเองลงกัน”
จ่อย – สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ เจ้าของแบรนด์ Rubber Killer
กับการมีเวสป้าเป็นของสะสม ที่มูลค่าไม่ใช่เรื่องของราคา
ในแวดวงคนรักเวสป้าทุกคนต่างรู้กันดีว่า มูลค่าของเวสป้าวินเทจนั้นสูงมากขนาดไหน บางครั้งมีเงินอย่างเดียวก็ยังไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ นั่นจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนว่ามูลค่าของเวสป้าไม่ใช่แค่เรื่องของราคาเพียงอย่างเดียว อย่างที่ จ่อย – สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ เจ้าของแบรนด์ Rubber Killer นักออกแบบและหนึ่งในนักธุรกิจผู้บุกเบิกเทรนด์ Environmental Design และยังเป็นลูกชายคนเล็กของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์
“เมื่อก่อนเวสป้าไม่ได้แพง ผมเคยได้เวสป้า 1958 ในราคา 8,000 บาท ลองมาดูเดี๋ยวนี้สิคันละหลายแสน ผมไม่เคยมองเวสป้าเป็นของเล่น แต่มันเป็นของสะสม มันเป็นสิ่งที่เรียกว่าต่อให้คุณมีเงินมากเท่าไหร่ ก็หาซื้อไม่ได้อีกแล้ว”
จากจุดเริ่มต้นที่ลองหัดขี่เวสป้า Small Frame 90cc ของแม่เพื่อน จนเก็บเงินแอบที่บ้านซื้อรุ่น GS-120 mk2
ตอนช่วงมัธยมเพราะความชอบ ก่อนจะรู้ตัวอีกที เขาเคยมีเวสป้าพร้อมกันมากที่สุด 15 คัน รวมทั้งหมดที่เป็นเจ้าของก็เกือบ 50 คันเข้าไปแล้ว แถมการได้มาแต่ละคันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่างหาก
“ผมพบว่าความสนุกอีกอย่างคือการได้ออกตามหาเวสป้า มันต้องอาศัยทั้งความพยายามและโชคชะตา เมื่อก่อนเรายังไม่มีอินเทอร์เน็ต เลยต้องขับตระเวนหา ผมเคยได้ยินข่าวว่าแถวพิษณุโลกหรือนครสวรรค์มีเวสป้าแฮนด์แป๊บอยู่คันหนึ่ง เลยตัดสินใจขับรถจากเชียงใหม่ไปตามหา ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ขับวนอยู่หลายอำเภอ ปรากฏว่าไม่เจอ เรื่องเงินน่ะไม่เท่าไหร่หรอก แต่คุณต้องมีดวง ที่สำคัญต้องมีความบ้ามากพอที่จะเสาะแสวงหาเวสป้าสักคันด้วย”
ปาล์ม – ศุภวิชญ์ มุททารัตน์ และ กอล์ฟ – กิติบดี ช่อทับทิม หุ้นส่วนร้าน Backstage Cocktail Bar กับจุดเริ่มต้นของการทำ Backstage Cocktail Bar ที่เกิดขึ้นจากเวสป้า
Backstage Cocktail Bar คือบาร์ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มชั้นเลิศ ย่านทองหล่อ ที่มี ปาล์ม – ศุภวิชญ์ มุททารัตน์ และ กอล์ฟ – กิติบดี ช่อทับทิม สองบาร์เทนเดอร์มือรางวัลจากรายการ Diageo World Class ที่เป็นหุ้นส่วนดูแลบาร์แห่งนี้ ซึ่งเรื่องราวก่อนที่เครื่องดื่มของพวกเขาจะเป็นที่รู้จัก ไม่น่าเชื่อว่าเกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของกอล์ฟที่อยากจะเป็นเจ้าของเวสป้าตอนสมัยเรียน
“ผมอยากขี่เวสป้ามากเลยนะ อยากเท่ว่างั้นเถอะ แล้วพอดีมีเพื่อนคนหนึ่งเขาทำงานกลางคืน ผมก็ไปเสนอตัวกับเขาว่าหากที่ทำงานมีตำแหน่งว่าง ให้ผมทำอะไรก็ได้ ขอแค่มีเงินเดือน ปรากฏว่าเพื่อนคนนั้นเขาเป็นบาร์เทนเดอร์”
จากความอยากได้เวสป้าทำให้เขาได้สั่งสมประสบการณ์ในบาร์แทบทุกประเภทจนชำนาญ เวลาผ่านไปเกือบสิบปีจนได้เป็นบาร์เทนเดอร์มืออาชีพ และได้เป็นเจ้าของ New Vespa Sprint 150 ในที่สุด ก่อนที่จะมีโอกาสได้เข้าร่วมแข่งขันบาร์เทนเดอร์รายการ Diageo World Class ซึ่งทำให้เขาได้พบเจอกับปาล์มและเพื่อนบาร์เทนเดอร์คนอื่นๆ ที่เข้าแข่งขันด้วยกัน กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เหล่าบาร์เทนเดอร์มือรางวัลร่วมหุ้นกันเปิด Backstage Cocktail Bar บาร์ที่ได้ชื่อว่าสร้างสรรค์ค็อกเทลได้เป็นตัวของตัวเองที่สุด
จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของค็อกเทลบาร์ที่นักดื่มยอมรับ นอกจากเรื่องของแพชชั่นที่มีอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว คือโชคชะตาที่เวสป้าพามาให้พวกเขาได้รู้จักกัน
อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านอินดัสเตรียลดีไซน์
กับมุมมองปรัชญาในการออกแบบที่มากกว่าแค่สกู๊ตเตอร์
อย่างที่ทราบกันดีว่า เวสป้ามีต้นกำเนิดจากประเทศอิตาลี ทำให้วิธีคิดในการออกแบบตั้งแต่แรกจึงมีปรัชญาแบบอิตาเลียนซุกซ่อนอยู่มากมาย ในฐานะที่เคยไปร่ำเรียนการออกแบบที่มิลาน อาจารย์ต้น – อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนรุ่นใหญ่และผู้เชี่ยวชาญด้านอินดัสเตรียลดีไซน์ จึงเป็นคนหนึ่งที่สามารถวิเคราะห์ดีไซน์ของเวสป้าได้อย่างดีที่สุด
“ผมเห็นเวสป้าตั้งแต่เด็ก เพราะตามแม่ไปซื้อของที่พาหุรัด ผมมองเวสป้าว่าเป็นสัญลักษณ์ของความแปลกถิ่น เพราะคนที่ขี่ส่วนใหญ่จะเป็นแขกโพกผ้าซึ่งพวกเขาจะใช้เวสป้าสำหรับขนของ ยิ่งประกอบกับเรื่องตลกที่ได้ฟังมาเกี่ยวกับจิ๊กโก๋ที่ขี่เวสป้าแต่ไม่รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน ก็ยิ่งย้ำชัดถึงความแปลกใหม่ของเวสป้าในบ้านเรา อย่างไรก็ดี ความประทับใจของผมที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด น่าจะเป็นตอนผมไปเรียนต่อที่อิตาลีแล้ว เพราะเห็นเวสป้ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างแท้จริงของผู้คนที่นั่น”
อาจารย์ต้นอธิบายว่า ด้วยความที่ผังเมืองของอิตาลีเป็นผังเมืองเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน ซึ่งถนนทุกสายจะมุ่งสู่จัตุรัสกลางเมือง ทำให้ถนนมีขนาดเล็กและแคบ เวสป้าจึงเหมาะกับการใช้งานที่สุด และเป็นพาหนะที่ถูกออกแบบโดยยุคสมัย ทั้งการดีไซน์ด้วยการขึ้นรูปจากเหล็กที่มองแล้วรถมีรูปทรงคล้ายกับตัวต่อ (Vespa ในภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า ตัวต่อ) ซึ่งเป็นดีไซน์ที่สอดรับการแรงต้านของลม ทำให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ดี นับเป็นคอนเซปต์เดียวกับที่นักออกแบบเครื่องบินใช้ จนกลายเป็น Supremo Design หรือรูปทรงที่สมบูรณ์แบบตอบโจทย์การใช้งานที่อยู่เหนือกาลเวลา
“ผมมองว่า Supremo Design มันก่อให้เกิดความยั่งยืน อย่างที่เห็นว่าเวสป้ามันถูกใช้แบบ Lifetime หรือทั้งชีวิตของคนคนหนึ่งเลยนะ บางคันพ่อใช้จนตัวเองขี่ไม่ไหวแล้ว ก็ยกให้ลูกใช้ต่อ สมรรถนะที่ดีก็เรื่องหนึ่ง แต่ดีไซน์มันกลายเป็นสิ่งไร้กาลเวลาและไม่ยึดโยงอยู่กับแฟชั่นแล้ว นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนอิตาเลียนภูมิใจกับเวสป้ามากๆ”
เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับที่มีลายเซ็นการกำกับเป็นเอกลักษณ์
กับการตีความเวสป้าเป็นคำ Adjective ทั้งเรื่องของดีไซน์และความรู้สึก
นิยามสำหรับเวสป้าของใครหลายคน อาจเป็นเพื่อน เป็นคู่ชีวิต เป็นสกู๊ตเตอร์ หรือเป็นยานพาหนะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำนามที่สามารถนิยามความรู้สึกได้ แต่สำหรับ เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับที่มีลายเซ็นการกำกับเป็นเอกลักษณ์ กลับตีความเวสป้าเป็นคำคุณศัพท์ (Adjective) ที่ไม่มีความหมายตายตัว
“คำแรกที่คิดออกเกี่ยวกับเวสป้าคือคำว่า Identity คือใครก็ตามมองไปที่เวสป้า ทุกคนจะรู้ทันทีว่า นี่คือเวสป้า ต่อให้เห็นเป็นสกู๊ตเตอร์ยี่ห้ออื่น ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะบอกว่านี่คือทรงเวสป้า ซึ่งเราคิดว่าตรงนี้มันเจ๋งว่ะ มันผ่านเวลาและการรับรู้ของผู้คนมาเนิ่นนาน และยังคงเป็นอยู่แบบนั้น จนวันหนึ่งก็กลายมาเป็น Adjective”
แม้ว่าเต๋อจะไม่ใช่คนที่ใช้งานเวสป้าด้วยตัวเอง แต่กลับสามารถตีความนิยามของเวสป้าด้วย Perception แบบคนนอกที่สื่อสารถึงดีไซน์และเอกลักษณ์ออกมาได้อย่างหมดจด ทำให้ผลงานกำกับภาพยนตร์โฆษณา The Adjective เมื่อสองปีก่อนของเขา เป็นการทบทวนมุมมองที่มีต่อเวสป้าและแทนภาพเวสป้าด้วยคำคุณศัพท์ ที่ไม่ว่าใครต่างก็รู้สึกได้เหมือนกัน
“ผมไม่ได้คิดว่าควรจะเป็นคนเพศอะไร แต่เห็นภาพของคนตัวเล็กๆ ทะมัดทะแมง มั่นใจในตัวเอง และใส่ยูนิฟอร์มแบบเดิมทุกวัน ซึ่งก็อาจมีเปลี่ยนดีเทลการแต่งตัวบ้าง แต่ก็ยังคงยืนพื้นด้วยยูนิฟอร์มแบบนั้น ไม่ว่าจะสิบปี ยี่สิบปี หรือต่อให้เทรนด์แฟชั่นมันเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม เรารู้สึกว่าคนแบบนี้มันเท่ชะมัด อาจไม่ใช่เพื่อนที่มีรสนิยมแบบเราเป๊ะ แต่ก็เป็นคนที่เราชื่นชมเพราะเขาเป็นตัวของตัวเอง”
ชมเรื่องราวการเดินทางตลอดระยะเวลา 10 ปี ของเวสป้า ประเทศไทยที่ www.vespa.co.th/10th-anniversary