ในโลกเรานี้มีเทศกาลดนตรีมากมายมหาศาลที่เราควรได้ไปดูด้วยตาตัวเองสักครั้งในชีวิต แต่มีไม่กี่เทศกาลในโลกนี้ที่ผ่านการคิดมาหลายขั้นตอน ใส่ใจในทุกรายละเอียดด้านความยั่งยืน และทำให้การใส่ใจโลกกับความสนุกกลายเป็นเรื่องเดียวกัน
#Wonderfruit2017 อีกงานสัญชาติไทยที่ตั้งใจส่งต่อสิ่งดีๆ ให้คนที่มาร่วมงาน ที่รวบรวมหลากหลายแนวดนตรี งานศิลปะ อาหาร เวิร์คช็อป ไปจนถึงกิจกรรมทอล์คเพื่อสร้างแรงบันดาลใจไว้อย่างลงตัว ซึ่งเหล่านี้คือสิ่งที่วันเดอร์ฟรุ๊ตได้ มอบให้เสมอมา เราได้พูดคุยกับคนหลากหลายสาขาอาชีพเพื่อดูว่าพวกเขาได้แรงบันดาลใจอะไรกลับมาบ้าง
อ้อน – ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย / สถาปนิก
“ถ้าพูดถึงสถาปัตกรรมหรือดีไซน์ที่นี่ มีประเด็นของชั่วคราวที่ใช้เวลาตั้งไว้ 4-5 วัน ก็เลยมีความสนุกในการเล่นเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ ตัวพื้นที่เองมันใหญ่ มีบริบทที่ประหลาด เพราะมันอยู่กลางทุ่ง แล้วคนที่ต้องจะทำทั้ง Installation art หรือ สถาปัตยกรรมชั่วคราว ก็ต้องเล่นกับประเด็นนี้ ซึ่งปกติเราก็ไม่ได้เห็นเงื่อนไขแบบนี้ในงานอื่นๆ
ถ้าสนใจในเรื่องสถาปัตยกรรมของชั่วคราว ในงาน #Wonderfruit มีของที่พยายามจะใช้ข้อจำกัดของความชั่วคราวให้มันมีความสร้างสรรค์และน่าสนใจ เดินดูแล้วสนุกมาก ถ้ามีใครสนใจเรื่องการสร้างพื้นที่ด้วยของชั่วคราว จะรู้สึกว่ามันเจ๋ง อีกประเด็นเน้นเรื่อง ความยั่งยืน ในงานจะใช้ของที่รีไซเคิลมาจากที่อื่น หรือใช้ปีนี้แล้วปีหน้านำมาใช้อีก คือมันมีเรื่องพวกนี้ฝังอยู่ค่อนข้างเยอะมาก
มันเป็นกิจกรรมที่เป็น Creative Community แต่ละปีงานก็จะเพิ่มของขึ้นเรื่อยๆ คอนเทนท์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเชิง อินสตอลเลชั่นอาร์ต ดีไซน์ ความยั่งยืน มันเป็นประสบการณ์ที่สนุก ใครไม่เคยเจอของแบบนี้ก็สนุกดี”
กบ – พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม / วิชวลดีไซเนอร์
“งานนี้เป็นงานเดียวในเมืองไทยที่เอาศิลปิน Visual Art หลากหลายสาขา Installation art , Landscape, สถาปนิก, แฟชั่น ทุกอย่าง แล้วก็คัดคนแปลกๆ จากทั่วโลกที่มีคอนเซ็ปต์ไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะทาง Eco และทาง Material มาพัฒนาตรงนี้ ซึ่ง #Wonderfruit จะมีคอนเทนท์ของงานที่ศิลปินถอดคอนเซ็ปต์ออกมาลึกกว่า คนที่มาจะได้เห็น ได้เสพงานศิลปะที่มีคอนเซ็ปต์ชัด
ในมุมของผมงานนี้ก็มี Lighting และ Live Visual ที่อยู่ในงานแล้วทำให้คนเข้าไปแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นเทคโนโลยีจนเกินไป เพราะมันถูกดีไซน์ให้พอดีกับความเป็นธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งผมรู้สึกว่าสำหรับคนที่สนใจทางด้าน Live Visual การมาดูตรงนี้เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่แตกต่างจากเฟสติวัลที่คุณเคยไปในประเทศไทย
อย่างคนที่ทำงานศิลปะด้วยกัน เราจะยิ่งรู้สึกว่า เทศกาลที่ใส่ใจเรื่องพวกนี้ มันทำด้วย Passion มันไม่ได้ทำด้วยอีเว้นท์ ไม่ใช่แค่การจับหลายอย่างมาใส่แล้วบอกว่านี่เป็นเทศกาล แต่งานนี้ทุกชิ้นมีดีเทลของศิลปินอยู่ มันมีความใส่ใจ ตั้งใจ อันนี้แหละคือเสน่ห์ที่ผมเชื่อว่าคนจะลอกเลียนแบบยาก เพราะว่า Passion มันลอกกันไม่ได้ คุณทำเทศกาลเดียวกันได้ ทำคอนเซ็ปต์เดียวกันได้ แต่คุณไม่สามารถขโมย Passion ได้จากศิลปินที่มาร่วมงาน
รุฬห์ – วิรุฬห์ กุลตัณฑ์ / ช่างภาพ
“Wonderfruit เปิดโลกเรา ทำให้เราได้รู้สึกว่า เห้ย แบบนี้ก็มีหรอ ?! ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เราไม่เคยได้เห็นจากงานอื่นๆ ชอบบรรยากาศ Vibe มันได้ บางทีหันไปเจอใครไม่รู้ถอดเสื้อใส่หน้ากากแล้วก็เต้น แล้วบวกกับอากาศที่แบบว่ากลางวันไม่ได้เย็น แต่คนรวมตัวกันเต้น เราชอบตรงนั้น เรามองว่ามันหายาก
เรารู้สึกว่า ในการถ่ายภาพ มันพร้อมจะเกิดอะไรใหม่ๆ ที่คุณไม่ได้คาดคิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตรงนั้นมันจะสนุกในการบันทึกความทรงจำของเราลงไปในฐานะช่างภาพ แล้วมันจะเห็นแง่มุมใหม่ๆ เช่น คนถ่ายภาพบุคคล เราก็ไปเจอบุคคลที่แปลกๆ กว่าปกติที่เราเคยเจอ คนต่างเชื้อชาติ คนแต่งตัวต่างกันสุดโต่ง ไม่มีธีม ความพริ้วของลายผ้า ฝุ่นตอนเค้าเดินเค้าเต้น เราก็ได้เก็บบรรยากาศจากคนพวกนี้ หรือคนชอบถ่าย Landscape พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เราก็จะได้ถ่ายมุมที่มันกว้างๆ มีคน มี Vibe มันก็จะเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ประสบการณ์ที่ใหม่สำหรับคนถ่ายภาพ มันก็จะเพลิน
บอกเลยว่าคุณมาแล้ว อะไรก็ได้ ไม่ต้องซีเรียสว่าจะเป็นฟอร์แมตอะไรในการถ่ายภาพ จะมือถืออย่างเดียวก็ได้ จะกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้ง แรงบันดาลใจจะเกิดขึ้นได้ตลอด ผมเรียกมันว่าความเป็น #Wonderfruit มันเกิดขึ้นทุกๆ เวลา
อยากให้มาลองสัมผัสกัน ฟังจากคนนิยามไม่ได้ ลองมาสัมผัสดู แล้วเราเชื่อเลยว่า ถ้าได้มาสัมผัสแล้วคงตอบเหมือนๆ กับเราว่า มันคือ #Wonderfruit”
ซินดี้ – สิรินยา บิชอพ / นางแบบ, นักแสดง, พิธีกร
“การไป Wonderfruit เหมือนเป็น 4 วันที่เราได้ปลดปล่อย ได้ลืมกรอบที่บางทีเราอยู่ในเมืองหรือทำงานที่ค่อนข้างเป็นตาราง การไปที่นั่นมันไม่มีกฎ เราได้ปล่อยความคิดให้เป็นอิสระ ได้ไปเต้นโดยที่ไม่ใส่รองเท้า ไปนั่งบนดิน ดูเขาเล่นโยคะ มันเป็นการเติมส่วนที่เป็นครีเอทีฟเข้าไปในชีวิต เติมบางสิ่งบางอย่างที่มันขาดไปในชีวิตคนกรุง
เราได้สัมผัสอะไรด้วยกันเป็นครอบครัว เด็กไปทุกปีเขาก็โตขึ้นและสังเกตสิ่งที่ไม่เหมือนกันในแต่ละปี เลล่าชอบเรื่องของแฟชั่น เอเดนสนใจเรื่องของดนตรี เดินไปเดินมาเจอบูธดีเจก็ยืนเต้นคนเดียว เป็นการเปิดสมองโดยที่ไม่ต้องไปบอกอันนี้ดีไม่ดี อันนี้ชอบไม่ชอบ เมื่อเขาได้สัมผัสกับหลายๆ อย่าง หลายๆ บรรยากาศ มันก็เป็นการเปิดจินตนาการ เป็นการสอนแบบที่เราไม่ไปสั่งเขา
ต้องไปให้ได้ แนะนำให้ไปตั้งแต่เช้า แนะนำให้เด็กเล่นใน Camp Wonder ที่เป็นไฮไลท์ของเด็กที่ได้ร่วมกิจกรรม เรื่องของศิลปะ ของเล่นInteractive Installation art ที่ไม่ได้แค่เล่น แต่เป็นส่วนนึงที่เราจะสร้างผลงานด้วย พักเที่ยงก็มีของกินในตัวงาน ตกบ่ายก็ไป Wonder Salon แต่งหน้าแต่งตัว ทำอะไรที่มันหลุดโลกไป เย็นๆ หาเวทีดนตรีสักที่ที่เราชื่นชอบ นั่งฟังเพลง หรือไม่ก็แดนซ์กระจาย รับรองว่าทุกคนได้อะไรจากการไป Wonderfruit แน่นอนค่ะ”
นี – ชาลิสา วีรวรรณ / ทราเวล บล็อกเกอร์
“ในเมืองไทยยังไม่เคยเห็นเทศกาลไหนที่จะเหมือน Wonderfruit ถือเป็นเทศกาลที่บุกเบิกในสไตล์นี้ เป็นการผสมผสานความเป็นไทย เข้ากับคอนเซ็ปต์ของการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แล้วก็การสนุกอย่างไรให้ไม่ทำลายธรรมชาติ เราไม่ใช้อะไรก็ตามที่มันเกิดขยะ นี่คือเป็นเสน่ห์ของงาน
เราจะได้เจอผู้คนที่มีไอเดียใหม่ๆ ในการทำเสื้อผ้า แล้วก็นำมาเสนอ บางคนเน้นออแกนิค คอตต้อน การย้อมสีธรรมชาติด้วยเทคนิคที่ไม่ทำลายโลก และในขณะเดียวกันก็รักธรรมชาติแล้วก็ผสมกับสิ่งใหม่ๆ เราก็จะเห็นความหลากหลายมากมายในแง่ของการใช้วัสดุธรรมชาติไปเลย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราพยายามโฟกัสกับมัน อันนี้ก็คือในส่วนของแฟชั่นที่มันน่าสนใจมากๆ
ถ้าเกิดทุกคนมา ทุกคนก็จะได้ประสบการณ์แตกต่างมากมายเต็มไปหมด แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่สำคัญมากๆ เลยคือการเดินออกนอกกรอบของตัวเอง การใช้ชีวิตของเราที่เคยอยู่อย่างสบาย มันเหมือนเราไปลุยนิดนึง มันไม่ใช่บ้าน เราต้องไปนอนเต็นท์ ต้องไปจองที่พัก แล้วเราก็ต้องอยู่อย่างนั้น 4 วัน 4 คืน โดยที่มีกิจกรรมอะไรต่างๆ มันเซอร์เรียล มันเหมือนออกไปจากสิ่งที่เราเคยเป็น สิ่งที่เราคุ้นเคย นั่นคือประสบการณ์ใหม่ที่ทุกคนจะได้รับ และมันก็แตกต่างกันไปว่าทุกคนจะได้รับแบบไหน
เชฟแบล็ค – ภานุภน บุลสุวรรณ / เชฟ
“โดยทั่วไปเชฟร้อยเปอร์เซ็นต์จะอยู่ในครัว แต่การได้มา Wonderfruit คือเชฟได้ออกนอกครัวและได้ทำอะไรใหม่ๆ ในสถานที่ใหม่ๆ ที่ความพร้อมไม่เหมือนครัวโรงแรมหรือครัวตัวเอง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ตอนนั้น Wonderfruit อยากให้ทำอาหารที่เป็นตัวเรา ไม่ได้บังคับให้ทำแบบนั้นแบบนี้ แล้วก็ได้ทำอาหารที่เป็นความถนัดของเรา เช่น พวกของหมักดอง หรือใช้ของพื้นที่ อยากให้ชาวต่างชาติหรือคนที่มาได้เข้าใจอาหารถิ่นแล้วก็ของหมักของดอง
บรรยากาศโดยรวมของ Theatre of Feasts เป็นโครงสร้างที่สวยจุดนึงเลย เพราะมันเป็นซุ้มไม้ไผ่ เหมือนเป็นโรงอาหารที่มีดีไซน์สวยงามมาก มันใหญ่ และจุคนได้เยอะ นั่งสบาย อารมณ์เหมือนอยู่ต่างประเทศที่ทุกคนลุกจากโต๊ะนู้นไปโต๊ะนี้ไปนั่งคุยกัน กินดื่มกันเหมือนเป็นปาร์ตี้ มีคอมมูนิตี้ใหม่ๆ เจอเพื่อนใหม่ ได้คุยในเรื่องที่ตนเองสนใจ ผมเองก็มีโอกาสได้ลงไปคุยกับลูกค้าด้วย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ได้แชร์ความรู้ใหม่ๆ ต่อกัน บางคนที่มาก็ชอบอาหารหมักดองมากๆ เขาก็จะมีคำแนะนำให้เรา หรืออยากให้เราแนะนำอะไร เหมือนได้เพื่อนใหม่แล้วก็สังคมใหม่ๆ
อยากให้ทุกคนมาสัมผัสสิ่งที่นอกจากอาหารคือ ประสบการณ์เพื่อน เติมเต็มชีวิตไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งที่เราสนใจ ไม่ใช่แค่ความอร่อยหรือความสวยของอาหาร”