“เหลือดีกว่าขาด”
สมัยก่อนใครๆ ก็ชอบบอกแบบนั้น อะไรที่ยิ่งเยอะก็ยิ่งดี เผื่อเหลือ เผื่อขาดไว้ อุ่นใจกว่า แต่บางทีอะไรที่มากล้นเกินพอดี ก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเสมอไป
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่องของรสชาติอาหาร ที่ถึงแม้เราจะชอบรสหวานหรือรสเค็มขนาดไหน แต่ถ้าอาหารจานนั้นหวานจัดหรือเค็มจัด ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกอร่อยใช่ไหม ความพอดีกลมกล่อมของรสชาติต่างหากที่ทำให้เรารู้สึกอร่อย ความน้อยแต่พอดีที่ว่า ไม่ได้หมายความถึงเรื่องอาหารการกินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ อย่างเทรนด์แฟชั่นแบบ minimal หรือแนวคิดเรื่อง work-life balance ที่ช่วยจัดสรรชีวิตกับการทำงานให้พอเหมาะพอดี
ลองไปดูกันว่าอะไรที่ ‘น้อยแต่พอดี’ ทำให้เราแฮปปี้กว่าได้ยังไง
Minimal น้อยสิ่งยิ่งสบายใจ
สำหรับใครที่เป็นแฟชั่นนิสต้าตัวยง น่าจะต้องเคยประสบปัญหาเรื่องการเลือกเสื้อผ้ามาใส่ไม่ถูก เพราะเปิดตู้มาก็มีให้เลือกเยอะแยะมากมายไปหมด ตัวนั้นก็ดี ตัวนี้ก็สวย ยังไม่รวมแอสเซสเซอรี่อีกล้านแปดชิ้นที่จับมามิกซ์แอนด์แมตซ์กันไม่ถูก ไหนจะต้องตามติดคอลเลคชั่นใหม่ตามฤดูกาลให้ไม่ตกเทรนด์อีก ซึ่งตัวเลือกที่มากมายเกินไปเหล่านี้คือต้นเหตุของความทุกข์ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เป็นทุกข์ของคนที่มีตัวเลือกมากเกินไปจนชีวิตยุ่งเหยิงอยู่กับการเลือก เพราะในโลกของทุนนิยมไม่เคยมีคำว่าพอดี แม้ว่าแบรนด์เสื้อผ้าหลายแบรนด์พยายามขายความ unique ยามที่สวมใส่ให้รู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเอง หากแต่ความจริงการที่ต้องตามเก็บคอลเลคชั่นใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่ต่างอะไรกับการเป็นคนที่วิ่งตามกระแสแฟชั่น จนไม่เหลือความเป็นตัวเองเลย
ท่ามกลางความยุ่งเหยิงของแฟชั่นที่ทำให้หลายคนปวดหัว ก็เกิดเทรนด์แฟชั่นแบบ minimal ขึ้นมา ซึ่งเทรนด์ที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงการใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นหรือสีพื้นๆ แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเลือกใส่เสื้อผ้าที่พอดีกับความต้องการของเราจริงๆ โดยให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นการสวมใส่เป็นหลัก ไม่ต้องกังวลกับการเลือกที่ไม่ลงตัวสักทีอีกต่อไป อย่างที่ Joshua Fields Millburn และ Ryan Nicodemus แห่งเว็บไซต์ The Minimalists ได้บอกไว้ว่า ความ minimal ช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งมากขึ้น ลดความตึงเครียดในชีวิตด้านอื่นๆ ลงได้ ความสุขที่เกิดขึ้นจึงมาจากการได้เลือกในสิ่งที่จำเป็นและพอดีกับเราจริงๆ
Work-life Balance สมดุลพูนสุข
ในยุคสมัยที่โลกการทำงานของคนเจนวายวัดความสำเร็จกันด้วย productivity หรือผลิตผลจากการทำงานที่มากที่สุด เชื่อว่าหลายคนไม่สามารถแยกแยะเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเกิดขึ้นของยุค IoT ที่ทำให้เราสามารถทำงานได้จากที่ไหนก็ได้ในโลก ที่เห็นๆ คนนั่งกดมือถือไม่ยอมวาง ไม่ใช่เพราะเล่นเกมหรือเล่นโซเชียลฯ เรื่อยเปื่อย แต่อาจกำลังตอบอีเมลงานอยู่ก็เป็นได้ ขณะเดียวกันพอถึงวันศุกร์ก็ใช้เวลาไปกับการปาร์ตี้แบบสุดเหวี่ยง เพื่อหวังจะคลายเครียด แต่พอกลับมาก็น็อคตลอดเสาร์อาทิตย์ หรือบางคนพอรู้ว่าทำงานหนัก แทนที่จะหาเวลาพักผ่อน กลับมีความคิดผิดๆ ว่าต้องออกกำลังกายหนักเพื่อทดแทนไปด้วย ผลที่ตามมาคือสุขภาพทั้งกายและใจย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จะหาความพอดีจากชีวิตได้จากที่ไหน
เพราะชีวิตของเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานแล้วตายจากไป ชีวิตยังมีด้านอื่นๆ ที่ต้องใช้กับคนที่เรารักหรือทำเพื่อความสุขของตัวเองบ้าง จึงทำให้เกิดแนวคิด work-life balance ให้ได้ยินกันหนาหูในช่วงนี้มากขึ้น หรือเรียกแบบเข้าใจง่ายหน่อยก็คือ ใช้ชีวิตแบบทางสายกลาง บาลานซ์ระหว่างเรื่องงานและการใช้ชีวิตให้อยู่กึ่งกลางพอดี ไม่ทุ่มหนักไปทางใดทางหนึ่งจนเกินไป ซึ่งหลายองค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จนเกิดคำว่า sustainable workforce คือไม่โหลดงานหนักให้กับพนักงานจนเกินไป เพื่อให้พนักงานมีแรงกายแรงใจสร้างผลงานดีๆ ให้กับองค์กรไปยาวๆ แต่หลายองค์กรก็ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าปริมาณของงาน สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองนี่แหละ ถ้าแยกงานกับชีวิตออกจากกันไม่ได้จริงๆ นักจิตวิทยาแนะนำว่าให้แบ่งใจไปเรื่องอื่นๆ บ้าง คิดถึงผลกระทบระยะยาวว่าถ้าทำงานหนักแบบนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร ให้รางวัลกับตัวเองบ้างไหม เมื่อปรับเปลี่ยนจนเกิดความพอดีได้ นั่นแหละความสุขก็จะตามมาเอง
Nose to Tail เคารพทั้งวัตถุดิบและรสชาติ
กระแสของการกินอาหารบุฟเฟต์ทุกวันนี้ หลายคนยืนยันถึงความคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป จ่ายเท่าเดิมแต่กินได้เยอะขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า waste food หรืออาหารที่เหลือๆ จากการที่เรากินไม่หมดหรือถูกปล่อยให้เน่าเสีย มีปริมาณมากถึง 1,300 ล้านตันต่อปี หรือ 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตขึ้นทั่วโลกจะกลายเป็นขยะ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต ขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งผู้คนกำลังอดอยากจากการไม่มีอาหารกิน เรื่องอาหารในโลกนี้จึงเกิดเป็นความคอนทราสต์กันอย่างน่าเศร้า เพราะการกินทิ้งกินขว้างไม่เคยพอของคนมีอันจะกินนี่เอง
ทำให้เชฟโรงแรมในอเมริกาได้รวมตัวกันกำหนดแผนการในการลดขยะจากอาหาร ด้วยการพัฒนาสูตรอาหารที่ปรุงจากเศษอาหารที่เหลือ มีการแยกขยะอาหารออกจากขยะทั่วไป รวมไปถึงสายพานบุฟเฟต์ที่เคยเรียงกันสวยๆ หยิบตักกันสบาย ก็จะถูกเก็บแช่เย็นไว้ก่อน ถ้าลูกค้ายังไม่ได้สั่ง เพื่อถนอมอาหารไว้ให้นานที่สุด ส่วนทางด้านการปรุงอาหารก็เกิดศาสตร์การทำอาหารที่เรียกว่า nose to tail โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากร้านอาหาร St. JOHN ในลอนดอน ที่มีแนวคิดว่า ถ้าต้องฆ่าสัตว์เพื่อมาปรุงเป็นอาหารก็ต้องให้เกียรติพวกเขาด้วย คือการใช้ทุกชิ้นส่วนของสัตว์มาปรุงเป็นอาหารได้ทั้งหมด ตั้งแต่จมูกยันหาง ไม่ให้เกิดขยะใดๆ
และเป็นการเคารพวัตถุดิบ รวมถึงการปรุงรสชาติอย่างพอดี ไม่หนักไปที่รสใดรสหนึ่ง เพื่อไม่ให้รสชาติหลักๆ ต้องเสียไป รสชาติพอดี แถมยังไม่สิ้นเปลืองอีกด้วย
เหมือนน้ำตาลอ้อยธรรมชาติ มิตรผล ที่ผ่านกระบวนการผลิตน้อยกว่าน้ำตาลทั่วไป คงความเป็นธรรมชาติของรสชาติและสีสัน จึงให้ความหอมหวานกลมกล่อมมากกว่า น้อยแต่พอดี แฮปปี้กับรสชาติได้มากกว่า
รู้จักกับความน้อยแต่พอดี ได้ที่…
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://psychologyoffashionblog.com/minimalism-and-mindfulness-combatants-to-our-over-consumption/
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/presence-mind/201509/hows-your-work-life-balance
http://www.eco-business.com/news/asia-pacific-chefs-chew-over-ways-to-slim-down-food-waste/
https://www.organicfoods.com.au/what-is-nose-to-tail/