ถ้าโลกนี้คือละครหลังข่าว เจ้าถุงพลาสติกที่กลายเป็นกระแสร้อนแรงในช่วงไม่นานมานี้ ก็คงอยากจะเซนเซอร์ แฮ่ม ตีอกชกหัวตัวเองเพราะถูกผู้กำกับสั่งให้รับบทหัวหน้าตัวร้ายอีกแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหล่าร้านค้าชั้นนำทั้งหลายออกมาประกาศงดแจกถุงพลาสติกก็ทำให้หลายคนแทบจะปาดน้ำตายินดีที่ได้ช่วยรักษาโลกใบนี้ให้ปลอดภัยจากปัญหาขยะล้นโลกในที่สุด
โดยหารู้ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วเรื่องถุงพลาสติกนั้นก็เป็นเพียงแค่สะเก็ดยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ขณะที่ปัญหาจริงๆ เกี่ยวกับขยะพลาสติก และการกำจัดที่ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอในประเทศไทย คือฐานขนาดมโหฬารซึ่งซุกซ่อนอยู่ใต้น้ำ รอวันที่สังคมเล็งเห็นและยื่นมือเข้ามาแก้ไขอย่างแท้จริง
ไมโครพลาสติก: กินบนฝั่ง ฝังในมหาสมุทร สิ้นสุดที่จาน
จากภาพที่ซากเต่าทะเลขาดอากาศหายใจเพราะหลอดพลาสติก ไปจนถึงซากหีบห่อขนมทั้งหลายในวาฬ โลมา ปลาต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่สัตว์ปีกที่หากินตามแหล่งน้ำคงจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าปัญหาเกี่ยวกับขยะพลาสติก โดยเฉพาะการปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำนั้นเข้าขั้นวิกฤตสักเพียงไหน หลายคนอาจบอกว่างั้นเราก็หันมารณรงค์ไม่ทิ้งพลาสติกลงแม่น้ำอย่างจริงจังกันดีกว่าไหม คำตอบก็คือดี แต่ยังไม่ดีที่สุด เพราะแท้ที่จริงแล้วต้นตอปัญหาหลักของพลาสติกเหล่านั้นมีที่มาจากบนฝั่งนี่เอง
เชื่อหรือไม่ว่ามีพลาสติกเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนที่ผลิตจริงที่ถูกนำไปใช้งานเท่านั้น ด้วยคุณสมบัติแสนทนทานพลาสติกจึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้งานซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่ามันจะใช้การไม่ได้ แต่ด้วยการใช้แบบผิดวัตถุประสงค์ ตลอดจนการกำจัดพลาสติกด้วยวิธีเผา หรือฝังกลบซึ่งไม่ถูกต้องตามกระบวนการ ทำให้เหล่าพลาสติกชิ้นใหญ่แปรสภาพกลายเป็นไมโครพลาสติกซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ก่อนจะไหลลงสู่แหล่งน้ำจืด และน้ำเค็ม แพร่กระจายออกสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ พลาสติกกว่า 22% ได้กลายเป็นมื้อเที่ยงของปลาทะเล ก่อนจะวนเวียนกลับมาเป็นมื้อค่ำสุดโอชะบนจานของเรา และคนที่เรารักในวันถัดไป
“8 ล้านตัน! คือจำนวนขยะพลาสติกที่หาทางกำจัดไม่ได้ และถูกทิ้งลงทะเลในแต่ละปี เทียบเท่าขับรถขนขยะเต็มคันรถไปทิ้งลงน้ำนาทีละหนึ่งคัน!”
บริโภคปากกาเป็นมื้อเช้า กินลูกเต๋าเป็นอาหารค่ำ
ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีงานวิจัยจาก University of Newcastle ประเทศออสเตรเลียที่จับมือร่วมกับ WWF (World Wide Fund for Nature) เจาะลึกลงไปถึงผลกระทบของปัญหาพลาสติก จนพบข้อมูลอันน่าตกใจว่า ในกระเพาะของคนเรามีไมโครพลาสติกสะสมอยู่มากถึง 100,000 ชิ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือในหนึ่งสัปดาห์เราบริโภคไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัวไปมากถึง 5 กรัม เทียบเท่าบัตรเครดิตหนึ่งใบ หรือปากกาหนึ่งด้ามเต็มๆ!
และไม่ใช่เพียงแต่บรรดาอาหารซีฟู้ดต่างๆ ที่เราบริโภคเข้าไปเท่านั้น ทว่าไมโครพลาสติกยังแทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งรอบตัวเรา อาหาร น้ำ อากาศ กลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารมนุษย์ที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ด้วยความที่พลาสติกไม่เพียงอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทว่ายังอันตรายต่อร่างกายของคนเราอย่างยิ่งยวด WWF จึงได้ใช้งานวิจัยนี้มาสร้างเป็นแคมเปญเพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายจากการจัดการกับพลาสติกไม่ถูกวิธี ผ่านแคมเปญ Your Plastic Diet ที่ใช้ภาพของใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ลูกเต๋า ปากกา หรือบัตรเครดิต สื่อให้เห็นถึงปริมาณของไมโครพลาสติกที่เราบริโภคติดต่อกันในช่วงเวลาหนึ่ง
#กินอยู่ไม่รู้ตัว แคมเปญที่จะทำให้เรากินอยู่อย่างรู้ตัว
เชื่อว่าช่วงนี้หลายคนน่าจะได้เห็นกระแส #กินอยู่ไม่รู้ตัว ตามสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ กันบ้าง ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือแคมเปญ Your Plastic Diet ในพาร์ทที่ WWF ประเทศไทยพยายามสื่อสารออกไปนั่นเอง ผ่านทั้งทางเฟซบุ๊กเพจที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักของวัตถุประสงค์อย่าง The Momentum, Chula Zero Waste, สำนักข่าวอิศราและสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews, ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ตลอดจนได้ความร่วมมือจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากวงการต่างๆ ในการช่วยประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ทาง WWF ประเทศไทย ยังได้มีการจัดงานเปิดตัวแคมเปญไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อบอกเล่าถึงที่มา ตลอดจนวัตถุประสงค์ของโครงการที่มุ่งหมายให้คนไทยหันมาตระหนักรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงของพลาสติก ซึ่งแท้จริงแล้วมีประโยชน์มากกว่าโทษหากใช้อย่างถูกวิธี มีการนำกลับมาใช้ซ้ำจนเกิดประโยชน์สูงสุดก่อนทิ้ง ตลอดจนการจัดการด้านขยะในสังคมไทยที่ควรได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนให้ถูกต้องได้มาตรฐานต่อสิ่งแวดล้อม เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะได้รับผลกระทบต่อการละเลยด้านการจัดการขยะพลาสติกก็ไม่พ้นสัตว์น้อยใหญ่ และสุขภาพของผู้บริโภคอย่างเราๆ นี่เอง
สุดท้ายนี้การแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่เป็นวาระเร่งด่วนของสังคมจะเกิดไม่ได้เลยหากเรามองว่ามันเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ในฐานะผู้บริโภคที่อยู่ปลายห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เราสามารถที่จะเริ่มต้นช่วยโลกได้จากการเลือกในชีวิตประจำวัน เลือกที่หันมาบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกที่จะไม่ใช้พลาสติกแบบ Single use เลือกที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตลอดจนหันมาช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ตระหนักต่อปัญหานี้มากกว่าที่เป็นอยู่
และที่สำคัญภาครัฐเองก็จำเป็นต้องมีมาตรการทั้งภายในประเทศ และความร่วมมือระหว่างภูมิภาคผลักดันให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญต่อการกำจัดขยะอย่างจริงจัง โดยหลังจากปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ที่ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนลงนามรับรองปฏิญญาดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนปีที่แล้วนั้น ก้าวต่อไปคือการที่ไทยจะขยับตัวเข้าไปในเวทีระดับโลก และเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาการจัดการปัญหาขยะทะเลที่มีเป้าหมายให้แต่ละประเทศเข้าร่วมได้ภายในปี 2023 เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม แต่การเพิ่มขึ้นของขยะทั้งจากในประเทศ และการนำเข้าขยะมายังบ้านเราก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ได้เวลาที่ปัญหาต้องถูกแก้ ก่อนที่ในหนึ่งสัปดาห์จะไม่ใช่ปากกาเพียงแค่หนึ่งด้ามที่ลูกหลานของเราต้องบริโภคเข้าไป