ผลการจัดทำโพลออนไลน์ ของ 10 สื่อ 10 นักวิชาการ ที่ตั้งคำถามเพียงข้อเดียวว่า “ส.ว.ควรเคารพเสียงของประชาชน โดยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงของ ส.ส.” หรือไม่ และเปิดให้ร่วมโหวตระหว่างเที่ยงของวันที่ 15 พ.ค.2566 – เที่ยงของวันที่ 18 พ.ค.2566 ออกมาแล้ว ปรากฏว่ามีผู้มาร่วมตอบคำถามในโพลนี้มากถึง 3,487,313 ครั้ง กว่า 84.62% ตอบว่า เห็นด้วย และ 15.38% ตอบว่า ไม่เห็นด้วย
ผู้ร่วมจัดทำโพลนี้ภายใต้ชื่อเครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนยังออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ ส.ว.รับฟังเสียงของประชาชนในการโหวตเลือกนายกฯ ไม่ควรทุ่มเถียงหรือเกี่ยงงอนกับประชาชน หรือบอกประชาชนไม่ให้กดดัน เพราะตำแหน่ง ส.ว.ไม่ได้ทำหน้าที่แบบให้เปล่าหรืออาสาสมัคร แต่มีเงินเดือนและค่าตอบแทนจากภาษีอากรของประชาชน และการเลือกนายกฯ ก็มิใช่เรื่องส่วนบุคคล หรือกิจการส่วนตัวของ ส.ว. หากเป็นเรื่องส่วนรวม ที่ประชาชนเจ้าของประเทศย่อมมีสิทธิส่งเสียงได้
ผู้สื่อข่าว The MATTER ระบุว่า ปัจจุบันมี ส.ว.หลายๆ คนที่เริ่มฟังเสียงประชาชน และประกาศว่าจะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดในเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 อาทิ ภัทรา วรามิตร, วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ฯลฯ
ทั้งนี้ ระหว่างปี 2562-2567 ที่ ส.ว.ชุดปัจจุบันยังทำหน้าที่อยู่ การโหวตเลือกนายกฯ ให้ทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จากที่ปกติจะให้เฉพาะ ส.ส.เป็นผู้โหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น คือมี ส.ว.ซึ่งคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตั้งมา (สูงสุด 250 คน) และ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง (สูงสุด 500 คน) ร่วมกันโหวต โดยผู้จะเป็นนายกฯ ได้ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น คือถ้ามีรวมกัน 750 คน ก็ต้องได้ 376 คนขึ้นไป
#Brief #สว #เลือกตั้ง66 #ElectionMATTERs #TheMATTER