“ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ที่มีเนื้อหาปลุกพลัง ความหวัง ความศรัทธา ที่วงคาราวานนำมาร้อง (หาฟังในยูทูปได้นะ)
และเชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้ว่า ผู้แต่งเพลงนี้ก็คือ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ซึ่งหากเขามีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ จะมีอายุครบ 90 ปี – เพราะเขาเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2473
ทำไมชายใส่แว่นหนาเตอะดูคงแก่เรียนนี้จึงได้รับการยกย่องในแวดวงวิชาการ ไปจนถึงนักเคลื่อนไหวเพื่อมวลชน?
ทั้งๆ ที่เขาเป็นเพียงคนธรรมดา ไม่มีภูมิหลังสูงเด่น เป็นผู้ถูกจับ ‘โยนบก’ สมัยเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์ ถูกจับเข้าคุกในความผิดฐานเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกล้อมยิงจนเสียชีวิตกลางป่าละเมาะในบ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร อันห่างไกล ด้วยวัยเพียง 36 ปี
เหตุที่ชื่อของจิตรยังถูกพูดถึงจนทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะชาติกำเนิด แต่เป็นสิ่งที่เขาทำไว้สมัยยังมีชีวิต
จิตรถูกยกย่องว่ามีความสามารถหลากหลาย ผ่านการผลิตงานเขียนงานหลายประเภท ทั้งวรรณคดี บทกวี ศิลปะ งานวิจารณ์ ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงภาษาศาสตร์ ด้วยสไตล์และเนื้อหาที่ ‘แหวกแนว’ จนหลายๆ คนอาจพูดว่า ‘เขามาก่อนกาล’
ผลงานสร้างชื่อของเขามีอาทิ โฉมหน้าของศักดินาไทย, ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, การแปลหนังสือ ‘แม่’ ของแม็กซิม กอร์กี้, การแปลหนังสือคาร์ล มาร์ก ฯลฯ ไม่รวมถึงบทกวีและบทเพลงอีกจำนวนหนึ่ง – และใช่, รวมถึงเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ด้วย
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เคยพูดไว้ว่า จิตรเกิด 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดและดับไปตามวิถีธรรมชาติ ครั้งที่สอง เกิดเป็นตำนานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และครั้งที่สาม คือเกิดเป็นนักวิชาการ
“..คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย..” ด้วยผลงานทางวิชาการและคุณูปการต่อสังคมอันมากมาย ทำให้คนรุ่นหลังยังไม่ลืมชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์ แม้เสียชีวิตไปนานแล้ว
และเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย มีคนไปทำป้ายไฟ LED แฮปปี้เบิร์ดเดย์เขาอยู่ในจามจุรีสแควร์ พร้อมข้อความ #รับพี่จิตรคืนจุฬา
#Brief #TheMATTER