คนๆ หนึ่งจะยอมเสียสละอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเล็กๆ นี้เกิดขึ้นในร้านอาหารพม่าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เจ้าของร้านตัดสินใจให้ลูกค้ารับประทานอาหารฟรี เพื่อแลกกับการบริจาคเงินส่งกลับไปต่อต้านรัฐประหารในบ้านเกิดของตน
“เมื่อผมเห็นข่าวในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผมรู้สึกไม่อยากจะทำอะไรเลย ผมไม่อยากจะขายอาหารต่อไปแล้ว ผมรู้สึกเศร้าใจอย่างมาก มันเหมือนกับว่าโลกทั้งใบกำลังถล่มลงมา” ไซ เลา ไม (Sai Lao Mai) เจ้าของร้านอาหาร Mandalay Food House ให้สัมภาษณ์ “ผมเลยคิดว่าจะเริ่มการระดมทุน เพื่อที่อย่างน้อย ผมจะพอช่วยอะไรบ้านเกิดของตัวเองได้บ้าง”
เลา ไม ประดับภาพของ อองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐที่กำลังถูกกองทัพพม่าควบคุมตัวเอาไว้ ที่หน้ากระจกร้านของเขา แสดงให้เห็นถึงความนิยมของชาวพม่าที่มีต่อ อองซาน ซูจี หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะการเลือกตั้งในพม่า อย่างถล่มทลายตั้งแต่ช่วง ค.ศ.2015 เลา ไม กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาเห็นว่าพรรคของอองซาน ซูจี คือ ความหวังเดียวในการต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่า
ร้าน Mandalay Food House ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนเพชรบุรี เปิดขายอาหารพม่าหลากหลายชนิด ตั้งแต่บะหมี่ไก่น้ำกะทิ ซุปโมฮิงกา (ซุปปลาชนิดหนึ่ง) เต้าหู้แบบฉาน รวมถึงเมนูอื่นๆ โดยมีพนักงานในร้านเป็นชาวพม่าที่เข้ามาใช้แรงงานในไทย รวมไปถึงลูกค้าที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นชาวพม่าด้วยกันเอง
เลา ไม เปิดเผยว่า เขาสามารถระดมทุนตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แล้วกว่า 3 หมื่นบาท และเขาหวังว่าจะระดมทุนได้ถึง 6 หมื่นบาทในเวลาไม่นานนี้ ทั้งนี้ เลา ไม ยังเป็นหนึ่งในชาวพม่าที่เดินทางไปร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาเปิดเผยว่า เขาแอบมีความกังวลต่อการเปิดการระดมทุนในครั้งนี้ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อร้านอาหารของเขา “แต่ถ้าเราประสบกับความสูญเสีย ก็ช่างมันเถอะ เพราะผมกังวลต่อสถานการณ์ในอนาคตของประเทศผมมากกว่า” เลา ไม เสริม
ชาวพม่าหลายคนในไทยเชื่อว่า การปฏิวัตของกองทัพในครั้งนี้ อาจทำให้การพัฒนาของพม่ากลับไปเป็นศูนย์ใหม่อีกครั้ง “หัวใจของเราแตกสลาย และมันน่าเศร้า อย่างที่คุณรู้ ในยุคของเรา เราต่างประสบกับเรื่องเลวร้ายในอดีต ถึงเราจะอยู่ในประเทศไทยอย่างปลอดภัย แต่เราเป็นคนสัญชาติเมียนมา เรารู้สึกไม่ต่างอะไรไปจากชาวเมียนมาด้วยกันในพม่า มันไม่เกี่ยวเลยว่าเราจะอยู่ที่ไหนในตอนนี้” ซานดา ปรู (Sanda Pru) หนึ่งในลูกค้าที่มาใช้บริการให้สัมภาษณ์ด้วยความรู้สึกเศร้าใจต่อสถานการณ์การรัฐประหารในครั้งนี้
เคียง ซู ไว (Khiang Su Wai) ลูกค้าของร้านอีกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์อีกว่า “มีข่าวลือว่าจะเกิดการรัฐประหารมาสักพัก แต่ฉันไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้” เธอกล่าวเสริมอีกว่า มีร้านอาหารพม่าในไทยอยู่หลายร้าน แต่ร้านนี้เป็นร้านเดียวที่เปิดรับบริจาคเพื่อการต่อต้านการรัฐประหาร ซู ไว ยังได้กล่าวอีกว่า ปกติ เธอจะติดต่อญาติๆ ผ่านทางเฟซบุ๊ก แต่ปัจจุบัน ช่องทางดังกล่าวได้ถูกกองทัพพม่าจำกัดการเข้าถึงไปแล้ว ทำให้เธอรู้สึกเป็นห่วงทุกคนที่บ้านมาก เพราะพวกเขาต่างกลัวการรัฐประหารจนไม่กล้าออกจากบ้าน
Vice เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยกำลังแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหารในประเทศบ้านเกิดของตน แต่ท่าทีของรัฐบาลไทย ที่เคยเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารยังคงนิ่งเฉยต่อเรื่องดังกล่าว โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าวเป็น “เรื่องภายในประเทศพม่า” ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าว่ารัฐบาลไทยยึดตามคำประกาศของอาเซียนในเรื่องการเรียกร้องให้พม่า “การมีบทสนทนา ฟื้นคืนความสัมพนัธ์ และกลับสู่ภาวะปกติ”
ไทยยังคงเป็นที่รองรับผู้อพยพจากพม่าจำนวนกว่า 92,000 คน ในบริเวณทางตอนเหนือของชายแดนไทย-พม่า ซึ่งผู้อพยพเหล่านี้นี่เอง ที่ต่างต้องหนีภัยความรุนแรงอันถูกกระทำขึ้นโดยกองทัพพม่า ในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้ความขัดแย้งในเชิงความแตกต่างของชาติพันธุ์ และอุดมการณ์ทางการเมือง
เลา ไม หวังว่า เขาจะนำเงินดังกล่าวส่งกลับไปยังพม่า เพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร โดยเขาจะเปิดรับบริจาคจากค่าอาหารของร้านจนถึงวันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ก่อนที่หลังจากนี้เป็นต้นไป เขาจะเปิดช่องทางอื่นในการรับบริจาคแทน เลา ไม กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมไม่อยากเห็นประเทศของเรา กลายไปเป็นเหมือนเกาหลีเหนือ ถ้าคุณไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น มาช่วยกันหยุดมัน ก่อนที่มันจะสายเกินไป”
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-asia-55902070
#Brief #TheMATTER