คดีศาลรับสินบนโตโยต้า นับเป็นคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่กำลังถูกตรวจสอบในต่างประเทศ ซึ่งกลายเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยังเกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทระหว่างบริษัทใหญ่ อย่างโตโยต้า และกรมศุลกากรไทย ในเรื่องของภาษีกว่าหมื่นล้านบาท ที่มีตัวละครอย่างสำนักงานกฎหมาย และข้าราชการระดับสูงของไทยถูกพาดพิงว่าเกี่ยวข้อง จนกระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามอีกครั้ง
หลังจากที่คดีนี้เป็นที่ถูกพูดถึงทางศาลเองก็ออกแถลงการณ์ ทางโตโยต้าเองก็ออกมาชี้แจง รวมถึงในสหรัฐฯ ก็มีการเปิดเผยกระบวนการสอบสวนออกมา ซึ่งเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นคืออะไร ทำไมศาลถึงถูกกล่าวหาว่ารับสินบนจากบริษัทรถยนต์เจ้านี้ และการสอบสวนตอนนี้ มีรายงานว่าอะไรบ้าง The MATTER สรุปประเด็นนี้มาให้แล้ว
1) ต้องย้อนไปเริ่มต้นที่ประเด็นระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และกรมศุลกากรก่อนว่า ในปี 2553-2555 บ.โตโยต้า ไทย ได้นำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูป สำหรับรถยนต์ รุ่นพรีอุส ที่เป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูป CKD (COMPLETE KNOCK DOWN) จากญี่ปุ่นเพื่อมาประกอบในไทย ภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งหากขออนุญาตจากกรมศุลกากรก่อนนำเข้า จะเสียภาษีในอัตราภาษีเพียง 30%
2) แต่ภายหลังในปี 2555 ทางศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำหนังสือแจ้ง บ.โตโยต้าไทยว่า การนำเข้า และขั้นตอนการลดอัตราภาษีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการนำเข้าดังกล่าวเป็นแบบ CKD และปริมาณสอดคล้องต้องกัน ไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ ทั้งชิ้นส่วนของรถยนต์นั้นเป็นรหัส 2ZR ของเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลบ.ซม.ตามรุ่นของโตโยต้า พรีอุส ดังนั้นต้องเสียภาษีในอัตรา 80% เพราะเป็นรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ลบ.ซม.
3) ข้อมูลชี้ว่า ระหว่างปี 2553-2555 บ.โตโยต้าไทย ได้นำเข้าชิ้นส่วนโตโยต้า พรีอุส มากกว่า 245 ครั้ง จำนวนกว่า 20,000 คัน และมีการจดทะเบียน 10,000 คัน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
โดยกรมศุลกากรแจ้งว่า อากรและภาษีขาดไปนั้น ประกอบด้วยอากรขาเข้า 7.6 พันล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 2 พันล้านบาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 2 ร้อยล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.8 พันล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเรียกเก็บย้อนหลัง
4) ด้าน บ.โตโยต้า ไทย ก็มีข้อโต้แย้งต่อการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของศุลกากร โดยอ้างว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร และตามข้อตกลง JTEPA ทุกอย่าง ซึ่งภายหลัง ทางบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ พร้อมชี้แจงข้อมูล และข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาการอุทธรณ์ ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน 2558 จะตัดสินใจยื่นฟ้องกรมศุลกากร และคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากร ต่อศาลภาษีอากรกลาง
5) ในคดี ทาง บ.โตโยต้า ไทย ชี้แจงว่า การนำเข้าตั้งแต่ปี 2553-2555 ได้สำแดงรายการและเสียภาษีต่อกรมศุลกากรครบถ้วน และไม่ปรากฏว่าพนักงานศุลกากรทักท้วง “แสดงว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า โจทก์สำแดงรายการและเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ประเมินย้อนหลังเช่นนี้ย่อมเป็นการไม่เป็นธรรม”
“การที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการ นำเข้าสินค้าอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาภายใต้ความตกลงระหว่างไทยและญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร” บ.โตโยต้า ไทยระบุ
6) ขณะที่ด้านกรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ก็ได้โต้แย้งว่าการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ พรีอุสนั้น ไม่ใช้ชิ้นส่วนที่ได้รับยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากรศุลกากร จึงต้องจ่ายภาษีย้อนหลัง
7) ในเดือนกันยายน ปี 2560 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ บ.โตโยต้า ไทยชนะคดี แต่ทางกรมศุลกากรก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ซึ่งภายหลังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ทำให้ บ.โตโยต้า ไทย กลายเป็นฝ่ายแพ้คดี ซึ่งทำให้ทาง บ.โตโยต้า ไทย ได้ยื่นฎีกาสู้ต่อ โดยทางศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาแล้ว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า คำพิพากษาที่ผ่านมาของ 2 ศาล (ชั้นต้น และอุทธรณ์) ขัดกัน
8) ขั้นตอนการต่อสู้ระหว่าง บ.โตโยต้า ไทย และกรมศุลกากร นั้นจึงอยู่ในขั้นที่ศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาเท่านั้น โดยคดียังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลัก และอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำฎีกา
9) แต่เรื่องนี้ ไม่เป็นเพียงที่พูดถึงในไทยเท่านั้น เพราะเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางสำนักข่าว Reuters ได้รายงานว่า บ.โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ในสหรัฐฯ ได้ส่งเอกสารต่อคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ (DOJ) ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563 แล้วว่า บริษัทลูกในไทย อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือก็คืออาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายการติดสินบน
10) บ.โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ชี้ว่า ที่ปรึกษาของ บ.โตโยต้า ไทย มีความเป็นไปได้ที่มีการจ่ายสินบนให้กับ ผู้พิพากษาศาลฏีกาหลายคน ทั้งที่เคยดำรงตำแหน่งในอดีต และผู้ที่ยังดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ทั้งยังจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ในวงการการเงิน และกระบวนการยุติธรรมของไทยอีกหลายคนด้วยกัน เพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ โตโยต้า พรีอุส มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็คือจำนวนที่กรมศุลกากรเรียกเก็บย้อนหลังนั่นเอง
11) ทางบ.โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ได้ทำการสอบสวนภายใน และได้ร่วมมือสอบสวนกับ SEC และ DOJ ซึ่งเป็น 2 หน่วยงานที่บังคับใช้ ‘กฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act) และยังแจ้งว่า “การสืบสวนอาจส่งผลให้เกิดการบังคับใช้การลงโทษทางแพ่งหรือการลงโทษทางอาญา, การปรับ, คว่ำบาตร โดย DOJ หรือ SEC อาจฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไปได้อีกด้วย”
12) หลังจากนั้น เว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ‘Law360’ ก็รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า บ.โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ได้ดำเนินการสอบสวนภายใน ร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายจากบริษัท Wilmerhale และเรียกการตรวจสอบครั้งนี้ว่า ‘Project Jack’
ซึ่ง บ.โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป จะเน้นสืบหาว่า พนักงานของ บ.โตโยต้า ไทยได้จ่ายเงินให้กับบริษัทกฎหมายไทย 8 แห่ง หรือจ่ายเงินให้กับบุคคล 12 คน ที่อาจมีบทบาทในเรื่องนี้จริงหรือไม่
13) เมื่อเป็นข่าวในต่างประเทศ ช่วงต้นเดือนเมษายน สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมไทยก็ได้ออกมาชี้แจงว่า ขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน เพราะการกล่าวหาเรื่องการจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษานั้นเกิดขึ้นเสมอ รวมถึงอาจไม่จริง แต่สร้างความเสียหายต่อศาลยุติธรรม แต่หากพบผู้ทำผิด ก็จะลงโทษอย่างเด็ดขาด
ขณะที่ บ.โตโยต้า ไทยนั้น ก็ได้ชี้แจงบทเว็บไซต์ ถึงคดีเลี่ยงภาษีใน 3 ข้อ ใจความคือ 1) บริษัทนำเข้าชิ้นส่วนตามข้อตกลง และเสียภาษีถูกต้อง 2) ได้ชี้แจงข้อมูล และข้อเท็จจริงแก่กรมศุลกากรแล้ว 3) ได้ทำตามขั้นตอนต่างๆ ในการนำเข้าจากกรณีความตกลงการค้าไทย-อินเดีย และยังยืนยันว่า บริษัทฯได้ดำเนินงานบนพื้นฐานความโปร่งใส ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล และดำเนินธุรกิจที่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้ามาตลอด
14) ในวันที่ 26 พฤษภาที่ผ่านมา ทางเว็บฯ Law360 ก็ได้รายงานความคืบหน้าถึงคดีนี้อีกว่า ตอนนี้ ทางการสหรัฐฯ กำลังเร่งดำเนินการสอบสวนการละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศสหรัฐฯ โดยอัยการของรัฐบาลกลางได้ตั้งคณะลูกขุนในเท็กซัส และดำเนินการหาหลักฐานต่างๆ ด้วย
15) ทั้งการเปิดเผยครั้งนี้ ยังรายงานพาดพิงถึงชื่อบริษัทกฎหมายในไทย รวมไปถึงผู้พิพากษาระดับสูงของไทย ถึง 3 ราย โดยระบุว่า “การสืบสวนภายในของโตโยต้า พบว่า บ.โตโยต้า ไทย ทำสัญญากับสำนักกฎหมายแห่งหนึ่ง เพื่อช่วยหาช่องทางไม่ปกติ กับผู้พิพากษาสูงสุดไทย ผ่านอดีตหัวหน้าผู้พิพากษา และที่ปรึกษา”
ซึ่งทาง บ.โตโยต้า ไทย จ่ายเงินเกือบ 18 ล้านดอลลาร์ (จากข้อตกลงที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 27 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 846 ล้านบาท) และจะต้องจ่ายอีก 9 ล้านดอลลาร์ หากทางบริษัทชนะการยื่นฎีกาด้วย รวมถึงมีการชี้ว่าการจ่ายเงินให้สำนักกฎหมายแห่งหนึ่งนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2558 เพื่อช่วยในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น และผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีศาลชั้นต้นนั้น ยังเกี่ยวข้องในกระบวนการของศาลฎีกาอีกด้วย
16) เมื่อมีการเปิดเผยรายชื่อผู้ที่อาจเกี่ยวข้อง หรือขั้นตอนการตรวจสอบในสหรัฐฯ ก็เริ่มทำให้มีการจับตาถึงสถานการณ์คดีที่เกิดขึ้น ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบยุติธรรมในไทย รวมถึงตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นในศาลอีกครั้ง
17) และล่าสุด เมื่อวานนี้ (27 พฤษภาคม) โฆษกศาลยุติธรรมไทย ก็ได้ออกมาชี้แจงอีกใน 3 ประการ ใจความว่า
- ทางสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจในคดีนี้ และได้ประสานขอข้อมูล และตรวจสอบกรณีดังกล่าว ผ่านกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการตอบกลับจากสหรัฐฯ ทั้งเมื่อมีการพาดพิงถึงชื่อและตำแหน่งของบุคคลบางราย ก็ได้สอบสวนไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องแล้ว
- หากได้รับข้อมูล หรือสามารถตรวจสอบได้ว่ามีมูลเป็นความผิด จะดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัยต่อไปด้วย
- ตอนนี้ขั้นตอนของคดีอยู่ระหว่างการอนุญาตให้ฎีกา และทั้งการตัดสินในไทย และสหรัฐฯ เองก็ยังไม่สิ้นสุดด้วย จึงขอให้รอผลการดำเนินการทั้งใน และต่างประเทศยุติด้วย
จะมีการเปิดเผยเอกสาร การสอบสวนของ บ.โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และหน่วยงานในสหรัฐฯ อีกอย่างไร จะมีหลักฐานว่าศาลไทยรับสินบทจริงหรือไม่ หรือกระบวนการชั้นฎีกา ระหว่าง บ.โตโยต้า ไทย และกรมศุลกากรจะเป็นอย่างไร ? เราคงต้องติดตามกันต่อไปทั้งสถานการณ์ของใน และต่างประเทศนี้
อ้างอิงจาก
https://www.law360.com/internationaltrade/articles/1369325
https://www.bbc.com/thai/thailand-56685842
https://mgronline.com/crime/detail/9640000051290
https://www.isranews.org/article/isranews/97268-investigative00-61.html
https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/97729-invesissra-10.html
https://www.thairath.co.th/content/404785
https://www.thairath.co.th/content/405029
https://news.thaipbs.or.th/content/303064
โตโยต้า แจ้งตลาดมะกัน สาขาในไทยมีพฤติกรรมเข้าข่าย ‘ติดสินบน’
https://www.toyota.co.th/prdatabase/detail/9vjyvrd8
https://www.facebook.com/rangsimanrome