“1669 สายด่วนเอราวัณสวัสดีครับ/ค่ะ”
ท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัส COVID-19 นอกจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานจนเต็มเวลาแล้ว อีกหนึ่งหน่วยงานที่ตอนนี้โดดเข้ามาเป็น ‘หน่วยเสริม’ คอยรับ-ส่ง ประสานงานกับโรงพยาบาลคือ ‘ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินเอราวัณ’
ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กทม. ได้ตัดสินใจให้สายด่วนศูนย์เอราวัณทำหน้าที่ในการติดต่อผู้ป่วย ประสานหาเตียง และส่งรถรับผู้ป่วย COVID-19 ไปตามโรงพยาบาลที่ได้ประสานเอาไว้ โดยจากคำบอกเล่าของพวกเขา ช่วงนั้นพวกเขาทำงานอย่างหนัก และบางคนอดหลับนอน ต้องทำงานมากกว่า 24 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำงาน และเพื่อไม่ให้ประชาชนที่กำลังป่วยต้องเป็นกังวลมากขึ้น
มาถึงขณะนี้ เมื่อระบบและอะไรๆ เริ่มเข้าที่เข้าทางบ้างแล้ว หลายหน่วยงานเริ่มเข้ามาช่วยเหลือพวกเขามากขึ้น ทำให้พวกเขาพอมีเวลาว่างพักหายใจ มีรอยยิ้ม และพูดคุยกับ The MATTER ได้บ้าง
The MATTER มีโอกาสใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ กับบุคลากของศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ทั้งด่านหน้า (พนักงานขับรถรับผู้ป่วย) และหลังบ้าน (ผู้บริหารและฝ่ายกำกับการ) และเบื้องล่างนี้คือเรื่องราวการทำงานที่เข้มข้นตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาของพวกเขา
(1)
ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพฯ
“ช่วงปกติเราจะเป็นสายที่รับผู้ป่วยวิกฤตหรือฉุกเฉินที่โทรเข้ามา แต่พอมีการระบาดของไวรัส COVID-19 เราก็ได้รับมอบหมายจากผู้ว่า กทม. ให้เข้ามาดูแลบริหารเรื่องของเตียง การรับสายด่วน และรับ-ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล” นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินเอราวัณกรุงเทพมหานครเล่าให้ฟังถึงาการทำงานของศูนย์เอราวัณ
ทุกวันนี้ ศูนย์เอราวัณทำงาน 24 ชั่วโมง โดยจะแบ่งงานออกเป็น 3 กะคือ กะเช้า 8.00-16.00 น. กะบ่าย 16.00-24.00 น. และกะกลางคืน 24.00-8.00 น.
โดยหน้าที่ของศูนย์เอราวัณคือเป็นศูนย์กลางการประสานหาเตียงให้กับผู้ป่วย โดยจะมีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ผู้ป่วยที่อาการน้อย (สีเขียว), ผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) และผู้ป่วยอาการรุนแรง (สีแดง) ทั้งนี้ นพ.พรเทพ เล่าว่าสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยโทรเข้ามาต้องมีคือ ผลตรวจแล็บยืนยันว่าติดเชื้อไวรัส COVID-19
“บางครั้งมีกลุ่มที่โทรเข้ามาไม่มีผลแล็บ แต่มีผลตรวจเลือด ซึ่งไม่ใช่การตรวจมาตรฐาน เราก็ต้องไปตรวจดูอีกที แต่ถ้า โทรมาแล้วมีผลแล็บยืนยัน เราจะถามอาการดูว่ามีความเสี่ยงระดับไหน สีแดง, สีเหลือง หรือสีเขียว”
“ถ้าสีแดง เราจะส่งรถของเราไปรับผู้ป่วยทันที ถ้าสีเหลืองเราจะให้คำแนะนำและประสานหาเตียงนอนโรงพยาบาล ถ้าเป็นสีเขียว อาการน้อย ไข้ต่ำ ไอเล็กน้อย เราก็ตรวจว่ามีโรงพยาบาลสนามไหนใน กทม. ที่เหมาะกับคนไข้ แล้วเราก็จะจัดรถไปรับผู้ป่วย”
นพ.พรเทพอธิบายการทำงานของศูนย์เอราวัณต่อว่า นอกจากรับผิดชอบผู้ป่วยที่ติดต่อเข้ามาโดยตรงกับศูนย์แล้ว พวกเขายังมีหน้าที่จัดการข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจจากโรงพยาบาลในสังกัดศูนย์เอราวัณ รวมถึงสำนักอนามัยกรุงเทพฯ และรถพระราชทานที่เข้าไปตรวจเชิงรุก ก่อนที่จะโทรหาคนไข้เพื่อเช็คข้อมูล ประสานโรงพยาบาล และส่งรถไปรับตัวผู้ป่วย
“จริงๆ เรารับส่งผู้ป่วยกลุ่มที่โรงพยาบาลในเครือเราตรวจมาตลอด ตัวเลขที่รับส่งจริงๆ เกินหลักพันแล้ว แต่เฉพาะช่วงนี้ช่วงเดียวคือตั้งแต่วันที่ 10 – 28 เมษายน รถศูนย์เอราวัณเองรับผู้ป่วย 965 รายแล้ว”
“ช่วงนี้ยอดคนไข้มันพุ่งแบบก้าวกระโดดมาก ก่อนหน้านี้เดือนนึงเรารับคนไข้อยู่ที่หลักร้อย ตกวันนึงอาจจะ 5-10 ราย แต่ช่วงนี้ ถ้ารวมทุกหน่วยงานที่มาช่วยก็มี 100-200 ราย”
“ทุกหน่วยงาน” ที่คุณหมอพูดถึงคือ กทม. และกองทัพ ที่ได้ส่งกำลังคนข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งนพ.พรเทพเล่าว่าทุกวันนี้ ทั้งสองหน่วยงานสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของศูนย์ได้เยอะมาก ทำให้ผู้ป่วยที่เคยค้างท่อ ไม่สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้กลายเป็น 0 ในที่สุด
“ทางด้านรถสำนักงานเขตและรถของทหารก็รับอีก 878 ราย ซึ่งกลุ่มนี้มาช่วยได้มาก ในช่วงวิกฤตที่คนไข้เยอะๆ” นพ.พรเทพกล่าว
“ตอนแรกฝั่งทหารส่งรถมาช่วย 10 คัน แต่ตอนนี้ผมให้ทหารลดกำลังลง เพราะทางเทศกิจมี 50 เขต และก็มีรถถึง 50 คัน ถ้าสมมุติตอนเช้า เราสรุปข้อมูลและประสานโรงพยาบาลว่าเขตบางแคมีผู้ป่วย 6 ราย เราก็ส่งข้อมูลไปให้เขตเลย เทศกิจเขาจะจัดรถไปรับ”
มาถึงสิ้นเดือนเมษายน คุณหมอมองสถานการณ์ตอนนี้ในแง่ดีว่าการแพร่ระบาดกำลังลดลง เพราะได้ครบ 14 วันหลังวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์แล้ว อย่างไรก็ตาม คุณหมอยืนยันว่าคนไข้จะน้อยหรือมาก ศูนย์เอราวัณก็ยังทำงาน 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์เช่นเดิม
“นอนสิ คนเราต้องนอน จะมากจะน้อย 2-3 ชั่วโมงก็ต้องนอน” นพ.พรเทพ กล่าวแล้วหัวเราะทิ้งท้าย ขอบตาบวมคล้ำและรอยยับย่นจากความเครียดแต่งแต้มบนใบหน้า
(2)
1669 สายด่วนเอราวัณ สวัสดีครับ/ค่ะ
ตะวันเลยหัวไปหน่อยแล้ว เมื่อ นารอน แสนทวีผล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษและผู้กำกับดูแลการรับแจ้งเหตุ เดินลงมาจากชั้นสองของตึกศูนย์เอราวัณ ความเหนื่อยอ่อนที่ฉายอยู่บนใบหน้าเขาถูกอธิบายว่า
“สายด่วนเอราวัณ 1669 ทำงาน 24 ชั่วโมง ทุกวัน ไม่มีวันหยุด แต่วันหนึ่งเราก็จะแบ่งเป็น 3 กะ สลับเปลี่ยนเวียนกัน 24 ชั่วโมง”
“แต่สำหรับพี่เอง ก็มีวันที่ต้องอยู่เวรคือวันจันทร์ พุธ และศุกร์ อย่างเช่นเมื่อวานวันพุธ (28 เมษายน) ก็อยู่ตั้งแต่แปดโมงและจะได้กลับบ้านสี่โมงเย็นของวันนี้ ยังไม่ได้นอนเลย แต่อันนี้สำหรับพี่นะ เพราะต้องคอยบริหารจัดการเรื่องของสายเข้า-ออกตลอด”
ในใจเราลองคิดเลขคร่าวๆ พบว่าทุกวันนี้ นารอนจะทำงานเป็นเวลาทั้งหมด 96 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละมากกว่า 13 ชั่วโมงต่ออาทิตย์
นายพยาบาลเล่าว่าหน้าที่ของศูนย์เอราวัณจุดนี้คือดูแลพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร ซึ่งบรรจุประชากรราว 10 ล้านคนในกรุงเทพฯ ซึ่งในสถานการณ์ปกติ จะมีผู้ป่วยโทรมาวันละ 1,700-1,800 สายต่อวัน แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ สายโทรศัพท์กลับดังเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งเท่าหรือบางช่วงสองเท่าตัวต่อวัน โดยมีทั้งผู้ป่วยตามปกติ ผู้ป่วย COVID-19 ที่ประสานหาเตียง รวมถึงผู้ที่โทรเข้ามาขอคำปรึกษา
“ในสถานการณ์ COVID-19 สายที่โทรเข้ามาก็เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งถึงสองเท่าตัว โดยช่วงวันที่ 7-8 เมษายน มีสายเข้ามาเกือบวันละ 5,000 สาย หลังจากนั้นวันที่ 9-10 เมษายน ลดลงมานิดนึงอยู่ที่ 3,500 สาย และช่วงวันที่ 25-27 เมษายนลดลงมาอีกนิดนึงอยู่ที่ 2,500-2,800 สาย”
เขายอมรับว่าช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเคยเครียดเหมือนกัน เพราะด้วยข้อจำกัดด้านบุคคลและความไม่พร้อมของระบบ ทำให้ไม่สามารถดูแลประชาชนที่โทรเข้ามาได้ทุกคน อย่างไรก็ตาม พอมาถึงขณะนี้ ระบบทุกอย่างก็เริ่มลงตัวมากขึ้น มีกำลังคนจากภาคส่วนอื่นเข้ามาแบ่งเบา รวมถึงประชาชนที่โทรเข้ามาก็น้อยลง
“ช่วงต้นเดือนเมษายน ประชาชนทุกคนเป็นกังวล โทรเข้ามาขอให้รถพยาบาลมารับ อยากไปโรงพยาบาล ซึ่งช่วงนั้นระบบและทรัพยากรของเรายังไม่สมบูรณ์แบบ ทำให้มีบางช่วงที่ติดขัด เราเองคนทำงานก็เครียด อยากช่วยเหลือพี่น้อง แต่ก็ทำได้ไม่มากพอ”
“แต่หลังจากนั้น การบริหารมันก็เริ่มดีขึ้น อย่างสัปดาห์นี้ จำนวนสายเองก็ลดลง การทำงานไหลลื่นขึ้น พอเห็นทิศทางแล้ว เช่น ช่วงบ่ายก็จะมีทีมออกไปรับผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล พอตกกลางคืนเราก็วางแผนของวันพรุ่งนี้ต่อ”
พยาบาลนารอนเริ่มทำงานในฐานะบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2537 หรือ 27 ปีมาแล้ว เขายอมรับสถานการณ์ในครั้งนี้ถือว่าไม่ง่ายเลย แต่เขาก็พยายามประคองกำลังใจตัวเองและลูกทีมเสมอ ด้วยแนวคิดการทำงานที่เขายึดถือเป็นหลักว่า “คนทำงานต้องมีความสุขและสนุกในการทำงาน เพราะถ้ามีแนวคิดตรงนี้ ผลลัพธ์มันจะสะท้อนกลับไปสู่คนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา”
“เราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำงานบริการประชาชน ถ้าเราช่วยคนได้เยอะ ก็มีความสุขนะ ถึงแม้เราจะไม่ใช่พยาบาลที่สัมผัสกับผู้ป่วย ไม่ได้ทำแผล ฉีดยา ให้น้ำเกลือ แต่ว่าเราทำงานเชิงระบบ ทำในลักษณะบริหารจัดการ มันก็สนุกอีกแบบหนึ่ง” เขาพูดแล้วยิ้ม
ก่อนถามเราอีกครั้งว่า “นี่น้องมาจากช่องไหนนะ?”
(3)
ศูนย์เอราวัณ-บ้านผู้ป่วย
17.15 น.
หลังจากได้รับหมายจากฝ่ายบริหารจัดการ พนา สุดใจดี หยิบพลาสติกหลายชิ้นขึ้นมาสวมคลุมทับรองเท้า ถุงมือ เสื้อ ก่อนสวมเฟสชิลด์เป็นชิ้นสุดท้ายและกระโดดขึ้นรถตู้ ที่ด้านข้างเขียนคำว่า ‘ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร’ เขาเพิ่มเติมให้เราฟังว่าอุปกรณ์ที่เขาสวมใส่ว่าเป็น ชุด PPE เกรด D หรือเกรดที่รองลงมาจากชุดของแพทย์, พนักงานดับเพลิง และชุดกันสารกัมตรังสี
ไม่นานรถตู้ก็ขับออกจากย่านวรจักร บริเวณที่ตั้งของศูนย์เอราวัณ กรุงเทพฯ จุดหมายปลายทางคือบ้านของผู้ป่วยรายหนึ่ง ในพื้นที่พุทธมณฑลสายสอง จังหวัดนครปฐม
ปกติแล้ว รถของศูนย์เอราวัณจะขับไปรับผู้ป่วย COVID-19 ที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลางเท่านั้น โดยจะมีรอบรับผู้ป่วย COVID-19 ถึงประมาณเที่ยงคืน ก่อนเริ่มมารับอีกครั้งในเวลาแปดโมงเช้า แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือที่จัดในระดับสีแดง รถที่แสตนบายด์ของศูนย์ก็พร้อมไปรับทันที แต่ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นหน้าที่ของรถโรงพยาบาลเลยมากกว่า เพราะมีความพร้อมและไม่ต้องเสียเวลาส่งหลายรอบ
ในฐานะคนที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับไวรัสชนิดนี้ พนักงานขับรถของศูนย์เอราวัณทุกคนจะมีความรู้เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้เป็นอย่างดี และถูกกำชับให้พยายามอย่าเข้าใกล้กับผู้ป่วยเกิน 2 เมตร ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองไม่ได้จริงๆ
“ถ้าถามว่าตัวผมกลัวโรคนี้ไหม ถ้าผมกลัว คงไม่มาทำหรอก เพราะนี่คืองานที่เราต้องจัดการ ถ้าเรากลัวงาน เราจะทำงานอย่างไร”
“แต่เคสที่กังวลคือ เคสที่เราไม่รู้ว่าผู้ป่วยติด COVID-19 หรือเปล่า อย่างเช่นเคสรถชน เราก็ต้องช่วยปฐมพยาบางเบื้องต้น และถ้าเราไม่รู้มาก่อนว่าเขามีเชื้อ การป้องกันเราก็จะหละหลวม ทีนี้พอบุคคลากรติดก็เสียแรงคนไปอีก”
คนขับรถพยาบาลของศูนย์เอราวัณจะทำงานวันเว้นวัน รอบละ 24 ชั่วโมง แต่เมื่อเริ่มมีเรื่องของ COVID-19 เข้ามา พวกเขาก็เปลี่ยนวิธีทำงานเป็นวันละ 16 ชั่วโมง/ทุกวันแทน โดยจะให้พนักงานขับรถจับคู่กันไปคราละ 2 คนเป็นระบบบัดดี้ อยู่บนรถทั้ง 14 คันของศูนย์เอราวัณ เขาเล่าให้ฟังถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่า
“ช่วงที่หนักสุดนี่วิ่งเป็น 30 รอบ มากกว่า 800-900 เคส นั่นแหละครับ วิ่ง 24 ชั่วโมงไม่ได้นอนกันเลย” พนาเล่าถึงช่วงต้นเดือนเมษายนที่ศูนย์เอราวัณเริ่มลงมาทำหน้าที่ประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยอย่างจริงจัง ซึ่งขนม นมเนย ของกินที่วางอยู่ในรถก็เป็นเครื่องยืนยันได้ดี
“ช่วงนั้นมันช่วงพีค ยังไม่มีหน่วยงานทหาร หน่วยงานเขตอื่นเข้ามาซัพพอ์ต มันเลยเกิดปัญหาร้องเรียนว่าฉันเป็นตั้งนานแล้ว ทำไมยังไม่มารับฉัน?”
รถยังคงวิ่งไปด้วยความเร็วราว 60 กม./ชม. เมื่อพนาพูดขึ้นมาว่า “ผมอยากตอบคำถามของนายกรัฐมนตรีนะ ว่าทำไม 1669 รับสายช้า แต่ผมมันแค่คนตัวเล็กๆ ไม่สามารถไปตั้งคำถามหรือไปตามนายกฯ ให้มาดูเนื้องานได้”
รถของศูนย์เอราวัณแล่นลงจากทางด่วนสู่ถนนด้านล่าง กอนเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 2 บ้านเรือนสองข้างทางเริ่มบางตา ต้นไม้เริ่มโผล่แทนที่ และตึกสูงเริ่มหายไป
“ถ้าได้คุยกับนายกฯ สักครั้งก็คงจะดี เขาจะได้เข้าใจพวกผมมากขึ้น พวกผมก็จะได้เข้าใจเขามากขึ้น ผมจะได้ไม่ฟังความข้างเดียว จะได้รู้ว่าเขาเป็นเหมือนที่คนว่ากันจริงหรือเปล่า” อยู่ดีๆ พนาก็พูดขึ้น น้ำเสียงเขาไม่ได้มีอารมณ์โกรธ แต่เจือด้วยความอยากรู้อย่างจริงใจ
อีกราว 20 นาที รถของศูนย์เอราวัณก็มาจอดอยู่หน้าบ้านผู้ป่วย บั๊ดดี้ของพนาเดินลงไปเปิดส่วนท้ายของรถ คนไข้สองราย หญิงชราหนึ่ง เด็กชายหนึ่ง ปีนขึ้นไปนั่งที่เบาะด้านหลัง เสียงขอบคุณดังขึ้นจากญาติของผู้ป่วย พนาและบัํดดี้โค้งหัวรับ
เสียงเคลื่อนยนต์ดังขึ้น ล้อหมุน รถเคลื่อนที่ต่อไปจุดหมายต่อไป ‘โรงพยาบาลผู้สูงอายุ บางขุนเทียน’
(4)
บ้านผู้ป่วย-โรงพยาบาลผู้สูงอายุ บางขุนเทียน
ฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม เมื่อรถของศูนย์เอราวัณเดินทางมาถึงโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สองหนุ่มพลขับชี้ไปที่เต๊นท์สีขาวเยื้องไปด้านหน้า สองผู้ป่วยยาย-หลานโค้งขอบคุณ หยิบกระเป๋าเดินหน้าไปที่เต๊นท์
คล้อยหลังจากสองยายหลาน พนาและบั๊ดดี้ขับรถมาจอดที่บริเวณจุดทิ้งขยะ ก่อนเริ่มทำความสะอาดทั้งรถและตัวพวกเขาเอง โดยเริ่มจากหยิบสเปรย์แอลกอฮอล์และผ้าเปียกเดินมาทางด้านหลังรถ และเริ่มไล่เช็ดตั้งแต่เบาะ จนถึงหลังคาด้านหลัง
เมื่อทำความสะอาดรถเสร็จสิ้น พวกเขาก็เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนทำความสะอาดตัวเอง โดยจะเริ่มจาก
- ถอดเฟสชิลด์ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
- ถอดพลาสติกคลุมถุงเท้าทั้งสองข้าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
- ถอดพลาสติกคลุมถุงมือทั้งสองข้าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
- ฉีกเสื้อและกลับเอาด้านในออกมา ม้วนเก็บ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
- เก็บอุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้แล้ว แยกทิ้งที่ถังขยะอันตราย
- อาบน้ำ ทำความสะอาดตัวเองอีกรอบ
เมื่อทั้งคู่ปฏิบัติจนสิ้นสุดขั้นตอนที่ถูกฝึกมา พนาก็กวักมือเรียกเราขึ้นรถ แล้วพูดว่า “ป่ะ กลับ”
(5)
หรือไม่เจอกันอีกจะดีกว่า?
นาฬิกาชี้บอกเวลาราว 21.00 น. รถของศูนย์เอราวัณที่เรา พนา และบัดดี๊ของเขาอีกคนนั่งมาด้วยกันก็มาจอดที่ย่านวรจักรเหมือนเดิม เราเดินลงจากรถโค้งขอบคุณสำหรับการเดินทางในวันนี้
“ไว้มาเที่ยวเล่นใหม่สิ” พนายิ้มพูดกับเรา
ในใจคิดเพียงว่าถ้าต้องเจอกันอีก ไม่เป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ยังไม่จบลง ก็เป็นเพราะเราติดเชื้อไวรัสและต้องโทรเบอร์ 1669 เพื่อร้องเรียกให้ศูนย์เอราวัณมาพาเราไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งไม่ว่าทางไหนก็ทำให้เราคิดหนักอยู่ดี
แต่สุดท้าย เราก็โค้งน้อยๆ ขอบคุณเขาทั้งสองอีกครั้ง และบอกให้พวกเขาถนอมตัว อย่าให้เชื้อโรคกล้ำกราย จะได้อยู่ช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการไปจนกว่าอย่างน้อยวิกฤต COVID-19 ระลอกที่สามจะจบลง หรือจนกว่า ‘วัคซีน’ จะมาถึงและถูกกระจายให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ และงานที่หนักหนาของพวกเขาอาจจะลดลงบ้าง
FACT BOX:
ศูนย์เอราวัณ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลกลาง กรุเทพมหานคร โดยขณะนี้ศูนย์เอราวัณให้ความช่วยเหลือในการเป็นสายด่วน ประสานหาเตียง และส่งรถไปรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง-ปานกลาง (สีเขียวและเหลือง) และนำตัวไปส่งที่โรงพยาบาล
ติดต่อสายด่วนศูนย์เอราวัณ: 1669
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจช่วยเหลือสามารถเข้าไปบริจาคสิ่งของจำเป็นให้แก่บุคลากรที่ทำงานได้