ตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา ร้านอาหารเป็นธุรกิจหนึ่งที่ต้องเปิดๆ ปิดๆ ตามมาตรการศบค. เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ COVID-19 โดยหลายครั้งร้านอาหารถูกสั่งห้ามให้ลูกค้านั่งทานในร้าน แต่ซื้อกลับบ้านได้ ซึ่งการระบาดใหญ่ตั้งแต่ช่วง มิถุนายน ที่ผ่านมา ก็ทำให้รัฐตัดสินใจสั่งห้ามให้บริการลูกค้าทานในร้านอาหารเป็นเวลา 30 วันในช่วงปลายเดือน
จากนั้นไม่นาน ตามมาด้วย ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 28 ลงนามวันที่ 17 กรกฎาคม และประกาศใช้วันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่ม ‘ยกระดับ’ ความเข้มข้นกับร้านอาหาร ด้วยการสั่ง ‘ปิด’ ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดความแออัด ทำให้ร้านในห้างฯ ต้องออกมาแก้เกมด้วยการหาพื้นที่เช่าข้างนอก หรือขายอาหารเดลิเวอรี ทั้งที่การกึ่งล็อกดาวน์ที่ผ่านมาหลายครั้ง ก็บังคับให้จากร้านอาหาร กลายเป็นแค่ ‘ครัว’ อย่างเดียวอยู่แล้ว
โดยข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 ข้อ 7 (1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ระบุไว้ว่า “ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น.” ส่วน (2) ห้างสรรพสินค้า “ให้เปิดบริการได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์…” โดยไม่ได้ระบุสั่งปิดร้านอาหารโดยตรง
แต่เป็นอันเข้าใจว่า ร้านอาหารในห้างที่ไม่ใช่แสตนด์อะโลนมีหน้าร้านของตัวเองนั้น เปิดทำการไม่ได้ ต้องปิดยาว 14 วันจนถึง 2 สิงหาคม พ.ศ.2564
ซึ่งแน่นอนว่าการขยับของ ศบค. ดังกล่าว ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลของการสั่งปิดกิจการในห้างฯ โดยเฉพาะร้านอาหาร และระยะเวลาออกประกาศ ที่เหมือนจะไม่ค่อยได้ให้ใครเตรียมตัว
ในชั่วจังหวะที่มาตรการล็อกดาวน์ร้านอาหารถูกหยิบมาใช้อีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน และรัฐยังไม่ได้เคาะมาตรการเยียวยาออกมาช่วยผู้ประกอบการ ในรอบนี้เราได้เห็น #Saveร้านอาหาร ในโลกโซเชียลมีเดีย พุ่งทะยานติดเทรนด์อีกครั้ง หลังจากที่ปีที่แล้วมันก็เป็นแฮชแท็กยอดฮิตเช่นกัน
แต่สิ่งที่ต่างออกไปสำหรับการปิดร้านอาหารถึงห้ามนั่งรอบนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 และผู้ประกอบการหลายคนก็ต่างยื้อจนสุดสายป่านแล้ว โดยเฉพาะร้านเล็กๆ
ในล็อกดาวน์ร้านอาหารรอบที่ 4 เราจึงได้เห็นการออกมาช่วยเหลือกันเองของภาคเอกชน รายใหญ่ช่วยรายย่อย ในหลายแคมเปญที่พวกเขาติด #Saveร้านอาหาร เช่น
- LINEMAN x Wongnai หยิบแคมเปญ #Saveร้านอาหาร มาสานต่อ หลังจากเคยทำมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นแคมเปญช่วยคนตัวเล็กโดยเฉพาะ เพราะให้ร้านค้าใหม่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เข้าร่วมกับไลน์แมนได้ โดยร้านอาหารที่ไม่เคยขายออนไลน์แบบ GP มาก่อน สามารถเข้าร่วมโครงการ LINE MAN GP ใช้ฟรี 15 วัน ขายโดยไม่โดยหักคอมมิชชั่น โดยคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือร้านอาหารได้กว่า 200,000 ราย
- Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย ขยายระยะเวลาแคมเปญ ‘เราช่วยคุณ คุณช่วยร้าน’ ประกาศส่งฟรีทุกออเดอร์ต่ออีก 8 วัน จากเดิม (26 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม พ.ศ.2564) โดยแถลงการณ์ระบุว่า “หวังช่วยร้านเล็กให้รอด ไรเดอร์มีงานมีรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า”
- ธนาคารกสิกรไทย ออกโปรโมชันใน #KPLUSmarket ของตัวเอง โดยขาย e-coupon แทนเงินสด 100 บาทในราคา 50 บาท ใช้ได้ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2564 สำหรับนำไปซื้ออาหารในร้านอาหารหลายเจ้าที่ร่วมรายการ
ไม่ใช่ธุรกิจรายใหญ่เท่านั้นที่ออกแคมเปญมาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร แต่เราก็ได้เห็นร้านอาหารหรือกิจการที่พอจะไปไหว ประกาศช่วยร้านอาหารกันเอง อย่าง ‘Steve Cafe&Cuisine’ ก็โพสต์ #Saveร้านอาหาร ในช่วงปลายมิถุนายน ประกาศรับซื้อวัตถุดิบของสด ที่ระบายไม่ทัน โดยเฉพาะจากร้านชาบู หมูกะทะ หรือร้านอาหารเล็กๆ ใน กรุงเทพฯ เพื่อนำมาทำอาหารแจกคนตกงานหรือบุคลากรทางการแพทย์
หรือการที่ ‘ATCO Thermal Paper Roll – กระดาษความร้อน’ หรือผู้จำหน่ายกระดาษที่ใช้สำหรับพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน ก็ประกาศแจกกระดาษความร้อนให้ร้านอาหาร/เครื่องดื่มฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าส่ง โดยให้ 1 ร้าน 1 สิทธิ์
และ ‘We Chef’ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มฟู้ดทรักขายอาหาร ก็ออกมาชวนร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปิดห้าง มาปรับเปลี่ยนช่องทางการขายเป็นแบบฟู้ดทรัก โดยประกาศให้คำปรึกษาด้านรถและพื้นที่ขาย
ว่าด้วยการสั่งเปิดๆ ปิดๆ ร้านอาหาร
อย่างไรก็ตาม คำสั่งการล็อกร้านอาหารที่เข้มข้นขึ้น ก็สร้างเสียงคำถามในสังคมตามมา อย่าง ‘หนุ่มเมืองจันท์’ สรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์คนดังก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่าเขา “พยายามคิดแทน ศบค. ว่าทำไมปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า ไม่ให้เขาขายแบบเดลิเวอรี แม้ว่ารายได้จากการขายเดลิเวอรีจะไม่เทียบเท่ากับการนั่งรับประทานในร้าน แต่อย่างน้อยก็ต่อลมหายใจให้เขาได้บ้าง พนักงานในร้านจะได้มีงานทำ แรงงานในกลุ่มนี้เยอะนะครับ”
เพราะทาง ศบค. ก็ไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมต้องปิดร้านอาหารในห้างฯ ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่ก็ต้องเดาไปเองว่า น่าจะเป็นเรื่องความกังวลใจการใช้ระบบปรับอากาศร่วมกันในห้างฯ ทว่าในข้อเท็จจริง หากสั่งห้ามนั่งหน้าร้าน ก็จะเหลือแค่ระบบครัวหลังร้านกับระบบส่งมอบอาหารหน้าร้าน และทาง ศบค. ก็ประกาศขอให้คน ‘งดออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง’ แล้วหากไม่จำเป็น
ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจากรัฐบาล ในวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ระบุว่าเตรียมคลายล็อกร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า โดยได้แง้มแนวทางเตรียมให้ร้านในห้างฯ ขายออนไลน์หรือเดลิเวอรีได้
โดยมีเงื่อนไขว่า ‘ห้ามเปิดหน้าร้าน’ ต้องทำมาตรการ DMHT (สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่รวมกลุ่ม และไม่รับประทานอาหารร่วมกัน) อย่างเข้มงวดกับพนักงาน การเดินทางมาทำงานของพนักงานต้องอยู่ในเส้นทางหรือพื้นที่ที่กำหนด (sealed route) และกรณีมีอาการทางเดินหายใจ เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงานทันที
ซึ่งเป็นนโยนบายล่าสุดที่กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาออกมา สำหรับการจำหน่ายอาหารออนไลน์ของร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ซึ่งหลังจากนี้จะได้นำเสนอให้ ศบค. พิจารณาอนุญาตต่อไป
เป็นอีกครั้งที่ร้านอาหารถูกสั่งเปิดๆ ปิดๆ คงไม่ง่ายนักในการทำธุรกิจท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เหวี่ยงอยู่ระหว่าง 14,000-15,000 คน/วัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ แต่ก็คงจะดีกว่าการถูกล็อกฯ ให้ขายไม่ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.prachachat.net/politics/news-723611
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945764
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/950956
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/160/T_0001.PDF
#Brief #business #TheMATTER