KKP รีเสิร์ช ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร บอกว่า แม้ประเทศไทยจะฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้เร็วกว่าประเทศอื่น แต่ตลาดหุ้นไม่ได้ฟื้นตัวไปด้วย ต่างจากประเทศที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวจากโรคระบาดเท่าไหร่นัก แต่สถานการณ์ตลาดหุ้นกลับมาอยู่ในระดับปกติ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ ขอพูดตรงๆ เพราะรักประเทศไทย มันน่าเป็นห่วงแล้วนะ
เพราะอะไร? ถ้าหากดูจากข้อมูลแล้ว บอกได้เลยว่า ประเทศที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นมาแม้ COVID-19 ยังไม่สิ้นสุด เป็นประเทศที่มี ‘ตลาดเทคโนโลยีขนาดใหญ่’ ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือไต้หวัน
เป็นเซนส์ที่น่าสนใจพอสมควร ในยุคที่ทุกอย่าง โก ดิจิทัล! นักลงทุนกระเป๋าหนักก็มองหาการลงทุนในอะไรที่เป็น ‘อนาคต’ แน่นอนว่าอุตสาหกรรมหนักแบบเก่าๆ ไม่สามารถดึงดูดใจนักลงทุนได้อีกต่อไปแล้ว
เมื่อเศรษฐกิจไทยขาด FAANG
จั่วหัวมาแบบนี้ คงงงกันล่ะสิ – FAANG คือชุดตัวย่อของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังครองโลกอยู่ตอนนี้ (Facebook, Amazon, Apple, Netflix, Google) รีพอร์ตของเกียรตินาคินภัทรตั้งใจบอกว่า เพราะประเทศไทยยังขาดบริษัทเทคโนโลยีที่จะเป็นแกนกระดูกสันหลัง ผลักดันประเทศไปข้างหน้า ซึ่งเป็นปัญหาที่เราควรจะกังวลมานานแล้ว
คลี่กางปัญหาของเศรษฐกิจไทยตอนนี้อย่างตรงไปตรงมา 10 บริษัทแรกในตลาดหุ้นไทย อันได้แก่ PTT, AOT (ท่าอากาศยานไทย), CPAll, AIS, SCG, PTTEP, GULF, BDMS (กรุงเทพดุสิตเวชการ), CFP, SCB (ไทยพาณิชย์)
เกือบทั้งหมดยังอยู่ในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม หรือ Old Economy แม้จะมีอำนาจสูงในการดำเนินธุรกิจ แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ธุรกิจที่จะได้รับความสนใจ มั่นคง หรือเป็นธุรกิจแห่งอนาคต
รีพอร์ตของธนาคารเกียรตินาคินภัทรบอกว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศสหรัฐฯ ที่มีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ 5 แห่ง หรือที่เรียกว่า FAANG อันประกอบด้วย Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Google (หรือ Alphabet ในปัจจุบัน) เป็นแกนกลาง ทั้งนี้ สัดส่วนของบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศ (Tech stock) มีมูลค่าอยู่ที่เพียง 3% ของทั้งตลาด ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะไต้หวันที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 50% ของตลาดหุ้น”
ข้อน่ากังวลใจก็คือ ระดับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในภาคการผลิตของไทยในภาพรวมแทบไม่มีการพัฒนาเลยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยยังผลิตสินค้าแบบ ‘เดิม’ ที่เริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนชัดเจนคือตลาดส่งออกไทยที่ไม่ฟื้นตัว ขณะที่ตลาดโลกต้องการสินค้าเทคโนโลยีมากขึ้น
ตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา จึงเป็นตลาดของเกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ในขณะที่การส่งออกของไทยยังคงหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
ข้อมูลอื่นๆ บอกด้วยว่า อัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับเลข 2 หลัก ลงมาที่ระดับต่ำกว่า 5% ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม มีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตโดยเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปีตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ว้าว)
เรื่องที่น่าตกใจจริงๆ คือ สัดส่วนการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech manufacturingproducts) ของไทยยังคงระดับเดิมที่ประมาณ 23% ส่วนเวียดนามแซงหน้าไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 40% ของการส่งออกทั้งหมด
อะไรทำให้ไทยไม่ไฮเทค
จากเสือตัวที่ห้า ประเทศไทยก็ต้องน้ำตาตกมาถึงทุกวันนี้ ยอมรับความจริงโดยไม่บิดพริ้วว่า ไอ้ความฝันเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย มันคงไม่น่าเกิดขึ้นกับเราในเร็วๆ นี้ ส่วนตัวที่ 6 หรือ 7 ก็ไม่รู้จะลุ้นได้หรือไม่
เราพลาดอะไรบ้าง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศผลิตเทคโนโลยีไม่ได้ แล้วการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีก็ยังสู้คนอื่นไม่ได้อีก
KKP Research ของเกียรตินาคินภัทร ชี้ละเอียดออกมาเป็น 3 จุดสำคัญ ไทยขาดอะไรบ้างในสนับสนุนการยกระดับทางเทคโนโลยี?
1) Infrastructure: ไทยยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะในด้านการศึกษาและบุคลากร
- จำนวนและคุณภาพของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร รวมถึงแรงงานด้าน IT (Information Technology) และนักวิจัยของไทยมีเพียง 1,141 คนต่อประชากรล้านคน เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และเกาหลีใต้มีจำนวนนักวิจัยสูงถึง 6,915 และ 7,394 ต่อประชากรล้านคน เรียกว่าสูงกว่าไทยถึงกว่า 6 เท่าตัว
- ข้อมูล World Digital Competitiveness ปี ค.ศ.2020 ของ IMD พบว่าระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยยังรั้งอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศทั่วโลก และแทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยคะแนนในด้านภาพรวมเทคโนโลยีของไทยสูงขึ้น แต่ในด้านการเรียนการสอนไทยอยู่ท้ายๆ ซึ่งมันสะท้อนว่าระบบการเรียนการสอนไทยยังไม่ก้าวหน้าพอที่จะพัฒนาบุคลากรให้พร้อมกับตลาดแรงงานโลกอนาคต (ที่เขาไปกันถึงไหนแล้วไม่รู้)
- ส่วนระบบการศึกษาเฉพาะทางก็ผลิตบุคลากรได้น้อย ตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 ผู้จบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศลดลงเฉลี่ย 1.4% ต่อปี
(2) Investment: ไทยขาดทั้งการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่จะช่วยต่อยอดทางเทคโนโลยี
- ประเทศไทยมีการลงทุน (R&D) น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีระดับรายได้ประชากรต่อหัวใกล้เคียงกัน เปิดตัวเลขดูกัน – ช่วงปี ค.ศ.2015-2019 ไทยมีเม็ดเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพียง 0.8% ของ GDP และหากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้ที่มีการลงทุนกว่า 4.5% ของ GDP ถือว่าไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้าน R&D ต่ำกว่าถึง 5 เท่า
- FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) ในหลายปีให้หลังน้อยลง ทำให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศน้อยลง กลับกัน เงินส่วนใหญ่ของต่างชาติหันไปลงทุนกับภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์สัดส่วนที่สูงขึ้น (จนราคาที่ดินเริ่มแพงไกลไปเกินเอื้อมมมมม)
(3) Incentives: โครงสร้างผลตอบแทนและแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจไทยไม่ได้ให้เอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในวงกว้าง
- รีเสิร์ชจากเกียรตินาคินภัทรบอกว่า ประเด็นเรื่อง Incentives นี่แหละคือเรื่องสำคัญที่สุด ที่ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีไปไปอย่างล่าช้ามาก (กกกกกกกกกก เราขอเติม ก. ไก่ ยาวๆ)
- Incentives ของรัฐบาลไทย ถูกมองว่าไม่เอื้อให้เกิดความอยากจะวิจัยและพัฒนา ซึ่งโดยธรรมชาติต้องใช้เงินทุนมหาศาลและมีอัตราการล้มเหลวสูง แต่สำเร็จแล้วสำเร็จเลย
- การผูกขาดตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศไทย ทำให้เกิดข้อจำกัดของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัทใหญ่ที่มีรายรับและกำไรสูงมักไม่มีแรงจูงใจในการลงทุน แม้ว่ามันจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนานวัตกรรม ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่บ.เหล่านั้นจะเลือกรักษาอำนาจตลาดผ่านกลไกและเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในและนอกตลาดมากกว่า
- ความอ่อนแอในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property rights) ซึ่งกฎหมายนี้ของไทยถูกจัดให้อยู่อันดับท้ายๆ ของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
- กฎระเบียบที่ยุ่งยากสำหรับการตั้งธุรกิจ Startup ในไทยยิ่งเพิ่มต้นทุนของ R&D ปัญหาเรื่องการสนับสนุน Statup ในไทยมีมานานมาก และพวกเขาก็เจอข้อจำกัดอย่างมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี เงินลงทุน ระบบนิเทศที่เอื้อสำหรับการก่อตั้ง
แล้วจะทำยังไงต่อไปดีล่ะ
ทำลายอำนาจผูกขาด – ลดกฎเกณฑ์ – เปิดเสรี นี่ข้อสรุป 3 ข้อที่รีเสิร์ชให้เอาไว้ และอาจจะเป็นเริ่มสเต็ปแรกในโลกดิจิทัลอย่างถูกต้อง
- ลดอำนาจผูกขาดตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ ผ่านการจำกัดหรือยกเลิกสัมปทาน หรือการประมูลขอใบอนุญาตที่โปร่งใสจริงๆ สำคัญที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด อย่างจริงจัง
- ลดกฎระเบียบและขั้นตอนทางราชการที่ยุ่งยากและเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นธุรกิจของผู้เล่นใหม่ ไม่ว่าจะรายใหญ่ที่มีศักยภาพลงทุนเทคโนโลยี หรือ Startup รายย่อยที่ creativity สูง ขณะเดียวกันภาครัฐควรสนับสนุน “การให้โอกาสอีกครั้ง” (Second Chance) ซึ่งเป็นเทรนด์ฮิตในยุโรป ให้ธุรกิจที่กล้าเฟล กลับมารันธุรกิจอีกครั้งได้
- ปรับปรุงระบบการศึกษาที่ให้เกิดการเรียนรู้อย่างเปิดกว้างและหลากหลาย ไม่เน้นการท่องจำ แต่ “รู้ลึก” ถึงทักษะที่จำเป็นต่อโลกทำงานที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะ คณิตศาสตร์ และ coding และ “รู้รอบ” ภาษาต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ ทักษะผู้ประกอบการ (entrepreneurial skills)
- มหาวิทยาลัยของไทยควรพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อสร้างบัณฑิตจบใหม่ให้มีทักษะทางวิชาชีพและความพร้อมในการทำงานจริง
- หนุนให้เกิดการลงทุนทางเทคโนโลยีในประเทศ ผ่านการสนับสนุนงบด้านการวิจัยและพัฒนาในสถานศึกษาและการสร้างระบบแบ่งปันผลตอบแทน (profit-sharing framework) ระหว่างภาครัฐผู้เป็นเจ้าของทุน นักวิจัย และเอกชนที่ต้องการนำผลลัพธ์ที่ได้ไปต่อยอด
จากรีเสิร์ช KKP เพิ่มเติมด้วยว่า ไทยมีหลายอุตสาหกรรมจุดแข็งน่าลงทุนทางเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอด สรุปเป็นตัวย่อ ‘F-A-T-E’
- อาหารและบริการอาหาร (Food)
- เกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์จากการเกษตร (Agriculture)
- การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ (Tourism and wellness)
- การค้าออนไลน์ และรถยนต์ไฟฟ้า (E-commerce and EV)
การขยับช้า จึงดีกว่าไม่ขยับอะไรเลยเสมอ รีเสิร์ชเตือนด้วยว่า หากอุตสาหกรรม Electric Vehicle รถยนต์ไฟฟ้าบูมขึ้นมา ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่ๆ ภายในปี ค.ศ.2030 ไทยซึ่งเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของเอเชีย และยังผลิตแต่เครื่องสันดาป อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายได้ เพราะเราจะไม่ถูกเลือกเป็นฐานผลิตหลักอีกต่อไป
ขณะที่เวียดนามก็ไล่กวดมาติดๆ ด้วยเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของ FDI ในอาเซียนแทนที่ไทย
เพราะรัฐบาลเขาทุ่มสิทธิประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรีและฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แบบไม่เหลียวหลัง ไปก่อนหน้าเราหลายก้าวแล้ว
ดาวน์โหลด Reserch ฉบับเต็ม