วันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา อดนอนตีพุงอยู่บ้าน เพราะมีการงานสตาร์ทอัพที่เขาบอกกันว่าเป็นงานสัมมนาสตาร์ทอัพที่ร้อนแรงที่สุดในเอเชียเลยนะ ไม่ต้องบินไปไกลถึงซิลิคอนแวลเลย์ เขาขนขบวนวิทยากรจากต่างประเทศมารวมกันไว้แน่นขนัด แน่นอนว่า The MATTER ก็ไม่พลาด ต้องขอไปเยี่ยมชมกิจการจะได้มีเรื่องมาเม้าท์กับเพื่อนๆ ในวงการสตาร์ทอัพบ้าง
งานในปีนี้ใช้ชื่อว่า Techsauce Summit 2016 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้ชื่อนี้ในการจัดงาน แต่ถ้าใครเป็นแฟนงานสัมมนาของ Techsauce คงรู้ดีว่าพี่เขาไม่ได้มาเล่นๆ เพราะเขาจัดงานสัมมนามาแล้วถึง 9 ครั้ง ในชื่องาน Start it up conference ปีนี้งาน Techsauce Summit 2016 จึงจัดอย่างยิ่งใหญ่เต็มพื้นที่ชั้น 22 ของ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิร์ล โดยแบ่งการจัดงานเป็นส่วนของห้องหลัก Main Stage และห้องย่อยๆ ตามหัวข้อให้ผู้เข้าชมงานได้เลือกฟัง โดยห้องที่คนแน่นจนแทบล้นออกมาก็หนีไม่พ้น Fintech Stage และ Startup Essential โดยในงานยังจัด pitch กันถึง 3 เวทีคือ Early Stage Pitching Growth Stage Pitching และ Women Entrepreneur Startup Competition
ที่แรกที่เราขอไปเยี่ยมชมคือห้อง Main Stage ยิ่งใหญ่อลังการดาวล้านดวง ไม่น้อยหน้างานสัมมนาใหญ่ๆ ในเอเชียแน่นอน ซึ่งเราย่อมไม่พลาดหัวข้อร้อนแรงที่สุดในตอนนี้อย่าง Blockchain Revolution: How it will effect everyone in the future โดย Keynote Speaker คริส สกินเนอร์ (Mr. Chris Skinner) ผู้แต่งหนังสือขายดีอย่าง Digital Bank และ ValueWeb session นี้ทำเอาฮอลล์ใหญ่ 4,000 ที่นั่งเต็มแน่นแทบจะล้นออกมา
Blockchain นวัตกรรมปฏิวัติโลก
คริส สกินเนอร์ชี้ให้เราตระหนักว่า เราจะเข้าใจว่า Blockchain สำคัญขนาดไหนและสำคัญได้อย่างไรนั้น เราต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์โลกก่อน (คือฟังแล้วก็จะไม่รู้ว่า Blockchain มันคืออะไร เพราะคริสบอกว่าคุณก็ไปหาอ่านเอาเองได้ แต่คุณต้องเข้าใจว่ามันสำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตคุณอย่างไร) โดยเขาเล่าย้อนกลับไปถึงการปฏิวัติโลกในสามยุค ได้แก่ ยุคแรก Homo sapiens หรือสปีชีส์ของมนุษย์ในปัจจุบันสามารถดำรงเผ่าพันธุ์เอาชีวิตรอดมาได้โดยที่ไม่สูญพันธ์ไปแบบบรรพบุรุษยุคดึกดำบรรพ์อื่นๆ เช่น Homo erectus ก็เพราะว่าเรารู้จักการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม มีการแชร์ความคิดและเรื่องราว
ยุคถัดมาคือการก่อเกิดวัฒนธรรมโบราณ เราเริ่มยุคการเกษตรและเกิดเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเกิดขึ้น คริสถามว่า อะไรคือเงิน ทำไมมันเป็นสิ่งที่มีค่า ก็เพราะว่าคนเชื่อในคุณค่าของมันร่วมกัน และในยุคที่สามคือยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเกิดเครื่องจักรไอน้ำ การเดินทางโดยม้าและรถม้าแบบสวยงามแต่เต็มไปด้วยขี้ม้าบนถนน ถูกแทนที่ด้วยหัวรถจักรไอน้ำและรถยนต์ อำนาจในการค้าที่มีมากขึ้นจึงเกิดมาพร้อมกับการกำเนิดขึ้นของธนาคาร ธนาคารจึงเป็นตัวแทนที่เราเชื่อถือร่วมกันว่ามีอำนาจ
แต่ทว่า ธนาคารต้องเจอกับการท้าทายในยุคที่สี่นี้ นั่นคือการมาถึงของ Blockchain นั่นเอง (เปิดตัวราวซูเปอร์ฮีโร่) ในยุคต่อเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน แต่การมาถึงของเทคโนโลยีในมือถือสมาร์ทโฟนนั้น ได้ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย (เรียกคนจนเดี๋ยวมีคนเคือง) ได้กุมอำนาจไว้ในมือและมีสิทธิที่จะกำหนดชีวิตของตัวเองได้ จากเดิมที่คนที่มีรายได้น้อยและเข้าไม่ถึงบริการของธนาคารจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการย้ายเงินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งถ้าใครนึกไม่ออกให้นึกถึงบริการโอนเงินข้ามแดนไปต่างประเทศอย่างเวสเทิร์นยูเนี่ยน ที่คนที่มีรายได้น้อยต้องเสียค่าทำเนียน เอ๊ย! ค่าธรรมเนียม (มุกบาทสองบาทก็ขอเล่น) เป็นร้อยละที่แพงเมื่อเทียบกับผู้มีอันจะกินที่เข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคาร
นอกจาก Blockchain จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเงินแล้ว Blockchain ยังเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการกำหนดตัวตน หรือ digital identity ได้ โดยไม่น่าเชื่อว่ามีคนจำนวนมหาศาลถึง 2,400 ล้านคนที่ไม่มีตัวตนในโลกนี้ เนื่องจากไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนและคนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของพวกค้ามนุษย์ Blockchain จะทำให้การกำหนดตัวตนในระบบดิจิตอลสามารถทำได้ง่ายและทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดย United Nations (คือ ‘ยูเอ็น’ ที่เราคุ้นเคย) ได้เริ่มโครงการระบบยืนยันตัวตนดิจิตอลที่นำเอา Blockchain มาใช้ตั้งแต่ปี 2013 และกำลังพัฒนาระบบนี้ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาถึง 15 ปีในการพัฒนากว่าจะสำเร็จ และ Blockchain ยังถูกนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ได้อีกหลากหลายเนื่องจากการเป็น Internet of value, Internet of things และ Internet of trust
ถ้าใครสนใจอยากรู้ว่ามันใช้ทำอะไรได้ต่อ ช่วงนี้มีการจัดสัมมนาอีกรัวๆ หรือจะเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของคริส สกินเนอร์ก็ได้ แล้วจะรู้ว่าที่อ่านมาข้างบนมันแค่น้ำจิ้ม Blockchain จึงเป็นเทคโนโลยีที่กำลังฮอตและถูกพูดถึงกันมาก เนื่องจากมันนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ไม่เพียงแต่ถูกนำมาใช้กับ cryptocurrency อย่าง bitcoin เท่านั้น แต่มันคือระบบที่ทำมาเพื่อฆ่าคนกลาง โดยใช้ความสามารถของเครือข่ายในการยืนยันและบันทึกข้อมูลไว้ ในเมื่อมันเป็นเทคโนโลยีใหม่ ตอนนี้ก็ยังมีคนที่มีความรู้ความเข้าใจจริง ๆ จำนวนไม่มาก เรียกว่าเริ่มเรียนพร้อมๆ กันเกือบทุกคน ใครยังนึกไม่ออกให้นึกถึงวันที่มีคอมพิวเตอร์แรกๆ หรือวันที่มีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นแรกๆ เพราะเทคโนโลยี Blockchain นี้บอกเลยว่ามาแน่
ติดใจจากคริส สกินเนอร์ เราก็ไปนั่งในห้องสัมมนาย่อยที่จัดว่าร้อนแรงที่สุดในงานนี้ ปีนี้เราคงได้ยินคำว่า Fintech (Financial Technology) กรอกหูไปอีก 365 วัน ขอไปฟังหน่อยว่า ชาว Fintech เขาคุยอะไรกันบ้าง ในหัวข้อ “Robo advice and the future of investing” โดยวิทยากร 3 ท่านจาก 3 สตาร์ทอัพชื่อดัง คือคุณพรทิพย์ กองชุน Jitta คุณธีระชาติ ก่อตระกูล Stockradars และคุณเจษฎา สุขทิศ Finnomena
ฝากหุ้นไว้กับหุ่น(ยนต์)
ประเด็นหนึ่งที่คนให้ความสนใจอยู่เสมอคือเรื่องของการเงินการลงทุน Jitta Stockradars และ Finnomena เลยมาเล่าให้ฟังว่าการมาถึงของ Fintech จะทำให้บริการการให้คำปรึกษาด้านการเงินการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งการลงทุนยุคใหม่จะทำผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดแทนการไปธนาคารแบบเก่า คุณธีระชาติ ก่อตระกูล จาก Stockradars อธิบายต่อว่า Robo-advisor จะเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจสำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นลงทุน โดยสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเป็น Robo-advisor เจ้าดังๆ เช่น Wealthfront และ Betterment นั้น เพิ่งเริ่มมีมาแค่ไม่กี่ปีมานี้เอง แต่เทคโนโลยีนี้กำลังมาถึงอย่างรวดเร็ว
แล้วประเทศไทยเรามี Robo-advisor หรือยัง
ในประเทศไทยยังไม่มีสตาร์ทอัพที่เปิดตัวมาเป็น Robo-advisor เต็มตัว ภายในระยะสั้น 1 ปีนี้ เราน่าจะได้เห็นการผสมผสานระหว่างระบบอัตโนมัติและรูปแบบเดิมที่มีคนให้บริการเป็นระบบ Hybrid มากกว่า ซึ่งตอนนี้กลุ่มที่น่าจะมีศักยภาพมากที่สุดคือ บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้เล่นเดิมในตลาดอยู่แล้วและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับสตาร์ทอัพขึ้นมาได้
สำหรับบริษัทต่างชาติก็มีแนวโน้มที่จะขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่การขยายตลาดเข้ามานั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณพรทิพย์ กองชุน จาก Jitta เห็นว่าความแตกต่างด้านกฎหมาย การกำกับดูแล ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญ และใบอนุญาตประกอบธุรกิจของไทยในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึง Robo-advisor ถ้าเทียบกับอเมริกาซึ่งมีกฎระเบียบที่ยืดหยุ่นมากกว่า สตาร์ทอัพจึงอาจทำได้เร็วกว่าเพราะใบอนุญาตเดิมครอบคลุมการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีด้านนี้อยู่แล้ว
แล้ว Robo-advisor ในประเทศไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรล่ะ
คุณเจษฎา สุขทิศ จาก Finnomena บอกว่าสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องคำนึงถึงคือการสร้างความไว้วางใจจากลูกค้าและการสร้าง traction จากลูกค้า Finnomena สนใจการใช้ Social Trading มาให้บริการลูกค้า โดยการใช้ User Generated Content (UGC) เช่น ถ้าใครสามารถใช้ความรู้ทำนายทิศทางของหุ้นได้อย่างแม่นยำ ก็จะได้เป็นเหมือนกูรู และระบบจะทำการประมวลผลและแสดงผลโดยรวมว่าหุ้นนั้นควรซื้อ ถือหรือขาย ซึ่ง Finnomena และ Jitta จะสร้างความรู้ให้ผู้ลงทุนด้วยการผลิตคอนเทนต์ การสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน (Financial Literacy)
คนจำนวนมากสนใจอยากลงทุนแต่ลังเลที่จะลงทุนและสงสัยว่าต้องใช้เงินมากเท่าไหร่จึงจะเริ่มลงทุนได้ กุญแจสำคัญของการลงทุนคือเรื่องจังหวะเวลา คุณพรทิพย์ กองชุน จาก Jitta ยกตัวอย่าง สตาร์ทอัพชื่อ Acorns ที่ช่วยออมเงินและแก้ปัญหาการลงทุนไปด้วย โดยเวลาเราไปซื้อของ เศษที่ไม่เป็นจำนวนเต็มจะถูกปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็ม และนำเงินนั้นไปใส่ไว้ในบัญชีเพื่อการลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนออมเงินอย่างสม่ำเสมอทุกวันและเริ่มต้นลงทุนได้ แก้ปัญหาที่คนส่วนใหญ่กังวลเรื่องไม่มีเงินเพียงพอลงทุน และขาดวินัยในการลงทุน ซึ่งการลงทุนแนวนี้เรียกว่า Micro-investing ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ยังไม่มีคนทำ และ Jitta สนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในแนวทางนี้ สตาร์ทอัพที่ทำใกล้เคียงในแนวนี้มีเพียงสตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ชื่อ Simple ซึ่งเป็น non-bank personal investment
ในส่วนของการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ Fintech นั้น ชมรมฟินเทคประเทศไทยที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานนั้นจะรับหน้าที่ประสานงานและหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะมีการออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับใบอนุญาตให้สตาร์ทอัพ FinTech โดยทำเป็น Umbrella Sandbox ซึ่งจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ชมรมจะได้หารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. กันต่อไป ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็มีแนวทางที่จะทำ FinTech Sandbox เช่นกัน
ฟังดูแล้ววงการธนาคารและหลักทรัพย์น่าจะมีหนาวๆ กับการมาถึงของ FinTech ไม่มากก็น้อย การนำระบบอัตโนมัติมาใช้หรือการใช้สมองกลในการจัดการลงทุน จะทำให้ต้นทุนในการจัดการลงทุนต่ำลง ในขณะที่ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกับคนทั่วไปที่เดิมเข้าไม่ถึงบริการด้านการจัดการลงทุน (Wealth management) ที่มักกำหนดการลงทุนขั้นต่ำไว้ค่อนข้างสูงเช่น 2-3 ล้านบาท เป็นต้น แต่ Fintech จะทำให้คนทั่วไปที่มีเงินเริ่มต้นน้อยสามารถได้รับคำแนะนำด้านการลงทุนและเข้าถึงบริการการจัดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพได้เช่นเดียวกัน มีผลตอบแทนที่สม่ำเสมอเพื่อให้คนทั่วไปสามารถบรรลุเป้าหมายในการเก็บเงินและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการเงินเพื่อการเกษียณอายุ
จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องน่าตกใจมากที่คนจำนวนมาก อาจจะไม่เคยรู้ว่าด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่ดีขึ้นในปัจจุบัน คนเราจะมีอายุยืนยาวขึ้นอาจจะถึง 100 ปี แล้วเราจะต้องเก็บเงินจำนวนเท่าไหร่หลังเกษียณอายุเพื่อให้เรามีเงินพอใช้ไปตลอดชีวิต คนจำนวนมากไม่เคยรู้แม้แต่จำนวนเงินที่ต้องใช้เพื่อการเกษียณอายุ และมักมองเป็นเรื่องไกลตัว หรือถึงเคยคำนวณคร่าวๆ แต่ก็ไม่สามารถลงทุนได้ผลตอบแทนตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลของโครงสร้างสังคมในอนาคตที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุและมีคนวัยทำงานน้อยลง เราคงไม่สามารถหวังพึ่งพารัฐหรือลูกหลานเพียงอย่างเดียวได้
การวางแผนจัดการการเงินตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี ซึ่งตอนนี้ก็มีสตาร์ทอัพที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการวางแผนทางการเงินเช่น Aommoney หรือ Finnomena และสตาร์ทอัพด้าน Fintech ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นมาอีกจำนวนมาก โปรดติดตามข่าวคราววงการสตาร์ทอัพที่ The MATTER จะนำมาเสนอต่อไป (จบด้วยขายของอย่างสวยงาม)
ปิดท้ายงานด้วยภาพเหล่าสาวงามผู้เข้าประกวดนางสาวสตาร์ทอัพ??? ไม่ใช่ละ
การประกวดแข่งขัน Thailand Women Entrepreneurs Startup Competition 2016
นอกจากการขนเอาบรรดาวิทยากรชื่อดังมาอย่างคับคั่งแล้ว ในงานยังจัดการประกวดแข่งขัน pitching ของสตาร์ทอัพหลายเวทีอีกด้วย เวทีที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษคงไม่พ้นเวทีที่รวมเอาสาวเก่งมากความสามารถมาประชันกันบนเวทีการประกวดแข่งขัน Thailand Women Entrepreneurs Startup Competition 2016 ซึ่งจัดโดยสถานทูตอิสราเอล เพื่อเฟ้นหาตัวแทนสาวไทยจากสตาร์ทอัพไทยไปเฉิดฉาย ณ กรุงเทลอะวีฟ (Tel Aviv) ประเทศอิสราเอล หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า Tel Aviv นั้นเป็นซิลิคอนวัลเล่ย์ของตะวันออกกลางเลยทีเดียว เป็นเมืองที่การเจริญเติบโตของเทคโนโลยีและอารยธรรมสตาร์ทอัพรุ่งเรืองมาก ผู้ชนะจากเวทีประกวดนี้จะได้รับเงินรางวัลหนึ่งแสนบาทและโอกาสในการไปศึกษาดูความเจริญก้าวหน้าของสตาร์ทอัพ ณ ประเทศอิสราเอลด้วย
สาวงามผู้เข้าประกวดไม่จำกัดรุ่นอายุ ในงานจึงมีตั้งแต่น้องนักศึกษาไปจนถึงพี่โตๆ ทำสตาร์ทอัพมาห้าหกปีแล้วก็มี ต่างขึ้นมาแข่ง Pitching กัน การ Pitch สั้นๆ ง่ายๆ ก็คือการพูด ปล่อยของ ที่ว่าเด็ดที่ว่าเจ๋ง หนูดีมีเรื่องสตาร์ทอัพมาเล่า ตั้งแต่ทำอะไร business model คืออะไร เติบโตสูงมากหรือจะเติบโตอีกไกลในอนาคต ทีมคือใครมีกี่คน ที่ผ่านมาทำอะไรมาบ้าง ทั้งหมดนี้ให้พูดแค่คนละ 4 นาทีเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประกวดแข่งขันทั้งสิ้น 21 ทีม ซึ่งแต่ละทีมก็เตรียมพร้อมกันมา pitch อย่างเต็มที่แถมยังงัดเอามุกเรียกเสียงฮา และเสียงเชียร์กันได้ตลอดงาน
สตาร์ทอัพบางรายอย่าง PetInsure ที่ทำประกันให้สัตว์เลี้ยง หรือ U drink I drive ที่บริการคนขับรถเพื่อลดอุบัติเหตุจากการขับขี่ขณะมึนเมา ก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวจนหลายคนต้องรีบเอาสมุดขึ้นมาจน เอามือถือขึ้นมาเสิร์ชเลยว่าจะใช้บริการต้องทำอย่างไร และทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้เป็นน้องนิสิตจากรั้วจามจุรี ได้แก่ทีม Tech Farm เป็นสตาร์ทอัพด้าน AgriTech (เทคโนโลยีการเกษตร) ซึ่งนำเสนออุปกรณ์ชื่อ Lennam (อ่านว่า เล่นน้ำ) สำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำในการเกษตร
เรียกได้ว่าอย่าประมาทสาวงาม เพราะผู้หญิงไม่ได้มีดีแค่ความสวย แต่ยังพกพาความฉลาดและความสามารถมากันเนืองแน่นเต็มเวทีเลย วงการสตาร์ทอัพที่ปกติเราจะเห็นว่าประชากรเป็นผู้ชายเป็นส่วนมาก พอได้เห็นพลังของผู้หญิงมารวมตัวกันแบบนี้ ก็น่าจะเป็นกำลังใจและเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้หญิงหลายๆ คนที่มีความสนใจการทำสตาร์ทอัพได้กล้าทำตามความฝันของตัวเอง