แม้คำว่าสตาร์ทอัพจะมีนิยามหลากหลาย แต่นิยามหนึ่งที่ค่อนข้างครอบคลุม คือนิยามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งให้ความหมายว่า “สตาร์ทอัพ เป็นกิจการที่เริ่มต้นธุรกิจจากจุดเล็กๆ สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ออกแบบให้ธุรกิจมีการทำซ้ำโดยง่าย (Repeatable) และขยายกิจการได้ง่าย (Scalable) มีการนำเทคโนโลยี และ/หรือนวัตกรรมมาใช้เป็นหัวใจหลักในการสร้างธุรกิจ มักเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากไอเดียเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่มีใครเคยคิดหรือทำมาก่อน”
งานสตาร์ทอัพหนึ่งที่น่าสนใจที่ผ่านมา คืองานสัมมนาสตาร์ทอัพ Echelon 2017 ที่ประเทศไทย ที่มีแขกเด่นๆ จากวงการสตาร์ทอัพในไทยและต่างประเทศมาร่วมงานอย่างมากมาย
ในงาน Echolon 2017 Grace Yun Xia จาก Tencent บริษัทด้านดิจิทัล มีเดียยักษ์ใหญ่จากจีนมองว่าตอนนี้เมืองไทยอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านทางด้านสาธารณูปโภค เช่นเดียวกับ Alex Lin ที่บอกว่าการที่รัฐบาลไทยทำเริ่มสนับสนุนสตาร์ทอัพ (กับโครงการ Thailand 4.0) แต่ปีที่แล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เมืองไทยน่าลงทุน
นอกจากในงานแล้วทาง Google หนึ่งในสตาร์ทอัพยุคบุกเบิกก็ได้มองว่าอีกภายใน 10 ปีมูลค่าของธุรกิจสตาร์ทอัพจะพุ่งสูงขึ้นหลักล้านล้านบาท
นาย Ben King หัวหน้าฝ่ายธุรกิจของ Google Thailand กล่าวว่า “จากรายงานระหว่างกูเกิลและเทมาเซ็ก (Temasek) เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย ระบุว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจดังกล่าวอาจมีมูลค่าราว 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท) หรือในปี 2568 ตลาดดิจิทัลอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 6.5 เท่าตัวของมูลค่าตลาดในปัจจุบัน จากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ”
TCDC ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ได้เปิดเผยว่า 9 ใน 10 ของสตาร์ทอัพทั่วโลกนั้นล้มเหลว ส่วนนักข่าวพลเมืองของ ThaiPBS ก็รายงานว่า “95 เปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพทั่วโลกเฟล”
ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย จาก Creative Ventures นักลงทุนชาวไทยคนแรกในซิลิคอน วัลเลย์ ได้กล่าวไว้ว่า ปัจจัยสำคัญที่บอกว่าสตาร์ทอัพอันนั้นจะปังหรือจะแป๊กอยู่ที่ ‘จังหวะและเวลา’
“เพราะถ้าจังหวะไม่ถูก ลูกค้าก็อาจยังไม่พร้อมต่อสินค้า และคงเป็นการยากที่จะขายวิสัยทัศน์เราให้คนเก่งคนอื่นๆ มาร่วมทีม หรือให้ VC มาร่วมลงทุน ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่เพียงแต่ลูกค้าต้องพร้อม แต่สิ่งอื่นๆใน ecosystem (สภาพแวดล้อมและปัจจัยเกื้อหนุน) ก็ต้องพร้อมด้วยเช่นกัน”
เช่นเดียวกับเรืองโรจน์ พูนผล Commercial Director ของ Telenor Digital บอกว่าสตาร์ทอัพเมืองยังขาดความรู้เรื่องธุรกิจและไอเดียตั้งต้นที่มาจากปัญหาในเมืองไทยจริงๆ
“บางครั้งทำโปรดักต์ออกมาน่าตกใจมาก ไม่น่าเชื่ออายุเท่านี้ทำโปรดักต์ออกมาได้เจ๋งขนาดนี้ แต่ว่าขายของไม่เป็น เจรจาต่อรองไม่เป็น ก็จบเลย จะบอกว่านี่คือสิ่งที่บ้านเรายังขาดค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ที่เป็นปัญหาไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ทั้งอาเซียน คือเรายังไม่มี original idea ในการทำธุรกิจ คือต้องมีความคิดที่เป็นต้นแบบ ไม่เหมือนใคร แล้วมีลักษณะเฉพาะกับประเทศไทยหรืออาเซียน แต่มีศักยภาพที่จะไปโตได้ทั่วโลก ที่ผ่านมาก็มักจะก็อปแล้วมาประยุกต์ใช้กับเมืองไทย นี่แหละคือสิ่งที่สตาร์ทอัพบ้านเราขาด”
“Fail Fast, Succeed Faster ยังเป็นวลีที่ใช้ได้ดีสำหรับการทำธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ที่ฝรั่งชอบบอกว่า “ยิ่งคุณล้มเหลวมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น” แต่ที่สำคัญก็คือเราได้เรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวที่เราประสบ” คมคิด ชัชราภรณ์ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Letzwap แอปพลิเคชั่นที่เป็นสื่อกลางให้คนที่มีของไม่ได้ใช้มาแลกเปลี่ยนกันกล่าว
ปัญหาจากสตาร์ทอัพตัวแรกในชีวิตทำให้คุณต้นได้เข้าใจถึงความสำคัญของ Co-Founder การประเมินตลาด และการสำรวจคู่แข่ง จนเขาเริ่มเขียนบล็อกที่ชื่อ Start It Up เพื่อให้ความรู้แก่คนอื่น
เช่นเดียวกับคุณเรืองโรจน์ที่บอกว่า “การล้มเหลวในวันนี้ย่อมดีกว่าที่จะไปล้มเหลวในอีก 2 ปีข้างหน้า” เพราะยิ่งพลาดเร็ว ยิ่งทำให้เราปรับตัวได้เร็ว และสามารถหาทางรอดให้กิจการได้ดีขึ้น เพราะบางทีการไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวคิดผิด อาจทำให้สตาร์ทอัพของเราล้มเหลวยิ่งกว่า
Yoav Elgrichi จากประเทศอิสราเอล ประเทศที่เป็นเจ้าพ่อธุรกิจสตาร์ทอัพของโลกกล่าวว่า ให้กำลังใจว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าความล้มเหลว คือการกลัวที่จะล้มเหลว
“เราไม่ส่งเสริมให้คนล้มเหลว แต่เราต้องการล้มล้างความกลัวที่จะล้มเหลว” เขาก่อตั้ง Tech For Good องค์กรนักปั้นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ เพื่อใช้เทคโนโลยีมาช่วยสังคม
เช่นเดียวกับ Barak Sharabi หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและผู้แทนทางการค้าที่ทำงานกับสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พูดถึงสาเหตุของการที่วงการสตาร์ทอัพในอิสราเอลคึกคัก โดยอธิบายจากมุมมองทางวัฒนธรรม เขาบอกว่า ในประเทศอิสราเอลจะมีคำหนึ่งที่เรียกว่า chutzpah (ขึ้นต้นด้วย ch แต่อ่านว่า ฮู้ด-ป้า) แปลว่าความรู้สึกมุ่งมั่นท่วมท้นในอก ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องทำสิ่งนั้นให้ได้คือสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่าให้ chutzpah นี้มันหายไป
อ้างอิงข้อมูลจาก