จะน่าดีใจแค่ไหนถ้าไอเดียของเรามีคนเอาไปทดสอบจริงๆ ในอวกาศ ลองนึกภาพว่า Machine Learning และ AI ที่เราออกแบบมาเองกับมือไปเป็นประโยชน์ให้กับนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติดูสิ
‘AI Space Challenge’ คือโครงการแรกที่ให้เยาวชนได้มีโอกาสแข่งขันกันนำเสนอและออกแบบโปรเจกต์เกี่ยวกับ Machine Learning (ML) และ AI โดยใช้ประโยชน์จาก AI Box ของ Ice Cubes แพลตฟอร์มการทดลองที่เพิ่งจะเดินทางขึ้นไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติพร้อมกับภารกิจของ SpaceX เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.2021 ที่ผ่านมา
โครงการนี้กำลังจะบอกกับทุกคนว่า AI/ML กำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในภารกิจสำรวจอวกาศ ยิ่งมนุษยชาติวางแผนที่จะเดินทางไกลออกไปในอวกาศ ความสร้างสรรค์ของมนุษย์บวกกับการประมวลผลและความแม่นยำของ AI/ML ยิ่งมีความจำเป็น โดยประยุกต์ใช้ได้กับทั้งการพัฒนาการลงจอดของจรวดและยานอวกาศ ไปจนถึงระบบเชื่อมต่อ (docking) ของยานอวกาศ ซึ่งยังมีความท้าทายในหลายด้านให้พัฒนาต่อ เช่น ด้านพลังงาน, ด้านอาหาร, ด้านสุขภาพ
การแข่งขันครั้งนี้จำกัดให้เฉพาะทีมนักศึกษา นิสิต หรือนักเรียนที่กำลังศึกษาและยังไม่จบระดับปริญญา ตั้งแต่ 2–5 คน จากประเทศในชาติอาเซียนและไต้หวันเท่านั้น แน่นอนว่ามีไทย ซึ่งผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะมีสิทธิ์ส่งโปรแกรมไปรันบนแพลตฟอร์มในสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 3 เดือน งานนี้ฟรีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการ โดยมีบริษัท Space Zab จากประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ร่วมจัดการแข่งขัน และยังมี Spaceth.co คอยอัพเดตข้อมูล จัดเวิร์กช็อป จัดอีเวนต์กันตลอดเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม
ผู้ชนะเลิศจะได้ใช้แพลตฟอร์มที่จัดเก็บชุดข้อมูลและการทำงานของเซนเซอร์มากมายที่ติดตั้งอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ และใช้ Edge Computer (คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งข้อมูลเพื่อลดการหน่วงในการประมวลผล) ในการทำการทดลอง รันโปรแกรม ทดสอบโปรเจกต์ที่ออกแบบไว้เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงปี ค.ศ.2022 ส่วนไอเดียของรองชนะเลิศอีกสองรางวัลก็ไม่ได้ทิ้งไปเปล่าๆ เพราะทางบริษัทผู้จัดการแข่งขันและสปอนเซอร์จะจัดให้มีการฝึกเพื่อพัฒนาโปรเจกต์ต่อไปได้
ตอนนี้โครงการ AI Space Challenge เริ่มเปิดรับสมัครผู้สนใจมาตั้งแต่ 15 ตุลาคม ค.ศ.2021 และจะปิดรับไอเดียในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2022
สามารถติดตามข่าวสารโครงการได้ที่หน้าเพจ Spaceth.co หรือดูรายละเอียดได้ที่: aichallenge.space