สรุปว่า ‘โอไมครอน’ จะมาเป็นตัวปิดเกมมหากาพย์โรคระบาด COVID-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปีหรือไม่?
เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ จากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า ด้วยความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็วของโอไมครอน จะทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของโลกติด COVID-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ ทั้งกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและยังไม่ฉีดวัคซีน รวมถึงคนที่เคยผ่านการติดเชื้อมาแล้ว และฤทธิ์จากโอไมครอนจะเป็นเสมือนวัคซีนธรรมชาติชนิดอ่อนฤทธิ์ ที่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคม และทำให้การระบาดยุติลงได้โดยที่อาจไม่ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4 กันอีก
(อ่านโพสต์เต็มของ นพ.มนูญได้ที่ : https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2120360881463998&id=604030819763686 )
คำถามคือ แนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนจริงหรือไม่? หลังจากที่ นพ.มนูญโพสต์ข้อความนี้ออกไปก็มีแพทย์และนักวิจัยออกมาแย้งว่า ภูมิคุ้มกันหมู่จากการติดเชื้ออาจไม่ใช่ทางออกของโรคระบาดอย่างที่คิด อีกทั้งมันอาจสร้างผลกระทบให้กับผู้คนมากกว่าผลดีอีกด้วย
The MATTER จะพาไปดูเหตุผลที่นักวิจัยและแพทย์ออกมาแสดงความเห็นกันว่าทำไม ‘การติดเชื้อ ≠ วัคซีนธรรมชาติ’ และการฉีดวัคซีนยังเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับวิกฤตโรคระบาดที่เรากำลังเจออยู่ตอนนี้
อาการน้อยไม่ได้หมายความว่าไม่อันตราย
หลังจากพบการระบาดของโอไมครอนอย่างเป็นทางการมาเดือนกว่าๆ แพทย์และงานวิจัยหลายชิ้นต่างบอกในทิศทางเดียวกันว่า COVID-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่นี้มีแนวโน้มจะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า สายพันธุ์หลักที่ระบาดในหลายประเทศก่อนหน้านี้ แต่มีอัตราการแพร่เชื้อเร็วกว่า จึงเป็นที่มาของการพบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ แต่อัตราการครองเตียงยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยใหม่ (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนฉีดวัคซีนมากขึ้นด้วย)
อย่างไรก็ตาม การที่โอไมครอนมีอาการน้อย หรือไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลต้าไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่สร้างความสูญเสียเลย นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า การติดเชื้อโอไมครอนยังสามารถส่งต่อเชื้อให้ผู้อื่นได้
อีกทั้ง ปัจจุบันก็ยังเห็นว่ามีผู้ป่วยโอไมครอนที่เชื้อลงปอด อาการหนัก และเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหากผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ผ่านการฉีดวัคซีนมาก่อน เมื่อติดเชื้อก็มีแต่อาการจะแย่ลง ดังนั้นต้องอย่าลืมว่า โอไมครอนไม่ใช่เชื้อที่รับมือได้ง่ายสำหรับคนกลุ่มนี้
ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดติดเชื้อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยเช่นกัน เพราะแม้โอไมครอนจะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า และมีอัตราป่วยรุนแรงราว 2-3% แต่การหลีกเลี่ยงไม่ให้ป่วย ย่อมดีกว่าการปล่อยให้คนในครอบครัวเสี่ยงติดเชื้อ
นอกจากนี้ นพ.นิธิพัฒน์ยังบอกอีกว่า การติดเชื้อตามธรรมชาติโดยไม่มีภูมิบางส่วนสำหรับต่อสู้กับไวรัส อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ไวรัสกลายพันธุ์ในร่างกายเราได้ โคโรนาไวรัสส่วนใหญ่มาจากสัตว์ แต่เราอาจได้รับมาผสมกับไวรัส COVID-19 ในร่างกายได้ทุกเมื่อ
และในมุมของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ก็มองว่า โอไมครอนไม่สามารถเป็น ‘วัคซีนธรรมชาติชนิดอ่อนฤทธิ์’ ได้ เพราะวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ต้องไม่มีคุณสมบัติทำให้ผู้รับวัคซีนมีอาการป่วยหรือเสียชีวิต รวมถึงทิ้งอาการข้างเคียงอย่าง Long COVID ดังนั้นจึงไม่สามารถถือได้ว่าโอไมครอนเป็นวัคซีน
หายป่วยแล้วยังมีอาการข้างเคียง ‘Long COVID’
Long COVID คืออาการข้างเคียงหรือผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นกับผู้ที่หายป่วยจาก COVID-19 สำหรับอาการของ Long COVID นั้นมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตั้งแต่ อ่อนเพลีย ความจำสั้น นอนไม่หลับ ฯลฯ ซึ่งมีหลายครั้งที่ผู้มีภาวะ Long COVID เปิดเผยว่า พวกเขาได้รับผลกระทบจากอาการข้างเคียงนี้จนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ (รู้จักอาการนี้เพิ่มเติมได้ที่ : https://thematter.co/brief/141267/141267 )
แม้อาการ Long COVID ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นผลมาจากการติดเชื้อเดลต้า แต่ก็ไม่สามารถประมาทโอไมครอนได้ โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า Long COVID สามารถส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายทั้งสมอง หัวใจ หลอดเลือก ทางเดินอาหาร ไปจนถึงภาวะทางจิตในระยะยาว ในการศึกษาสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ พบว่าหลังติดเชื้อมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้ประมาณ 20-40% แม้ในสายพันธุ์โอไมครอนจะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่ไม่ควรนำตัวเองไปอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค
ขณะที่ นพ.นิธิพัฒน์ ก็บอกว่า แม้แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลยก็ยังสามารถเกิดภาวะ Long COVID ได้ พร้อมอ้างถึงการศึกษาของทีมวิจัยจากเดนมาร์กที่ได้ติดตามผู้ที่เคยเข้ารับการตรวจสมรรถภาพปอดช่วงก่อนป่วย COVID-19 และหลังป่วย พบว่าแม้ช่วงที่ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการน้อย แต่หลังจากที่ร่างกายหายดีแล้วก็ยังพบว่ามีการถดถอยของสมรรถภาพปอดไปจากเดิม
หากผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น สาธารณสุขไทยรับไหวไหม?
นพ.ศุภโชค ตั้งข้อสังเกตว่า หากประชาชนทุกคนพร้อมใจกันปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว และยอมพาตัวเองไปติดเชื้อจนมีผู้ป่วยใหม่สูงถึง 1 ล้านคนต่อวัน (ยอดเดียวกับที่สหรัฐฯ เพิ่งเจอเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา) ขณะที่อัตราการพบความรุนแรงของโรคอยู่ที่ 0.1% จะเท่ากับว่าจะมีผู้ป่วยหนัก 1,000 คน/วัน หากเป็นเช่นนี้ ต้องกลับมาถามว่า ระบบสาธารณสุขไทยจะสามารถรับมือกับสึนามิคนไข้ไหวหรือไม่ ดังนั้นจึงเห็นว่า ควรหาจุดสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับการดำเนินชีวิตต่อไป
แม้ไทยจะยังเดินทางไปไม่ถึงจุดที่พบผู้ติดเชื้อ 1 ล้านคน/วัน แต่เฉพาะตัวเลขเมื่อวานนี้ ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 3,091 ราย ก็เริ่มมีหน่วยงานอาสาที่ทำหน้าที่จัดหาเตียงแต่ดูแลผู้ป่วยอย่าง ‘เส้นด้าย – Zendai’ ออกมาโพสต์ว่า เมื่อวานนี้เป็นอีกหนึ่งวันในรอบ 3 เดือนที่มีคนโทรเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือในการหาเตียงเยอะเป็นพิเศษ ส่วนเพจ ‘เราต้องรอด’ ก็บอกว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นฉับพลัน จึงทำให้มีความล่าช้าในการรอคิว
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แม้ว่าแพทย์หลายคนจะเห็นตรงกันว่า การระบาดจากโอไมครอนอาจไม่สร้างความสูญเสียเท่าเดลต้า แต่ถึงเช่นนั้น การเข้ารับฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างครบเกณฑ์ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ไปให้ได้
อ้างอิงจาก
https://web.facebook.com/savethailandsafe/photos/a.106289478274048/259653456270982
https://web.facebook.com/zendai.org/posts/250324473883240
https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2120360881463998&id=604030819763686
https://web.facebook.com/nungtoxic/posts/4810356105669683
https://web.facebook.com/thiraw/posts/10223691587350185
https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=4357034237735559&id=100002870789106
https://web.facebook.com/anan.jongkaewwattana/posts/5170273449679202
https://thematter.co/brief/141267/141267
https://thematter.co/science-tech/health/update-about-omicron-variant/162849
#โอไมครอน #โควิด #Explainer #TheMATTER