**ข่าวนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้**
ข่าวการฆ่าตัวตายกลับมาถูกพูดถึงกันอีกครั้ง จากกรณีพบศพผู้หญิงคนหนึ่งที่คาดว่า เธอจบชีวิตตัวเองจากสะพานแห่งหนึ่ง
ล่าสุดตำรวจพบหลักฐานว่า ‘น้องแป้ง’ ซึ่งพบศพถูกแยกเป็นสี่สวนอยู่ในแม่น้ำกรุงเทพฯ ไม่ใช่การฆาตกรรม แต่เป็นการตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดจากสะพานพระราม 8 ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูข่าวในอดีตนี่ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้นบนสะพานแห่งนี้ กรณีซ้ำๆ เช่นนี้เป็นอาถรรพ์ คำสาป หรือขาดการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยที่ดีพอกันแน่?
ในสกู๊ปข่าวของไทยรัฐ ‘ทำไมต้องตายที่นี่? จุดอาถรรพณ์ สะพานพระราม 8 เคยมีคนโกงตาย โดดลงไปรอด’ นักข่าวได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งและได้รับการยืนยันว่า ในช่วง 2 ปีที่ตนทำงานมา เคยมีคนกระโดดน้ำบนสะพานแห่งนี้ 2 ครั้ง (รายหนึ่งเสียชีวิต อีกรายรอด) ขณะที่ป้าวัย 77 ปีที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นก็ยืนยันเช่นกันว่า พบเห็นข่าวคนกระโดดน้ำฆ่าตัวตายจากสะพานพระราม 8 อยู่เนืองๆ ทุกปี และตัวเธอเองก็เคยช่วยเกลี่ยกล่อมหญิงสาวคนนึงไม่ให้โดดลงมาด้วย และถ้าเราเสิร์ชคำว่า “สะพานพระราม 8” แล้วตามด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้จะเจอข่าวแนวนี้อีกเยอะมาก
คำถามสำคัญคือ นอกจากปัญหาทางสภาพจิตใจ สถานที่ วิธีการ และบริบทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายด้วยไหม? และการเข้าไปแทรกแซงด้วยวิธีต่างๆ สามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายได้หรือเปล่า?
ในหนังสือ Talking To Strangers ของ Malcom Gladwell ได้นำเสนอว่า การฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมที่เชื่อมโยงอยู่กับบริบทเฉพาะอย่างหนึ่ง หมายถึงว่า การตัดสินใจจบชีวิตตัวเองสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมที่เฉพาะเจาะจง หรือแปลว่าถ้าบริบทแวดล้อมเปลี่ยนไป การตัดสินใจอาจเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
หนังสือเล่มดังกล่าวได้ยกกรณีของ ซิลเวีย แพลธ กวีชาวอังกฤษซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวช และเคยพยายามจบชีวิตตัวเองมาแล้ว 2 ครั้ง ก่อนสำเร็จในครั้งที่สามด้วยการอุดช่องว่างทุกมุมภายในห้องครัว แล้วเอาหัวมุดเข้าไปในเตาอบชั้นลึกที่สุด ขณะที่เปิดแก๊สหุงต้มค้างไว้ ทั้งนี้ ในปี 1962 หรือปีเดียวกันกับที่ซิลเวียตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง มีชาวอังกฤษและเวลล์ 2,469 รายจากทั้งหมด 5,522 รายที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการรมแก๊สตัวเองเช่นเดียวกับซิลเวีย
กระทั่งในปี 1965 ที่รัฐบาลอังกฤษยกเลิกการใช้แก๊สหุงต้ม และหันไปใช้ก๊าซธรรมชาติที่ไม่มีส่วนผสมของคาร์บอนมอน็อกไซด์แทน จำนวนการฆ่าตัวตายด้วยแก๊สก็ลดลงเรื่อยๆ ก่อนหายไปทั้งหมดในปี 1975 ซึ่งปีเดียวกับที่รัฐบาลเปลี่ยนชนิดก๊าซในครัวเรือนได้ทั้งหมด และในภาพรวมทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของอังกฤษลดลงถึง 25%
อีกตัวอย่างหนึ่งชวนมาดูในสหรัฐฯ ซึ่งพยายามลดอัตราการฆ่าตัวตายจากการกระโดดลงจากสะพาน โดยตัวหนึ่งอย่างคือสะพานดุ๊ก เอลลิงตัน เมมโมเรียล บริดจ์ ซึ่งระหว่างปี 1978-1985 เคยมีผู้กระโดดลงมาจากสะพานรวม 24 ราย แต่ตลอด 5 ปีหลังที่มีการสร้างราวกั้นขึ้น (ปี 1985) มีผู้เสียชีวิตจากการโดดลงจากสะพานแห่งนี้เหลือเพียง 1 ราย ผลลัพธ์ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับสะพานออกัสต์ ริเวอร์ บริดจ์ ในเมืองเมนส์ ที่ภายหลังการสร้างราวกั้นในปี 1983 ก็ไม่พบผู้เสียชีวิตจากการกระโดดลงจากสะพานแห่งนั้นอีกเลย
อีกตัวอย่างหนึ่งคือในญี่ปุ่น ประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และหนึ่งในวิธีที่เป็นที่นิยมคือ การโดดตัดหน้ารถไฟ ทำให้ทางการญี่ปุ่นเริ่มหาวิธีลดความพยายามดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือการสร้าง ประตูบานเลื่อนกั้นระหว่างผู้โดยสารและรถไฟ ซึ่งข้อมูลในปี 2015 พบว่า หลังจากสร้างประตูกั้นในสถานีกรุงโตเกียวมีความพยายามโดดตัดหน้ารถไฟลดลงไปถึง 76%
อีกวิธีหนึ่งที่ญี่ปุ่นทดลองทำคือ ติดตั้งแสงสีฟ้าไว้ในจุดที่เสี่ยงต่อการโดดจากชานชาลา ทฤษฏีนี้เกิดขี้นจากความเชื่อว่าแสงสีฟ้าจะทำให้เกิดความสงบ ชะลอการตัดสินใจ และลดอัตราการฆ่าตัวตายที่สถานีรถไฟได้ ซี่งผลลัพธ์ก็ออกมาดีเกินคาด โดยจากข้อมูลในปี 2013 พบว่า แสงสีฟ้ามีส่วนลดการฆ่าตัวตายที่สถานีลงถึง 84% (ตัวเลขนี้ถูกตั้งคำถามว่าสื่อนำมาประโคมจนสูงเกินไป และที่จริงตัวเลขอาจอยู่ที่ 14% เท่านั้น ซึ่งก็นับว่าสูงอยู่ดี)
คำถามสำคัญตามมาคือ ภายหลังวิธีการที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ที่ตัดสินใจจบชีวิตตนเองยังคงหาวิธีอื่นอีกหรือไม่ ระหว่างปี 1931-1971 นักจิตวิทยาคนนึงนาม ริชาร์ด เซเดน เคยติดตามผู้พยายามกระโดดลงจากสะพานโกลเดนเกต แต่ไม่สำเร็จทั้งหมด 515 ราย และพบว่ามีเพียง 25 รายจากทั้งหมดเท่านั้นที่พยายามจบชีวิตตัวเองด้วยวิธีอื่น จึงเป็นไปได้สูงว่าการตัดสินใจจบชีวิตตัวเองมีส่วมเกี่ยวข้องกับสถานที่ บริบท เวลา และการตัดสินใจในช่วงเวลาหนึ่ง
ดังนั้น สำหรับกรณีของสะพานพระราม 8 ภาครัฐไทยอาจกลับมาทบทวนดูอีกครั้งว่าสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่อย่างไรได้บ้างไหม (ตอนนี้มีรั้วกั้นอยู่แล้ว แต่สามารถข้ามได้โดยง่าย) เพื่อลดการเกิดเหตุซ้ำในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจของคนในสังคมโดยตรง และการสร้างสังคมที่ดี ปลอดภัย และช่วยเหลือกันจะช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตและอัตราการฆ่าตัวตายในภาพรวมได้
อย่างไรก็ดี การป้องกันปัญหาในจุดที่เกิดเหตุ อาจเป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญอาจจะต้องรวมไปถึง การมองปัญหาในภาพรวมจากภาครัฐ ป้องกันปัจจัยที่หยั่งรากลึกลงไปในสังคมด้วยเช่นกัน
หากใครต้องการคำปรึกษาด้านสภาพ หรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-113-6789
อ้างอิง:
Talking To Strangers, Malcom Gladwell
https://www.bbc.com/future/article/20190122-can-blue-lights-prevent-suicide-at-train-stations
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1349839
https://www.goldengate.org/assets/1/6/suicide-deterrent-seiden-study.pdf
https://ajp.psychiatryonline.org/doi/pdf/10.1176/appi.ajp.2009.09020296