เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยมากถึง 1.3 ล้านคะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง พี่เอ้ – สุชัชวีย์ สุวรรณสวัสดิ์ มากกว่า 5 เท่าตัว
ถึงแม้จะมีบางคนค้านว่าผลเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อาจไม่สะท้อนผลการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงในปีหน้ามากนัก ซึ่งก็ถูกครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่าผลการเลือกตั้ง ส.ก. ไม่สะท้อนอะไรเลย คงไม่ถูกต้องนัก เพราะมันคือสนามจำลองการเลือกตั้งใหญ่ที่ถึง โดยเฉพาะพลังประชารัฐที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งในพื้นที่ กทม. ในการเลือกตั้งปี 2562
ถ้าลงลึกอีกนิดในคะแนนของ ส.ก. พรรคที่นิยามตนว่าเป็น ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ สามารถกวาดที่นั่งไปได้ถึง 36 ท่ีนั่ง (พรรคเพื่อไทย, ก้าวไกล และไทยสร้างไทย) ขณะที่ ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ กลับทำได้เพียงแค่ 14 ที่นั่ง (พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล)
หรือเปรียบเป็นเกมฟุตบอล ฝ่ายก้าวหน้ายิงขาดชนิดไม่ต้องไปหวังลุ้นในเลก 2
เกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทย ที่เคยมีฐานเสียงแข็งแกร่งและได้รับการสนับสนุนในการเลือกใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ทำไมยุทธศาสตร์ ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ ที่ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง กลับไม่ทำให้พวกเขารวมตัวเพื่อลงคะแนนเสียงในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ แล้วผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนนัยยะสำคัญอันใดถึงกระแสของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า
The MATTER มัดรวมคำถามเหล่านี้ ไปถามกับ กนกรัตน์ เลิศชูวงศ์สกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และเจ้าของงานวิจัย “การเติบโตของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และการเสื่อมถอยของกลุ่มเสรีนิยม ในขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณ”
ใครคืออนุรักษ์นิยมไทย
กนกรัตน์ เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั่วโลกมีองค์ประกอบร่วมกัน 4 ประการคือ
- ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
- ไม่เชื่อในความเท่าเทียม
- เชื่อในเรื่องลำดับชั้น
- ต่อต้านประชาธิปไตย เพราะมันขัดค้างกับองค์ประกอบ 3 ข้อที่กล่าวมา
ขณะที่ถ้าหันมามองกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทย เธอแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มอนุรักษ์นิยมชนชั้นสูง หรือกลุ่มผู้สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นสูงและขุนนาง
- กลุ่มข้าราชการ
- กลุ่มอนุรักษ์นิยมชนชั้นกลาง
- กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว เช่น กลุ่มสันติอโศกในช่วงม็อบพันธมิตร หรือกลุ่มชาตินิยมสุดขั้วที่มักสร้างวาทกรรม เช่น ชังชาติ, ขายชาติ หรือมีนักการเมืองต่างชาติหนุนหลัง
ทำไมคะแนนรวมของอนุรักษ์นิยมถึงลดลง
สมชัย ศรีสุทธิยากร เขียนไว้ในเฟซบุ๊กได้อย่างน่าสนใจ เขาตั้งคำถามว่าคะแนน 1.3 ล้านคะแนนที่ชัชชาติได้ในการเลือกตั้งมาจากไหน ก่อนประเมินว่ามีคะแนนของคนที่เลือก ส.ก. พรรคหนึ่ง แต่มาเลือกผู้ว่าฯ เป็นชัชชาติจำนวนมากราว 7.6 แสนคะแนน
อย่างไรก็ตาม กนกรัตน์มองต่างออกไป เธอชี้ว่าถ้าเทียบกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 คะแนนที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเคยเทให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ราว 1.2 ล้านคะแนน ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญกับคะแนนที่ลงให้ผู้สมัครฝั่งอนุรักษ์นิยมทั้ง 4 คนในการเลือกตั้งครั้งนี้ (คะแนนรวมกันที่ 778,787 คะแนน)
แต่เธอให้น้ำหนักกับความเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และจำนวนกลุ่ม Swing Voter มากกว่า เธอกล่าวว่า
“การที่ไม่มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นาน 9 ปี ทำให้เกิดมีกลุ่ม First Time Voter มากถึง 700,000-800,000 เสียงที่เพิ่มเข้ามา บวกกับกลุ่ม Gen Y ยิ่งทำให้มีตัวเลขรวมกันอาจมากถึง 1-2 ล้านเสียง และถ้าไปผนวกกับฐานมวลชนคนเสื้อแดง มันเลยทำให้เห็นภาพการชนะของชัชชาติและ ส.ก. ฝั่งเสรีนิยมอย่างถล่มทลาย”
“อีกสาเหตุคือบทบาทของ Swing Voter เราเห็นชัดว่ามันเป็นการขยับตัวของคนกลางๆ ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลรัฐประหาร เพราะเบื่อหน่ายความขัดแย้งทางการเมือง แต่ภายหลังการดำรงตำแหน่งอันยาวนานของรัฐบาลและผู้ว่าฯ กทม. มันทำให้กลุ่มนี้เริ่มหันเข้าหาทางเลือกใหม่มากขึ้น”
ทำไมอนุรักษ์นิยมถึงรวมกันไม่ได้
ในช่วงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราได้เห็นทั้งบางข้อความที่ถูกส่งเข้ามือถือ และอ้างชื่อของ พี่เอ้ หรือข้อความบนป้ายหาเสียงของอดีตผู้ว่าฯ ที่เขียนว่า “หยุดลังเลแล้วเทให้เบอร์ 6” สารทั้งหมดคือกระแสจากฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ต้องการให้มีการเทคะแนนให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง คล้ายครั้ง ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งประเด็นนี้ นักรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า “ถ้าตามเขามาตั้งแต่ช่วงก่อตัวของพันธมิตร เราจะเห็นว่าอนุรักษ์นิยมมีจังหวะที่รวมกันและแยกกันตลอดเวลา”
กนกรัตน์ ขยายความว่าธรรมชาติของอนุรักษ์นิยมในไทยมีลักษณะ “Hundred Shades of Conservatism” กล่าวคือมีความหลากหลาย แข่งขัน และพร้อมโจมตีกันตลอดเวลา ซึ่งอนุรักษ์นิยมจะสามารถรวมตัวกันได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายเสรีนิยมขึ้นมามีอำนาจ อาทิ สมัยรัฐบาลทักษิณ, รัฐบาลสมัคร หรือสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะที่เมื่อฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจลดลง กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็พร้อมแข่งขันกันในทันที เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองและตอบสนองความต้องการของผู้สนับสนุนในปีกของตน
“ลองนึกถึงช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนนั้นยังมีม็อบพันธมิตรเป็น 100 กว่าวันหน้าทำเนียบ หรือคำว่า ‘พรรคแมลงสาบ’ ก็ไม่ได้มาจากปีกเสรีนิยม”
“เราจะเห็นว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง พวกเขาไม่เคยรวมตัวกันเลย เช่น ในปี 2562 มีทั้งประชาธิปัตย์ หรือพลังประชารัฐ หรือในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็มีทั้ง พรรคเพื่อฟ้าดิน (สันติอโศก), พรรคสังคมประชาธิปไทย (พันธมิตร) ขณะที่อีกปีกของกลุ่มพันธมิตร กลับพยายามรณรงค์โนโหวต”
อีกสองสาเหตุที่กนกรัตน์มองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องคือ ฝั่งอนุรักษ์นิยมยังขาดผู้นำที่สามารถรวมคนใน 4 ปีกเอาไว้ได้ และอีกประการคือ เธอเชื่อว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมไม่ได้จริงจังกับการแข่งขันรอบนี้ เพราะพวกเขามองว่า ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้มีอำนาจมากมายถึงขนาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จนอำนาจของพวกเขาสั่นคลอน
ประชาธิปัตย์คืนชีพ
ประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พี่เอ้ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ได้เบียดขึ้นมากลายเป็นที่ 2 ในการชิงผู้ว่าฯ กทม. เหนือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รวมถึง สกลธี ภัททิยกุล และ พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รวมถึงฝาก ส.ก. ของประชาธิปัตย์ที่สามารถคว้าเก้าอี้ไปได้ถีง 9 ที่นั่ง จากที่ล้มเหลวในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา
คำถามคือ นี่คือการคืนชีพของพรรคประชาธิปัตย์หรือเปล่า ?
นักรัฐศาสตร์จากจุฬาฯ ชวนมองประเด็นนี้ผ่าน 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือการถดถอยของพรรคพลังประชารัฐ เธอชี้ว่าอันที่จริง พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลเฉพาะกิจอยู่แล้ว กล่าวคือการเอาชนะพรรคเพื่อไทย หรือให้ตรงกว่านั้นว่าล้มล้างระบอบทักษิณ
“พลังประชารัฐหมดอายุไปแล้ว เพราะเป็นพรรคชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายในระยะสั้นอย่างการกำจัดเพื่อไทยเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเพื่อสร้างฐานอำนาจในระยะยาวอย่างแท้จริง ซึ่งสุดท้ายเป้าหมายนั้นก็ล้มเหลว เพราะนอกจากไม่สามารถกำจัดอำนาจของเพื่อไทยได้ ยังมีการขึ้นมาของพรรคก้าวไกลอีก”
อีกประเด็นที่เธอมองคือ ผลการเลือกตั้งปี 2562 เป็นเพียงผลลัพธ์ชั่วคราวเท่านั้น กล่าวคือคนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์เหมือนเดิม หรือเรียกได้ว่ากลับสู่ “ฐานที่มั่น”
“ประชาธิปัตย์เป็นพรรคชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมคือ พร้อมปรับหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อต่อสู้ในระบบเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 มันเป็นการลงคะแนนในเชิงยุทธศาสตร์แบบชั่วคราว ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คนเหล่านี้จะกลับมาสู่ฐานที่มั่น หรือลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์”
จาก กทม. ถึง เลือกตั้งใหญ่
กนกรัตน์วิเคราะห์ว่า ในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงในปีหน้านี้ มีประเด็นที่น่าติดตามจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมเองทั้งหมด 4 ประเด็น
- ส.ส.พรรคพลังประชารัฐหาทางย้ายพรรค โดยเฉพาะ ส.ส. ใน กทม.
ประเด็นนี้ นักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่ามาจากผลการเลือกตั้ง ส.ก. และภาพรวมการทำงานของนายกฯ คนปัจจุบันเอง
- กลุ่ม Swing Voter มีแนวโน้มว่าจะหันมาทางเสรีนิยมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิลงคะแนนกลุ่มนี้ ยังไม่น่าจะหันไปเลือกพรรคที่มีแนวคิดก้าวหน้าอย่างก้าวไกล แต่อาจจะหันมาพรรคที่ก้าวหน้าแต่ประนีประนอมมากกว่านั้น
“กลุ่มที่ Swing Voter ต้องการคือคนแบบ ชัชชาติ มีคุณสมบัติแบบผู้ดีไทย (หัวเราะ) มีการศึกษา พูดจาดี มีความอ่อนน้อม แต่ก็ไม่ได้อยู่ปีกอนุรักษ์นิยม”
- แคนดิเดตนายกฯ คนใหม่
ซึ่งในครั้งนี้ต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากปีกอนุรักษ์นิยมทุกฝ่าย เพื่อรวมพลังกลุ่มอนุรักษ์นิยมให้สำเร็จ แต่เมื่อถามว่าเธอเห็นใครไหมที่พอเป็นไปได้
“ถามว่าเห็นใครไหม? มันยากมากเลย อย่างในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้เรียกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมแทบจะเทไพ่หมดหน้าตักแล้ว”
- อนุรักษ์นิยมจะคงเป็นอนุรักษ์นิยม
เธอมองว่าพรรคจากฝั่งอนุรักษ์นิยมจะยังคงมีการวางแคมเปญเลือกตั้งแบบเดิม เลือกผู้สมัครแบบเดิม และออกนโยบายแบบเดิม เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นท่าทีของการเปลี่ยนแปลงจากฝั่งอนุรักษ์นิยมเลย
“เรายังไม่เห็นการปรับตัวของปีกอนุรักษ์นิยมในเมืองไทย ที่พยายามเข้าใจมวลชน ยอมรับผลการเลือกตั้ง ปรับปรุงนโยบาย หรือปรับตัวเพื่อเข้าหาฐานเสียงกลุ่มอื่น ไม่มีภาพของ Compromise Conservative ให้เห็นเลย (หัวเราะ)”
“พอเขาไม่ปรับตัว มันยากที่จะดึงคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมแบบหัวก้าวหน้าเข้ามาได้ ยกตัวอย่าง ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ กรณ์ จาติกวณิช คนพวกนี้แค่คิดต่างก็ถูกเบียดขับออกมาจากพรรคทันที และปัญหาการเบียดขับนี้มันคือปัญหาภายในพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมตอนนี้”
ซึ่งเธอสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า จากสถานการณ์และแรงลมที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นไปได้ที่ในการเลือกตั้งในปีหน้า พรรคจากฝั่งอนุรักษ์นิยมทั้งหลายอาจจะ “ไม่ชนะ”