วันนี้ (2 ส.ค. 2565) ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำพิพากษา สั่งจำคุก กระทงละ 3 ปี รวม 6 ปี ในคดีของ ‘กัลยา’ (นามสมมติ) พนักงานเอกชนจาก จ.นนทบุรี วัย 27 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14(3) จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 2 กรรม รวม 4 ข้อความ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานความเห็นของศาลว่า แม้ผลตรวจสอบจะไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่โจทก์มีผู้กล่าวหาเบิกความรู้เห็นเป็นลำดับว่าจำเลยเป็นบุคคลใด และจำเลยให้การชั้นสอบสวนว่าตนเปลี่ยนรหัสให้เข้าถึงเฟซบุ๊กได้คนเดียวแล้ว
ส่วนข้อความตอบฟ้องเห็นว่า ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า หมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน จึงเห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งให้คนอ่านข้อความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง
ทั้งนี้ ‘กัลยา’ ถูกกล่าวหาจากการที่เธอไปคอมเมนต์ในเพจแนะนำซีรีส์เกี่ยวกับกษัตริย์เกาหลีในอดีต 1 ข้อความ จากการโพสต์ภาพถ่ายการชุมนุมช่วงปี 2563 อีก 1 ข้อความ และจากการแชร์โพสต์ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยเขียนข้อความประกอบ 2 ข้อความ
คดีดังกล่าวมีผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่กล่าวหา ‘อุดม’ ในคดี ม.112 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสเพิ่งมีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 (https://thematter.co/brief/181322/181322) รวมถึงคดีอื่นๆ อีกกว่า 15 คดี ที่พสิษฐ์ได้กล่าวหาไว้
คดีนี้ยังเป็นอีก 1 คดี ที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทำให้ iLaw ชี้ว่า แสดงให้เห็นถึงปัญหาการริเริ่มคดีโดยใครก็ได้ และที่ไหนก็ได้ ขณะที่ ‘กัลยา’ เอง ก็เคยเปิดเผยกับ iLaw ว่า รู้สึกเหมือนมาตรานี้สามารถใช้กลั่นแกล้งได้ รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 เพราะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับคนที่โดน
ล่าสุด ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.15 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ‘กัลยา’ ระหว่างยื่นอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์รวม 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
อ้างอิงจาก
https://twitter.com/TLHR2014/status/1554318340767633408
https://tlhr2014.com/archives/46715
https://freedom.ilaw.or.th/node/998