โยนีครองปริศนายิ่งกว่าสฟิงซ์ ห่างไกลกว่าดาวอังคาร และแปลกหน้ากว่าพื้นสมุทร ไม่ผิดนักที่จะบอกว่าเราแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับโยนีเลยเมื่อเทียบกับลึงค์ของเพศชาย แต่ต้องนับเป็นข่าวดีเมื่อล่าสุด นักวิทยาศาสตร์เพิ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาชิปอวัยวะเสมือนของโยนีเป็นครั้งแรก ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามันจะช่วยให้การศึกษาโยนีเป็นไปได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงในการทดลองทางการแพทย์ทั้งหมด
ทำไมต้องโยนีชิป?
ก่อนหน้านี้ ดร.ดอห์น อิงค์เบอร์ นักวิศวกรรมชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด ได้พัฒนาชิปเสมือนของอวัยวะมนุษย์มา 15 ชนิดแล้ว อาทิ ปอด, ตับ, ลำไส้, ผิวหนัง และชิปล่าสุดที่เขาพัฒนาคือ โยนีชิป นั่นเอง
ก่อนหน้านี้ปัญหาหนึ่งของการศึกษาโยนี มาจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่สร้างความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม อย่างในวงการศึกษาวิจัยสหรัฐฯ ก็เพิ่งปี 1993 นี่เองที่รัฐบาลกลางออกกฎบังคับให้การวิจัยในคน (Clinical Trial) ต้องมี ‘ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย’ รวมอยู่ด้วย หรือในปัจจุบันนักวิจัยหลายคนก็เล่าว่า พบความยากลำบากเมื่อต้องหาอาสาสมัครผู้หญิงมาทดลองยาที่ใช้กับโยนี
โยนีชิปจะช่วยวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้อย่างไรบ้าง?
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เมืองแอตแลนตา ในรัฐจอร์เจียระบุว่า ทุกปีจะมีผู้หญิง 1 ใน 3 ที่เผชิญกับการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าโรคดังกล่าวเกิดจากแบคทีเรียชนิดใด หรือการรักษาที่มักนิยมใช้ยาปฏิชีวนะ บ่อยครั้งก็พบว่าผู้ป่วยไม่หายขาดและกลับมาเป็นอีกครั้ง ซึ่งโรคนี้ถ้าเป็นเรื้อรัง มีโอกาสทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอาจพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตได้ด้วย
ซึ่งการพัฒนาโยนีชิปจะทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์และของเหลวด้านในโยนีได้ และที่สำคัญ ทำให้สามารถทดลองตัวยาใหม่ที่สามารถรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาสาสมัคร
โดยชิปตัวนี้จะจำลองการตอบสนองของโยนีต่อแบคทีเรียทั้งชนิดที่ดีและไม่ดี เช่น การตอบสนองของโยนีต่อจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส ซึ่งเป็นจุรินทรีย์ที่ดีต่อโยนี
นักวิทยาศาสตร์สร้างโยนีชิปขึ้นอย่างไร?
ดร.ดอห์น อิงค์เบอร์ นักวิศวกรรมการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด ผู้คิดค้นโยนีชิป เริ่มต้นโปรเจ็กต์นี้ด้วยการเก็บตัวอย่างเซลล์โยนีจากอาสาสมัคร 2 คน แล้วนำมาเพาะในชิปซิลิโคนที่มีขนาดเท่ากับแผ่นหมากฝรั่ง จากนั้นสร้างช่องว่างที่จะหดหรือขยายตามระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) และปริมาณแบคทีเรีย
ดร.อิงค์เบอร์ยืนยันว่าชิปที่เขาสร้างมีความเหมือนกับอวัยวะเพศของจริง ชนิดที่ว่ามันสามาถ “เดิน, พูด, ร้องได้เหมือนโยนีของมนุษย์เลย”
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยอมรับว่าโยนีของจริงอาจเผชิญความแตกต่างอื่นมากกว่าในห้องแล็บ เช่น ประจำเดือน, การสอดใส่จากลึงค์, ความผันผวนของฮอร์โมน รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรค แต่เชื่อว่านี่คืออีกก้าวสำคัญที่จะไขความลับและทำความเข้าใจโยนีอันลึกลับให้มากขึ้น
อ้างอิงจาก:
https://www.nytimes.com/2022/03/29/books/vagina-obscura-rachel-gross.html
https://futurism.com/neoscope/scientists-vagina-chip
https://www.thehealthy.com/sex/stds/bacterial-vaginosis-one-in-three-women/