จากกรณี ตะวัน-แบม ผู้ต้องหาในคดี ม.112 ขอถอนประกันตัวเอง และมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง และยกเลิก ม.112 และ 116 แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งสองจึงอดอาหารและน้ำมากว่า 9 วันจนร่างกายเข้าขั้นวิกฤติ
ในวันนี้ (27 มกราคม) คณาจารย์คณะนิติศาสตร์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 50 คน ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอาญา และอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ เรียกร้องให้คืนสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองจากกรณี ตะวัน-แบม
ในจดหมายเปิดผนึกระบุถึงคำถามเรื่องการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวไว้ดังนี้
- ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไม่มีความผิด
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน วางหลักการพื้นฐานไว้คือ “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
และ “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”
จากหลักการดังล่าว การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยจึงเป็นเพียงข้อยกเว้นและต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจากประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.108 และ 108/1 กำหนดเหตุในการสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวไว้ ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่ามีเหตุที่ศาลจะสามารถสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญาจะได้รับการเคารพและปฏิบัติตาม
- ศาลจำเป็นต้องพิจารณาการไม่ปล่อยชั่วคราว
เมื่อการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างดำเนินคดีต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ปรากฎใน ม.108 และ 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น เมื่อศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวแล้วย่อมแสดงว่าไม่มีเหตุที่จะคุมขังบุคคลทั้งสองไว้แต่อย่างใด
การที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยสมัครใจยื่นขอถอนประกันตัวเองไม่อาจเป็นเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะถอนประกันได้ และในกรณีของทั้งสองคนก็ไม่ได้กระทำการที่ผิดเงื่อนไขการประกันตัวแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่ปัญหาว่าทั้งสองสมัครใจหรือสละสิทธิในการประกันตัว และศาลต้องมีคำสั่งอนุญาตถอนประกันตามที่ร้องขอ
หากแต่เป็นประเด็นในเรื่องเงื่อนไขการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของรัฐ ดังนั้น ในกรณีของทั้งสอง ศาลจึงจำเป็นต้องพิจารณาการไม่ปล่อยชั่วคราวตามเงื่อนไขและเหตุที่กำหนดใน ม.108 และ 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการควบคุมตัว มิใช่พิจารณาแต่เพียงการสมัครใจถอนประกันของทั้งสองคน
- การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวต้องไม่เกิดความจำเป็น และไม่ขัดกับหลักที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
แม้ศาลสามารถกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวต้องปฏิบัติได้ตาม ม.112 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวต้องไม่เกินความจำเป็น และไม่ขัดกับหลักการพื้นฐานที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา
การปล่อยชั่วคราวในคดีการเมืองหลายคดี ศาลมักจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องปฏิบัติตามด้วย เช่น การใส่กำไล EM เพื่อติดตามตัว ห้ามออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือห้ามกระทำการในลักษณะเดิมซ้ำ ซึ่งเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวมีปัญหาหรือข้อสงสัยในทางกฎหมายได้ว่าสอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนและเป็นเงื่อนไขที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในฐานะผู้บริสุทธิ์หรือไม่
ด้วยเหตุดังกล่าว คณาจารย์คณะนิติศาสตร์จึงเรียกร้อง
- ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งถอนประกันตัวของตะวัน—ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม—อรวรรณ ภู่พงษ์ โดยเร็วที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
- ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งนิติรัฐและหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา
- ขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา
ในสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางความคิด การใช้อำนาจตุลาการอย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย และทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งไม่ลุกลามบานปลาย
องค์กรตุลาการที่ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมย่อมสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของสันติภาพในสังคมและย่อมได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากปวงชน แต่หากองค์กรตุลาการใช้อำนาจโดยปราศจากการคำนึงถึงหลักกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแล้ว ประวัติศาสตร์ก็จะจดจำท่านในอีกแบบหนึ่ง
ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐและประชาธิปไตย
อ้างอิงจาก