การแพร่ระบาดของ COVID-19 เพิ่งลดความรุนแรงลงไปไม่นาน ล่าสุดองค์กรอนามัยโลก (WHO) ยืนยันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสร้ายแรง ‘มาร์เบิร์ก (Marburg)’ ในประเทศอิเควทอเรียลกินีแล้ว ซึ่งไวรัสชนิดนี้ติดต่อง่าย แต่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีน หรือยาที่สามารถต้านไวรัสนี้ได้
WHO ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากไวรัสมาร์เบิร์กแล้ว อย่างน้อย 1 ราย และยังมีผู้เสียชีวิตอีก 8 ราย ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับไวรัสชนิดนี้ ทำให้ในตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด 9 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอีก 16 ราย โดยผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการตัวเหลือง อาเจียนเป็นเลือด ท้องร่วง บางทีก็มีผื่นขึ้นที่หน้าอก หลัง และท้องของผู้ป่วย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจจะโทรมจนเหมือนผี เพราะมีเบ้าตาที่ลึกขึ้น ใบหน้าไร้ความรู้สึก และมีอาการเซื่องซึมอย่างมาก และในกรณีที่ร้ายแรง ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตหลังติดเชื้อ 8-9 วัน และที่น่าตกใจคือ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มีโอกาสเสียชีวิตถึง 50% และถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นพาหะนำโรคได้อยู่ดี
ไวรัสมาร์เบิร์ก เป็นชนิดของไวรัสที่วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากอาการของผู้ป่วยจะคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้ออื่นๆ อาทิ โรคมาลาเรีย ไข้ไทฟอยด์ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และอีโบลา ซึ่งตามการรายงาน เชื้อไวรัสมาร์เบิร์กถูกส่งผ่านมาจากค้างคาวผลไม้ ที่เป็นโฮสต์ตามธรรมชาติของไวรัสชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสชนิดนี้จะไม่แพร่เชื้อผ่านการหายใจ แต่จะแพร่เชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวในร่างกายจากผู้ติดเชื้อ ตลอดจนผ่านทางพื้นผิวและวัสดุที่ปนเปื้อน
แล้วมีวิธีที่จะยับยั้งการระบาดไหม? ในตอนนี้ยังไม่มีวัคซีน หรือยาที่สามารถต้านเชื้อไวรัสชนิดนี้ แต่การรักษาตามอาการ และการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้
ทั้งนี้ WHO รับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาไปดูแลผู้ป่วย เพื่อควบคุมการระบาด นอกจากนี้ ทางองค์กรยังส่งเจ้าหน้าที่ไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่น และให้การรักษาพยาบาล
ซึ่งการปรากฏตัวครั้งแรกของไวรัสชนิดนี้ในประเทศอิเควทอเรียลกินี เกิดขึ้นที่จังหวัด Kie Ntem ทางตะวันออกของประเทศ เมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว แต่ไวรัสดังกล่าวเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 1967 ในหมู่เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำการวิจัยในประเทศเยอรมนี และเซอร์เบีย แต่การแพร่ระบาดไม่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้
อ้างอิงจาก