คำว่า ‘วาย’ เป็นประเภทซีรีส์/หนังได้ไหม? หลังจากกรณีของเจฟ—วรกมล ซาเตอร์ หรือ เจฟ ซาเตอร์ นักร้อและนักแสดงจากเรื่องคินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ซีรีส์เรื่องหนึ่งว่าเป็นซีรีส์วายในรายงาน The Driver จนเกิดเป็นการตั้งคำถามว่าแล้วเราควรใช้คำว่าวายเป็นหนึ่งในประเภทของซีรีส์หรือไม่
ในช่วงหนึ่งของรายการ The Driver โอ๊ต—ปราโมทย์ ปาทาน พิธีกรรายการถามถึงชีวิตหลังจากที่ซีรีส์ออกอากาศไปว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เพราะว่าแฟนเพลงของเจฟก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง “แต่พอเป็นแฟนๆ ที่เป็นสาวที่เขาชอบซีรีส์วาย โอ้โห เขาจะรัก เขาจะอื้อหือ เขาจะมาแบบโว้ว”
ซึ่งเจฟกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ตัวผมเองนะ ผมว่าวายไม่ใช่วิธีการที่ categorize (แบ่งประเภท) ซีรีส์ มันคือแบบ เรียกมันว่าวาย เพื่อให้ง่าย แต่จริงๆ มันคือไม่ใช่สิ่งที่ระบุว่า เพศไม่ใช่สิ่งที่ระบุนะ เพราะฉะนั้น หนังวายมันก็อาจจะไม่ใช่ซะทีเดียว มันคือหนังเรื่องหนึ่งที่มีความรักของผู้ชาย-ผู้ชาย แต่แนวหนังคือแบบ หนังบู๊ หนังตลก หนังอะไรอย่างนี้”
หลังจากรายการเผยแพร่ออกไป ก็มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ตัดพาร์ทที่เจฟพูดมา โดยหลังจากนั้นก็มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นว่าแล้วควรใช้คำว่าวาย เป็นประเภทซีรีส์ได้หรือไม่?
คำถามนี้อาจจะยังไม่สามารถหาคำตอบทางวิชาการได้ถูกต้อง 100% แต่ถ้าย้อนกลับไปดูวัฒนธรรมวาย จะพบว่า วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1970 โดยปรากฏในการ์ตูนของญี่ปุ่นจนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมวายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนวัฒนธรรมวายในประเทศไทยในอดีต นักอ่านต้องอ่านจากเว็บไซต์ที่แปลนิยายและการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้อ่านเฉพาะกลุ่มเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อเว็บไซต์ Dek-D.com และธัญวลัย ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับนักเขียนออนไลน์ทั้งคู่ได้เพิ่มหมวดชายรักชายและหญิงรักหญิงเข้ามา จึงได้มีการปรากฏนิยายวายอย่างแพร่หลายมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ความรักของ LGBTQ+ ก็เคยปรากฏอยู่บนหน้าจอทั้งโทรทัศน์และภาพยนตร์มาบ้างแล้ว เช่น เรื่องรักแห่งสยาม แต่นิตยสาร vogue เคยระบุไว้ว่า จุดที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมวายได้ออกมาโลดแล่นอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ ก็คงจะหนีไม่พ้นซีรีส์วายเรื่องแรกที่ได้รับการฉายบนโทรทัศน์จริงจังอย่าง ‘Love Sick the Series’ ในปี 2557 จนเริ่มมีซีรีส์วายอีกหลายเรื่องเกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งคำว่าวาย ก็ยังเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย
แต่ถ้าถามว่าซีรีส์วาย เรียกว่าเป็นประเภท (genre) ของซีรีส์ได้ไหม? ก่อนอื่น ขอพาทุกคนไปเข้าใจถึงการแบ่งประเภทกันก่อนว่ามันคืออะไร
การแบ่งประเภทเริ่มเป็นที่นิยมในสมัยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ต้องการจะแยกประเภท ของภาพยนตร์ตามรูปแบบเนื้อหา ทั้งยังทำให้เห็นความต้องการของตลาดอีกด้วยว่าผู้ชมชอบเนื้อหาแบบไหน นักลงทุนก็จะไปลงทุนในภาพยนตร์ประเภทนั้น
ขณะที่ กฤษดา เกิดดี ผู้เขียนหนังสือ ‘ภาพยนตร์วิจารณ์’ แม้ไม่ได้กล่าวถึงประเภทของซีรีส์ แต่ก็เคยกล่าวถึงประเภทของภาพยนตร์ไว้ว่า การแบ่งประเภทจะยึดส่วนประกอบของเนื้อหา ได้แก่ ลักษณะตัวละคร ความขัดแย้ง เหตุการณ์ โครงเรื่องและแก่นเรื่อง
นอกจากนี้ กาญจนา แก้วเทพ อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังกล่าวถึงที่มาของแนวความคิดในการแบ่ง genre ว่ามาจากความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการความแน่นอน และเพื่อจะได้ทราบว่าสิ่งที่เรากำลังจะดู ตอบสนองความต้องการของเราได้หรือไม่อีกด้วย
ส่วนประเภทหลักๆ ของละครที่พบ ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าการแบ่งประเภทละครสามารถพิจารณาจากเนื้อหาของละคร โดยแบ่งออกเป็น ละครโศกนาฏกรรม ละครโรแมนติก ละครเมโลดราม่า ละครตลก ละครต่อสู้ ละครผจญภัย ละครลึกลับ สยองขวัญ และละครพื้นบ้าน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การแบ่งประเภทของซีรีส์ก็ไม่ได้ตายตัว เพราะเมื่อเราสังเกตส่วนประเภทของซีรีส์ไทย เช่นในแอปพลิเคชัน WeTV จะพบว่ามีประเภท ดราม่า, แฟนตาซี, เครื่องแต่งกายโบราณ, สมัยใหม่, Idol, ขบขัน, สยองขวัญ, แอคชั่น ฯลฯ ส่วนแอปพลิเคชัน iQiyi (อ้ายฉีอี) มีประเภท วัยรุ่น, สืบสวนสอบสวน, LGBT, ชีวิตในเมือง, ความรัก, มิตรภาพ ฯลฯ
แล้วถ้ากลับไปที่คำถามว่าซีรีส์วายเป็นประเภทของซีรีส์หรือไม่? คำถามนี้ก็มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายคนเข้ามาแสดงความเห็นไว้ว่า ไม่ควรจะใช้คำว่าวายเป็นประเภทซีรีส์ ควรจะแบ่งจากพล็อต ไม่ใช่จากเพศ เพราะซีรีส์วายก็คือซีรีส์เรื่องหนึ่งที่เพียงแค่มีตัวเอกเป็นเพศกำเนิดเดียวกัน มารักกันเฉยๆ วายก็เป็นเพียงเรื่องที่มีคนสองคนมารักกัน ทำไมต้องแบ่งให้ยุ่งยากด้วย
ทั้งนี้ ยังมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เสนอไว้ว่าควรจัดหมวดหมู่ได้หลายประเภท เช่น จีนพีเรียด สืบสวน คู่บอยเลิฟ เกิร์ลเลิฟ cisgender (อัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศที่ถูกกำหนด)
รวมทั้งยังมีคนที่ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะมีการจัดหมวดหมู่ว่าสื่อไหนที่มีเรื่องความสัมพันธ์ของ LGBTQ+ สื่อไหนที่นำเสนอว่ามีคู่รักชาย-หญิง (cisgender) ก็ต้องแปะเตือนว่ามีคู่รักชาย-หญิงด้วยสิ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกฝ่ายที่มองว่าควรแยก เพราะการแยกไม่ใช่การเหยียดเพศ เพียงแต่แค่ทำให้ค้นหาง่ายขึ้น คนจะได้สามารถเลือกเสพตามที่ตัวเองต้องการได้ โดยถ้าหากมองในทางปฏิบัติ ก็ต้องยอมรับว่าบางคนก็เลือกเสพสื่อจาก love line จริงๆ บางคนเขาก็แค่ไม่ได้อยากเสพความสัมพันธ์ชาย-ชาย หญิง-หญิง ซึ่งเขาไม่ได้เป็นโฮโมโฟเบีย การมีหมวดหมู่แยกออกมา ก็ทำให้คนสามารถเลือกเสพได้
นอกจากนี้ยังมีคนที่ตั้งข้อสังเกตถึงการแย่งประเภทว่าเป็นวาย เอาไว้ว่า มันเกิดจากการไม่ยอมรับแนวนี้ในสังคม จึงต้องแบ่งเป็นหมวดไว้ให้ชัดเจน คนไม่ชอบจะได้เลี่ยง แต่เมื่อตลาดวายสามารถทำเงินได้ คำนี้จึงถูกยกมาเป็นจุดขายแทน
อีกทั้ง ยังมีคนมองว่าเพราะในความเป็นจริง สังคมก็ยังมีคนที่รับไม่ได้ และอาจจะเป็นแนวที่ยังเข้าไม่ถึงทุกเพศทุกวัย ทั้งยังมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตคนหนึ่งยังยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ โดยระบุว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีมาก แต่ก็มีคนที่เป็นโฮโมโฟเบีย ทั้งบ่นและด่าว่าโดนหลอก ซึ่งการระบุว่าวาย ก็มีไว้เพื่อเตือนคนที่ไม่ชอบสื่อประเภทชายรักชายเท่านั้น
อ้างอิงจาก
twitter.com(2)(3)(4)(5)(6)(7)(8)(9)(10)(11)(12)(13)(14)