เมื่อวานนี้ (22 เมษายน) The MATTER และ The Active ชวน 4 นักการเมืองจาก 4 พรรคมาคุยกันถึงนโยบายที่จะแก้ปัญหาของคน Gen Z ผ่านงานเสวนา “Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน Gen Z”
ตัวแทนจาก 4 พรรค ได้แก่ วทันยา บุนนาค ประชาธิปัตย์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก้าวไกล, ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง รวมไทยสร้างชาติ, และธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ไทยสร้างไทย
เริ่มกันที่พรรค #รวมไทยสร้างชาติ ดวงฤทธิ์ระบุว่า การแก้ปัญหาที่ Gen Z ต้องเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ต้องเริ่มจากการร่วมมือ การยอมรับความเก่งซึ่งกันและกัน และการไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย
“เรามาร่วมทีมและคิดตรงไปตรงมาว่าบ้านเราเมืองเรามีสเน่ห์อะไร จะร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ยังไง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละเมือง แล้วค่อยย้อนกลับมาร่วมกันกำหนดแนะนำทางการศึกษาว่า น้องๆ น่าจะเรียนไปในทิศทางไหน ให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเมืองเรา” ดวงฤทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ดวงฤทธิ์ยังเสนอว่า จะต้องมีนโยบายสร้างแต้มต่อให้กับคนตัวเล็ก ผู้ประกอบการ กลุ่ม SME และสตาร์ทอัปเข้มแข็งขึ้น โดยให้งบประมาณของรัฐไม่ต่ำกว่า 50% ของงบประมาณประจำปี
เมื่อถามว่าทำไมคน Gen Z ถึงต้องการพรรครวมไทยสร้างชาติ ดวงฤทธิ์ระบุว่า “ก็มาดูกัน อย่าแบ่งแยก มาร่วมกัน ใครมีอะไรดีๆ มีโอกาสได้ไปทำงานหรือเห็นนโยบายดีๆ ที่ก่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่และ Gen Z ก็มาเสนอกัน อย่าไปเล่นการเมืองให้มันมากเลย”
ต่อกันที่พรรค #ประชาธิปัตย์ ‘มาดามเดียร์’ หรือวทันยาเผยว่า คน Gen Z มีทางเลือกทางอาชีพไม่มากนัก เช่น พนักงานในองค์กร ฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของธุรกิจ แต่การจะเป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องอาศัยต้นทุน
“ชีวิตคน Gen Z ถูกบีบให้ต้องเลือก แต่จากที่เคยมีประสบการณ์คุยกับคนรุ่นนี้ บางคนก็ไม่ได้ถูกบีบให้เลือก แต่เขาไม่มีทางเลือกตั้งแต่แรก” วทันยา ระบุ
จึงเป็นที่มาของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอจะเติมเต็มและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้ทุกคนผ่านการสนับสนุนการศึกษา ได้แก่ นโยบายเรียนฟรีในระดับปริญญาตรี ที่วางแผนสนับสนุน 2 ช่วง ช่วงแรกคือเรียนฟรีในสาขาที่ตลาดต้องการ ส่วนช่วงต่อมาคือเรียนฟรีครบทุกสาขาวิชาของปริญญาตรี เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้เยาวชนทุกคนมีโอกาสเรียนตามฝันโดยไม่ต้องมีภาระให้ครอบครัว
วทันยาอธิบายเพิ่มเติมว่า คนรุ่นใหม่อยากทำงานอิสระแต่ต้องใช้เงินทุน และเป็นไปได้ยากที่สถาบันการเงินจะปล่อยเงินกู้ให้ผู้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่มีประสบการณ์ทำงาน เป็นที่มาของนโยบายที่จะเปิดให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเท่าเทียมจาก 3 กองทุน ได้แก่ 1) ธนาคารชุมชนหมู่บ้านละ 2 ล้านบาท, 2) กองทุน SME 300,000 บาท และ 3) กองทุนไอเดีย 10,000 ล้านบาท
ต่อมาเป็นคิวของ วิโรจน์ ตัวแทนพรรค #ก้าวไกล ที่เล่าถึงชีวิตคน Gen Z ว่าทั้งอนาคตในการทำตามฝันมืดมัว และแทบไม่มีโอกาสรองรับความล้มเหลวหรือโอกาสครั้งที่ 2
ดังนั้นจึงเสนอวิธีแก้ปัญหาจากพรรคก้าวไกลว่า จะสร้างตาข่ายเพื่อรองรับความเสี่ยงผ่านสวัสดิการต่างๆ เช่น เงินเด็กแรกเกิด, เงินเด็กเล็ก, หรือเงินผู้สูงอายุ โดยย้ำว่าสวัสดิการเหล่านี้จะดีกับกลุ่มเป้าหมายที่ได้ประโยชน์โดยตรง และสจะามารถทำให้คนทำงานทำตามความฝันได้โดยไม่ต้องห่วงคนข้างหลัง
“คนทำงานจะได้ทำตามความฝันโดยไม่ต้องห่วงคนข้างหลัง ไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง กล้าฝันมากขึ้น และวลีเด็กคืออนาคตของชาติจะได้เป็นจริง และไม่หลอนประสาทเด็กให้กินแค่ข้าวคลุกน้ำปลาบี้ไข่” วิโรจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ตัวแทนพรรคก้าวไกลยังเสนอนโยบายบ้านตั้งตัว นโยบายที่สนับสนุนความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยสำหรับคนรุ่นใหม่ อันเป็นนโยบายที่รัฐบาลจะช่วยผู้มีรายได้น้อยผ่อนบ้าน 2,500 บาท/เดือน
ท้ายที่สุด วิโรจน์เน้นย้ำว่าจะสนับสนุนนโยบายที่ช่วยให้ธุรกิจรายย่อยและ SME เข้าถึงแหล่งทุน สนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และทลายทุนผูกขาดเพื่อสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม
มาถึงพรรคสุดท้าย พรรค #ไทยสร้างไทย ธิดารัตน์ตัวแทนจากพรรคเริ่มเล่าด้วยชีวิตของเธอที่ก็เป็นผู้อพยพเข้าเมืองใหญ่เพื่อการศึกษา เพราะต้องการอพยพไปสิ่งที่เจริญกว่า
“เหตุผลหลักๆ ที่คนย้ายที่อยู่ คือ การศึกษา และโอกาสในการทำงาน ทุกอย่างคือการหาโอกาสที่ดีกว่า แต่ทำไมไทยถึงให้โอกาสที่ดีไม่ได้ในทุกๆ ที่” ธิดารัตน์ตั้งคำถาม
นำมาสู่วิธีแก้ปัญหาจากพรรคไทยสร้างไทยที่เสนอว่า จะต้องลดความเหลื่อมล้ำโดยสร้าง safety net ซึ่งทำให้สังคมมีสิ่งที่รองรับประชาชนในทุกช่วงวัย โดยเสนอให้ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ ผ่านการให้เงินสนับสนุนผู้ตั้งครรภ์ สนับสนุนให้เรียนฟรีจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และสร้างกองทุนคนตัวเล็กเพื่อให้ผู้ประกอบการมากู้เงินดอกเบี้ยต่ำได้ เป็นต้น
เมื่อถามว่าประเด็นปัญหาสำหรับคน Gen Z ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนที่สุด ตัวแทนจาก 4 พรรคการเมืองตอบไว้ ดังนี้
– วิโรจน์ ตัวแทนพรรคก้าวไกล เสนอว่า จะต้องแก้ไขปัญหาความฝันก่อน ทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นในอนาคตข้างหน้า ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสและมีสวัสดิการรองรับให้ล้มแล้วลุกได้ จากนั้นจึงค่อยแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาอพยพแรงงาน และปัญหาอื่นๆ
– วทันยา ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า จะต้องแก้ทุกอย่างพร้อมๆ กัน และ 3 เรื่องหลักๆ คือ 1) การสร้าง safety net ให้ประชาชนทำตามฝันได้โดยไม่ต้องกังวล 2) เติมโอกาสเท่าเทียมเสมอภาค และ 3) สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชน
– ธิดารัตน์ ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย เสนอว่า จะต้องแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต
– ดวงฤทธิ์ ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอว่า จะต้องสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างแต้มต่อให้คน Gen Z, กลุ่มสตาร์ทอัป, และ SME ประกอบกับพัฒนาการท่องเที่ยว