ท่ามกลางข้อถกเถียงหลัง แสนดี—แสนปิติ สิทธิพันธุ์ วิจารณ์การเมืองและแสดงความคิดเห็นว่าเกษตรกรสนใจแค่ปากท้อง ไม่สนใจเรื่องเพศ ทำให้ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในเกษตรกรได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกให้ความสนใจ ความไม่เท่าเทียมทางเพศในวงการเกษตรกรไม่ใช่เรื่องใหม่ The MATTER ขอชวนดูปัญหาอคติทางเพศที่เกษตรกรหญิงต้องเผชิญไปด้วยกัน
หากอธิบายคร่าวๆ เกษตรกรบางส่วนเจอกับปัญหาการไร้สิทธิถือครองที่ดิน การเข้าไม่ถึงการฝึกอบรมด้านการเกษตร และการถูกปฏิบัติในการค้าขาย–ค่าแรงอย่างไม่เท่าเทียม เพราะเป็นผู้หญิง
ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) บ่งชี้ว่า แรงงานหญิงในภาคการเกษตรได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายเกือบ 20%
อีกหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ คือ ปัญหาไร้กรรมสิทธิในที่ดิน สถิติบ่งชี้ว่าในประเทศกำลังพัฒนามีผู้หญิงถือกรรมสิทธิที่ดินเพียง 10-20% เท่านั้น ขณะที่กฎหมายบางประเทศไม่อนุญาตให้ผู้หญิงครอบครองที่ดินเลย ซึ่งการไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน ก็ทำให้เกษตรกรหญิงตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ให้ตัวเองแทบไม่ได้
…นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศห้ามไม่ให้ผู้หญิงเอาผลผลิตไปขายในตลาดหรือออกจากหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามีด้วยซ้ำ
ขณะที่องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) อธิบายว่า หนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนความไม่เท่าเทียมทางเพศในภาคเกษตรกรรม คือ ภาระหน้าที่ตามบรรทัดฐานทางเพศในสังคม เช่น การต้องดูแลบ้านและครอบครัว จนทำให้ไม่สามารถลงแรงกับการเกษตรได้อย่างเต็มที่
ข้อมูลเหล่านี้คงไม่ทรงพลังเทียบเท่าคำบอกเล่าจากปากของเกษตรกรหญิงผู้เผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศเอง ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นอยู่บนเอกสารบันทึกบทสัมภาษณ์เกษตรกรหญิงจากแอฟริกาโดย UNAC และ La Via Campesina
“พวกเราหญิงชายเพาะปลูกร่วมกัน ดายหญ้ามาด้วยกัน แต่รายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตกลับเป็นของผู้ชายฝ่ายเดียว ขณะที่ผู้หญิงต้องขออนุญาตเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตของตัวเอง มันไม่มีระบบการันตีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมในบ้านเลย การแจกจ่ายเงินที่ได้มาขึ้นอยู่กับความพอใจและเมตตาของผู้ชายที่รับบทหัวหน้าครอบครัวเสมอ” คือเสียงจากเกษตรกรหญิงชาวอูกันดา
ขณะที่เกษตรหญิงชาวซิมบับเวเล่าว่า “จริงที่เกษตรกรล้วนถูกขูดรีดโดยไม่เกี่ยวกับเพศ แต่มันก็จริงเหมือนกันที่ตลาดไม่ยอมให้ราคาที่ดีที่สุดกับผลประโยชน์ของพวกเรา มันก็จริงเหมือนกันที่เมื่อผลผลิตเพียงเล็กน้อยของพวกเราผ่านมือผู้ชาย ผู้หญิงกลับแทบไม่ได้รับส่วนแบ่งอย่างยุติธรรม”
แม้ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ที่อาจไม่มีบรรทัดฐานแบบตัวอย่างข้างต้น มีเกษตรกรหญิงเล่าว่าต้องเผชิญกับอคติทางเพศเช่นกัน ลอรี่ ฟลีนอร์ (Lorie Fleenor) ยืนยันว่า ในการธุรกิจ มันง่ายกว่าที่จะให้สามีของดำเนินธุรกิจและรับสายโทรศัพท์เกี่ยวกับธุรกิจ เพราะวงการเกษตรมีอคติทางเพศ
“แม้ฉันจะจัดการฟาร์มด้วยตัวเอง แต่พวกเขา [เกษตรกรชาย] ก็ไม่อยากจะคุยกับฉันว่าควรจะต้องตัดหญ้าเมื่อไหร่ ขายปศุสัตว์ตอนไหน หรือมีน้ำฝนมากเท่าไหร่ พวกเขาอยากจะคุยกับผู้ชาย” ฟลีนอร์ อธิบาย
ย้อนกลับมามองบ้านเรา แม้งานศึกษาความเหลื่อมล้ำทางเพศในเกษตรกรไทยยังมีไม่มากนัก แต่ก็มีงานวิจัยที่ศึกษาทัศนคติของเกษตรกรหญิง 40 คนใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งพวกเธอส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้ชายมักมีบทบาทตัดสินใจมากกว่าผู้ชายในการทำการเกษตร ส่วนการดูแลครอบครัวคือความรับผิดชอบของผู้หญิง แม้พวกเธอจะต้องทำงานเกษตรกรรมด้วยก็ตาม
ที่เล่าไปเป็นแค่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศที่เกษตรกรหญิงบางส่วนต้องเผชิญเท่านั้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากเสียเปรียบมหาศาลตั้งแต่ยังไม่เริ่มลงมือไถนาหรือหว่านเมล็ดพืช
อ้างอิงจาก
https://www.nationalgeographic.com/culture/article/partner-content-empowering-female-farmers
https://news.un.org/en/story/2023/04/1135597
https://agrilinks.org/post/gender-equality-agriculture-essential-food-security
http://www.mcc.cmu.ac.th/Seminar/pdf/224.pdf