วันนี้ (21 ธันวาคม) ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สส.ก้าวไกลกล่าวถึงความรุนแรงที่ LGBTQ+ ได้รับไว้ว่าไม่ได้มีแค่ความรุนแรงทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่ความรุนแรงที่ LGBTQ+ ได้รับนั้นยังรวมถึงความรุนแรงทางด้านจิตใจอีกเช่นกัน
“ความรุนแรงทางด้านร่างกายก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ความรุนแรงทางด้านจิตใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เรายังต้องเผชิญ การถูกให้ค่าว่าเป็นได้แค่ตัวตลก เราถูกสื่อขายเพื่อเป็นความบันเทิง มุกตลกที่เต็มไปด้วยคำเหยียดหยาม คำล้อเลียน ถูกสร้างภาพลักษณ์ให้กลายเป็นกลุ่มคนอารมณ์รุนแรงการที่สื่อผลิตซ้ำแบบนี้ ทำให้เราถูกตีตราจากสังคมว่าเราเป็นแบบที่ละคร แบบที่ภาพยนตร์ สื่อออกมาจริงๆ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นแบบนั้น” ปรัชญาวรรณกล่าว
ปรัชญาวรรณกล่าวต่อ “นอกจากความรุนแรงทางด้านร่างกาย ความรุนแรงจากการถูกเหยียดหยาม ถูกทำให้เป็นตัวตลก เป็นคนน่าขำขัน ทั้งที่ข้างในขมขื่น อีกหนึ่งเรื่องที่ถือว่าเป็นความรุนแรง คือความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ”
“รัฐที่ควรจะดูแลคุ้มครองประชาชนอย่างเท่าเทียมกลับกีดกันพวกเราในฐานะคู่รัก ไม่ให้สิทธิ ไม่ให้มีอำนาจในการตัดสินใจ แตกต่างจากคู่รัก คู่สมรสหญิงชาย” ปรัชญาวรรณกล่าว
“มีเหตุการณ์และเรื่องน่าเศร้ายืนยันว่าคู่รักเพศที่มีความหลากหลาย ไม่ได้รับโอกาส ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจทางการแพทย์ ตลอดจนเรื่องทรัพย์สินและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจอื่นๆ แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต ช่วงเวลาของความเป็นความตาย ที่กฎหมายยังให้สิทธิกับญาติพี่น้อง ที่อาจไม่เคยมาดูดำดูดี หรือไม่เคยติดต่อกันมานาน มาตัดสินใจแทนพวกเรา คนที่เป็นคู่รักที่ยืนอยู่ตรงหน้า” ปรัชญาวรรณกล่าวพร้อมระบุว่า สังคมไทยมีการเลือกปฏิบัติ มีความไม่เท่าเทียม และสร้างความเกลียดกลัวกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายมากพอแล้ว
ปรัชญาวรรณยังมองว่า ตอนนี้ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องช่วยหยุดยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น สร้างความเข้าใจใหม่ ยอมรับว่า LGBTQ+ มีตัวตนจริง โดยจะต้องยอมรับทั้งในทางกฎหมาย และยอมรับว่า LGBTQ+ ก็เป็นมนุษย์เหมือนกับทุกคน
ทั้งนี้ ปรัชญาวรรณระบุว่า คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้เราอยู่ในสังคมอย่างสันติภาพคือการเคารพทุกเพศ และโอบรับทุกความหลากหลาย
“ดังนั้นในฐานะผู้แทนราษฎร และอีกในฐานะหนึ่ง คือฐานมนุษย์ด้วยกัน ดิฉันหวังว่าทุกท่านจะร่วมกันผลักดันเครื่องมือที่เรียกว่ากฎหมาย เพื่อให้เกิดการคุ้มครอง เพื่อจะนำไปสู่การลดอคติระหว่างกัน และทำให้ความเกลียดชังและเกลียดหลัวเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพราะความแตกต่างทางเพศ ยุติลงสักที” ปรัชญาวรรณกล่าว
อ้างอิงจาก