เมื่อความเป็นจริงในสังคมมีผู้คนหลากหลายมากเกินกว่าจะถูกครอบไว้ด้วยการแบ่งเพศแค่ ชาย-หญิง กฎหมายที่ยังไม่ได้ปรับตามข้อเท็จจริง จึงต้องแก้ไขให้โอบรับทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียม
นับเป็นหมุดหมายครั้งสำคัญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่กำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่มีบุคคลสองคนที่อยากจดทะเบียนสมรสกัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่อนุญาตให้ทั้งสองจดทะเบียนร่วมกันได้ เพราะทั้งคู่มีเพศตามทะเบียนราษฎร์เป็นผู้หญิง
ทั้งสองคนที่ว่านี้คือ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ ทั้งคู่ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสไปเมื่อเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่เมื่อนายทะเบียนไม่ให้จด ทั้งสองจึงยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส ซึ่งถ้านายทะเบียนปฏิเสธ ก็ขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นที่มาให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
ความรักและครอบครัว ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคู่รัก ชาย-หญิง แต่มีหลากหลายมากกว่านั้น The MATTER จึงไปพูดคุยกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศทั้ง มัจฉา พรอินทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และนักรณรงค์เพื่อสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และประธานร่วมขององค์กร International Family Equality Day (IFED) ผู้นิยามตัวเองเป็นเลสเบี้ยน และ พรหมศร วีระธรรมจารี จากกลุ่มราษฎรมูเตลูที่นิยามตัวเองเป็นนอน-ไบนารี่ เพื่อให้เข้าใจว่า สิทธิที่จะสร้างครอบครัวของผู้คนนั้น ไม่อาจถูกขวางกั้นโดยรัฐได้
ครอบครัวที่หลากหลายมีอยู่จริง
ครอบครัวจริงๆ ในสังคม ไม่ได้มีแค่ ‘พ่อ-แม่-ลูก’ ตามแบบเรียนหรือกรอบที่สังคมวางไว้ แต่มีอีกหลากหลายรูปแบบมากเกินกว่าจะถูกครอบไว้ในกรอบเดียว เช่นเดียวกับครอบครัวของ มัจฉา พรอินทร์ ที่ครอบครัวของเธอประกอบด้วย วีรวรรณ วรรณะ คู่รักที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงเช่นเดียวกัน และศิริวรรณ พรอินทร์ ลูกของทั้งคู่
แต่ความหลากหลายทางเพศมีมากกว่าจะจำกัดไว้แค่ ชาย-หญิง ตามเพศกำเนิด มัจฉานิยามตัวเองว่าเป็น เลสเบี้ยน มีความรักความสัมพันธ์กับเพศหญิง ซึ่งรวมผู้หญิงทรานส์ด้วย พร้อมเสริมว่า คู่ของเธอก็มีเพศกำเนิดเป็นหญิง และไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็น LGBTQ แต่นิยามว่าเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
“มุมมองของสังคมอาจจะมองว่า ชอบได้สองเพศ ถ้าเชื่อว่ามีแค่หญิงและชาย แต่พอมันไม่ได้มีแค่หญิงและชาย คนจำนวนมากก็รู้สึกว่านิยามเพศปัจจุบันอาจจะไม่ครอบคลุมแล้ว”
แม้ครอบครัวของมัจฉาจะอยู่ด้วยกันมานานนับสิบกว่าปี แต่ทางกฎหมายก็ยังไม่รับรองให้พวกเธอได้เป็นครอบครัวกันตามกฎหมายเสียที ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างมาก มัจฉาเล่าว่า ถ้ามีความรัก ความสัมพันธ์กันแบบแฟน ก็อาจไม่เห็นถึงความสำคัญของการที่มีกฎหมายรับรอง เช่น ถ้าคบกันเฉยๆ ไม่ได้วางแผนที่จะซื้อบ้านด้วยกัน ก็จะไม่รู้ว่า รัฐไม่ได้อนุญาตให้คนเพศกำเนิดเดียวกันถือครองทรัพย์สินร่วม แบบที่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตแล้ว สมบัติชิ้นนั้นก็จะต้องเป็นของอีกฝ่าย หรือหากไม่เกิดอุบัติเหตุก็จะไม่รู้ว่า ก็ไม่สามารถเซ็นเอกสารให้กับคู่ของตนเองได้ ซึ่งรัฐและผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือสุขภาพ มองคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่มีสิทธิเหนือคู่ของตนเองในภาวะวิกฤต
“เราอาจจะเห็นในข่าวแล้วว่า มีเพื่อนในชุมชนเราที่เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส แล้วต้องไปลากพ่อลากแม่มาจากต่างอำเภอ จากต่างจังหวัด อายุเยอะมาก เพื่อที่จะมาเซ็น แล้วกรณีที่ทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที แล้วก็ทำให้คู่ชีวิตของเราเสี่ยง ซึ่งถ้าพวกเราจำนวนมากไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ ก็จะไม่รู้ว่าสิ่งนี้สำคัญ”
นอกจากนี้ มัจฉายังเสริมว่า ถ้าไม่ได้รับราชการ หรือไม่ได้อยู่ในองค์กรธุรกิจที่จะมีผลประโยชน์ในแง่ของการมีครอบครัว ก็จะไม่รู้ว่า คู่ของคนมีความหลากหลายทางเพศจะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ถ้าเราเป็นเพศกำเนิดเดียวกัน โดยเธอยกตัวอย่างกรณีของข้าราชการไทย เมื่อคู่รักที่มีเพศกำเนิดเดียวกันซึ่งจดทะเบียนสมรสกันไม่ได้ ก็กลายเป็นว่าไม่ได้รับการรักษาและรับสวัสดิการนั้น
เธอยังย้ำถึงอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งคือ หากไม่ได้พยายามจะรับอุปการะลูก ก็จะไม่รู้ว่า นี่เป็นสิทธิที่ขาดหายไป
“ตอนนี้คนก็จะบอกว่าอุปการะแบบเดี่ยวไปสิ ซึ่งแม้กระทั่งอุปการะแบบเดี่ยวมันก็มีปัญหา อย่างเช่น ถ้าเราเป็นทรานส์ เราจะอุปการะลูก ทัศนคติของการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน มันก็ทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่นว่า จะสามารถดูแลเด็กได้ไหม ซึ่งทัศนคติของรัฐที่ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองเด็ก หรืออนุญาตให้เด็กไปเป็นบุตรบุญธรรม มันก็อาจจะไม่เกิดขึ้น ถ้าสมมติว่าเจ้าหน้าที่มีทัศนคติที่เป็นลบต่อชุมชน LGBTQ”
การจะรับอุปการะลูกแบบคู่ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ มัจฉากล่าวว่า รัฐไทยไม่ได้ยอมรับว่าพวกเราเป็นครอบครัว แล้วสมมติว่าเธอสามารถอุปการะเดี่ยวได้ แต่หากเธอเสียชีวิตขึ้นมา ลูกสาวของเธอและแม่อีกคนก็จะกลายเป็นคนอื่นต่อกัน ไม่สามารถปกครองโดยชอบธรรมได้ ทั้งยังกระทบไปถึงสิทธิของเด็กอีกด้วย
“อย่างลูกสาวเราทำพาสปอร์ตไม่ได้ เพราะเราเซ็นเอกสารให้ไม่ได้ สิทธิของลูกถูกพรากไปเพียงเพราะสถานะของแม่ที่รัฐไม่รองรับ สิทธิที่เขาจะได้มีครอบครัว สืบทอดมรดก เดินทาง ได้รับการคุ้มครอง และมีความปลอดภัยในชีวิตก็หายไป เพราะถ้าเราเซ็นเอกสารให้ลูกไม่ได้ หากเขาต้องเข้ารักษาฉุกเฉินในภาวะวิกฤต ก็ทำไม่ได้อีก”
มัจฉาขยายความเพิ่มอีกว่า ถ้ามีลูก ลูกก็เสี่ยงที่จะเผชิญต่อการถูกกลั่นแกล้ง รังแก ในสถานศึกษา เพราะระบบการศึกษาไทยล้มเหลวในเรื่องของการสอนเรื่องเพศศึกษารอบด้าน และเรื่องสิทธิหลากหลายทางเพศ รวมถึงเด็กที่อยู่ในครอบครัวหลากหลายทางเพศก็ไม่เคยได้ถูกสังคมมองเห็นและตระหนัก เต็มไปด้วยการตีตรา ทำให้เป็นอุปสรรคในการเปิดเผยตัวเอง เสี่ยงที่จะเจอความรุนแรงและไม่ได้รับการคุ้มครอง
แต่ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการให้มีกฎหมายสมรสสำหรับคนทุกคน ก็มองว่า การให้เด็กเติบโตมาในครอบครัวที่ผู้ปกครองมีความหลากหลายทางเพศ จะทำให้เด็กมีปม หรือผิดปกติได้ ซึ่งมัจฉาแย้งว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็เป็นคนเท่ากับทุกคน ไม่ได้ผิดปกติ ซึ่งแต่เดิมเราถูกกรอบของศาสนาและระบบวัฒนธรรมตีตราเอาไว้ แต่ปัจจุบัน เหล่า LGBTQ ก็คือคนทั่วไปเช่นเดียวกัน แล้วจะเลี้ยงลูกให้ผิดปกติได้อย่างไร
นอกจากนี้ เธอยังกล่าวว่า มีงานวิจัยรองรับว่า ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศอาจเลี้ยงลูกได้ดีกว่าครอบครัวตามกรอบเดิมด้วยซ้ำ เพราะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเปิดกว้างและคำนึงถึงสิทธิของตัวเอง ซึ่งส่งผลไปถึงการให้ความสำคัญกับสิทธิเด็กด้วย
“คำถามที่ว่า เด็กในครอบครัว LGBTQ จะเป็นเด็กมีปัญหาหรือเปล่า ขอถามว่าสถานการณ์สังคมในปัจจุบันมันมีปัญหาไหม มันมีปัญหามากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เด็กทุกคนเสี่ยงที่จะมีปัญหาอยู่แล้ว แต่ว่ามีปัญหาเพราะครอบครัวเป็น LGBTQ เราคิดว่ามีปัญหาเดียวคือ สังคมไม่ยอมรับ ทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องต่อสู้ เพียงเพื่อจะยืนยันว่า เราเป็นครอบครัวและต้องการสิทธิเท่าเทียม”
ความหลากหลายทางเพศที่ไม่ควรตีกรอบไว้แค่ ชาย-หญิง
“เรานิยามตัวเองว่าเป็นนอน-ไบนารี่ แต่ปัจจุบันคบกับผู้ชาย”
พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ฟ้า จากกลุ่มราษฎรมูเตลูที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคในการชุมนุมอยู่เสมอ เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้การสมรสเกิดขึ้นได้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม
พรหมศรมองว่า ความรักไม่สามารถจำกัดกรอบเพศลงไปได้ว่า เพศไหนต้องรักกับเพศไหน ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันความหลากหลายทางเพศถูกยอมรับโดยคนในสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้จะยังมีอคติทางเพศอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเปิดกว้างขึ้น ดังนั้นแล้ว การที่กฎหมายสมรสในปัจจุบันกำหนดให้เป็นเรื่องเฉพาะของชาย-หญิง จึงถือเป็นเรื่องที่ล้าหลังมากๆ
“เราไม่ควรจำกัดการแต่งงาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ โดยการบอกว่า เป็นเรื่องของชายกับหญิงเท่านั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม คุณควรมีสิทธิสมรส และคุณควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม”
พอถามถึงผลกระทบจากการไม่ได้รับสิทธิในการมีชีวิตคู่และสร้างครอบครัว พรหมศรก็เล่าถึงประสบการณ์ที่เขาเคยประสบอุบัติเหตุกับแฟน แม้ว่าแฟนจะไม่เป็นอะไร แต่ตัวเขาเองต้องเซ็นอนุมัติเพื่อเข้ารับ CT scan ซึ่งตอนนั้นเขาไม่สามารถลุกมาเซ็นเองได้ และเป็นสิ่งที่ทำให้ตระหนักว่า ถ้าไม่ใช่คู่สมรสก็เซ็นให้กันไม่ได้ ทำให้กระบวนการล่าช้า และอาจทำให้ผู้ที่รอการรักษาเสียชีวิตไปก่อนได้
เขายังยกตัวอย่างถึงกรณีที่คู่รักที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน ซื้อบ้านเพื่อจะอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อวันหนึ่ง มีคนเสียชีวิตไป พ่อแม่ของผู้เสียชีวิตก็มาเอาบ้านที่คู่รักคู่นี้ซื้อไว้ โดยอ้างสิทธิของการเป็นผู้ให้กำเนิดตามกฎหมายซึ่งมีสิทธิในทรัพย์สินทุกอย่าง ทำให้อีกคนซึ่งยังมีชีวิตอยู่ไม่มีสิทธิอะไรในทรัพย์สินที่ซื้อร่วมกันเลย
พอกฎหมายไม่คุ้มครองในด้านนิตินัย ความหลากหลายทางเพศที่เขาต้องการจะมีชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน ก็ถูกเบียดเบียนโดยความบกพร่องของรัฐ
พรหมศรบอกด้วยว่า ทั้งเขาและแฟนคุยกันว่า อยากจดทะเบียนสมรส ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อน ทั้งคู่ก็เพิ่งเป็นพยานให้กับ ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ในการจดทะเบียนสมรส พวกเขาจึงเอาทะเบียนสมรสของลูกนัทมาถ่ายรูปคู่กัน เพื่อล้อเลียนที่คู่รักเพศกำเนิดเดียวกันไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้
แม้ว่า จะไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าความรักของคนสองคน จะคงอยู่ได้นานขนาดไหน แต่พรหมศรก็มองว่า การจดทะเบียนมันเป็นสิ่งที่ทำให้เขามั่นใจว่า เขาจะมีชีวิตยืนอยู่คู่ต่อกันไปเรื่อยๆ และจะรวมถึงการไปรับเด็กอุปการะมาเลี้ยง เพื่อเป็นการสร้างครอบครัว ซึ่งคำนี้ไม่ได้ถูกกำหนดไว้แค่ ชาย-หญิง เท่านั้น แต่เป็นคำที่หมายรวมถึงความอบอุ่นของครอบครัวนึงที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับเพศใดๆ ก็ตาม
“การจดทะเบียนสมรสของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศถือเป็นจุดเริ่มต้นของสิทธิมนุษยชนในประเทศเรา ถ้าเราอยากเห็นสิทธิมนุษยชนของประเทศเราเจริญเติบโต ก้าวหน้า แข็งแกร่ง เริ่มดูได้จากการจดทะเบียนในคนที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน เพราะมันไม่ใช่แค่จดทะเบียน แต่หมายถึงสิทธิในชีวิตคู่ของเขาด้วย ซึ่งจะถือเป็นการยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงในประเทศเรา”
การต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมทางเพศ
กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่เกิดขึ้น สิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกลดทอน ถึงอย่างนั้น เรากลับยกย่องประเทศนี้ว่าเป็นดั่งสวรรค์สำหรับเพศหลากหลาย
พรหมศรมองว่า แม้ความหลากหลายทางเพศจะถูกยอมรับมากกว่าเดิม ผู้คนมีที่ยืนมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง แต่ที่ผ่านมาเขาและคนรอบข้างก็เคยเผชิญกับผลจากการที่รัฐไม่ยอมรับตัวตนของพวกเขาเช่นกัน
“เพื่อนสนิทฟ้าเคยโดนเรื่องการเกณฑ์ทหาร การที่ใครสักคนต้องการเป็นผู้หญิง ไม่ได้แปลว่าเขามีความผิดปกติทางจิต หรือเป็นคนวิกลจริต แต่เพื่อนฟ้าโดนตีตราว่าเป็นคนวิกลจริต ในยุคที่ตอนนั้นทุกคนยังไม่กล้าต่อสู้เรื่องนี้มากนัก”
พรหมศรเสริมว่า ปัจจุบันเรายอมรับในเชิงพฤตินัยมากแล้ว แต่ในด้านนิตินัยกลับไม่ถูกยอมรับเลยแม้แต่น้อย ซึ่งทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดต่างก็เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนี้ทั้งสิ้น ทั้งยังเสริมว่า การมีกฎหมายให้เพศกำเนิดเดียวกันสมรสกันได้นั้น จะทำให้มีคนเดินทางเข้าประเทศมาจดทะเบียนเพิ่มขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับไต้หวัน นำไปสู่ผลทางบวกให้กับประเทศยิ่งขึ้น
ขณะที่ มัจฉามองว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการยอมรับความหลากหลาย ด้วยการผลิตภาพตัวแทนสังคมแบบเดียว
“ประเทศเรามี successful story แบบเดียว เป็นผู้หญิงทรานส์ก็ต้องสวย ผู้ชายทรานส์ก็ต้องหล่อ หญิงรักหญิงก็ต้องซัฟเฟอร์ เกย์ก็ต้องกล้ามใหญ่ๆ กะเทยไม่สวยไปเลยก็ต้องตลกไปเลย แล้วทุกคนก็ต้องแบบเราอยู่ในสวรรค์ ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง แล้วก็ทุกข์ทรมานจากครอบครัว การตีตราโดยศาสนา รวมถึงการไม่มีกฎหมายคุ้มครอง”
“คำว่า สวรรค์ LGBTQ มันเป็นวาทกรรมกดทับไม่ให้เราสะท้อนความเป็นจริงว่า LGBTQ ในสังคมไทย ไม่ได้รับการคุ้มครองในครอบครัว ถูกรังแกในสถานศึกษา ยังถูกตีตราโดยใช้ศาสนาหรือวัฒนธรรม รวมถึงกฎหมาย ไม่มีกฎหมายใดๆ เลยที่ปกป้องคุ้มครองการเลือกปฏิบัติของพวกเราบนพื้นฐานของการมีความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่สวรรค์”
มัจฉายังชวนตั้งคำถามว่า ทำไมสังคมถึงยังดำรงไว้ซึ่งการมีระบบสองเพศ และเชื่อว่าไม่ควรเปลี่ยนแปลง ซึ่งเธอตอบว่า เราอยู่บนพื้นฐานของสังคมที่ไม่เป็นธรรม และการที่มีแค่สองเพศ เพศชายจะได้รับผลประโยชน์มากจากระบบแบบนี้ ซึ่งเรียกว่า ระบบชายเป็นใหญ่
“ไอระบบสองเพศมันก็จะดำรงไว้ซึ่งอำนาจสำหรับชายเป็นใหญ่ และสะท้อนออกมาในแง่ของนักการเมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่ของผู้ชาย เสียงของผู้ชาย ศาสนาที่ไม่ยอมให้ผู้หญิงบวช ระบบทหารที่เอาเงินสวัสดิการของพวกเราไปซื้ออาวุธสงคราม สุดท้ายก็เอากลับมาทำร้ายประชาชนของตัวเองเวลาที่มีการประท้วง รวมถึงเข้าข้างทุน เวลาที่มีโครงการใหญ่ๆ โครงการพัฒนาก็ไม่ฟังเสียงประชาชน แล้งองค์กรเหล่านั้นก็เต็มไปด้วยเสียงของผู้ชาย”
เพราะฉะนั้น มัจฉาจึงสรุปว่า สาเหตุที่สังคมโลกยังคงไว้ซึ่งระบบสองเพศ ก็เพราะว่าระบบนี้ยังสนับสนุนความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ เราจึงเห็นการกดขี่ระบบเพศของประเทศที่พัฒนาแล้วเบาบางลงกว่าประเทศที่ไม่พัฒนาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
เธอย้ำว่า ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานเรื่องของสิทธิมนุษยชน ไม่สอนเรื่องนี้ในโรงเรียน ไม่มีองค์ความรู้อยู่ในสังคม และผู้คนยังถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เหตุแห่งเชื้อชาติ เหตุของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนี่เป็นสาเหตุที่คนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ
“ถ้าเราจะเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนความเชื่อให้เห็นว่า สังคมมีความหลากหลาย และเอื้อให้ทุกคนได้ลุกขึ้นมามีที่หยัดที่ยืนอย่างเท่าเทียมกัน และพัฒนาระบบกฎหมายให้ปกป้องคุ้มครอง มันก็จะค่อยๆ พัฒนา ซึ่งมันทำไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงเรื่องการศึกษา เรื่องการเมือง เรื่องการจัดสรรทรัพยากร กระจายอำนาจอย่างเป็นธรรม”
เรามีความหวังแค่ไหนกับการสมรสเท่าเทียม
“มีความหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ตีว่าการสมรสเป็นแค่เรื่องของคนสองคนเท่านั้น มันเป็นความหวังในตัวเราเล็กๆ ว่า รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายปกครองสูงสุดของประเทศไทย จะไม่ใจแคบสำหรับความหลากหลายทางเพศ ไม่ใจแคบไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ดำรงสถานะอะไร หรือชาติพันธุ์ใดๆ ก็ตามในประเทศเรา เมื่อเราบอกว่า เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นคำว่าประชาธิปไตยมันก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะเปิดกว้างในทุกๆ ด้าน”
คำกล่าวจากพรหมศร เมื่อถูกถามถึงความหวังในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการชี้ชัดว่า การให้สมรสได้เฉพาะชาย-หญิง เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
เขาย้ำว่า หากศาลให้การสมรสเป็นเฉพาะเรื่องของชายกับหญิง ก็ถือเป็นการตัดโอกาสความเจริญด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไปแล้ว ซึ่งการตีความของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการตีความที่สูงสุดในประเทศนี้แล้ว และเป็นการตีความที่จะนำไปสู่เรื่องราวต่างๆ ดังเช่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง
ถ้าศาลบอกว่าไม่ผิด พรหมศรกล่าวว่า เราจะได้เห็นคู่รักอีกหลายคู่ที่ไม่ใช่แค่ ชาย-หญิง เดินจูงมือไปเขตเพื่อจดทะเบียนสมรส รวมถึงคู่ของเขาเองก็คงเป็นคู่แรกๆ ที่ไปจดทะเบียนด้วยเช่นกัน และยังกล่าวว่า นี่เป็นเรื่องที่รัฐมีหน้าที่รองรับสิทธิของทุกคนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เช่นเดียวกับมัจฉาที่กล่าวว่า เธอไม่เคยสิ้นหวังในการได้มาซึ่งสิทธิที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศควรได้รับ แม้รัฐบาลจะย้ำยีศักดิ์ศรีและคุณค่าของผู้คนมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยการเลื่อนผลการตัดสินออกไปเรื่อยๆ หรือแม้แต่คนที่ใช้มุมมองอย่างอนุรักษ์นิยมมาบอกว่า ‘เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิตไปเถอะ อย่าแก้ ม.1448 เลย’ แต่พวกเธอก็ไม่เคยสิ้นหวัง
“ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐไม่สามารถพรากไปได้ คือสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วพวกเรา ‘มีอยู่’ ในทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่เอาผิดถึงขั้นประหารชีวิตก็ยังมีครอบครัวที่หลากหลาย ดังนั้น เราไม่เคยยอมแพ้กับกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ”
มัจฉากล่าวอีกว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ม.1448 ที่กำหนดให้สมรสได้เฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เธออยากเห็นคือการมีส่วนร่วมในการที่จะแก้ไข และให้มั่นใจว่าจะไม่มีเงื่อนไขใดๆ อีกแล้วที่จะมาปิดกั้นคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีก เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิที่เท่าเทียมเหมือนคู่รักต่างเพศ และได้ใช้กฎหมายตัวเดียวกันกับทุกคนในสังคม
“แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังเลื่อนหรือตัดสินว่าไม่ขัด เราจะไม่หลงเหลือความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐ ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่มีอยู่แล้ว แต่เราจะไม่หลงเหลือความเชื่อใจในระบบยุติธรรมของไทยอีกเลย แล้วก็จะต่อสู้ให้เข้มข้นกว่านี้อีก ทั่วโลกจะต้องเห็นว่ารัฐบาลไทย ระบบยุติธรรมไทยกดขี่ ข่มเหงคนที่มีความหลากหลายทางเพศขนาดไหน”
อย่างไรก็ดี ถึงศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ข้อกฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งแปลว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถสมรสกันได้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่า นี่อาจเป็นการเปิดทางไปสู่การเดินหน้าใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ.ที่ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ได้ตั้งอยู่บทแนวคิดของความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง ด้วยการแยกให้คนกลุ่มนึง ต้องใช้กฎหมายอีกฉบับ
“เราต้องใช้กฎหมายเดียวกัน กฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติในตัวของมันเอง ฉะนั้น ถ้าศาลอาจคำวินิจฉัยแล้วดันไปทาง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ด้วยวาทกรรมอะไรก็แล้วแต่ เราก็ถือว่า เรายังถูกเลือกปฏิบัติ ถูกทำให้เป็นชนชั้นสองในสังคม เพราะไม่สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วได้ แต่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยการแบ่งแยกให้ใช้กฎหมายคนละตัว เนื้อความกฎหมายก็แตกต่างกัน และแนวทางในการปฏิบัติยังต้องอาศัยการตีความ ซึ่งเอื้อให้เกิดการใช้ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หรือระบบนิติธรรม”
มัจฉาย้ำว่า การใช้กฎหมายแยกต่างหากกับคนอีกกลุ่ม จะทำให้เกิดช่องว่างที่ต้องเผชิญสองอย่าง นั่นคือ การถูกหลอกว่า สิทธิเท่ากัน ทั้งที่ความจริงไม่เท่า และคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังต้องไปต่อสู้กับการตีความบนพื้นฐานของทัศนคติที่มันไม่สามารถที่จะวัดและประเมินได้ ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นพลเมืองชนชั้นสอง
“ถ้าฟังเสียงเรา ก็แก้ ม.1448 แล้วพอแก้ปุ๊บ สิ่งที่มันง่ายก็คือ มันก็แค่ใช้กับทุกคนอย่างเท่ากัน แต่ถ้าเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต เรายังนึกไม่ออกเลยว่า เราต้องไปแก้กฎหมายลูกอีกกี่ตัว ต้องไปทำพระราชบัญญัติอะไร เพื่อจะตอบสนองต่อการแก้ พ.ร.บ.นั้น ให้มันใช้ได้ ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่มั่นใจว่าใช้ได้หรือเปล่าด้วย ก็เหมือนกับจะให้เราวนอยู่ในอ่าง”
สำหรับตอนนี้ ที่สังคมไทยยังไม่มีกฎหมายสมรสสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม พรหมศรกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า วันที่เขาเปิดเผยว่าชอบคนที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน แม่ของเขาบอกไว้ว่า “ความรักเป็นเรื่องของบุคคล พระเจ้าไม่ได้สร้างความรักมาให้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น ดังนั้น ถ้าลูกมีความรักและต้องการใช้ความรักกับใคร จงใช้ความรักมันอย่างคุ้มค่าที่สุด และอย่างถึงที่สุด”
ด้วยคำกล่าวนี้ พรหมศรหวังว่า คนในสังคมเราจะเปิดกว้างในเรื่องของการใช้ความรักและเราจะให้บุคคล ไม่ว่าใครก็ตาม เขาได้มีความรักอย่างสมบูรณ์แบบ และได้ถูกรองรับโดยรัฐ ด้วยกฎหมายว่าเขาเป็นบุคคลที่รักกัน ซึ่งจะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้
ขณะที่ มัจฉาปิดท้ายว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยากได้แรงสนับสนุนจากสังคมว่า สิทธิมนุษยชน คือระบบคุณค่าใหม่ของสังคมไทย
“ชุมชนของเราที่ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน เรารวมตัวกันยืนยันสิทธิว่าเราจะไม่ยินยอมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างสร้างเงื่อนไขเชิงระบบ กีดกันเราซ้ำ เพราะฉะนั้น เราก็ยังยืนยันที่จะต่อสู้ต่อ แล้วสิ่งที่เราอยากเห็นจริงๆ ก็คือว่า เยาวชน LGBTQ คนรุ่นใหม่ คนที่ก่อตั้งครอบครัวที่เป็นคนหลากหลายทางเพศ และลูกๆ ของพวกเราจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติอีกต่อไป”
“และเราก็เท่าเทียมกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และทัศนคติของคนในสังคมก็เคารพความแตกต่างหลากหลาย”