“เราทุกคนยืนอยู่ระหว่างกลางวันกับกลางคืน เราทุกคนต่างก็ยืนอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างความปกติกับไม่ปกติ ทุกคนอยู่บนเส้นแบ่งได้นะ” – จองดาอึน
ต่อให้โดนมีดบาดจนเลือดไหลจวนจะหมดตัว เราคงรู้ถึงความเจ็บจากแผลได้ทันที คนรอบตัวก็คงวิ่งหน้าตั้งมาช่วยห้ามเลือด ส่วนหมอก็คงโชว์ฝีมือลงเส้นไหมจนหายสนิทเหมือนเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น แต่สำหรับแผลทางใจที่ซีรีส์ Daily dose of sunshine พาเราไปสำรวจ ดูจะซับซ้อนกว่านั้นหลายเท่า
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของซีรีส์ Daily Dose of Sunshine | รับแดดอุ่น กรุ่นไอรัก*
Trigger Warning: มีการกล่าวถึงการฆ่าตัวตายของตัวละคร
คอซีรีส์จำนวนไม่น้อยที่เริ่มต้นดูตอนแรก ด้วยเหตุผลง่ายๆ อย่างการเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่ไม่เคยพลาดผลงานของพัคโบยอง (Park Bo Young) ซึ่งรับบทเป็น จองดาอึน พยาบาลที่เพิ่งย้ายมาประจำในแผนกจิตเวช แต่ดูไปดูมารู้ตัวอีกทีก็อาจซัดยาว 12 ตอนรวดไปแล้ว
ทั้งที่เต็มที่ยิ่งกว่าใครจนพูดได้เต็มปากว่า อาชีพพยาบาลนี่แหละทำหัวใจเธอเต้นแรง แต่แล้วอะไรๆ กลับดูจะไม่ง่ายอย่างที่ดาอึนคิดเสียแล้ว โดยเฉพาะในวันที่เธอ…
ตั้งแต่ต้นจนจบ ซีรีส์พาเราไปทำความรู้จักแผนกจิตเวชด้วยสถานะที่ต่างกัน ไม่ว่าจะในบทบาทผู้ป่วย ครอบครัว พยาบาล หมอ และบรรดาเจ้าหน้าที่ คล้ายกับชวนเราไป ‘รับแดดอุ่น กรุ่นไอรัก’ ตามชื่อ ทั้งปวดใจกับทุกเรื่องราวไปพร้อมกัน และยังเปิดปมการตีตราของคนในสังคม
ทว่านั่นก็คงไม่ทำเอาจึ๊กที่หัวใจได้เท่ากับช่วงเวลาที่ซีรีส์ทำงานกับใจ จนอยู่ดีๆ ก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า หรือเราเองก็ป่วยอยู่นะ?
ทุกอาการคือภาษาของการดิ้นรน
เราขอออกตัวก่อนว่า ถ้าคุณคาดหวังซีรีส์ทางการแพทย์แบบระทึกใจ ชวนหม่นหมอง หรือเลือดสาดอาจต้องรอป้ายหน้า เพราะแม้ตัวละครต่างถ่ายทอดบทบาทเอาไว้อย่างลึกซึ้ง แต่การจัดวาง Mood and Tone ในแต่ละฉาก กลับไม่ทำให้เราหดหู่จนเกินไป ซึ่งนั่นอาจเป็นบรรยากาศแบบเรียลๆ ของแผนกจิตเวชโดยทั่วไปก็ได้
เช่นเดียวกับความสมจริงของซีรีส์ด้านการแพทย์ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านการแสดงและสถานการณ์เล็กๆ น้อยๆ ถือเป็นจุดแข็งของบทภาพยนตร์เกาหลีใต้ ซึ่ง Daily Dose of Sunshine ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ตั้งแต่ฉากเปิดตัวของจองดาอึน เธอเพิ่งย้ายมาจากแผนกอายุรกรรม จึงมาพร้อมสกิลมือไวแสง เพราะต้องรับมือกับคนไข้ปริมาณมากๆ แต่ยังไม่คุ้นชินกับข้อปฏิบัติของวอร์ดพิเศษ ที่แม้แต่การใช้สายเชือกคล้องป้ายชื่อก็เป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งหมดล้วนช่วยเปิดโลกให้เราได้รู้จักการทำงานของแผนกจิตเวช
ในฐานะผู้ชมคนหนึ่งเชื่อว่า การเริ่มต้นซีรีส์ด้วยวิถีชีวิตของเหล่าพยาบาล นอกเหนือจากเหตุผลว่าจะช่วยปูพื้นฐานให้คนดูแล้ว อาจเป็นความตั้งใจเพื่อทลายมายาคติภาพความกลัวของคนทั่วไป ที่มีต่อแผนกจิตเวชว่าไม่ต่างกับเขตอันตราย ก่อนที่ในเวลาต่อมาเนื้อเรื่องจะค่อยๆ พาไปรู้จักโรคทางจิตเวชต่างๆ ตั้งแต่โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ ไปจนถึงโรคหลงผิด เป็นต้น
ซีรีส์เรื่องนี้กำลังสะท้อนปัญหาสุขภาพจิตที่ชาวเกาหลีใต้กำลังเผชิญอยู่ ปัญหานี้สะท้อนผ่านรายงานในปี 2564 ซึ่งระบุว่า มีผู้เข้ารักษาภาวะซึมเศร้ามากถึง 933,481 คน และเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายถึง 13,000 คน หากขยายความให้ชัดขึ้นนั้น หมายถึง ในประชากร 100,000 คน มีประชากรถึง 26 คน ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง และบ่อยครั้งแรงกระตุ้นมาจากคนใกล้ชิด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่านิยมการเลี้ยงดูของพ่อแม่ชาวเอเชีย รวมถึงการปลูกฝังวัฒนธรรมว่าต้องเคารพผู้ใหญ่ ก่อให้เกิดแผลใจมาแล้วนักต่อนัก เพราะบ่อยครั้งมันมักอยู่บนพื้นฐานว่า ‘ทำเพราะรัก’ ทั้งที่เรารู้อยู่เต็มอก ทว่าจะเอ่ยปากปฏิเสธแต่ละทีกลับน้ำท่วมปาก
เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในคนไข้โอรีนา ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ซึ่งเติบโตมาด้วยชีวิตที่แม่มอบให้ จนแม้แต่การสั่งกาแฟที่ตัวเองชอบยังทำไม่ได้ แถมยังไม่มีสิทธิ์ระบายความทุกข์ใจ เพราะแค่เธอจะง้างปาก คำพูดของคนรอบตัวว่า “ชีวิตเธอยังต้องการอะไรอีก แม่เธอทำให้ทุกอย่าง ชาติที่แล้วเธอกู้ชาติมาเหรอ” ก็ก้องอยู่ในหูแล้ว
เราเคยพูดแบบนี้ใส่ใครสักคนไหมนะ? มีไหมที่บ่นต่อไม่ได้? คำถามเหล่านี้ผุดมากระแทกใจเราทันที
ด้วยความซับซ้อนของโรคทางจิตเวช ชามินซอ พยาบาลเพื่อนร่วมรุ่นจึงได้บอกบทเรียนแรกกับดาอึนว่า “จงสังเกตความรู้สึกที่อยู่ลึกลงไปใต้คำพูดของคนไข้” เช่นเดียวกับหมอฮวังยอฮวันที่ย้ำกับครอบครัวผู้ป่วยว่า “พวกเรากำลังพยายามรักษาคนไข้ที่ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังหน้ากากนั้น”
หากเราดูซีรีส์เรื่องนี้ไปสักระยะ จะยิ่งค้นพบว่าทุกการแสดงออกที่เกิดขึ้นจากโรคล้วนมีคำอธิบายซ่อนอยู่ แต่ก็ยากเกินกว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ จะเข้าใจ เพียงแต่ซีรีส์กำลังทำให้เราตระหนักว่า พฤติกรรมต่างๆ ที่ปรากฏล้วนหมายถึงเสียงร้องขอความช่วยเหลือ หลังจากที่พวกเขาดิ้นรนจนใกล้หมดแรงเต็มที
ทว่ายังไม่ทันตอบคำถามแรกได้ เรื่องราวของผู้ป่วยโรควิตกกังวลก็ดึงความสนใจเราต่อทันที อาจจะเพราะตัวละครและวิธีการเล่าชวนให้นึกภาพว่า ถ้าวันหนึ่งคนคนนั้นเป็นเรา หรือคนใกล้ชิดล่ะจะปวดใจแค่ไหน เพราะซีรีส์ฉายให้เห็นภาพผู้ป่วยที่ต่างลังเลว่าจะขอความช่วยเหลือดีไหม ทั้งที่รู้สึกขาดใจเหมือนจะตายเต็มที นั่นก็เพราะพวกเขารู้ดีว่า มันคือความ ‘เหมือน’ ที่ไม่ใช่ของจริง
เมื่อบอกใครไม่ได้ ในสายตาคนอื่นพวกเขาจึงกลายเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง หรือเป็นเพียงคน ‘อารมณ์อ่อนไหวง่าย’ เท่านั้น ร้ายแรงขึ้นถึงได้ปิดกั้นและแยกตัวออกจากสังคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยในชาวเกาหลีอายุ 19 – 39 ปี ตามรายงาน
ระหว่างที่หัวตากำลังถูกน้ำจับจอง ซีรีส์ก็ตกเราต่อด้วยการสื่อสารความเป็นมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา ผ่านตอนที่ดาอึนต้องรับมือกับผู้ป่วยที่มีอาการหลงผิด จนเผลอหลุดปากโต้เถียงออกไปทั้งที่ไม่ควร เพราะแรงกดดันที่ไม่รู้ต้องรับมือยังไง ก่อนที่ดาอึนจะใช้มุมลับสายตาร้องไห้จนสุดตัว เพราะหากถอดยูนิฟอร์มที่สวมอยู่ เธอก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง
“ฉันไม่อยากเกลียดคนไข้เลย แต่ฉันก็เกลียดคนไข้มากจริงๆ ค่ะ แต่ว่าฉันเกลียดตัวเองที่เกลียดคนไข้มากกว่าอีกค่ะ”
“ไม่มีใครเป็นคนไข้มาตั้งแต่แรก และไม่มีใครเป็นคนไข้ไปตลอด”
ตามแบบฉบับซีรีส์เกาหลี เมื่อเรื่องราวดำเนินไปอย่างราบรื่นจนหัวใจผู้ชมเริ่มจัดระเบียบเข้าที่เข้าทาง นั่นหมายถึงเวลาที่นักเขียนบทจะได้ออกมาวาดลวดลายอีกครั้ง แล้วก็ไม่ผิดคาด
เวลาที่ครูบอกว่าจะดูแลนักเรียนทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ยังไงขึ้นชื่อว่า ‘ใจคน’ ก็ต้องมีคนที่เอ็นดูเป็นพิเศษ พยาบาลที่ต้องใช้เวลาดูแลผู้ป่วยยิ่งกว่าคนในครอบครัวก็เช่นกัน สำหรับนาอึน เธอมีโอกาสใกล้ชิดและผูกพันกับคนไข้คิมซอวานเป็นพิเศษ โดยเขารักษาตัวเพราะกลัวการเข้าสังคม และมีอาการหลงผิดจากความผิดหวังที่มีต่อการสอบข้าราชการซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เมื่อซอวานอาการดีขึ้นจนได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างเก่า เขาก็ยังคงพบว่าโลกที่เขาลืมไปชั่วคราวนั้น ไม่เปลี่ยนไปเลยสักนิด และคงถึงเวลาที่จะยอมรับแล้ว และปลดปล่อยชีวิตตัวเองแล้ว
*หากใครอ่านบทความถึงตอนนี้ หรือดู Daily Dose of Sunshine จนรู้สึกกว่าซีรีส์ทำงานกับใจเราเกินไปแล้ว จะพักหายใจหายคอ หรือเลือกจะพอแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เก่งนะ
การตัดสินใจที่ถี่ถ้วนด้วยการจบชีวิตตัวเองของบุคคลอันเป็นที่รัก อาจต้องใช้เวลาในการยอมรับเช่นที่ครอบครัวซอวานเผชิญ แต่ยังดีที่หลายปีมานี้ขั้นตอนเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย นับเป็นบทเรียนร่วมของสังคมไปแล้ว
ทว่าสายตาเหล่านั้นอาจยังสอดส่องไปไม่ถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเสียยิ่งกว่าครอบครัว การจากไปของซอวานจึงมีผลต่อใจของดาอึนอย่างจัง และยิ่งเธอพยายามเข็นให้ตัวเองกลับมาทรงตัวให้ไวเท่าไร ช่วงเวลาที่จะได้สำรวจรอยขีดข่วนในใจ ก็ถูกเลื่อนออกไปมากเท่านั้น รู้ตัวอีกทีการจะผูกเชือกรองเท้าออกจากบ้านกลับหนักหนาไปแล้ว
“พยาบาลก็ดูแลตัวเองตอนป่วยไม่ได้ ถึงผมเป็นหมอแต่ก็รักษาลำไส้ตัวเองไม่ได้ครับ” – ดงโกยุน
อย่างที่ทราบกันว่าโรคซึมเศร้ากลายเป็นภาวะที่พบได้มากในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของคำแนะนำเบื้องต้นให้ทุกคนลองจัดระเบียบกิจวัตรประจำวัน ตั้งแต่ตื่น กิน นอน ออกกำลังกายให้เป็นเวลาและสม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้อาจช่วยให้ชีวิตเราเข้ารูปเข้ารอยได้
หากไม่เป็นตามนั้นก็ถึงเวลายอมรับและนำตัวเองเข้าสู่ขั้นตอนรักษาให้เร็วที่สุด แต่จะให้คำพูดว่า “ฉันป่วย” หลุดออกจากปากนั้นไม่ง่ายนะ ซีรีส์ฉายภาพนี้ให้เราเห็นชัดเจนว่า ไม่ใช่เพราะพวกเขาอยากจะดื้อดึง แต่ธรรมชาติของสายตาที่เพ่งตรงไปข้างหน้า การจะเห็นจุดบกพร่องของตัวเองจึงต้องใช้เวลา
“ถ้าหมออายุรกรรมบอกว่าป่วย ก็แปลว่าข้างในป่วยอยู่ ถ้าหมอหูคอจมูกบอกว่าป่วย ก็แปลว่าหูคอจมูกป่วยอยู่ ถ้าจิตแพทย์บอกว่าป่วย ก็แปลว่าจิตใจป่วยอยู่”
ถ้าการยอมรับและเยียวยาตัวเองมันยากเกินไปแล้ว ก็ลองหาการ์ดตัวช่วย เป็นหมอและพยาบาลดูสิ ซีรีส์คงพยายามย้ำกับเราอย่างนั้น
แล้วเราเยียวยาหัวใจตัวเองระหว่างทางได้ไหม? อีกหนึ่งสิ่งที่ชวนตื่นตาคือ กระบวนการทำงานและขั้นตอนบำบัดในซีรีส์ ที่ทำคนดูอย่างเราๆ อยากลองทำตามสักครั้ง เช่น หมอชามินซอแนะนำให้คนไข้เขียนไดอารี่เรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา ด้วยการโฟกัสความรู้สึกในช่วงเวลานั้น จากนั้นก็ลองไฮไลต์คำพูดที่สื่ออารมณ์ในด้านลบ วิธีนี้ทำให้คนไข้ได้ทบทวน และเห็นภาพความสุขของตัวเอง ที่มักถูกจัดลำดับไว้ตอนท้ายเสมอ ซึ่งหมอมินซอเปรียบเทียบไว้ว่า ถ้าเรามองอารมณ์ว่ามีกล้ามเนื้อ ในเมื่อออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ดังนั้นการฝึกฝนจิตใจเพื่อให้แข็งแรงถึงได้จำเป็นเช่นกัน
เมื่อแสงแดดของโลกภายนอกไม่ได้อบอุ่นอย่างวอร์ดจิตเวช
“ทำไมปล่อยให้คนป่วยแบบนี้ทำงาน”
“ปล่อยให้เด็กป่วยไปโรงเรียนทั่วไปได้ยังไง พ่อแม่เห็นแก่ตัว”
หากใครมีโอกาสได้สัมผัสซีรีส์เรื่องนี้ไปบ้างแล้วน่าจะมีความเห็นคล้ายกันว่า ความตั้งใจที่แท้จริงของผู้เขียนบท อาจไม่ใช่การหวังให้ผู้คนได้สำรวจแผลใจของตัวเอง และคนใกล้ชิดผ่านประสบการณ์ของตัวละครเพียงอย่างเดียว แต่ในช่วงท้ายของเรื่องยังได้คลี่โจทย์ใหญ่ของทุกสังคม อย่างการตีตราทางสังคม (Social Stigma) ซึ่งนับเป็นปัจจัยลำดับต้นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากพลาดโอกาสเข้ารับการรักษาด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ซอวานที่ถึงจะหายจากการกลัวการเข้าสังคมและอาการหลงผิดแล้ว ก็ยังคงเล่นละครว่าป่วย เพื่อยืดเวลาให้ได้อยู่ในโรงพยาบาลต่อไป เพราะอิสรภาพที่ถูกริบไปบางส่วนเทียบไม่ได้เลยกับสายตาที่เขาต้องเผชิญหลังจากนั้น
ความพิเศษของบริบทเกาหลีใต้ที่มักอยู่ร่วมกันในอพาร์ทเมนต์ ยิ่งทำให้ปัญหานี้เห็นชัดขึ้น เพราะการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน จึงมีเงื่อนไขว่าต้องปฏิบัติตาม และบางวัฒนธรรมที่ทำกันมาก็เป็นไปเพื่อใหห้ถูกยอมรับทั้งสิ้น เหมือนกับหัวหน้าพยาบาลซงฮโยจินที่ต้องกัดฟันสู้สายตาผู้คน ในฐานะครอบครัวของผู้ที่เป็นโรคทางจิตเวชมาตลอด เธอจึงได้ระเบิดอารมณ์ต่อความคิดของดาอึนที่อยากจะลาออก เพราะไม่อยากเป็นภาระให้ใคร
“มีใครป่วยเพราะอยากป่วยเหรอ ไม่ได้ก่ออาชญากรรมหรือทำร้ายใครสักหน่อย ทำไมต้องคอยระวังสายตาคนอื่น?”
สิ่งที่ดาอึนกังวลก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อญาติคนไข้หยิบประเด็นนั้นมาเล่นงานเธอ และตั้งคำถามถึงโรงพยาบาลว่า ‘การให้คนป่วยทางใจมาใช้ชีวิตเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว’ แต่สถานการณ์ก็คลี่คลายด้วยคำพูดเตือนสติให้พอเจ็บๆ คันๆ จากหัวหน้าพยาบาล เพราะเข้าใจหัวอกของครอบครัวที่ต่างก็หวังจะให้คนที่พวกเขารักได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด และปรารถนาให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ
ตามที่อาจารย์หมอของแผนกบอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า อัตราการเกิดอาชญากรรมจากผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่ได้รับการรักษา มีเพียง 0.04% จากอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเท่านั้น การเหมารวมจนนำไปสู่การตีตราในทศวรรษนี้จึงควรจะเพลาลงได้แล้ว
มีแต่เรื่องหนักๆ มาตลอดเรื่อง แต่ใช่ว่าคนเขียนบทจะใจร้ายจนลืมใส่เลิฟไลน์มาให้ขยุกขยิกหัวใจนะ เพราะความพอดีของพระ-นางก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ลงตัว แม้จะอธิบายไม่ถูกว่าดีแบบไหน ทว่าทุกรายละเอียดของท่าทางและคำพูดล้วนจัดวางอย่างถูกที่ถูกเวลา
หรือว่า ‘การชื่นชม’ จะเป็นภาษารักของซีรีส์เรื่องนี้กันนะ? ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ บทสนทนาของตัวละครต่างๆ มักเสริมแรงต่อคนที่ห่วงใยด้วยคำชื่นชมอยู่เสมอจนผู้ชมอย่างเราๆ ที่นั่งๆ นอนๆ ดูซีรีส์อยู่ก็ยังอยากหันหน้าไปชื่นชมคนรอบตัวบ้างเลย
ลองใช้โอกาสใกล้สิ้นปีนี้สำรวจ ชื่นชม และยอมรับความรู้สึกของตัวเราไปกับ Daily dose of sunshine ดูสักครั้ง อย่างที่พยาบาลซงฮโยจินพูดไว้ว่า “โรคทางจิตเวชก็เป็นแบบนั้นแหละค่ะ คาดเดาไม่ได้ เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าที่ไหนหรือเมื่อไหร่ อย่ามั่นใจนักเลยว่าตัวเองจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้”