คิดว่าหมอคนหนึ่งจะรับภาระดูแลผู้ป่วยได้กี่คนกัน? ไม่รู้หรอกนะว่าหมอที่ไหนเป็นยังไง แต่จิตแพทย์ที่ศรีสะเกษ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 34,811 คน
‘ทุก 8 คน จะมี 1 คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาสุขภาพจิต และในทุกการเสียชีวิต 100 ครั้งจะมีอย่างน้อย 1 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย’ ข้อยืนยันขององค์การอนามัยโลก กำลังบอกเราว่า ‘โรคทางจิตเวช’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แถมยังไม่ใช่ภัยเงียบอย่างที่เคยถูกเปรียบถึงอีกแล้ว แต่เป็นกลุ่มโรคที่กำลังตะโกนให้ผู้คนสนใจ ผ่านเหตุน่าเศร้าที่เกิดในสังคมตลอดหลายปี พร้อมพุ่งเป้าไปที่ตัวละครที่มักถูกคาดหวังสวมให้รับบทฮีโร่ อย่าง ‘จิตแพทย์’
และไม่นานมานี้ในวันสุขภาพจิตโลกที่เพิ่งผ่านพ้น ทาง Rocket Media Lab เปิดข้อมูลชวนสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิต และกลไกส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย พร้อมชี้ประเด็นสำคัญที่ว่า อัตรากำลังจิตแพทย์ของไทยเพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วยแล้วหรือไม่ The MATTER จึงถือโอกาสสรุปข้อมูลในส่วนนี้มาเล่าให้ฟัง
หมายเหตุ รายงานชิ้นนี้อ้างอิงจำนวนจิตแพทย์ จากการเผยแพร่รายงานทรัพยากรสาธารณสุข 2564 เป็นส่วนใหญ่
ผู้ป่วยจิตเวชมารับบริการอะไรบ้าง
บ่อยครั้งที่เมื่อกล่าวถึงผู้ป่วยจิตเวชที่เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา คนจำนวนหนึ่งมักนึกไปถึงบุคคลวิกลจริต หรือผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถ แต่ในความเป็นจริงแล้วการให้บริการด้านจิตเวชครอบคลุมกว่านั้นมาก
โดยกรมสุขภาพจิตได้จัดทำคำอธิบายรายโรคของความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม ทำให้เราได้เห็นโรคทางจิตเวชที่มีสัดส่วนมากเป็น 5 อันดับแรกจนถึงปี 2564 ประกอบไปด้วย จิตเภท วิตกกังวล ซึมเศร้า ติดสารเสพติดอื่นๆ และติดแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ตามบัญชียังระบุการให้บริการอื่นๆ เช่น โรคสมองเสื่อม ติดยาบ้า โรคอารมณ์สองขั้ว พยายามฆ่าตัวตาย ความบกพร่องทางสติปัญญา โรคออทิสติก ผู้ป่วยติดเกม โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องทางการเรียนรู้ โรคลมชัก เป็นต้น
สถิติผู้ป่วยและจำนวนจิตแพทย์กำลังบอกอะไร
แม้ยังไม่ทันได้เห็นตัวเลขบนหน้ากระดาษ แต่เชื่อว่าหลายคนพอคาดเดากันได้ว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มถดถอยลงแน่แล้ว สังเกตจากหลายเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมักอ้างถึงปัญหาทางสุขภาพจิตว่าเป็นอีกหนึ่งสารตั้งต้นของเหตุการณ์
และตัวเลขทางสถิติก็ยืนยันเช่นนั้นจริง ตามข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า ระหว่างปี 2558-2564 บ้านเรามีผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนเป็น 2.3 ล้านคน
นอกจากนี้ หากเจาะจงไปยังสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จ ก็มีอัตราสูงขึ้น จาก 6.08 รายต่อแสนประชากร ในปี 2556 เพิ่มเป็น 7.37 รายต่อแสนประชากร ในปี 2563 ก่อนที่วิกฤตโรคระบาด COVID-19 จะเข้ามาซ้ำเติม จนทำให้ปี 2564 ตัวเลขขยับเป็น 7.8 รายต่อแสนประชากรเลยทีเดียว
นี่ยังไม่ได้แตะไปถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อีกราว 1.35 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา
ขณะที่แนวโน้มผู้ป่วยที่จ่อคิวรอรับบริการทางการแพทย์กำลังเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานกลับเป็นไปอย่างช้าๆ ด้วยหลายเงื่อนไข ส่งผลให้ตามรายงานทรัพยากรสุขภาพ ปีงบประมาณ 2564 มีการสรุปจำนวนทรัพยากรทางสุขภาพ พบว่าประเทศไทยมีจิตแพทย์รวม 860 คน คิดเป็นราว 1.30 ต่อแสนประชากร
แต่ละพื้นที่เป็นยังไงบ้างนะ?
เป็นธรรมชาติของระบบให้บริการสุขภาพ ที่ความพร้อมมักไปกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ด้วยความจำเป็นที่ต้องรองรับประชากรที่มีอยู่มาก ศักยภาพการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงหลายแห่งก็มีมหาวิทยาลัยทางการแพทย์จัดตั้งอยู่ ส่งผลไปถึงการเข้าถึงการรักษาโรคทางจิตเวชก็แตกต่างกันมากในแต่ละจังหวัดเช่นกัน
ยกตัวอย่าง กรุงเทพมหานครยังคงเป็นที่ ที่ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรสาธารณสุขได้มากกว่าจังหวัดอื่น โดยมีจิตแพทย์ 4.90 คนต่อแสนประชากร ซึ่งหากมองเพียงตัวเลขผู้ป่วยที่แตะแสนคน ก็จัดว่าอยู่ในลำดับต้นๆ ของทั้งประเทศ แต่ถ้าเจาะจงไปดูอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรแล้ว สถานการณ์ของกรุงเทพฯ ยังไม่รุนแรงเท่าหลายพื้นที่
เมื่อสำรวจจำนวนผู้ป่วยจิตเวชประจำปีงบประมาณ 2564 พบว่า จังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวชต่อประชากรมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ลำพูน เชียงใหม่ สกลนคร พะเยา และพิษณุโลก อยู่ระหว่าง 9,178.8-11,500.7 คนต่อแสนประชากร มากกว่านครปฐมที่มีอัตราส่วนน้อยที่สุดเกือบ 4 เท่า ที่ 2,719.5 ต่อแสนประชากร
ด้วยสถานการณ์ที่เป็นเช่นนี้ จึงส่งผลต่อภาระความรับผิดชอบของบุคลากรสาธารณสุข ตามรายงานเมื่อแจกแจงรายภาคแล้ว จะพบข้อมูลที่ชวนตกใจอย่าง จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภาระสูงสุด โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 10,994 คนเลยทีเดียว
จุดสังเกตหนึ่งของรายงาน ชี้ว่า จ.ยโสธร ในปี 2564 เคยถึงขึ้นไม่มีจิตแพทย์ประจำการอยู่เลย แต่จากการติดตามของ Rocket Media Lab นั้นในปีนี้ได้มีจิตแพทย์ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้ว อีกทั้งมีเพียง 14 จังหวัดเท่านั้นที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรสูงค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
อัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากร แต่ละประเทศเป็นอย่างไรบ้าง?
จิตแพทย์บ้านเราเพียงพอหรือไม่? แม้ทิศทางหลายอย่างจะนำไปสู่ข้อสงสัยนี้ แต่นั่นก็คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ชัดเจน แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ไม่เคยกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำแต่อย่างใด เพียงแต่สร้างการตื่นตัวผ่านค่ามัธยฐาน เพื่อเปรียบเทียบนานาประเทศเท่านั้น
อย่างข้อมูล Mental Health ATLAS 2020 ระบุว่า ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตต่อประชากรจาก 158 ประเทศ อยู่ที่ 13 คนต่อแสนประชากร ซึ่งจะมีช่องว่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบประเทศรายได้สูงกับรายได้ต่ำ
และเมื่อเจาะจงไปที่จิตแพทย์ใน 156 ประเทศ พบว่า ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 1.7 และตัวเลขก็จะค่อยๆ ขยับลงในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ที่ 0.4 เท่านั้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ตามข้อมูลกรมสุขภาพจิต เรามีจิตแพทย์ราว 1.3 คนต่อแสนประชากร ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์สูงกว่าค่ามัธยฐานของโลก คือ 4.7 คนต่อแสนประชากร
จิตแพทย์ไม่พอจริงไหม?
“ผู้ที่ประสงค์รับทุนเรียนต่อจิตแพทย์เยอะ แต่สถานศึกษาที่จะรองรับมีไม่เพียงพอ ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนอาจารย์ ยกตัวอย่างด้านจิตเวชเด็ก ต้องมีอาจารย์ด้านจิตแพทย์ถึง 3 คนในการสอนแพทย์เฉพาะทาง 2 คนต่อปี…ในที่ที่มีจิตแพทย์มากพอ พวกเขาก็ล้นไปด้วยงานบริการ มากกว่าที่จะมาเป็นแหล่งฝึกอบรม”
นี่เป็นความเห็นของ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาการขาดแคลนจิตแพทย์ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่
อย่างที่พอรู้กันว่า การที่จะผลิตจิตแพทย์สักคนนึงได้นั้น ต้องใช้เวลามากพอสมควร ด้วยเมื่อเรียนจนจบหลักสูตร 6 ปี แล้วก็ยังมีช่วงเวลาของการเป็นแพทย์ใช้ทุน ก่อนที่จะเรียนแพทย์เฉพาะทางต่อ ซึ่งใช้เวลา 3-4 ปีทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น หรือจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
“หลายสถาบันที่มีการเปิดฝึกอบรมอยู่แล้ว การเพิ่มกรอบอัตรากำลังของจิตแพทย์ก็ไม่ได้ง่าย ก็เลยมีอาจารย์จิตแพทย์น้อย ยิ่งเทรนคนได้น้อย”
เหตุผลอีกประการ คือ ในการผลิตจิตแพทย์นั้น นอกจากจะควบคุมคุณภาพของแพทย์สถานศึกษา โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศแล้ว ยังอยู่ภายใต้การกำกับของ World Federation for Medical Education (WFME) ที่มีการกำหนดเกณฑ์การฝึกอบรมตามมาตรฐานสากล
“เพียงแต่นั่นทำให้เราผลิตได้ช้า เป็นธรรมชาติเนอะ ถ้าหากอยากได้ของที่มีคุณภาพสูง งานประณีต จำนวนชิ้นก็ต้องน้อย เหมือนงานแฮนด์เมด ประเทศเราก็พยายามหาสมดุลของมัน ไม่ใช่แค่ประณีตแต่ไม่มองเลยว่าไม่เพียงพอ ก็คงไม่ใช่”
“ในที่ที่มีจิตแพทย์มากพอ จิตแพทย์ก็ล้นไปด้วยงานบริการ มากกว่าที่จะมาเป็นแหล่งฝึกอบรม เลยทำให้มีหมอเยอะก็จริง แต่เขาก็ต้องมุ่งตรวจคนไข้ จะมาทำงานสอนตรงนี้ก็หมดแรงละ”
แล้วจะแก้ปัญหานี้กันได้ยังไง?
พญ.ดุษฎี อธิบายว่า ไม่ได้มีข้อกำหนดตามหลักวิชาการที่ชัดเจนว่า จำเป็นต้องมีจิตแพทย์กี่คนต่อประชากร 100,000 คนกันแน่ ส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงการเทียบเคียงกับกลุ่มประเทศ ที่มีเศรษฐกิจระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งไทยทำได้ไม่แย่ แต่หากเปรียบกับฟากยุโรป หรือสหรัฐ ก็คงต้องยอมรับว่ายังมีช่องว่างที่ต้องพัฒนาอีกมาก
“สิ่งที่หมอเป็นห่วงมากกว่าไม่ใช่จำนวน แต่เป็นการกระจาย จิตแพทย์จะกระจุกที่เมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพฯ แต่จังหวัดเล็กๆ แทบไม่มี”
“สำหรับจิตแพทย์การที่เขาไปคนเดียว ไปเริ่มใหม่คนแรกของจังหวัด ต้องจัดการทั้งงานบริการตรวจรักษา และจัดการในระบบ แถมยังต้องรองรับปัญหาสุขภาพจิตใดๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัด อย่างพวกเหตุรุนแรง การทำร้ายตัวเอง ทำให้ภาระงานของจิตแพทย์ในต่างจังหวัดหนักมาก ยิ่งไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ เขาก็อยู่
ไม่ไหวจนต้องลาออก กลับมาอยู่ในเขตเมือง เราถึงมีจิตแพทย์ภาคเอกชนเยอะทีเดียว”
เป็นที่มาให้ พญ.ดุษฎี กล่าวถึงสามแนวทางตามความเห็น ที่คาดว่าจะช่วยลดการกระจุกตัวของจิตแพทย์ในเมืองใหญ่ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการทำงานได้
- team-based training
คือ สร้างทีมให้บริการที่อยู่รอดได้ ด้วยการฝึกอบรมเป็นทีม “ถ้าเซตว่าจะมีบริการนี้เกิดขึ้น ให้เตรียมทีมไปด้วย บ่อยครั้งเรามองว่าส่งพยาบาลไปเรียน ส่งหมอไปเรียน แต่เราไม่ได้มองว่าการดูแลด้านจิตเวชต้องทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ”
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชรายนี้ ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเปรียบกับศัลยแพทย์ระบบประสาท ว่าการที่จัดตั้งได้ในพื้นที่ใด จำเป็นต้องมีแพทย์ประจำมากกว่าหนึ่งคน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถรองรับภาระงานได้ “ถ้าเทรนแบบมีทีมพร้อม หมออาจจะมีคนเดียวจริง แต่มีทีมพร้อมสนับสนุนเขาจะอยู่ได้”
- เพิ่มแรงจูงใจเรื่องค่าตอบแทนพิเศษ ในพื้นที่ทุรกันดาร
แม้โดยปกติจิตแพทย์จะเป็นสาขาหนึ่งที่อยู่ในบัญชีขาดแคลน จึงมีเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมตามระเบียบ แต่นั่นก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะสร้างแรงจูงใจได้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ทุนกันดาร หรือไม่เคยวางรากฐานการบริการด้านสุขภาพจิตเลย นั่นจึงเป็นคำนะนำของ พญ.ดุษฎี ที่มองว่าจะมองข้ามประเด็นนี้ไปไม่ได้
- สร้างการรวมตัว ระหว่างจิตแพทย์จังหวัดใกล้เคียง
นอกจากการจัดตั้งทีมทำงานในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้ว สิ่งที่ต้องทำไปควบคู่กัน คือการวางรูปแบบการทำงานร่วมกันกับจิตแพทย์ในพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งที่ผ่านมาพบเห็นอยู่บ้างตามความจำเป็น แต่ยังไม่ได้เกิดการรวมกลุ่มอย่างแท้จริง “ถ้ามันรวมตัวให้เกิดกลุ่มเหมือนเพื่อนช่วยเพื่อน อย่างนี้จะแข็งแรง”
แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงข้อมูล ตัวเลข และความคิดเห็น ที่วิเคราะห์มาจาก ‘ผู้ป่วยจิตเวชที่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขเท่านั้น’ เท่ากับว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตของประเทศไทยอาจน่ากังวลมากไปกว่านี้ก็เป็นได้
อ้างอิงจาก