ซื้อบ้านมาเป็น 10 ปี แต่จู่ๆ ก็มีโรงงานกำจัดขยะมาสร้างอยู่ติดกับรั้วบ้าน?…บางที นี่อาจเป็นหนึ่งในปัญหาของการผังเมือง
หลังจากที่ กทม.จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ก็มีการตั้งคำถามถึงผังเมืองกรุงเทพฯ ในปัจจุบันในด้านต่างๆ จนเกิดเป็นข้อสงสัยตามมาว่าผังเมืองมีความสำคัญอย่างไร?
ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ระบุถึงผังเมือง 2 ประเภท คือ ‘ผังเมืองรวม’ และผังเมืองเฉพาะ โดยคำว่าผังเมืองรวมที่จะพูดถึงในที่นี้ หมายถึง แผนผัง นโยบาย และโครงการมาตรการควบคุมโดยทั่วไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง
I. ทำไมการผังเมืองถึงสำคัญ?
เมื่อนึกถึงการจัดทำผังเมือง หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องของการจัดระเบียบพื้นที่ การจัดโซนที่อยู่อาศัยหรืออุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ในความจริงแล้ว การผังเมืองนี้ยังรวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้ดีต่อสุขลักษณะ มีความสะดวกสบาย เป็นระเบียบ สวยงาม
การผังเมือง ยังรวมถึงการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม การป้องกันภัยพิบัติ และการป้องกันความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดินอีกด้วย
ทั้งนี้ การผังเมืองมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม ดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่และวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี หรือบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิประเทศที่งดงามหรือมีคุณค่าในทางธรรมชาติ
II. ตัวอย่างความสำคัญของการผังเมือง
ถ้าจะเล่าถึงความสำคัญของการผังเมืองให้เห็นภาพชัดขึ้น อาจย้อนไปถึงกรณีโรงงานในกิ่งแก้ว หรือโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการที่ระเบิดเมื่อปี 2564 ซึ่งบริเวณโดยรอบนั้นเป็นจุดที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่า ท่ามกลางพื้นที่อาศัยของประชาชน ทำไมจึงมีโรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติกอยู่
อย่างไรก็ตาม โรงงานดังกล่าวนี้ตั้งเมื่อปี 2532 ในตอนนั้น บริเวณโดยรอบก็เป็นพื้นที่ไร่นา และหลีกเลี่ยงการอยู่ในเมือง ขณะที่ผังเมืองสมุทรปราการฉบับแรกเกิดขึ้นในอีก 12 ปีต่อมาหลังจากตั้งโรงงานแล้ว ซึ่งโรงงานดังกล่าวก็ตั้งถูกต้องในพื้นที่ปลอดภัย และ ณ ขณะนั้น ก็ยังไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิเช่นกัน
ต่อมา หลังจากเกิดผังเมืองสมุทรปราการฉบับแรกในปี 2544 ในผังเมืองรวม มีการกำหนดสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน ในขณะที่บริเวณโดยรอบนั้นเป็นสีแดง (เป็นพื้นที่สำนักงาน คลังสินค้า บรรจุภัณฑ์) ที่ต้องตอบสนองการขนส่งทางอากาศ
พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ถึงประเด็นผังเมืองกับโรงงานระเบิดไว้ว่า “เพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็เลยเกิดความขัดแย้ง” เนื่องจากในวันที่ตั้งโรงงาน เขาตั้งอย่างถูกกฎหมาย ยังไม่มีเมือง และตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่ถึงจะระเบิดก็ไม่ส่งผลกระทบต่อคนมากมาย
อย่างไรก็ดี อ.พนิตยังระบุอีกว่า ใน พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 37 ก็มีกลไกที่จะแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำ ซึ่งตัวกฎหมายไม่ได้ผิด เพียงแต่ไม่ได้มีการสร้างกลไกให้ปฏิบัติได้ตามกฎหมายนั้น ทำให้คณะกรรมการผังเมืองไม่กล้าสั่งให้ระงับ หรือแก้ไขปรับปรุง
อ.พนิตยังเคยยกตัวอย่าง กรณีป้าทุบรถ ที่ตรงนั้นก็เป็นพื้นที่สีเหลือง โดยผังเมืองบอกว่าตลาดต้องไม่เกิน 1,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตรงนั้นก็มีตลาด 1,000 ตารางเมตรจริงๆ แต่เป็น 5 ตลาดติดกัน กลายเป็น 5,000 ตารางกิโลเมตร กลายเป็นตลาดใหญ่
III. การวางและจัดทำผังเมืองรวมตาม พ.ร.บ.การผังเมือง 2562
สำหรับการวางและจัดทำผังเมืองรวมตาม พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 ที่กำลังดำเนินอยู่นั้น มีทั้งสิ้น 18 ขั้นตอน ดังนี้
- กรุงเทพมหานครได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมืองให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม
- จัดเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- วางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร
- คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม
- ประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน (กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้)
- ประมวลผลความคิดเห็นของประชาชนและนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวม
- คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม
- กรมโยธาธิการและผังเมืองให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม
- คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดให้ความเห็นชอบต่อร่างผังเมืองรวม
- ปิดประกาศ 90 วัน และให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดของผังเมืองรวม
- รวบรวมคำร้อง และจัดทำความเห็นประกอบคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย
- คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย
- คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย
- กรมโยธาธิการและผังเมืองให้ความเห็นต่อการพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย
- คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดแจ้งผลการพิจารณาคำร้องให้ผู้ยื่นคำร้องทราบ
- แก้ไขปรับปรุงร่างผังเมืองรวมตามมติคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด
- ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับผังเมืองรวม
- ประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในราชกิจจานุเบกษา
ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 5 คือได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนแล้ว 7 ครั้ง พร้อมเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งล่าสุด ได้มีการขยายระยะเวลาการยื่นหนังสือได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ในปีนี้
อ้างอิงจาก