คุณคิดว่าเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร?
นี่คือคำถามที่อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชวนให้นิสิตและผู้คนในห้องบรรยายหัวข้อ ‘Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร’ จัดขึ้นร่วมกันของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)
The MATTER ตามไปฟังบรรยายของอดีตรัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ที่วันนี้เขาเชื่อว่า การสร้างเมืองหลวงให้ดีขึ้นในอนาคตนั้น มันหมดยุคของ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ แล้ว แต่ กทม. จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ในการทำเมืองให้ดีขึ้นมากกว่า
เราสรุปมาให้ไว้เป็นหัวข้อหลักๆ ตามนี้นะ
เมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร?
ชัชชาติ เริ่มต้นการบรรยายด้วยการอธิบายว่า เมืองที่ดีต้องมีตัวชี้วัดหลักๆ อยู่ 3 ข้อที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ
ยั่งยืน (Sustainable) : ชัชชาติให้ความหมายว่า ความยั่งยืนคือการที่คนรุ่นนี้ต้องไม่เบียดเบียนคนรุ่นอนาคต ยั่งยืนคือการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อคนรุ่นหน้า
ครอบคลุม (Inclusive) : หมายถึงทำเมืองให้คนทุกกลุ่มได้ประโยชน์เหมือนกัน คนจนเดินทางได้ หรือถ้าจะมีรถไฟฟ้าก็มีได้ แต่อย่าลืมคนตัวเล็กตัวน้อยด้วย รวมถึงการสร้างเมืองที่ทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณะได้เท่าเทียมกัน
ยุติธรรมและเข้าใจ (Fair & Empathy) : ชัชชาติอธิบายว่า ในบางครั้งการยึดเพียงแต่กฎหมายเพียงอย่างเดียว และมากเกินไป อาจทำให้เราหลงลืมไปถึงความจำเป็นและวิถีชีวิตของผู้คน การพัฒนาเมืองจำเป็นต้องนึกถึงความเข้าใจกันและกัน และสร้างรูปแบบนโยบายที่ยุติธรรมกับผู้คนด้วย
กทม.อาจจะไปไม่รอด ถ้าเราไม่ทำมันให้ดี : ปัญหาใหญ่ในมุมมองของชัชชาติ
ชัชชาติชวนคนในห้อบรรยาย มองเห็นถึงปัญหาใหญ่ๆ ที่มีให้เห็นอยู่ในกรุงเทพมหานคร เขาชวนคิดทบทวนกันตั้งแต่ชื่อคำขวัญของเมืองหลวง ว่ามันยังสะท้อนความจริงได้อยู่แค่ไหนบ้าง?
“คำขวัญที่ว่า กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลองของประเทศไทย ยังไม่สัมพันธ์กับชีวิต ถ้าย้อนไปดูคำขวัญที่เคยใช้ก่อนเดือนพฤษภาคม 2555 จะพบคำขวัญที่เป็นชีวิตจริงมากกว่าคือ ช่วยชุมชมแออัด ขจัดมลพิษ แก้ปัญหารถติด ทุกชีวิตรื่นรมย์”
เขายังชวนให้เรามองเห็นถึงสภาพปัญหาใน กทม. ทุกวันนี้ด้วยว่า ผังเมืองในรูปแบบของปัจจุบัน กำลังมีสภาพที่สุดแสนจะแออัดในด้านใน ขณะเดียวกัน ด้วยความแออัดเช่นนั้น มันก็บีบให้คนออกไปอาศัยอยู่ในรอบนอกมากขึ้นเรื่อยๆ
“กรุงเทพฯ มีความหนาแน่นต่ำ ความแออัดสูง เราต้องการเมืองที่ความหนาแน่นสูง ให้คนเดินได้ง่าย ลดการใช้รถ ผังเมืองเรามันเน้นแออัดข้างใน แต่ผลักคนไปอยู่ข้างนอก เมื่อเป็นอย่างนี้ ยังไงเมืองก็ต้องมีปัญหารถติด เพราะคนต้องกลับเข้ามาทำงานในเมือง”
สำหรับชัชชาติแล้ว ปัญหาที่ กทม. เผชิญอยู่ในทุกวัน คือการเน้นพัฒนาแต่เรื่องเมกะโปรเจ็กต์ โดยเฉพาะโครงการที่ใช้งบประมาณลงทุนค่อนข้างสูง เป็นชื่อโปรเจ็กต์ที่ยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่ กทม. ยังขาดไปคือการลงทุนกับ ‘เส้นเลือดฝอย’ เช่น ถนนเส้นเล็กๆ อาชีพของคนตัวเล็กๆ สาธารณูปโภคที่ผู้คนต้องใช้อยู่ในทุกวันตามซอกซอยต่างๆ
พูดในอีกทางหนึ่งคือ กทม. ต้องหันมาจริงจังกับการพัฒนาโครงการเล็กๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพราะเขาเชื่อว่า เส้นเลือดฝอยเช่นนี้ คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงเมืองหลวงอย่างแท้จริง “เราเน้นพัฒนาแต่เส้นเลือดใหญ่ แต่ลืมเส้นเลือดฝอย” ชัชชาติ อธิบาย
“มิติของอนาคตเมืองมันน่ากลัวนะ อนาคตกรุงเทพอาจจะไปไม่รอดก็ได้ถ้าเราไม่ทำให้มันดี” ชัชชาติ เกริ่นถึงสิ่งที่เขาเป็นกังวลต่ออนาคตของเมืองหลวง “หัวใจของเมืองในอนาคตคือต้องดึงคนเก่งให้ได้ เหมือนซิลิคอนวัลเลย์ดีได้เพราะดึงคนเก่งได้ แต่ถ้าเมืองไม่มีคนเก่งเมืองอยู่ไม่ได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์”
อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ กทม. ยังคงต้องก้าวข้ามให้ได้ในแง่ของการพัฒนา อยู่ที่โครงสร้างการบริหารภายในกรุงเทพมหานครฯ (ในฐานะขององค์กร) เนื่องจากมีหน่วยงานภายใต้สังกัดค่อนข้างเยอะมาก และการทำงานยังไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร
ขณะเดียวกัน ในเชิงบริหารแล้ว เงื่อนไขที่ ผอ.เขต ยังไม่มีความผูกพันกับพื้นที่มากพอ เพราะไม่ไ้ด้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่มาจากการแต่งตั้งตามวาระ และ ผอ.เขต จำนวนไม่น้อยก็เป็นคนนอกพื้นที่
แล้วจะเปลี่ยน กทม. กันยังไงดี?
ชัชชาติยอมรับว่า การเปลี่ยน กทม. ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารเมืองที่ร่วมกันพัฒนาเมืองหลวงแห่งนี้
“ไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ ต้องไปด้วยกัน” เขาย้ำถึงวลีนี้อยู่หลายครั้ง “ภาคประชาชนต้องปรับแนวคิด มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เมืองมันสะท้อนเรา ถ้าเราไม่เปลี่ยน อย่าหวังว่าเมืองจะเปลี่ยน ต้องแชร์ความรับผิดชอบด้วย”
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหา กทม. ต้องเริ่มทำทั้งเปลี่ยนระเบียบวินัยของประชาชน และร่วมการสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง (ในแง่รูปธรรมเช่น การไม่ทำสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำไปในที่สาธารณะ หรือการไม่ทิ้งขยะต่างๆ ลงในแม่น้ำลำคลอง) อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องทำด้วยเหมือนกัน คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบายจากผู้บริหารเมืองด้วย
“กรุงเทพมหานครฯ ต้องเล่นบทเจ้าบ้านที่เข้มแข็งขึ้น ไฟต์เพื่อคนกรุงเทพให้มากขึ้น เช่น เวลาไฟดับ กรุงเทพมหานครฯ ต้องไปลุยแทนคน บทบาทของฝ่ายบริหารเมืองไม่ใช่ owner แต่ต้องเป็นตัวแทนของคนให้มากขึ้นในการประสานงานต่างๆ กรุงเทพมหานครฯ ต้องเล่นบทเจ้าภาพที่เข้มแข็ง ทลายไซโลระหว่างหน่วยงาน ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นเชิงรุกมากขึ้น เราต้องเป็นเจ้าบ้านที่เข้มแข็ง อย่าหมดความหวัง”
ทางเลือกการเปลี่ยน กทม. ยังมีหลากหลายแนวทาง หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจที่ชัชชาติหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือการใช้เทคโนโลยีและ open data มาทำให้การบริหารเมืองหลวงเป็นไปอย่างโปร่งใส สร้างฐานข้อมูลให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารได้
ขณะเดียวกัน ยังมีความสำคัญของการสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้ประชาชน สามารถนำเสนอความเห็น ผลักดันนโยบายต่างๆ ให้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับผลักดันให้ประชาชนกลายเป็น active citizen