“เราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2024 นี้”
จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council หรือ HRC) แห่งสหประชาชาติ (UN) ในการประชุมที่กรุงกัมปาลา ยูกันดา วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 19-20 มกราคม จักรพงษ์ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement หรือ NAM) ครั้งที่ 19 ที่ประเทศยูกันดา และได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงเพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของ NAM รวมถึงหลักการบันดุง (Bandung Principles) ของ NAM ด้วย
ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลไทยได้หยิบยกไปพูด ก็คือ การสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน หรือ HRC วาระปี 2025-2027 ซึ่งไทยประกาศเปิดตัวการสมัครเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา และในการประชุมที่ยูกันดาครั้งนี้ ก็ได้ไปหาเสียงกับประเทศต่างๆ เพื่อขอให้สนับสนุนไทยในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
“ไทยเปิดตัวการสมัครเป็นสมาชิก HRC วาระปี 2025-2027 เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมขีดความสามารถของคณะมนตรี เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่มีต่อสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution)” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าว
นอกจากการกล่าวบนเวทีของ NAM จักรพงษ์ยังได้นำเรื่องนี้ไปขอรับเสียงสนับสนุน ในระหว่างการหารือทวิภาคีกับ โอลูเชกุน อัดจาดิ บาคาริ (Olushegun Adjadi Bakari) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ เบนิน และ เลจอน อึมพ็อตโจน (Lejone Mpotjoane) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ เลโซโท ในห้วงการประชุม NAM ด้วย
ในเรื่องของการสมัครเป็นสมาชิก HRC ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า เป็นการสะท้อนการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน “ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญ เราคงไม่สมัคร
“การที่เราจะสมัคร และโอกาสที่เราจะได้เข้าไปเป็น ได้กลับเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง ผมก็เชื่อว่า มันก็อยู่ที่การกระทำของเราด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าการกระทำของเราสอดคล้องกับสิ่งที่ชาวโลกมอง เราก็มีโอกาสที่จะกลับเข้าไปเป็นสมาชิกได้อีกรอบหนึ่ง”
อ้างอิงจาก