จำนวนนักท่องเที่ยวสูง อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทะเลสาบที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษกลายเป็นสีเขียว
จากรายงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานอวกาศของสหราชอาณาจักร ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างช่วงที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่น และสาหร่ายที่กำลังโตในทะเลสาบที่ทำให้อุณหภูมิอุ่นขึ้น และทำให้น้ำกลายเป็นสีเขียวและเป็นพิษ หรือน้ำเสียนั่นเอง
ขณะที่ United Utilities ซึ่งเป็นบริษัทประปาในท้องถิ่น ยืนยันว่าโรงบำบัดน้ำเสียของบริษัทสามารถรับมือกับช่วงที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นได้
ทะเลสาบวินเดอร์เมียร์เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษและเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศ
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา น้ำที่ใสตามปกติได้เปลี่ยนเป็นสีเขียวเนื่องจากสาหร่าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน การที่สาหร่ายบานคือการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของสาหร่าย และอาจส่งผลให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดลง ส่งผลให้ปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำตาย
ริชาร์ด เฟลมมิงส์ (Richard Flemmings) จากบริษัทข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม Map Impact กำลังพยายามหาสาเหตุว่าทำไม โดยศึกษาการบานของสาหร่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฤดูร้อนที่แห้งแล้งขึ้น หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์มีผลที่ทำให้น้ำเน่าหรือไม่
การปล่อยน้ำเสียทั้งที่บำบัดแล้วและยังไม่บำบัด จะมีระดับฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะจากของเสียของมนุษย์ หรือผงซักฟอก เฟลมมิงส์เล่าว่า จำนวนนักท่องเที่ยวกับปริมาณคลอโรฟิลล์สัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ (คลอโรฟิลล์เป็นสารประกอบที่มีอยู่ในพืชที่ให้สีเขียวและเป็นตัวบ่งชี้ความเข้มข้นของสาหร่าย)
จำนวนผู้คนในทะเลสาบก่อนหน้านี้อยู่ที่ราวๆ 40,000-50,000 คน ซึ่งเป็นเพียงคนที่อยู่อาศัย แต่ในบางครั้งก็มากถึง 300,000 คน เมื่อเป็นช่วงสุดสัปดาห์ในฤดูร้อนที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อน เฟลมมิงส์เล่าว่า จากจำนวนผู้คนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และหลังจากนั้น 3-5 วันต่อมาคือคลอโรฟิลล์ในทะเลสาบพุ่งสูงขึ้น
ความร้อนเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนหลักของการที่สาหร่ายบาน เฟลมมิงส์เล่าว่า “สิ่งที่เรารู้คือการบานของสาหร่ายส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของสารอาหารในน้ำและหนึ่งในนั้นคือสารฟอสฟอรัสซึ่งอาจมาจากของเสียของมนุษย์”
สำนักงานสิ่งแวดล้อมได้ทำการวิจัยโดยเสนอว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของฟอสฟอรัสในทะเลสาบมาจากน้ำเสีย ซึ่งรวมถึงน้ำเสียจากน้ำล้น ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ตัวอย่างน้ำเพียง 3% ที่เก็บจากแนวชายฝั่งของทะเลสาบมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานขั้นต่ำภายใต้กฎหมายของสหราชอาณาจักร
ทีมงานจากแคมเปญ Save Windermere บอกว่า น้ำเสียที่ได้รับการบำบัดจากสถานที่ต่างๆ เช่น โรงบำบัดน้ำเสีย Langdale เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
มีการอนุญาตให้ปล่อยน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อวันลงสู่แม่น้ำบราเทย์ (Brathay) ซึ่งไหลเข้าสู่ทะเลสาบวินเดอร์เมียร์ และไหลออกสู่พื้นที่รับน้ำรอบๆ และแม้ว่าโรงบำบัดน้ำเสียจะสามารถกำจัดฟอสฟอรัสบางส่วนได้ แต่บางส่วนก็ไหลลงสู่แม่น้ำด้วย
ทีมงานจาก Save Windermere บอกว่า น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดก็เป็นปัญหาเช่นกัน และเชื่อว่าการที่มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมากขึ้นทำให้สาหร่ายโตมากขึ้น
ซึ่งสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้คือการ ‘หยุดทิ้ง’ สิ่งปฏิกูลลงไป
อ้างอิงจาก